หลังจากจบการแสดงแสง สี เสียงที่ปราสาทเมืองต่ำ ในค่ำคืนที่ผ่านมา เราก็กลับไปนอนที่ นางรอง บัดเจท แอนด์ บูทิค โฮเทล (โรงแรมนางรอง) ที่เราบุ๊กกิ้งค์เอาไว้อย่างสิ้นเรี่ยวแรง อาจจะเพราะอากาศที่ค่อนข้างร้อนในตอนกลางวัน แต่กลับเย็นสบายในตอนกลางคืน ทำให้เราหลับกันสนิทมาก สนิทจนเกือบตื่นไม่ทันเวลาที่นัดกับคนขับรถไว้

ทำให้กว่าจะระเห็ดออกจากห้องได้ เสียเวลาอักโขอยู่ แต่ก็ถือว่าทันเวลา แถมยังได้เดินตลาดเช้าอีกนิดหน่อย กับพอทันซื้อไก่ย่างกินลองท้องช่วงเช้าอีกด้วย

น้องเดือนกำลังอธิบายเกี่ยวกับศิลปะขอมสมัยต่าง ๆ

และเมื่อเรามาถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งแล้ว ครั้งจะให้เราเดินตัวปลิวเปล่า ๆ แบบไม่มีความรู้ขึั้นไปดูเฉพ ๆ ก็กระไร เราแวะทักน้องเดือน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และเป็นธุระดูแลให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณสถานแห่งนี้กับเราในครั้งนี้ด้วย

โมเดลปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่มอดแล้ว มีการพบจารึกภาษาเขมรที่ปรากฏถึงชื่อ “วฺนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งต่อมาคงมีการแผลงเป็นพนมรุ้งในปัจจุบัน จากข้อความในจารึกที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 และรูปแบบของปราสาทอิฐ 2 องค์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทประธาน ทำให้ทราบได้ว่าบนยอดเขาพนมรุ้งนี้น่าจะมีศาสนสถานมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 และคงใช้งานต่อเนื่องเรื่อยมาเห็นได้จากยังคงมีการสร้างอาคารเพิ่มเติมมาเป็นระยะ จนในกระทั่งในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 จึงมีการสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นใหม่ให้ขนาดใหญ่โตขึ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ทางดำเนิน ปักล้อมด้วยเสานางเรียง

มีการสันนิษฐานถึงผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ว่าน่าจะได้แก่ นเรนทราทิตย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ (เป็นราฃวงศ์ที่น่าจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย) จากข้อความที่ปรากฏในจารึกพรมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 นเรนทราทิตย์พระองค์นี้ทรงเป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี คงเป็นกษัตริย์ที่ปกครองบริเวณรอบๆ เขาพนมรุ้ง ในช่วงท้ายชีวิตของพระองค์ได้สละราชสมบัติและมาบำเพ็ญพรตอยู่บนปราสาทพนมรุ้งที่พระองค์สร้างขึ้น

จากจารึกและภาพสลักเล่าเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏบนปราสาทแสดงห็เห็นว่า ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย ลัทธิหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวเป็นใหญ่ เมื่อเป็นดังนั้นแล้วการสร้างปราสาทบนเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเทวาลัยบนเขาไกรลาสที่ประทับของศิวะด้วยนั่นเอง

รูปแบบงานศิลปกรรมส่วนใหญ่แล้วสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ตรงกับศิลปะแบบนครวัด มีการสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างเป็นระยะตามทางเดินขึ้นสู่ปราสาทประธาน เช่น สะพานนาคราช ทางเดินปักเสานางเรียง ชาลานาครูปกากบาท ก่อนที่จะเข้าสู่โคปุระ และปราสาทประธานที่อยู่ภายในระเบียงคด ที่โคปุระ ระเบียงคด และองค์ปราสาทประธาน พบภาพสลักเล่าเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามหน้าบันกับทับหลัง มีทั้งภาพในไศวนิกาย ไวษณพนิกาย รามายณะ รวมทั้งภาพชีวประวัติของนเรนทราทิตย์ เป็นต้น

เสานางเรียง

เสานางเรียงสลักจากหินทราย ลักษณะของเสาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ส่วนยอดสลักคล้ายรูปกลีบบัวแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม

ทางดำเนินนี้ไปยังบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทประธาน จากภาพจะเห็นทางดำเนินที่ทอดยาวเป็นเส้นตรง พื้นปูด้วยศิลาแลง ระหว่างทางตกแต่งด้วยเสานางเรียงสลักจากหินทราย ลักษณะของเสาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ส่วนยอดสลักคล้ายรูปกลีบบัวแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม

ถัดไปเป็นชาลานาครูปกากบาท ลักษณะของชาลานาคอยู่ในผังรูปกากบาท ฐานล่างยกพื้นสูงด้วยเสาหินทราย บริเวณทางขึ้นตกแต่งด้วยอัฒจันทร์ ที่ปลายด้านแต่ละด้านสลักเป็นรูปเศียรนาคจึงทำให้ไม่มีหาง มีการลดระดับ 2 ชั้น ทำให้ราวสะพานรูปเศียรนาคเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชั้นด้วย เศียรนาคมีรัศมีต่อเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่รัศมีมีการสลักลวดลายอยู่ภายในเส้นขนานตามทางยาวของพังพานนาค ตามแบบนครวัด รวมไปถึงการยกลำตัวนาคด้วยฐานเสาทรงสี่เหลี่ยมตั้งเป็นระยะด้วย ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วที่ปราสาทพิมาย

แผนผังที่สร้างขึ้นบนแนวสันเขานี้ มักนิยมสร้างแผนผังแบบมุ่งหาจุดศูนย์กลาง ซึ่งประกอบด้วยชั้นล่างสุด มักเป็นทางดำเนิน หรือชาลานาครูปกากบาท ถัดขึ้นไปเป็นส่วนฐานที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ก่อทับแนวสันเขาตามธรรมชาติ จนกระทั่งถึงชั้นบนสุดที่มักมีแนวระเบียงคดล้อมรอบปราสาทประธาน

ชาลานาครูปกากบาท

ทางดำเนินนี้ถ่ายจากบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทประธานไปยังทางดำเนิน ซึ่งสิ่งที่อยู่ใกล้กับภาพมากที่สุดก็คือชาลานาครูปกากบาท ลักษณะของชาลานาคอยู่ในผังรูปกากบาท ฐานล่างยกพื้นสูงด้วยเสาหินทราย บริเวณทางขึ้นตกแต่งด้วยอัฒจันทร์ ที่ปลายด้านแต่ละด้านสลักเป็นรูปเศียรนาคจึงทำให้ไม่มีหาง มีการลดระดับ 2 ชั้น ทำให้ราวสะพานรูปเศียรนาคเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชั้นด้วย เศียรนาคมีรัศมีต่อเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่รัศมีมีการสลักลวดลายอยู่ภายในเส้นขนานตามทางยาวของพังพานนาค ตามแบบนครวัด รวมไปถึงการยกลำตัวนาคด้วยฐานเสาทรงสี่เหลี่ยมตั้งเป็นระยะด้วย ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วที่ปราสาทพิมาย

การใช้นาคมาประดับชานชาลาทางเข้าปราสาทเช่นนี้ อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่โลกสวรรค์ เนื่องด้วยนาคเป็นสัญลักษณ์ของสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์นั่นเอง

ชาลานาครูปกากบาท

บันไดปีกกา หน้าบันไดนาค

บันไดทางขึ้นสู่ปราสาทประธาน ที่ก่อเป็นแนวฐานหินทรายซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น เมื่อขึ้นถึงชั้นบนสุดจะพบกับโคปุระที่ล้อมรอบปราสาทประธานซึ่งถือเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของศาสนสถาน

ชาลานาครูปกากบาท ลักษณะของชาลานาคอยู่ในผังรูปกากบาท ฐานล่างยกพื้นสูงด้วยเสาหินทราย ที่ปลายด้านแต่ละด้านสลักเป็นรูปเศียรนาคจึงทำให้ไม่มีหาง เศียรนาคมีรัศมีต่อเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่รัศมีมีการสลักลวดลายอยู่ภายในเส้นขนานตามทางยาวของพังพานนาค ตามแบบนครวัด รวมไปถึงการยกลำตัวนาคด้วยฐานเสาทรงสี่เหลี่ยมตั้งเป็นระยะด้วย ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วที่ปราสาทพิมาย ต่อจากนั้นมีบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทประธาน ที่ก่อเป็นแนวฐานหินทรายซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น เมื่อขึ้นถึงชั้นบนสุดจะพบกับโคปุระที่ล้อมรอบปราสาทประธานซึ่งถือเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของศาสนสถาน

แผนผังที่สร้างขึ้นบนแนวสันเขานี้ มักนิยมสร้างแผนผังแบบมุ่งหาจุดศูนย์กลาง ซึ่งประกอบด้วยชั้นล่างสุด มักเป็นทางดำเนิน หรือชาลานาครูปกากบาท ถัดขึ้นไปเป็นส่วนฐานที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ก่อทับแนวสันเขาตามธรรมชาติ จนกระทั่งถึงชั้นบนสุดที่มักมีแนวระเบียงคดล้อมรอบปราสาทประธาน

ลายสลักรูปดอกบัว 8 กลีบ สลักอยู่ที่จุดกึ่งกลางทางเดินบนชาลานาครูปกากบาท แบบนูนต่ำ กลีบบัวสลักซ้อนกัน 2 ชั้น ปัจจุบันลายกลีบบัวลบเลือนไปพอสมควรแล้ว ลายสลักรูปดอกบัว 8 กลีบ นี้ เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

โคปุระด้านทิศตะวันออกนี้ ฐานชั้นล่างเป็นฐานบัวประดับแนวลวดบัวก่อด้วยหินทราย ผนังก่อด้วยหินทราย ทำเป็นอาคารหลังคาลด 2 ชั้น ลักษณะหลังคาสร้างเลียนแบบหลังคาเครื่องไม้ สันหลังคาประดับบราลี มีประตูทางเข้า 1 ทาง ที่ซุ้มประตูทางเข้านี้ ประดับซุ้มลด 1 ซุ้ม กรอบหน้าบันเป็นกรอบซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออก ปลายกรอบเป็นรูปนาคมีรัศมีและพังพานเป็นแผ่นเดียวกัน ตามแบบนครวัด

ตรงกลางหน้าบันสลักภาพอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมที่ปรากฏมาแล้วในศิลปะแบบบาปวน ถัดลงมาด้านล่างสุดของหน้าบันมีการสลักขื่อปลอมหักตั้งได้ฉากตามแบบนครวัด ทางด้านข้างของโคปุระมีแนวระเบียงคดต่อออกมาด้วยหินทราย ที่แนวระเบียงคดนี้มีซุ้มประตูด้านละ 1 ซุ้ม มีลักษณะคล้ายกับซุ้มประตูของโคปุระ ตลอดแนวโคปุระและระเบียงมีการสลักช่องหน้าต่างแต่เป็นหน้าต่างทึบ


ด้านหน้าโคปุระมีชาลานาครูปกากบาท ลักษณะของชาลานาคที่ปลายด้านแต่ละด้านเป็นรูปเศียรนาคจึงไม่มีหาง เศียรนาคมีการตกแต่งกระบังหน้าและรัศมีต่อเป็นแผ่นเดียวกันตามแบบนครวัด รวมไปถึงการยกลำตัวนาคด้วยฐานเสาทรงสี่เหลี่ยมตั้งเป็นระยะด้วย

ถัดลงมามีบ่อรูปสี่เหลี่ยม 4 บ่อ แบ่งออกเป็น 2 แถว บ่อน้ำอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายกับที่ปราสาทพิมาย ด้านหลังโคปุระเห็นส่วนยอดของปราสาทประธานมีลักษณะเป็นยอดทรงพุ่มเนื่องจากมีการใช้กลีบขนุนแบบนาคปักที่มีรูปทรงเอนไปด้านหลังแทนการใช้ปราสาทจำลอง ทำให้กรอบนอกของส่วนยอดของปราสาทเป็นทรงพุ่ม ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วที่ปราสาทพิมาย และได้รับความนิยมในสมัยนครวัดเป็นต้นมา ที่มุมประกอบตกแต่งด้วยกลีบขนุนสลักรูปทวารบาลหรือเทวดา ที่กลางด้านของช่องวิมานมีบันแถลงสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนยอดของเครื่องบนเป็นรูปหม้อน้ำที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวซ้อนกัน 3 ชั้น

ที่ซุ้มประตูทางเข้านี้ ประดับซุ้มลด 1 ซุ้ม กรอบหน้าบันเป็นกรอบซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออก ปลายกรอบเป็นรูปนาคมีรัศมีและพังพานเป็นแผ่นเดียวกัน ตามแบบนครวัด ตรงกลางหน้าบันสลักภาพอยู่ภายในกรอบรูปสามเหลี่ยมตามลักษณะแบบบาปวน ถัดลงมาด้านล่างสุดของหน้าบันมีการสลักขื่อปลอมหักตั้งได้ฉากตามแบบนครวัด

ทับหลังมีภาพเล่าเรื่องขนาดใหญ่ ด้านล่างมีรูปหน้ากาลจับขาสิงห์ หน้ากาลมีมือยื่นออกมาสืบทอดมาแล้วในสมัยบาปวน สิงห์ทั้ง 2 ข้าง คายท่อนพวงมาลัยออกมาปลายเป็นลายกระหนกม้วน ใต้ท่อนพวงมาลัยมีลายกระหนกม้วนซ้อนกันหลายชั้น ตามลักษณะนครวัด

ที่กรอบประตูมีเสาติดผนังสลักลายลายก้านต่อดอก ก้านดอกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้วยการขีดเป็นร่อง 2 ร่อง ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในสมัยบาปวน ที่โค่นเสาสลักลายสิงห์ยืนคายลายก้านต่อดอก เสาประดับกรอบประตู มีการแบ่งจังหวะหลายชั้นและสัดส่วนของเส้นวงแหวนเท่ากัน ไม่มีการสลักลวดลายใดๆ ลงไป ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบที่นิยมมาแล้วในสมัยบาปวนและสืบต่อมาในสมัยนครวัดด้วย

ที่หน้าบันมีภาพสลักเป็นรูปบุคคลขนาดใหญ่อยู่ด้านบนลักษณะเป็นรูปโยคี ลักษณะอยู่บนบัลลังก์ในท่าลลิตาสนะ ที่ด้านล่างมีภาพบุคคลนอนอยู่และมีรูปบุคคลรายล้อม ทางด้านซ้าย (ของผู้ชม) มีภาพผู้หญิงยืน มือข้างหนึ่งยกมือขึ้นไปทางรูปบุคคลขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบน มืออีกข้างหนึ่งจับสะโพก ซึ่งน่าจะหมายถึงภาพโยคทักษิณามูรติ ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะในความหมายผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาจจะรวมไปถึงภาพของนเรนทราทิตย์ช่วยเหลือผู้ที่ถูกงูกัด ดังที่มีการกล่าวไว้ในจารึกหลักหนึ่งว่า “พระองค์ช่วยแล้วซึ่งคนผู้เป็นอุปถัมป์คนนั้น ผู้ถูกงูกัด ผู้อยู่แล้วในแม่น้ำคงคาสวรรค์ ให้เป็นผู้พ้นจากอันตรายจากพิษงูอันแรงด้วยมนตร์ทั้งหลาย...”ด้วยก็เป็นได้

ด้านหน้าประตูทางเข้ามณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน

จากภาพแสดงให้เห็นซุ้มประตูทางเข้ามณฑปของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก ที่ด้านหน้ามีชาลานาครูปกากบาทเชื่อระหว่างซุ้มประตูโคปุระกับซุ้มประตูมณฑป ชาลานาครูปกากบาทนี้ยกฐานสูงระดับเดียวกับฐานของมณฑป ที่ปลายด้านแต่ละด้านสลักเป็นรูปเศียรนาคจึงทำให้ไม่มีหาง เศียรนาคมีรัศมีต่อเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ตามแบบนครวัด รวมไปถึงการยกลำตัวนาคด้วยฐานเสาทรงสี่เหลี่ยมตั้งเป็นระยะด้วย ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วที่ปราสาทพิมาย

ที่หน้าบันตรงกลางแสดงภาพศิวนาฏราช กำลังร่ายรำโดยพระบาททั้ง 2 ข้าง ติดพื้น ซึ่งเป็นท่ารำที่พบเป็นประจำในศิลปะขอม ด้านบนยังปรากฏร่องรอยของพระหัตถ์ที่มีเป็นจำนวนมาก ทางด้านล่างปรากฏบริวาร โดยทางด้านขวาปรากฏภาพกาไรกาลัมเมยาร์แสดงเป็นภาพผู้หญิงที่มีถันห้อยยาน ห่มหนังคน (มือทั้ง 2 ข้างจับขาคนไว้ที่ไหล่) ส่วนทางด้านซ้ายสุดปรากฏภาพ คือ พระคเณศ ด้านหน้าพระคเณศปรากฏรูปบุคคลมี 4 มือ น่าจะเป็นพระวิษณุ

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

บนแผ่นทับหลังมีภาพวิษณุอนันตศายิน หรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยพระวิษณุบรรทมอยู่บนอนันตนาคราชเหนือเกษียรสมุทร ทรงถือคฑาที่พระหัตถ์ซ้ายหน้า ทรงถือจักรที่พระขวาหลัง ที่ด้านล่างของอนันตนาคราชมีรูปตัวเหราหรือมังกรรองรับ ด้านบนมีภาพพระพรหมประทับนั่งบนดอกบัวที่พุดออกมาจากพระนาภีของพระวิษณุ ที่พระบาทของพระวิษณุมีรูปบุคคลนั่งอยู่น่าจะหมายถึงพระลักษมี

การปรากฏภาพของ 2 นิกาย ในศาสนาพราหมณ์ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปด้านทิศตะวันออกหรือทิศหลักนี้ อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าศาสนสถานนี้สร้างขึ้นในนิกายใด หากสังเกตจากลักษณะที่ปราสาทพนมรุ้งนี้อาจกล่าวได้ว่าภาพในส่วนของหน้าบันที่อยู่สูงกว่าน่าจะเป็นตัวยืนยันได้ อีกทั้งการปรากฏภาพคู่กันของ 2 นิกาย เช่นนี้มีการพบอยู่บ่อยครั้ง จึงอาจจะเป็นเพียงความเชื่อที่ปะปนและอยู่รวมกันก็เป็นได้

ก่อนเข้าสู่ภายในมณฑปมีอัฒจันทร์รูปปีกกาตั้งอยู่ ที่ด้านบนสลักเป็นรูปดอกบัว 8 กลีบ จำนวน 3 ดอก (ขวาล่าง) เรียงต่อกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบกับซุ้มประตูอื่น ๆ กรอบประตูมีการตกแต่งลายที่เสาติดผนังสลักลายก้านขดที่ไม่มีการสลักลายก้าน (ขวาบน) ลวดลายมีความละเอียด ก้านมีขนาดเล็ก น่าจะเป็นงานในสมัยนครวัด เสาประดับกรอบประตูมีการให้ความสำคัญเฉพาะส่วนที่แบ่งครึ่งเสา แต่แนวเส้นส่วนอื่นๆ มีสัดส่วนที่เท่ากันหมด จึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยนครวัดเช่นกัน

ภาพพิธีปูรณะธัณยกาที่โค่นเสาติดผนังกรอบประตูฝั่งทิศใต้ มณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน (ซ้าย) ที่โค่นเสาติดผนัง มีการสลักภาพเล่าเรื่อง เหนือขึ้นไปสลักลายลายก้านขดที่แต่ละขดไม่ได้เกิดจากก้านดอก ขอบทั้ง 2 ข้าง ตกแต่งด้วยลายใบไม้สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปแบบในสมัยนครวัด

จากภาพมีรูปผู้หญิงอยู่ทางด้านขวา ยืนอยู่ในท่าคล้ายท่าเหนี่ยวกิ่งไม้ มือขวาวางอยู่บนพาน มือซ้ายยกขึ้นจับปลายลายก้านขด ทางด้านขวา มีรูปโยคียืนอยู่ มือขวาถืออักษมาลา มือซ้ายจับไหล่ผู้หญิง ทางด้านล่างของโยคีมีรูปผู้ชายนั่งคุกเข่าถือพานที่ผู้หญิงวางมือขวาอยู่ สันนิษฐานว่าภาพดังกล่าวคือพิธีปูรณะธัณยกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ สังเกตได้จากท่ายืนของผู้หญิงที่คล้ายท่าเหนี่ยวกิ่งไม้ในอินเดียโบราณเป็นท่าที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ ส่วนในพานนั้นอาจจะเป็นพานใส่เมล็ดพืชก็เป็นได้

มณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน

ภาพพิธีเบิกพรหมจรรย์บนหน้าบันซุ้มปีกนกฝั่งทิศใต้ มณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน

กรอบหน้าบัน เป็นรูปโค้งเข้าโค้งออก ปลายกรอบเป็นรูปนาคที่รัศมีเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่รัศมีมีการสลักลวดลายอยู่ภายในเส้นขนานตามทางยาวของพังพานนาค ตามแบบนครวัด ภายในกรอบสลักลายภาพเล่าเรื่องเต็มพื้นที่ ถัดลงมาด้านล่างสุดของหน้าบันมีการสลักขื่อปลอมหักตั้งได้ฉากตามแบบบนครวัด

จากภาพมีรูปผู้หญิงอยู่ทางด้านซ้าย ด้านล่างมีรูปบุคคลนั่งอยู่ มือข้างขวาถือสิ่งของกำลังสอดเข้าไปในผ้านุ่งของผู้หญิง ด้านซ้าย ติดกับกรอบหน้าบันมีรูปบุคคลก้มตัวมอง มือกอดอกอยู่ ส่วนทางด้านขวามีรูปบุคคล 2 คน นั่งอยู่ โดยบุคคลทางซ้ายน่าจะเป็นผู้หญิงเนื่องจากมีหน้าอก ที่ตักของผู้หญิงคนนี้มีมีขาห้อยพาดคล้ายกับนั่งอยู่บนตัก แต่ปัจจุบันไม่เหลือส่วนลำตัวแล้ว ที่ด้านหลังของบุคคลทั้ง 2 ดูเหมือนจะมีรูปผู้หญิงยืนอยู่อีก 1 คน และจากองค์ประกอบในภาพที่กล่าวมาน่าจะเป็นภาพพิธีเบิกพรหมจรรย์ โดยผู้หญิงที่ยืนอยู่คือผู้ที่เข้าพิธี มีนักบวชกำลังใช้สิ่งของบางอย่างสอดเข้าไปใต้ผ้านุ่ง ส่วนกลุ่มบุคคลทางด้านขวา (ของผู้ชม) น่าจะเป็นญาติของผู้ที่เข้าพิธี

แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านแย้งว่าอาจจะไม่ใช่ภาพพิธีเบิกพรหมจรรย์ก็เป็นได้ เนื่องจากลักษณะสีหน้าของผู้หญิงที่เข้าร่วมพิธีดูเหมือนว่าอยู่ในอาการที่วิตกกังวล แทนที่จะอยู่ในอาการแสดงความยินดีเนื่องจากเป็นพิธีมงคล

ลายสลักที่บัวฐานปราสาท

หน้าบันชั้นบนและชั้นล่างของมณฑปปราสาทประธานด้านทิศใต้

หน้าบัน มีกรอบเป็นรูปโค้งเข้าโค้งออก ปลายกรอบหน้าบัน นาคที่รัศมีเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ที่รัศมีมีการสลักลวดลายอยู่ภายในเส้นขนานตามทางยาวของพังพานนาค ตามแบบนครวัด ภายในกรอบสลักลายภาพเล่าเรื่องเต็มพื้นที่ ถัดลงมาด้านล่างสุดของหน้าบันมีการสลักขื่อปลอมหักตั้งได้ฉากตามแบบนครวัด

หน้าบันชั้นล่าง ตรงกลางภาพมีรูปโคขนาดใหญ่ มีรูปบุคคลประทับนั่งอยู่ 2 คน แต่ในปัจจุบันรูปบุคคลทั้งได้ชำรุดเสียหายไปแล้ว โดยรอบมีรูปขบวนบุคคลอัญเชิญเครื่องสูง เช่น ธง พัดโบก จากองค์ประกอบภาพแสดงถึงภาพ อุมามเหศวร มีพระศิวะและพระอุมาประทับนั่งบนโคนนทิ

หน้าบันชั้นบน ตรงกลางมีรูปบุคคลขนาดใหญ่กำลังต่อสู้กับคน 2 คน ที่อยู่ด้านข้าง น่าจะเป็นตอนพระรามกับพระลักษมณ์รบกับยักษ์วิราธ ซึ่งเป็นช่วงที่ยักษ์วิราธยกพระรามกับพระลักษมณ์ขึ้นมา

พระพรหมทรงหงส์ เทพผู้รักษาทิศเบื้องบน ตามความเชื่อของฮินดูที่จะต้องมีเทพประจำทิศ ดูแลทั้ง 6 ทิศ คือ เหนือ ใต้ ออก ตก บนฟ้า และใต้ดิน

ทับหลังภายในครรภคฤหะของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก (ซ้าย) ทับหลังเป็นภาพเล่าเรื่องขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ โดยทำเป็นรูปแถวบุคคล 1 แถว ลักษณะดังกล่าวปรากฏมาแล้วที่ปราสาทพิมาย กำหนดอายุในสมัยปลายบาปวน – ต้นนครวัด โยคีแต่ละตนนั่งในท่าโยคาสนะ ยกมือขึ้นพนม อยู่ภายในกรอบซุ้มเรือนแก้วที่ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคที่มีกระบังหน้าและรัศมีเป็นแผ่นเดียวกันตามแบบนครวัด

โยคีทั้ง 5 ตน นั่งในท่าโยคาสนะ ยกมือขึ้นพนม โดยโยคีตนกลางจะถือลูกประคำ น่าจะหมายถึงพระศิวะหรือนเรนทราทิตย์ ผู้ถูกกล่าวในจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งว่าเป็นเจ้าชายองค์หนึ่ง ได้เสด็จมาบำเพ็ญพรตที่ปราสาทพนมรุ้งและได้รับการยกย่องให้เสมอองค์พระศิวะด้วย ส่วนโยคีทั้ง 4 ตน คือบริวารผู้ติดตาม หรืออาจจะเป็นภาพของโยคีในศาสนาพราหมณ์นิกายปาศุปตะ ซึ่งโยคีตนกลางคงหมายถึงนาคุลิสะหรือลาคุลิสะ ปฐมาจารย์แห่งนิกายปาศุปตะ และโยคีอีก 4 ตน คือสาวก ในคัมภีร์กล่าวว่าพระศิวะได้เข้ามาสถิตอยู่ในร่างของนาคุลิสะ ซึ่งถือเป็นอวตารของศิวะเพื่อลงมาเพื่อเผยแพร่ไศวนิกาย

โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ ในวิหารกลางปราสาทประธาน

อุสุภราช หรือ นนทิ เป็นชื่อโคเผือกที่เป็นพาหนะของพระศิวะ กำเนิดมาจากเมื่อครั้งกวนเกษียณสมุทร พระกัศยปะต้องการให้นางโคสุรภีเป็นพาหนะประจำพระองค์ แต่ติดว่านางโคสุรภีเป็นโคเพศเมีย หากจะเป็นโคพาหนะจึงควรเป็นโคเพศผู้มากกว่า พระกัศยปะจึงได้เนรมิตรโคเพศผู้ขึ้นมาให้สมสู่กับนางโคสุรภี ลูกโคที่เกิดมาเป็นโคสีขาวปลอดเพศผู้ลักษณะดี คือ โคอุสุภราช พระกัศยปะจึงได้ประทานชื่อให้ว่า นนทิ หรือ นันทิ และได้ถวายให้เป็นพระพาหนะแด่พระศิวะ

อีกตำนานหนึ่งของการกำเนิดโคอุสุภราช กล่าวว่า เดิมทีเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ นนทิ เป็นเทพที่ดูแลบรรดาสัตว์ 4 ขาต่าง ๆ ที่เชิงเขาไกรลาส และมักเนรมิตรตนให้เป็นโคเผือกสีขาวเพื่อเป็นพาหนะของพระศิวะเมื่อเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ

โคอุสุภราชในความเชื่อของชาวฮินดูไม่เพียงแต่เป็นสัตว์พาหนะตัวหนึ่งเท่านั้น แต่ยังได้รับการบูชาดุจดั่งเทพเจ้าองค์หนึ่ง ดังนั้น โคหรือวัวสำหรับชาวฮินดูจึงถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูจึงไม่ฆ่าโคและกินเนื้อวัว ในพิธีการมงคลแบบฮินดู พราหมณ์จะนำมูลโคมาเจิมหน้าผาก ถือว่าเป็นมงคลประการที่ 7 และในวิหารบูชาพระศิวะมักมีรูปปั้นโคอุสุภราชนี้ประดิษฐานที่กลางวิหารด้วย ด้วยถือว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งขององค์พระศิวะ

หน้าบันและทับหลัง อันตราละของปราสาทประธานด้านทิศเหนือ

ภาพที่หน้าบันด้านบนเป็นภาพบุคคลมีหลายเศียรหลายมืออยู่บนราชรถเทียมม้า มือข้างหลังมือหนึ่งจับบุคคลที่นั่งอยู่ด้านหลังราชรถ ด้านหน้าม้ามีภาพนกตัวหนึ่ง ถัดลงมาเป็นบรรยากาศของป่าเนื่องจากมีต้นไม้ปกคลุมมาก ทางด้านล่างของภาพมีรูปบุคคลนั่งอยู่บนหิน ถัดมาทางซ้ายเป็นรูปบุคคลนั่งคุกเข่า ตรงกลางมีรูปบุคคล 2 คน คนหนึ่งนั่งคุกเข่าอีกคนหนึ่งอยู่ในท่าแผงศร จึงเชื่อว่าน่าจะหมายถึงภาพตอนทศกัณฐ์ลักพานางสีดา

โดยจากภาพด้านล่างเป็นภาพทศกัณฐ์ปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาเกลี้ยกล่อมให้นางสีดาไปกับตน ในขณะที่พระรามออกไปตามกวางทอง ซึ่งเป็นแผนของทศกัณฐ์ที่ให้มารีจปลอมตัวมาเป็นกวางทอง เมื่อพระรามแผงศรไปถูกกวางทอง (ในภาพมีหัวเป็นคนตัวเป็นกวาง) กวางทอง (มารีจ) ได้ปลอมเป็นเสียงพระรามเพื่อขอความช่วยเหลือ ทำให้พระลักษมณ์ต้องออกมาตามหา เป็นโอกาสให้ทศกัณฐ์เข้ามาเกลี้ยกล่อมนางสีดา แต่นางสีดาไม่ยอม ทศกัณฐ์จึงแปลงกายกับร่างเดิมแล้วอุ้มนางสีดาขึ้นราชรถไปเมืองลงกา (ภาพบุคคลที่มีหลายเศียรหลายมืออยู่บนราชรถเทียมม้า) ระหว่างทางนกชฏายุสได้ยินเสียงนางสีดาขอความช่วยเหลือจึงได้เข้ามาขัดขวาง ในท้ายที่สุดนกชฏายุสก็ถูกทศกัณฐ์ฆ่าตาย

ทับหลังมีภาพบุคคลจับช้างกับราชสีห์แยกออกจากกัน สันนิษฐานว่าเป็นภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างกุวัลยปิถะและประลองกำลังกับราชสีห์ ซึ่งลักษณะการรวม 2 ตอนนี้เข้าด้วยกัน ก็พบที่ปราสาทศรีขรภูมิด้วย

เสาติดผนังกรอบประตูฝั่งทิศเหนือ มณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ซุ้มประตูมณฑป มีเสาติดผนังสลักลายลายก้านขดที่แต่ละขดไม่ได้เกิดจากก้านดอก ขอบทั้ง 2 ข้าง ตกแต่งด้วยลายใบไม้สามเหลี่ยม ตามลักษณะแบบบาปวน และน่าจะมีการสืบทอดต่อมาในสมัยนครวัดด้วย

หน้าบันครรภคฤหะของปราสาทประธานด้านทิศเหนือ

จากด้านบนหน้าบันมีรูปบุคคล 2 คน ประทับนั่งบนเสลี่ยงคานหาม ด้านบนมีเครื่องสูง แสดงฐานันดร เช่น พัดโบก ธง ฉัตร ถัดลงมาด้านล่างเป็นกองทัพวานรอยู่ในอาการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า (ทางด้านซ้ายของผู้ชม) จึงสันนิษฐานว่าเป็นภาพในรามายณะ ตอนพระราม พระลักษมณ์ ยกทัพไปกรุงลงกา โดยบุคคลที่ประทับนั่งบนเสลี่ยงคานหามก็คือพระรามและพระลักษมณ์

ภาพเล่าเรื่องที่อยู่ตรงกลางทับหลังสภาพในปัจจุบันถึงแม้จะชำรุดเสียหายมากแต่ก็ยังมีเค้าโครงให้ทราบอยู่บ้าง โดยด้านบนเป็นภาพบุคคล มีมือด้านขวาถือจักร ยืนอยู่บนสัตว์มีปีก ซึ่งน่าจะเป็นครุฑ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระวิษณุทรงครุฑ

ส่วนยอดครรภคฤหะ

ทับหลังภายในครรภคฤหะของปราสาทประธานด้านทิศเหนือ

ภาพตรงกลางมีภาพบุคคลกำลังยิงธนูไปที่นกซึ่งอยู่บนยอดเสา เหนือบุคคลนี้มีฉัตรกางอยู่ ถัดไปทางด้านซ้าย มีแถวบุคคลคล้ายพราหมณ์สังเกตจากเคราและทรงผม ยืนเรียงอยู่ 7 คน ด้านหน้าของบุคคลที่กำลังยิงธนูมีรูปบุคคลยืนถือธนู ที่ด้านบนมีฉัตรกางอยู่ ถัดมาทางด้านขวา มีรูปบุคคลนั่งเรียงกัน 4 คนและมีรูปบุคคลประทับนั่งบนบัลลังก์ พร้อมด้วยเครื่องสูง เช่น ธง พัดโบก จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาพในมหาภารตะ ตอนพิธีสวยมพรพระนางเทราปที โดยบุคคลที่ยืนยิงธนูและบุคคลที่ยืนถือธนูคืออรชุน ส่วนพรามหณ์ที่ยืนอยู่ 7 คน คือพี่น้องปาณฑพ 4 คน ที่ปลอมตัวมาเป็นพราหมณ์ และอีก 2 คน คือ กรรณ กับชฤษฏ์ฑยุมน์ บุคคลที่นั่งอยู่บนบัลลังก์คือพระนางเทราปที และแถวบุคคลที่นั่งมอบอยู่น่าจะเป็นผู้รับใช้ของพระนางเทราปทีนั่นเอง และหลังจากการยิงธนู พระอรชุนก็ได้อภิเษกกับพระนางเทราปที แต่ยังมีประเด็นหนึ่งคือ การที่เป้าซึ่งพระอรชุนเล็งนั้นเป็นนกแทนที่จะเป็นปลาตามเรื่องราวในคัมภีร์ จึงอาจจะเกิดจากการดัดแปลงของช่างพื้นเมืองเองก็เป็นได้

ทับหลังด้านทิศเหนือของปรางค์น้อย

ทับหลังเป็นรูปลายใบไม้ในกรอบสามเหลี่ยมอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะแบบคลัง หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง มีมือยื่นออกมาจับท่อนพวงมาลัย ตามลักษณะงานศิลปะแบบบาปวน ทับหลังชิ้นนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบคลังกับแบบบาปวน

หน้าบันและทับหลัง ด้านทิศตะวันออกของปรางค์น้อย

ทับหลังเป็นรูปบุคคลประทับนั่งเหนือหน้ากาล หน้าคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง มีมือยื่นออกมาจับ ท่อนพวงมาลัยยกสูงเกือบชิดขอบด้านบน ซึ่งเป็นงานศิลปะแบบบาปวน แต่ที่เสี้ยวของท่อนพวงมาลัยมีพวงอุบะมาแบ่งตามลักษณะแบบคลัง ทับหลังชิ้นนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบคลังกับแบบบาปวน

กรอบหน้าบันสลักเป็นรูปซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออกประดับด้วยใบระกา ปลายกรอบหน้าบันมีนาคหัวโล้น และภายในมีกรอบลายรูปสามเหลี่ยม ตามศิลปะแบบบาปวน ภายในกรอบลายนี้มีรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะอยู่บนหน้ากาลภายในซุ้มเรือนแก้ว

ที่หน้าบันปรากฏรูปบุคคลกำลังยกแขนซ้ายขึ้น ด้านบนเป็นซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งภาพดังกล่าวนี้คงหมายถึงพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะเพื่อบังพายุฝนที่บันดาลจากพระอินทร์ป้องกันฝูงโคและเหล่าคนเลี้ยงโค การยกภูเขาโควรรธนะด้วยมือซ้ายเป็นลักษณะทางประติมานวิทยาที่สำคัญของภาพเล่าเรื่องในตอนนี้

ครรภคฤหะและอันตราละของปราสาทประธานด้านทิศใต้

องค์ปราสาทประธานตั้งอยู่ภายในระเบียงคดชั้นใน สร้างด้วยหินทราย ประกอบไปด้วยด้านหน้ามีมณฑป ถัดมามีอันตราละเป็นชนวนทางเชื่อมต่อกับครรภคฤหะ ผังของปราสาทประธานในส่วนของครรภคฤหะนั้น อยู่ในผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา องค์ปราสาทรองรับด้วยฐาน 1 ฐาน ส่วนที่เป็นห้องครรภคฤหะมีการทำฐานล่างให้สูงกว่าฐานของซุ้มประตูและยกฐานขึ้นไปอีก 1 ชั้น ทำให้จากภายนอกดูเหมือนว่าห้องครรภคฤหะยกพื้นสูงกว่ามณฑป ที่ซุ้มประตูมีการทำซุ้มลด 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา ซุ้มลดตรงกลางมีการต่อซุ้มปีกกาใต้กรอบหน้าบันเพื่อขยายขนาดพื้นที่ห้องให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นการนำลักษณะของอาคารเครื่องไม้มาใช้

ส่วนยอดที่เป็นเรือนชั้นซ้อนนั้นมีลักษณะเป็นทรงพุ่มเนื่องจากใช้กลีบขนุนหรือนาคปรักประดับที่มุมอาคารแทนปราสาทจำลองแล้ว ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นในช่วงศิลปะแบบนครวัดตอนต้น เช่น ปราสาทพิมาย ที่กลางด้านตกแต่งด้วยบันแถลงสลักลายเทพประจำทิศทั้ง 4 ส่วนที่มุมประกอบนั้นสลักลายทวารบาลหรือลายเทวดา

จากภาพที่ด้านบนมีรูปบุคคลมี 4 กร ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะบนบัลลังก์ ขนาบข้างด้วยบริวารสตรี ถัดลงมาด้านล่างจากทางด้านซ้าย มีรูปบุคคลมือข้างซ้ายยกขึ้นแตะไหล่ ถัดมาเป็นรูปบุคคลนั่งเรียงกันประมาณ 3-4 คน สภาพในปัจจุบันชำรุดมาก และคนด้านขวา ติดกับกรอบหน้าบัน มีรูปโยคีนั่งชันเข่า ส่วนมือข้างซ้ายยกขึ้นแตะไหล่เช่นกัน สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาพ ศิวมหาเทพ หรือ พระศิวะ 4 กร ประทับนั่งบนยอดเขาไกรลาส บุคคลที่มี 4 กร ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะบนบัลลังก์ ก็คือ พระศิวะ ส่วนฐานที่ซ้อนลดหลั่นกันก็คือสัญลักษณ์ของเขาไกรลาส ส่วนบุคคลที่นั่งอยู่ด้านล่างรวมทั้งรูปโยคีนั่งชันเข่าก็น่าเป็นบริวารของพระศิวะ

ครรภคฤหะและอันตราละของปราสาท

ปรางค์น้อยด้านทิศตะวันออก

ปรางค์น้อย สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยหินทราย ผังของปราสาทอยู่ในผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ฐานด้านล่างรองรับองค์ปราสาทก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานเขียงเตี้ยๆ มีการทำช่องประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนที่เหลือสลักเป็นประตูหลอก

ช่องประตูทางด้านทิศตะวันออกนี้มีการสลักทับหลังเป็นรูปบุคคลประทับนั่งเหนือหน้ากาล หน้าคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง มีมือยื่นออกมาจับ ท่อนพวงมาลัยยกสูงเกือบชิดขอบด้านบน ซึ่งเป็นงานศิลปะแบบบาปวน แต่ที่เสี้ยวของท่อนพวงมาลัยมีพวงอุบะมาแบ่งตามลักษณะแบบคลัง

ทับหลังชิ้นนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบคลังกับแบบบาปวน กรอบหน้าบันสลักเป็นรูปซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออกประดับด้วยใบระกา ปลายกรอบหน้าบันมีนาคหัวโล้น และภายในมีกรอบลายรูปสามเหลี่ยม ตามศิลปะแบบบาปวน ส่วนยอดเหลือเพียงนาคปรักที่มุมประธาน นาคมีรัศมีเป็นแผงเดียวกัน ซึ่งเป็นงานในศิลปะแบบนครวัด ดังนั้นส่วนยอดนี้อาจจะเป็นงานซ่อมในสมัยหลังก็เป็นได้

ยอดครรภคฤหะ

ส่วนยอดของปราสาทประธานมีลักษณะเป็นยอดทรงพุ่มเนื่องจากมีการใช้กลีบขนุนแบบนาคปักที่มีรูปทรงเอนไปด้านหลังแทนการใช้ปราสาทจำลอง ทำให้กรอบนอกของส่วนยอดของปราสาทเป็นทรงพุ่ม เช่นเดียวกับที่ปราสาทพิมาย ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนครวัดเป็นต้นมา ที่มุมประกอบตกแต่งด้วยกลีบขนุนสลักรูปทวารบาลหรือเทวดา ที่กลางด้านแต่ละชั้นมีการสลักเป็นช่องซุ้มประตูหลอก ที่ประกอบไปด้วยหน้าบัน เสาประดับกรอบประตู ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่าช่องวิมาน ที่ด้านหน้าของช่องวิมานมีบันแถลงสลักเป็นรูปบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาบนช้างเอราวัณที่มี 3 เศียรอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนยอดของเครื่องบนเป็นรูปหม้อน้ำที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวซ้อนกัน 3 ชั้น

ที่กลางด้านแต่ละชั้นมีการสลักเป็นช่องซุ้มประตูหลอก ที่ประกอบไปด้วยหน้าบัน เสาประดับกรอบประตูและบานประตู ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการจำลองอาคารที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป เพื่อแสดงถึงฐานันดรชั้นสูงให้กับรูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ภายในครรภคฤหะ

บันแถลงที่ด้านหน้าของช่องวิมานสลักเป็นรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาอยู่บนช้าง 3 เศียร เป็นภาพของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก จากตำแหน่งที่ตั้งก็อยู่ทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกัน ซึ่งทิศอื่นๆ ของปราสาทพนมรุ้งก็มีการประดับรูปเทพประจำทิศทั้ง 4 ด้วย ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายกับส่วนยอดของปราสาทพิมาย

ยอดครรภคฤหะและอันตราละของปราสาท

พลับพลาเปลื้องเครื่อง

พลับพลาเปลื้องเครื่อง สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งหันสู่ทางดำเนินที่ใช้ไปปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยบายน ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลง ยกเว้นในส่วนกรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสา และงานตกแต่ง ผังของอาคารมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนฐานตรงกลางด้านหน้ามีผังอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนที่ 2 เป็นอาคารด้านหลังมีผังเป็นรูปอักษรตัว C ในภาษาอังกฤษ

ส่วนที่ 1 ฐานด้านล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก ยกท้องไม้สูง มีการยกระดับไล่จากตรงกลางที่ยกที่สุดและไล่ลงมาทางด้านซ้ายและขวา ด้านบนมีแนวเสาตั้งคู่ขนานไปตามทางยาว แสดงให้เห็นว่าส่วนที่ 1 นี้เป็นอาคารโถง

ส่วนที่ 2 ฐานชั้นล่างเป็นฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้น โดยฐานชั้นล่างมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่า ส่วนชั้นบนเป็นพียงฐานยกระดับขึ้นมาเล็กน้อย มีการทำช่องประตูทางเข้าที่ส่วนปลายทั้ง 2 ด้าน ที่ผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างประดับลูกมะหวด เหนือแนวผนังขึ้นไปมีการประดับแนวลวดบัวด้วยหินทราย ถัดขึ้นไปที่มุมอาคารตกแต่งด้วยหน้ากาลคายนาค ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของส่วนปลายกรอบหน้าบัน ลักษณะของนาคมีรัศมีแต่ยังไม่เชื่อมต่อเป็นแผ่นเดียวกันจึงน่าจะเป็นงานศิลปะแบบบาปวน ดังนั้นอาคารหลังนี้จึงมีการนำงานประดับอาคารรุ่นเก่ามาดัดแปลงใช้ด้วย

พลับพลาเปลื้องเครื่อง เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในปัจจุบันโดยสันนิษฐานจากหน้าที่การใช้งานอาคารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าศาสนสถาน ซึ่งอาคารในตำแหน่งมักใช้เป็นอาคารที่พักจัดเตรียมพระองค์ เช่น เปลื้องเครื่องทรงที่แสดงยศศักดิ์ และจัดเตรียมกระบวนเสด็จของกษัตริย์ก่อนเสด็จไปสักการะรูปเคารพหรือเทพเจ้า อาคารหลังนี้ยังมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงช้างเผือก เนื่องจากแต่เดิมเข้าใจกันว่าปราสาทพนมรุ้งเป็นพระราชวังของกษัตริย์ ซึ่งมักจะมีโรงช้าง โรงม้า อยู่บริเวณด้านหน้า

ปราสาทเขาพนมรุ้งแห่งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์และชาวไทยเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็นโบราณสถานที่มีที่มายาวนานของความเป็นชาติพันธุ์แล้ว ยังมีปรากฏการทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์ขึ้นและลง ซึ่งเราจะสามารถมองเห็นทะลุผ่านได้ทั้ง 15 ประตูขององค์ปราสาท ซึ่งในปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเบ็ดเสร็จ 4 ครั้ง

ลงจากปราสาทมา เราก็พบกับร้านรวง ขายของที่ระลึกบ้าง อาหารบ้าง นั่นคือ อีกสิ่งหนึ่งที่โบราณสถานแห่งนี้ทำให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ นั่นคือ การกระจายตัวของรายได้ มองนาฬิกาเวลานี้ เห็นทีต้องไปกระจายรายได้ในส่วนอื่นของบุรีรัมย์แห่งนี้เสียทีแล้ว


ข้อมูลอ้างอิง :: ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง ::

Review...นางรอง บัดเจท แอนด์ บูทิค โฮเทล (โรงแรมนางรอง)

เทวาลัย ไร้ที่มา ......ปราสาทเมืองต่ำ

บวงสรวงเทวา "ปราสาทเมืองต่ำ" ตำนานนิรมิต....สายธารแห่งชีวา เดอะมิวสิคัล ที่ตลาด "วิถีชุมชน คนบุรีรัมย์"

วนรุง (พนมรุ้ง) วิไล ...... เทวาลัยแห่งเขาไกรลาส

ผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น.....ฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ "ผ้าภูอัคนี"

บูชาพระอังคารธาตุ บนยอดภูเขาไฟ ชมใบเสมาพันปี ที่ "วัดเขาพระอังคาร" บุรีรัมย์

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง .....ความสดใส ในทุ่งกว้าง กับครูลี่ ณ บ้านถาวร บุรีรัมย์

"ตลาด" ถมหมืดถมมอ ..... นางรองบ้านเอ๋ง บุรีรัมย์

รีวิว....โรงแรมพนมรุ้งปุรี (Review Phanomrung puri Hotel)

เที่ยววัด....ที่นางรอง บุรีรัมย์ วัดขุนก้อง - วัดร่องมันเทศ - วัดกลาง

สำนักสงฆ์พุทธศิลา "ภูม่านฟ้า" อำเภอชำนิ บุรีรัมย์



สายลม ที่ผ่านมา

 วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 20.11 น.

ความคิดเห็น