แม่น้ำห้าสาย... เปล่านะ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองอะไรหรอก แต่หมายถึงลุ่มน้ำสำคัญแห่งภาคกลาง กับนิทานปรัมปราพระพุทธรูปห้าพี่น้อง ซึ่งลอยมาตามแม่น้ำทั้งห้าสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ต่างหาก

ตำนานเก่าก่อนเล่าว่าครั้งอดีตมีภิกษุสงฆ์พี่น้องห้ารูปจากเมืองเหนือตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอน พร้อมตั้งจิตภาวนาว่าเมื่อมรณภาพแล้วขอให้ดวงวิญญาณบำเพ็ญบารมีต่อไปจนกว่าจะนิพพาน หลังจากมรณภาพจึงกลายเป็นพระพุทธรูปห้าองค์ไหลลงตามแม่น้ำ แต่ละองค์ลอยกระจัดกระจายคนละทิศทาง กระทั่งได้รับการอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดต่างๆ คือ หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร สมุทรสงคราม (แม่กลอง) หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทปราการ (เจ้าพระยา) หลวงพ่อโสธร วัดโสธร ฉะเชิงเทรา (บางปะกง) หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง นครปฐม (นครชัยศรี) และหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เพชรบุรี (เพชรบุรี)

ตำนานดั้งเดิมช่วงแรกพูดถึงเพียงองค์พระสามพี่น้อง หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโต หลวงพ่อโสธร ก่อนเวลาถัดมามีการเพิ่มเติม หลวงพ่อวัดไร่ชิง กับ หลวงพ่อทอง กลายเป็นห้าพี่น้องอย่างที่เล่าขานกันอยู่ในปัจจุบัน

ใครยึดติดความเป็นจริงคงเถียงขาดใจ เพราะแม่น้ำทั้งห้าบางสายไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ที่มาและทิศทางต่างกัน ซึ่งก็ขอให้ใจเย็นเพราะบอกแล้วว่านี่คือตำนาน คือนิทานปรัมปรา เล่าสู่กันฟังจากรุ่นสู่รุ่น อย่าขวนขวายหาความทางวิทยาศาสตร์ ไม่อย่างนั้นเรื่องเล่าตำนานคงหมดอรรถรสเสียเปล่า

เพราะมีตำนานขรึมขลังมาอ้างอิง การเที่ยวตามรอยเรื่องเล่าจึงค่อนข้างมีเสน่ห์ ผมเคยฟังเรื่องนี้มานานแล้ว ส่วนตัวค่อนข้างชอบมากเพราะสนุกสนานดี ประกอบกับมีความสนใจส่วนตัวเรื่องศาสนาพอประมาณ แถมเคยสักการะหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อทอง มาก่อนแล้ว พอได้รับคำชวนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าอยากมาไหว้พระให้ครบทั้งห้าพี่น้องภายในทริปเดียวหรือเปล่าจึงรีบตอบลงลงโดยไม่แทบไม่ต้องคิด

เดินทาง 21-22 พฤศจิกายน เป็นทริปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว โดยมี ททท. สำนักงานเพชรบุรี เป็นโต้โผใหญ่ ร่วมกับสำนักงานกรุงเทพ และสำนักงานสมุทรสงคราม ในชื่อโครงการ "เบญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ " เริ่มต้นจาก กทม. ไปฉะเชิงเทรา ย้อนมาสมุทรปราการ ข้ามฝากสู่สมุทรสงคราม ลงไปเพชรบุรี ก่อนย้อนขึ้นมาปิดท้ายที่นครปฐม

วัดแรก จากเมืองหลวงศิวิไลซ์มุ่งสู่วัดโสธรวราราม ที่นี่คึกคักเหมือนเช่นทุกวันที่เคยเป็น หากเปรียบพระพุทธรูปห้าพี่น้องเป็นคนธรรมดา ต้องบอกว่าหลวงพ่อโสธรคือคนที่ประสบความสำเร็จที่สุด โด่งดังที่สุด ร่ำรวยที่สุด มีคฤหาสน์ใหญ่โตโอ่อ่า ลูกน้องมากมาย ใครเคยไปคงรู้ดี ลำพังแค่พระอุโบสถหลังใหญ่ก็งดงามอลังการสุดยอด ว่ากันว่างบประมาณการก่อสร้างเกือบสองพันล้านบาท

ภายในอุโบสถจะเห็นพระประธานสององค์ซ้อนกัน องค์หน้าคือหลวงพ่อโสธร องค์หลังคือพระประธานองค์เดิม ซึ่งในตำนานหนึ่งบอกว่าการอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงเมื่อกว่า 250 ปีมาแล้ว ต้องทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดา ถึงอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาบนฝั่งสำเร็จ

ในอุโบสถไม่อนุญาตให้ปิดทองพระองค์จริง ใครอยากปิดทองหลวงพ่อโสธร หรือแก้บนถวายไข่ต้มต้องไปที่วิหารซึ่งประดิษฐานองค์จำลอง แต่สำหรับผมขอกราบไหว้องค์จริงดีกว่าครับ

กราบไหว้หลวงพ่อโสธรเสร็จสรรพ เรามีโอกาสแวะเที่ยวชมตลาดคลองสวน 100 ปี ซึ่งเป็นทางผ่าน ตลาดเก่าที่นี่เก๋ไก๋เพราะเป็นรอยต่อสองจังหวัด สมุทรปราการ กับฉะเชิงเทรา ฝั่งทางเข้าหลักอยู่สมุทรปราการ ส่วนถ้าเดินเข้าตลาดข้ามคลองคลองประเวศบุรีรมย์ไปจะเป็นฉะเชิงเทรา

ของกินเด่นมากคือพวกขนมไทยโบราณ เอ่ยชื่อไปถึงกับงงเพราะไม่เคยได้ยิน เป็นฝีมือจากคนรุ่นเก่าสืบทอดกันต่อมา นับว่าได้อารมณ์ตลาดเก่าจริงๆ แถมยังเปิดทุกวันด้วยครับ ไม่ใช่เฉพาะแค่วันหยุด เปิดตั้งแต่สายๆ วายตอนใกล้เย็น เที่ยวได้ทุกวันแสนสบาย ใครอยากรู้ว่าขนมที่ว่ามีอะไรบ้างก็ไปตามหาเอาเองครับ (ฮา...)

ต่อมาค่อยเข้าวัดบางพลีใหญ่ใน ริมคลองสำโรง สมุทรปราการ สักการะหลวงพ่อโต ซึ่งนับถือว่ากันว่าเป็นองค์ที่สามในบรรดาห้าพี่น้อง นับตามลำดับการอาราธนาขึ้นจากน้ำ แต่หากวัดกันเฉพาะขนาดก็ต้องหลวงพ่อโตนี่แหละใหญ่สุดสมนาม ประชาชนแห่แหนกันมาปิดทองไม่ขาดสาย แสดงให้เห็นถึงความเคารพศรัทธาเป็นอย่างดี

วัดแห่งนี้มีประเพณีขึ้นชื่อคือประเพณีรับบัว ซึ่งจะมีขึ้นก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวัน หรือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เคยเห็นในทีวีมานักต่อนัก พอมาสัมผัสบรรยากาศภายในวัดของจริงแล้วยิ่งรู้สึกว่าสักครั้งน่าจะมาร่วมประเพณีนี้บ้างให้ได้นะ

มาสักการะหลวงพ่อโตแล้ว ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ที่นี่เขามีตลาดโบราณบางพลี คลองสำโรง ให้เดินเที่ยวเดินหาของกินอร่อยลิ้นกันด้วย เด็ดสุดผมยกให้ข้าวหอใบบัวสูตรบางพลี กินกับปลาสลิดทอดจากบางบ่อ แค่นี้ก็เป็นมื้อบ้านๆ ที่รสชาติสุดยอดแล้วล่ะ

หลังจากนั้นได้เวลาเดินทางยาว ใช้ถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอก ต่อถนนพระรามที่ 2 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท สส. 2021 ที่เรียกเก๋ๆ ว่า Scenic Route หลายคนอาจคุ้นเรียกว่าทางเลี่ยงไปชะอำ หรือถนนคลองโคน-ชะอำ ก็ว่ากันไป แยกเข้าอยู่ประมาณ พระรามที่ 2 กม.72 ครับ

ถนนเส้นนี้จากคลองโคน สมุทรสงคราม จะตรงเข้าอำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี นั่นแหละเป็นที่ประดิษฐานอีกหนึ่งในพระพุทธรูปห้าพี่น้อง ที่วัดเขาตะเครา คือหลวงพ่อทอง ซึ่งมีขนาดองค์เล็กที่สุด แต่มีความแปลกที่สุด

ลักษณะของหลวงพ่อทองแท้จริงเป็นอย่างไรบอกไม่ได้แล้วล่ะครับ เพราะองค์พระมีทองคำเปลวติดพอกหนาอย่างที่เห็น และยังแตกต่างกับพระพี่น้ององค์อื่นตรงประดิษฐานอยู่ภายในศาลา ไม่ได้อยู่ภายในพระอุโบสถ

เมื่อปี พ.ศ. 2527 เกิดไฟไหม้โบสถ์วัดเขาตะเครา องค์หลวงพ่อทองลุกไหม้ทำให้ทองคำเปลวซึ่งพอกพูนหลอมละลายกลายเป็นทองคำน้ำหนักเกือบสิบกิโลกรัม ชาวบ้านเชื่อกันว่าไฟไหม้ครั้งนั้นเป็นปาฏิหาริย์การสละทองของหลวงพ่อ ซึ่งที่ศาลามีภาพถ่ายหลวงพ่อก่อนสละทองครั้งนั้นให้ชมด้วยครับ

จากทั้งห้าวัด ห้าจังหวัด วัดเขาตะเครา น่าจะเป็นวัดซึ่งมีทุนทรัพย์และการพัฒนาด้านอาคารสถานต่างๆ น้อยที่สุดแล้วล่ะ แต่ก็ไม่ใช่วัดไกลปืนเที่ยงอะไรหรอกนะครับ เพราะคำว่าน้อยที่สุดคือเมื่อเทียบกับอีกสี่วัดที่เหลือเท่านั้นแหละ

หลังจากกราบสักการะหลวงพ่อทองเสร็จก็เข้าที่พัก ได้มานอนแถวหาดเจ้าสำราญครับ แต่เพราะไม่ใช่รีวิวโรงแรมเลยขอข้ามแล้วกัน เอาเป็นว่าใครอยากมาเที่ยวทริปแบบผม นอนหาดเจ้าสำราญก็สะดวกดีนะ

วันถัดมาออกจากเพชรบุรี มุ่งหน้าสู่จังหวัดที่สี่ พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ประดิษฐานอยู่วัดเพชรสมุทร ตัวเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม เป็นวัดซึ่งผมมาค่อนข้างบ่อย แวะมาแถวนี้ทีไหนต้องมาไหว้หลวงพ่อบ้านแหลม พร้อมหากินข้าวแห้ง อาหารขึ้นชื่อเมืองแม่กลองกินทุกครั้ง และเหมือนเดิมทุกครั้งที่มาคือผู้คนล้นหลาม

หลวงพ่อบ้านแหลมต่างจากพี่น้องทุกองค์ คือเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร มีตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้มากมายครับแต่ขอยกมาเล่าสองเรื่อง เรื่องแรกคือเป็นพระองค์แรกซึ่งได้รับการอาราธนาขึ้นจากแม่น้ำจึงถือว่าเป็นพี่ใหญ่ ขณะที่อีกเรื่องบอกว่าชาวบ้านอำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี ลากอวนที่ปากอ่าวแม่กลองติดพระพุทธรูปสององค์ องค์นั่งกับองค์ยืน ระหว่างเดินทางกลับปรากฏว่าพระยืนจมหายไปกับสายน้ำ จึงทำได้เพียงอาราธนาพระองค์นั่งกลับไปก็คือหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา

ต่อมาชาวบ้านแม่กลองพบพระพุทธรูปยืนที่หายไปก็อาราธนาไว้ยังวัดศรีจำปา (ชื่อเดิมของวัดเพชรสมุทร) พอชาวบ้านแหลมรู้ข่าวก็ตามมาทวงคืนจนเกือบมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ทว่าสุดท้ายสามารถตกลงกันคือชาวบ้านแหลมยินยอมให้พระพุทธรูปประดิษฐาน ณ วัดศรีจำปา แต่ต้องเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดบ้านแหลม และเรียกพระพุทธรูปว่าหลวงพ่อบ้านแหลม ก่อนต่อมาจะเปลี่ยนเป็นวัดเพชรสมุทรเหมือนปัจจุบัน

ถัดมาเราต่อกันไปจังหวัดนครปฐม วัดไร่ขิง แต่ระหว่างทางแวะเบรกสักหน่อยที่ วู้ดแลนด์ เมืองไม้ แฟนตาซี อำเภอนครชัยศรี

ยอมรับครับว่าไม่เคยรู้จักที่นี่มาก่อน ไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ แต่พอเข้ามาแล้วถึงกับอึ้งทึ่ง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน เจ้าของคือตระกูลทิวไผ่งาม สะสมรวบรวมงานไม้แกะสลักจากทั่วสารทิศ จัดแสดงแบ่งเป็นห้องต่างๆ สวยงามมากครับ

มีงานศิลปะเกี่ยวกับศาสนาทั้งพุทธ ฮินดู คริสต์ แต่ละชิ้นบอกเลยว่าฝีมือสุดยอด ราคาค่าเข้าติดไว้ว่าสองร้อยบาท คิดทีแรกว่าแพงอยู่ แต่พอเข้ามาดูสิ่งของที่เขาจัดแสดงแล้วต้องถอนคำพูด เปลี่ยนเป็นสองร้อยนี่ถูกเหลือเชื่อ คุ้มค่าได้เข้ามาสัมผัสความงามอย่างแรง

อย่าเชื่อที่ผมโม้ครับ อยากให้ไปชมแล้วพิจารณาเอาว่าผมโม้หรือเปล่า (ฮา...)

เอาล่ะ สุดท้ายเราก็มาถึงอำเภอสามพราน นครปฐม ที่ตั้งของวัดไร่ขิงสักที ผู้คนมากมายตามสไตล์วัดดัง หลวงพ่อวัดไร่ขิงประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ และเหมือนกับหลวงพ่อโสธรคือวัดไม่อนุญาตให้ปิดทองพระองค์จริง

ใครอยากปิดทองเชิญที่องค์จำลอง หรือที่พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์หน้าประตูโบสถ์ และหากใครต้องการรับศีลรับพร เครื่องรางจากทางวัดก็ตามสะดวกศรัทธาแล้วกัน

ภายในวัดกว้างขวางรองรับผู้คนได้สบาย ไม่ไกลริมน้ำมีศาลาประดิษฐานองค์พระห้าพี่น้องจำลองรวมกันให้กราบไหว้สักการะแบบทีเดียว ซึ่งนั่นคือการปิดทริปไหว้พระห้าพี่น้องทางสายน้ำแห่งลุ่มน้ำภาคกลาง เบญภาคีวารีปาฏิหาริย์ ครั้งนี้ด้วย

จะว่าโชคดีก็ใช่นะครับ ผมเคยฟังตำนานเกี่ยวกับพระห้าพี่น้องนี้มานาน และคิดมาตลอดว่าสักวันอยากจะหาโอกาสเที่ยววัดทั้งห้าแห่งนี้พร้อมกันในทริปเดียว แต่ยังไม่ทันลงมือทำเองก็กลับมีคนพามาให้สมใจโดยไม่ต้องเหนื่อยเสียอย่างนั้น

ที่สำคัญ จากเคยมองว่าสองวัน ห้าจังหวัด จะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ไกลกันเกินไปไหมจึงทำให้ลังเลในการเดินทาง ก็พบว่ามันไม่ได้ยาวนานเหมือนที่คิดเลย เวลาค่อนข้างลงตัวพอสมควร แถมยังเป็นทริปเที่ยววัดที่ไม่น่าเบื่อเพราะได้เดินทางตามตำนาน มีเรื่องเล่าจากคนรุ่นก่อนเป็นแนวทางให้รู้สึกสนุกด้วยซ้ำ ส่วนที่เที่ยวระหว่างทางก็น่าสนใจพอสมควร

เที่ยววัด เที่ยวสนุก ไม่น่าเบื่อ และไม่ได้เหมาะเพียงแค่กับผู้ใหญ่รุ่นคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นนะครับ ทุกทริปทุกเส้นทางจะดีมากหรือน้อยขนาดไหน อยู่กับว่าคุณเปิดหัวใจเดินทางหรือเปล่านั่นแหละ


ใครสนบล็อกรีวิวอื่นของผม อยากคุยเรื่อยเปื่อย สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) ชวนเที่ยว ก็ยินดียิ่งครับ

>>> https://www.facebook.com/alifeatraveller

หรือ

>>> https://alifeatraveller.wordpress.com



นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller

 วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14.58 น.

ความคิดเห็น