หลังจากนั่งพักอยู่ที่นางรอง บัดเจท แอนด์ บูทิค โฮเทล หรือ โรงแรมนางรอง จนสามโมงกว่า ๆ แล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทาง ไปยังปราสาทเมืองต่ำ ที่ซึ่งค่ำคืนนี้ จะมีการบวงสรวง และการแสดงแสง - สี - เสียง ที่บริเวณโบราณสถานแห่งนี้

เราไปถึงค่อนข้างเย็นออกไปทางย่ำค่ำ แสงเกือบหมดแล้ว IPhone 6 ของฉันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มกำลัง ก่อนที่งานบวงสรวจจะเริ่ม ก่อนที่เวทีการแสดงจะตระการตา ลองไปเดินดูโบราณสถานแห่งนี้กันเสียหน่อยว่า มีความโอฬารตระการตาอย่างไรบ้าง

พื้นที่ของงานพิธีกรรมที่ยังไม่ได้เริ่มขึ้น

ที่บอกว่า ปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้ เป็นเทวาลัย ไร้ที่มา นั้นก็เพราะว่า จนถึงปัจจุบันเรายังคงไม่ทราบชัดว่า สร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เชื่อได้ว่า ก่อนจะมีการสร้างปราสาทเมืองต่ำปรากฏหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 2,000 มาแล้ว ปราสาทเมืองต่ำนั้น เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบคลัง ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ 16 จากนั้น ก็ถูกทิ้งร้างลงในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จนเมื่อราวปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีการอพยพเข้ามาของชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานรอบบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยพื้นที่ ๆ เป็นที่ราบต่ำ และอยู่ห่างจากประสาทหินพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงเรียกโบราณสถานแห่งนี้คำว่า เมืองต่ำ เนื่องจากเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งสร้างอยู่บนยอดเขาสูง จึงเรียกกันว่า "ปราสาทเมืองต่ำ" เป็นต้นมา

ซุ้มประตูทางเข้าโคปุระชั้นนอกด้านทิศตะวันออก

ซุ้มประตูทางเข้าโคปุระชั้นนอกด้านทิศตะวันออก


มีเอกสารโดยการบันทึกของ นายเอเตียน เอมอนิเยร์ ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ. 2444 ได้กล่าวถึงปราสาทเมื่องต่ำแห่งนี้ จึงถือเป็นการปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาประทับที่ปราสาทเมืองต่ำ คราวเสด็จมณฑลอีสาน ด้วยเช่นกัน


ปราสาทเมืองต่ำ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 พร้อมกับปราสาทพนมรุ้ง และในปี 2539 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทเมืองต่ำจนแล้วเสร็จ จึงเปิดให้เป็นกลุ่มปราสาทที่อยู่ใน อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน พ.ศ. 2540 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน เนื่องในมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษกฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

รูปแบบงานศิลปกรรมส่วนใหญ่ที่พบจัดอยู่ในศิลปะแบบบาปวน หรือ ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 แผนผังของปราสาทอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยม มีระเบียงคดล้อมรอบ 2 ชั้น ถัดจากระเบียงคดชั้นนอกเข้าไปมีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ รูปตัว L สระน้ำนี้ล้อมรอบระเบียงคดชั้นใน ภายในระเบียงคดชั้นในเป็นที่ตั้งของกลุ่มปราสาทประธาน 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน

ปราสาทเมืองต่ำนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ทับหลังแบบคลังที่พบคู่กับทับหลังแบบบาปวน รวมทั้งทับหลังแบบบาปวนที่นำลักษณะบางประการของทับหลังแบบคลังมาใช้ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสังเกตว่าช่างที่มาสลักทับหลังอาจจะมีด้วยกัน 2 กลุ่ม เนื่องจากลักษณะทับหลังที่กลุ่มปราสาทประธานกับทับหลังที่ระเบียงคดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ซุ้มประตู สระน้ำรูปตัวแอล ล้อมรอบระเบียงคดชั้นใน

ปราสาทเมืองต่ำแสดงสัญลักษณ์ตามคติเขาพระสุเมรุได่อย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาปราสาทหินแบบเขมร ปราสาท 5 ยอดเปรียบได้กับ ยอดเขา 5 ยอด คือ สุทัศนกูฏ จิตรกูฏ กาลกูฏ ไกรลาส (ที่สถิตของพระอิศวร) และ คันธมาทกูฏ มีมหาทวีปทั้ง 4 ล้อมรอบ คือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และ อุตรกุระ สระน้ำทั้ง 4 เปรียบได้กับ มหาสมุทรทั้ง 4 ทิศล้อมรอบ คือ ปิตสาคร ผลิกสาคร ขีรสาคร น้ำสีขาว (ทะเลน้ำนมเกษียรสมุทรที่สถิตย์ของพระนารายณ์) และนิลสาคร อีกทั้งมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์น้อยใหญ่ หมุนเวียนล้อมรอบ

สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งสร้างถวายพระอิศวรหรือพระศิวะ ตามคติภูมิจักรวาล ปราสาทเมืองต่ำมีความโดดเด่นในเรื่องคติภูมิจักรวาลเนื่องจากมีสระน้ำ 4 สระ ล้อมรอบ ปราสาท 5 ยอด จากคำภีร์ศิวะปุราณะกล่าวว่า พระอิศวรทรงน้ำด้วยพระเสโท สร้างแผ่นดินด้วยเมโท ใช้จุฑามณีปักลงที่ใจกลางของพื้นภพเป็นเขาพระสุเมรุให้เป็นแกนหลักของโลก และจักรวาล นำพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอบเขาพระสุเมรุอีก 7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรีเป็นที่สถิตของเทวดา

ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกับปราสาทพนมรุ้ง แต่สร้างบนที่ราบ มีการยกฐานสูง และมีน้ำล้อมรอบ (สันนิฐานจากบารายของปราสาท หรือ ทะเลเมืองต่ำ) เช่นเดียวกับปราสาทแม่บุญตะวันตก (อยู่ที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา) แผนผังปราสาทสมดุลทุกทิศทาง มีขนาดใหญ่และสวยงาม เช่นเดียวกับ ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทหินพิมาย จึงสามารถสันนิฐานได้ว่า อาจจะเป็นปราสาประจำราชกาล หรือ ประจำชุมชน

ใกล้กับปราสาทมีอ่างเก็บน้ำโคกเมือง เป็นบารายขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าทะเลเมืองต่ำ เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาท อยู่ห่างจากตัวปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภค การชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้น ท่าน้ำทั้ง 2 ฟากนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ บารายแห่งนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากเขาปลายนัด (ไปรนัด) และเขาพนมรุ้ง ตรงบริเวณที่เรียกว่า สะพานขอม และระบายน้ำออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังคงความสำคัญต่อชุมชนในทุกวันนี้

จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แถบปราสาทเมืองต่ำอันเป็นที่ราบผืนดินมี ความอุดมสมบูรณ์จากเถ้าลาวาของภูเขาไฟซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงมีการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรในภายหลัง สิ่งเหล่านี้แสดงว่าชุมชนบนที่ราบเชิงเขาพนมรุ้งคงเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญแห่งหนึ่ง ดังนั้นปราสาทเมืองต่ำและทะเลเมืองต่ำจึงมีความสำคัญทางด้านการจัดการน้ำ

ซุ้มประตู สระน้ำรูปตัวแอล ล้อมรอบระเบียงคดชั้นใน


สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม :: ซุ้มประตู ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทราย ระเบียงคดนี้ลักษณะเป็นห้องแบบระเบียงคดทั่วไป หลังคาเป็นหินทรายทำเป็นรูปประทุนเรือ มีประตู 3 ด้านพื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลัก ด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง ด้านนอกติดลูกกรงลูกมะหวด

ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านนอกจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่า อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เหนือขึ้นไปเป็นนาค 5 เศียรครอบ 2 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง ทับหลังหินทรายจำหลักภาพเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง

กลุ่มปราสาทประธาน 5 องค์

ปราสาททิศตะวันออกเฉียงเหนือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐที่เรียงกันแนบสนิท ผังของปราสาทอยู่ในผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ฐานด้านล่างรองรับองค์ปราสาทก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวเตี้ยๆ 1 ชั้น มีการทำช่องประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนที่เหลือสลักเป็นประตูหลอก ช่องประตูทางด้านทิศตะวันออกนี้มีการใช้หินทรายสลักเป็นเสาประดับกรอบประตู และทับหลังเป็นรูปอุมามเหศวร ในศิลปะแบบบาปวน กรอบหน้าบันของเรือนธาตุสลักเป็นรูปซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออกประดับด้วยใบระกา แต่ยังเป็นเพียงเค้าโครงเท่านั้น ส่วนยอดของปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ด้านบนบริเวณกลางด้านของเรือนธาตุสลักเป็นรูปเรือนธาตุจำลองทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตูหลอก เสากรอบประตู และหน้าบัน เรียกว่าช่องวิมาน นอกจากนี้ลักษณะการเรียงตัวของปราสาทบริวารด้านหลัง ก็ไม่ได้เรียงตัวตามกลุ่มปราสาทด้านหน้าตามแบบอย่างที่พบได้ทั่วไป

ปรางค์ประธาน ปัจจุบันได้ถล่มลงมาแล้ว พบเพียงฐานเป็นศิลาแลง และหน้าบันซึ่งสลักจากหินทราย เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะปาปวน สันนิษฐานว่าตัวปราสาทเป็นปราสาทหินทราย และคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์

ปราสาทประกอบอีก 4 หลังเป็นปราสาทอิฐ ปัจจุบันได้รับการบูรณะในสภาพสมบูรณ์ และมีหน้าบันด้านหน้าอยู่ครบ โดยปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้ มีหน้าบันเป็นภาพพระวรุณเทพประทับเหนือหงษ์ ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศใต้เป็นภาพพระอินทร์ ปางมหาราชลีลาสนะประทับเหนือหน้ากาล ส่วนปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ เป็นภาพพระศิวะคู่พระอุมา ประทับบนโคนนทิในปาง อุมามเหศวร

ส่วนฐานของปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานบัวลูกฟักที่แนวลูกฟักมีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ส่วนของฐานบัวมีการบากเป็นเส้นลวดบัว ห้องครรภคฤหะอยู่ในผังเพิ่มมุม โดยที่มุมประกอบด้านทิศตะวันออกยื่นออกมาด้านหน้าเป็นมุข และเป็นบันไดทางขึ้น ต่อขึ้นไปด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายไม่มีท้องไม้คั่นจังหวะ ก่อด้วยศิลาแลงมีผังเช่นเดียวกับฐานชั้นล่างแต่มุขยื่นออกมาน้อยกว่า ชั้นบนสุดเป็นส่วนฐานของปราสาทที่ก่อด้วยอิฐ มีผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

บรรณาลัย

บรรณาลัยของปราสาทเมืองต่ำมี 2 หลัง สร้างด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางทิศตะวันออกของกลุ่มปราสาท 5 หลัง โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทับหลังของบรรณาลัยของทั้ง 2 หลังนี้ จำหลักเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่า ในมือถือดอกบัวประทับเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยไม่มีอุบะแบ่งเสี้ยวตามแบบศิลปะบาปวน

บรรณาลัยอาจจะใช้เป็นอาคารเก็บข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม หรืออาจจะเก็บคัมภีร์สำคัญทางศาสนา ตามที่มีการกล่าวไว้ในศิลาจารึก หรือในบางครั้งอาจเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพรองก็เป็นได้ เนื่องจากบางองค์มีการพบรูปเคารพและฐานอยู่ภายใน

กลุ่มปราสาท และบรรณาลัย

โคปุระชั้นใน ภายในระเบียงคด ด้านทิศตะวันออก

ทับหลังด้านทิศตะวันออกของปราสาททิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ส่วนยอดของกลุ่มปราสาทประธาน ส่วนของกลุ่มปราสาทประธานนี้ลักษณะเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ หรืออาจจะเป็นลักษณะของหม้อน้ำปูรณฑฏะ ส่วนบนมีรูไว้สำหรับใส่นภศูล ปัจจุบันตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน

ลักษณะของส่วนยอดที่เป็นรูปกลีบบัวหรือรูปหม้อน้ำปูรณฑฏะนี้ เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากส่วนยอดในศิลปะอินเดีย ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์

ส่วนยอดของกลุ่มปราสาทประธาน (ซ้าย)

โคปุระชั้นใน ภายในระเบียงคด ด้านทิศตะวันตก

โคปุระชั้นใน ภายในระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกนี้ ฐานก่อเชื่อมกับฐานไพทีที่รองรับกลุ่มปราสาทประธานทั้ง 5 หลัง ตัวผนังของอาคารก่อด้วยอิฐ มีช่องประตูทางเข้า 1 ทาง สภาพในปัจจุบันเป็นงานบูรณะโดยกรมศิลปากร เหลือเพียงส่วนฐาน กรอบประตู หน้าต่าง และแนวผนังเล็กน้อย

ซุ้มประตูโคปุระ ด้านทิศตะวันตก

โคปุระทิศใต้ บริเวณที่จะจัดการแสดง แสง - สี - เสียง

อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้เราจะพอสามารถสันนิฐานได้ว่า ปราสาทเมืองต่ำ แห่งนี้ สร้างขึ้นในช่วงเวลาใด และรัชสมัยใดก็ตาม เราเพียงแต่ทราบในเบื้องต้นว่า เทวาลัยแห่งนี้ เป็นเทวาลัยแห่งสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์เพียงเท่านั้น และยังปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเองยังไม่ทราบที่มาของเทวาลัยแห่งนี้อย่างชัดแจ้ง จนสามารถระบุได้ว่า ใครสร้าง และสร้างเพื่ออะไร และมันก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ ๆ ที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เทวาลัยแห่งนี้ จึงยังคงเป็นเทวาลัยไร้ที่มาจนปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง :: จากฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ
ปราสาทเมืองต่ำ โดย วาทิน ศานติ์ สันติ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง ::

Review...นางรอง บัดเจท แอนด์ บูทิค โฮเทล (โรงแรมนางรอง)

เทวาลัย ไร้ที่มา ......ปราสาทเมืองต่ำ

บวงสรวงเทวา "ปราสาทเมืองต่ำ" ตำนานนิรมิต....สายธารแห่งชีวา เดอะมิวสิคัล ที่ตลาด "วิถีชุมชน คนบุรีรัมย์"

วนรุง (พนมรุ้ง) วิไล ...... เทวาลัยแห่งเขาไกรลาส

ผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น.....ฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ "ผ้าภูอัคนี"

บูชาพระอังคารธาตุ บนยอดภูเขาไฟ ชมใบเสมาพันปี ที่ "วัดเขาพระอังคาร" บุรีรัมย์

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง .....ความสดใส ในทุ่งกว้าง กับครูลี่ ณ บ้านถาวร บุรีรัมย์

"ตลาด" ถมหมืดถมมอ ..... นางรองบ้านเอ๋ง บุรีรัมย์

รีวิว....โรงแรมพนมรุ้งปุรี (Review Phanomrung puri Hotel)

เที่ยววัด....ที่นางรอง บุรีรัมย์ วัดขุนก้อง - วัดร่องมันเทศ - วัดกลาง

สำนักสงฆ์พุทธศิลา "ภูม่านฟ้า" อำเภอชำนิ บุรีรัมย์



สายลม ที่ผ่านมา

 วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 11.22 น.

ความคิดเห็น