“เจองูกับเจอแขก ให้ตีแขกก่อน”


ผมว่าคำๆ นี้แหล่ะ ที่ทำให้หลายๆ คนคิดหนักเมื่อคิดที่จะมาเที่ยวอินเดีย อาจจะเพราะกลัวจะไม่ทันเล่ห์กล กลโกง กลัวจะเสียทีแขก แต่ผมขอบอกเลยว่า ถ้าหากคุณไม่มาพิสูจน์ด้วยตัวเอง คุณก็คงจะเข้าใจผิดแบบนี้ไปโดยตลอด ผมว่าไม่ใช่แต่อินเดียหรอกครับ ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามักจะขูดรีดนักท่องเที่ยว เมืองไทยเราเองก็มีข่าวให้เห็นอยู่เสมอมา (ไม่ใช่เหรอ) แต่แปลกนะ ผมมาเที่ยวอินเดีย ครั้งนี้ครั้งที่สองแล้ว ทำไมผมไม่ยักเจอเหตุการณ์แย่ๆ ที่เกี่ยวกับคนอินเดีย ตามเส ียงลือเสียงเล่าอ้าง แต่กลับเจอน้ำใจของคนแขก ที่เรียกรอยยิ้มให้กับผมได้ การมาอินเดียในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของอินเดียที่จะมีปัญหาจุกจิกให้เราได้คิดได้แก้อยู่ตลอดเวลา หากเรามองข้ามอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาให้เป็นเรื่องสนุก ให้เราต้องคิดต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป และเมื่อปัญหานั้นผ่านพ้นไปได้ มันกลับเพิ่มรสชาติให้กับทริปนี้เป็นอย่างมาก แล้วผมไม่ขยาดเหรอ กับการมาอินเดียครั้งที่ 2 ตอบเลยว่า “ไม่” ครั้งแรกที่ผมมาเที่ยวอินเดีย ผมไปเที่ยวโซน เลห์ ลาดักห์ ยอมรับเลยว่าไปเที่ยวครั้งนั้นไปพร้อมกับความกังวล เพราะคำกล่าวที่ว่า “เจองูกับเจอแขก ให้ตีแขกก่อน” ยิ่งหาข้อมูลมากเท่าไร ก็ยิ่งกังวล แต่เมื่อจบทริปนั้น กลับทำให้ผมลบล้างคำพูดติดตลกนั้นลงอย่างสิ้นเชิง และการมาอินเดียครั้งที่สอง ก็ยังคงประทับใจในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว ประทับใจในน้ำใจไมตรีของคนอินเดีย และหมายมั่นปั้นมือว่า จะกลับมาอินเดียอีกหลายๆ ครั้งอย่างแน่นอน

สำหรับจุดหมายปลายทางของทริปนี้ อยู่ที่รัฐราชาสถานครับ

หากใครที่ชอบประวัติศาสตร์ ชอบสถาปัตยกรรม ชอบความเป็นมรดกโลก

ผมแนะนำที่นี่เลยครับ...ราชาสถาน

ราชาสถาน (Rajasthan) เป็น 1 ใน 29 รัฐของอินเดีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ราชาสถานอัดแน่นไปด้วยป้อมปราการ ปราสาท และราชวัง ที่มีสถาปัตยกรรมแบบราชปุตร ฮินดูแท้ๆ นับเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ของอินเดียเลยทีเดียว

Jaisalmer, Jodhpur, Ranakpur, Udaipur และ Jaipur นับเป็น 5 เมืองเด็ด ที่ใครมาเที่ยวราชาสถานแล้ว ไม่ควรพลาดไปสัมผัสกับเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผมได้รวบรวม 20 สถานที่เด็ดๆ ใน 5 เมืองเหล่านี้ไว้ให้แล้วครับ

ราชาสถาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 2 สิ่ง
1. Jantar Mantar, Jaipur
2. ป้อมปราการ ที่กระจายอยู่ทั่วราชาสถาน จำนวน 6 ป้อม ซึ่งประกอบด้วย

2.1 Chittorgarh Fort
2.2 Gagron Fort
2.3 Ranthambore Fort
2.4 Jaisalmer Fort
2.5 Kumbalgarh Fort
2.6 Amber Fort

นครสีทอง Jaisalmer เมืองที่ราบสูง กลางที่ราบทะเลทรายธาร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของราชาสถาน ในอดีตเคยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างอินเดียกับตะวันออกกลาง สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ใน Jaisalmer สร้างจากหินทรายสีเหลือง เมื่อยามแสงอาทิตย์สาดส่องมา หินเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นเป็นสีทองอร่ามไปทั่วพื้นที่ จนนครแห่งนี้ได้รับสมญานามว่า “นครสีทอง” สำหรับจุดชมวิวในภาพ เป็นป้อมปืนใหญ่ที่อยู่ด้านข้างของ Jaisalmer Fort ครับ


1. Jaisalmer Fort

Jaisalmer Fort เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นจากหินทรายจากทะเลทรายธาร์ ในปี ค.ศ.1156 บนเขาทริตรีกูฎ โดย Bhatti Rajput rule Rawal Jaisal นับเป็นป้อมปราการที่เก่าแก่อันดับ 2 ของอินเดีย และเป็น 1 ใน 6 ป้อมปราการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.2556 ลักษณะของกำแพงมีความคดเคี้ยวคล้ายงูกำลังเลื้อย สิ่งที่แตกต่างจากทั้ง 5 ป้อม นั่นคือ ภายใน Jaisalmer Fort ยังมีบ้านพักของชาวบ้านที่พำนักอยู่อาศัยมานานนับร้อยปี รวมถึงยังมีวัดเชนอีกด้วย

การเข้าชมด้านใน Jaisalmer Fort มีค่าธรรมเนียม 500 รูปี และหากต้องการถ่ายภาพภายใน Fort จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 รูปีครับ

2. Fort Jain Temple






Fort Jain Temple เป็นกลุ่มวัดเชน ประกอบไปด้วย 7 วัด ดูภายนอกเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ ความรู้สึกแรกที่เห็น ผมจินตนการถึงจอมปลวกขนาดมหึมา เพราะเห็นแล้วรู้สึกหยุยๆ เหมือนรอยโพรงของปลวก แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปด้านในวัดแล้วต้องแอบร้องว้าวว..เลยครับ ต้องบอกเลยว่าภายในงดงามมากๆ "หิน" ที่ว่าแข็ง เมื่อมาอยู่ภายในวัดแห่งนี้ ให้ความรู้สึกเหมือน "ไม้" ที่มีความอ่อนช้อยของลวดลายที่ถูกสลักอย่างวิจิตรบรรจง ต้องนับถือฝีมือของช่างผู้สร้างสรรค์จริงๆ ครับ

การเข้าชมด้านใน Fort Jain Temple มีค่าธรรมเนียม 200 รูปี (ไม่เสียค่าธรรมเนียมกล้อง) การเข้าชมด้านในจะต้องถอดรองเท้าด้วยนะครับ


3. Haveli





“Haveli” คือ คฤหาสน์ของเหล่าเสนาบดี ที่มีความสวยงามสไตล์ราชปุต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาชมได้ไม่มากนักในอินเดีย ใน Jaisalmer มี Haveli มากมาย แต่ละ Haveli ก็จะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน เช่น Salim Singh Ki Haveli โดดเด่นในเรื่องซุ้มโค้งด้านบน 38 ซุ้มโค้ง, Nathmal Ji Ki Haveli โดดเด่นที่งานแกะสลักผนังทั้ง 2 ด้าน ที่มีลวดลายสวยงามแตกต่างกัน และอีกหนึ่ง Haveli ที่น่าสนใจนั่นคือ Patwon ki Haveli เป็น Haveli ที่มีขนาดใหญ่และหรูหราที่สุดใน Jaisalmer ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 50 ปี มีจุดเด่นอยู่ที่ระเบียงหน้าต่างที่ยื่นออกมาจากคฤหาสน์มากถึง 66 ระเบียงครับ

การเข้าชมด้านในแต่ละ Haveli มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 250 รูปีครับ


4. Gadsisar Lake




Gadsisar Lake โอเอซิสขนาดใหญ่ท่ามกลางทะเลทราย สร้างขึ้นโดย Raja Rawal Jaisal ผู้ปกครองคนแรกของ Jaisalmer ต่อมา Maharaja Garisisar Singh ได้สร้างและปรับปรุงทะเลสาบใหม่ โดยรอบมีวัดและศาลเจ้า รวมถึงซุ้มประตู Tilon Ki pol เป็นหินทรายสีเหลืองที่แกะสลักได้อย่างงดงาม ปัจจุบันทะเลสาบแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญของ Jaisalmer อีกด้วย ที่นี่ไม่มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชมครับ


5. Sam Sand Dunes


Sam Sand Dunes การไปนั่งอูฐ ชมพระอาทิตย์ตกท่ามกลางทะเลทราย นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของการมาเที่ยวที่ Jaisalmer ครับ Sam Sand Dunes อยู่ห่างจากตัวเมืองราวๆ 45 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะมานั่งอูฐ ผมว่าราวๆ 5 โมงเย็น เพราะแดดจะไม่แรงจนเกินไป และยังสามารถรอชมพระอาทิตย์ตกได้ด้วย แต่ก็ต้องทำใจหน่อยนะครับ เพราะนับเป็นช่วงเวลาทองที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนั่งอูฐเข้ามากลางทะเลทรายเพื่อมารอชมพระอาทิตย์ตก ระหว่างรอชมพระอาทิตย์ตก ก็จะมีการแสดงดนตรีพื้นเมืองของชาวบ้านที่นี่ มาที่ Jaisalmer แล้ว ผมแนะนำเลยว่าไม่ควรพลาด ตั้งแต่ผมนั่งอูฐมา 3 ครั้ง (nubra valley, Egypt, Morocco) ผมรู้สึกว่าอูฐที่นี่นั่งสบ ายที่สุดแล้ว นั่งแล้วไม่เกร็งขามาก ปล่อยมือข้างเดียวเพื่อถ่ายรูปได้ค่อนข้างสบาย

ค่าบริการนั่งอูฐ อูฐ 1 ตัว 500 รูปี สามารถนั่งได้ 2 คน ต่อคนก็แค่คนละ 250 รูปี หรือประมาณ 125 บาทเอง นับว่าถูกมากๆ เลยครับ


Jodphur หรือเมืองโยธะปุระ (นครแห่งนักรบ) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1459 โดย Rao Jodha มหาราชาแห่งราชวงศ์ Rathore ในช่วงศตวรรษที่ 16 โยธะปุระเป็นศูนย์กลางการค้ าที่สำคัญในภูมิภาค ค้าขายจนกลายเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของราชาสถาน ชาวเมือง Jodphur มักจะทาสีบ้านเรือนเป็นสีฟ้า ซึ่งถือเป็นสีสัญลักษณ์ของพราหมณ์ และยังเชื่อกันว่าสีฟ้าจะทำให้บ้านเรือนเย็นสบาย นอกจากนี้ยังป้องกันแมลงได้ด้วย Jodphur จึงได้รับสมญานามว่า “นครสีฟ้า” ครับ


6. Mehrangarh Fort

Mehrangarh Fort ป้อมปราการหินทรายแดงกลางเมืองเก่า ที่ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาสูง 122 เมตร ป้อมปราการแห่งนี้สร้างล้อมรอบพระราชวังที่ใหญ่ติด 1 ใน 4 ของอินเดีย สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1459 เมื่อฤาษีท่านหนึ่งบอกแก่ Maharaja Rao Jodha ให้พระองค์สร้างเมืองขึ้นที่นี่ ป้อมจึงถูกเสริมเติมแต่งจนมีขนาดใหญ่มหึมา ภายในป้อมปราการคือพระราชวังที่งดงาม ที่ตกแต่งประดับประดาด้วยแก้วหลากสี แบ่งเป็นห้องขนาดใหญ่หลายห้อง ภายในป้อมยังเป็นจุดชมวิวเมืองสีฟ้าที่ดีอีกจุดหนึ่งเลยครับ

การเข้าชมด้านใน Mehrangarh Fort มีค่าธรรมเนียม 600 รูปี และหากต้องการถ่ายภาพภายใน Fort จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 รูปีเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 09.00-17.00 น. ครับ


7. Jaswant Thada





Jaswant Thada สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1899 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานความรักของลูกที่มีต่อพ่อ โดย Maharaja Sardar Singh ที่ต้องการสร้างให้กับพระราชบิดา (Maharaja Jaswant Singh II) ภายหลังจากที่พระราชบิดาได้เสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการชลประทาน และเป็นมหาราชาที่ประชาชนให้ความนับถือเป็นอย่างมาก Jaswant Thada สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาว ที่นำมาจากเหมืองหินอ่อนเดียวกับที่ใช้สร้าง Taj Mahal บริเวณเสาและประตู มีการสลักลวดลายที่งดงาม จาก Jaswant Thada ยังสามารถเป็นจุดชมวิว Mehrangarh Fort ที่มีฉากหลังเป็นนครสีฟ้า สวยงามเลยทีเดียว

Jaswant Thada อยู่ไม่ไกลจาก Mehrangarh Fort มากนัก เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. การเข้าชมด้านในมีค่าธรรมเนียม 50 รูปี (รวมค่าธรรมเนียมกล้องแล้ว) หากต้องการไกด์นำเที่ยวด้านใน ก็จะมีเรทราคาตามจำนวนคนครั


8. Umaid Bhawan Palace




Umaid Bhawan Palace พระราชวังขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1929 โดย Maharaja Umaid Singh ทายาทมหาราชารุ่นหลังๆ จุดประสงค์ของการสร้างพระราชวังแห่งนี้ เพื่อเป็นการสร้างงานให้กับชาวเมืองซึ่งกำลังประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงในช่วงเวลานั้น Umaid Bhawan Palace สร้างจากหินทรายสีน้ำตาลอ่อน ภายในมีห้องมากถึง 347 ห้อง ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 15 ปี ใช้แรงงาน 3,000 คน สถาปัตยกรรมของพระราชวังเป็นการผสมผสานระหว่างอินเดียผสมกับอังกฤษ ปัจจุบันส่วนหนึ่งของ Umaid Bhawan Palace ยังคงเป็นที่ประทับของมหาราชาองค์ปัจจุบันคือ Maharaja Gaj Singh ll และแบ่งพื้นที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงแรม 5 ดาว

Umaid Bhawan Palace เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 100 รูปี (รวมค่าธรรมเนียมกล้องแล้ว)


9. Step Well





Step Well บ่อน้ำโบราณที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ต้องนับถือความคิดของผู้คิดสร้างจริงๆ ครับ ลักษณะของ Step Well จะเป็นบันไดแคบๆ อยู่โดยรอบบ่อน้ำโบราณ การออกแบบโครงสร้างที่ดูซับซ้อนในแต่ละจุด ก็จะมีจุดประสงค์เฉพาะที่แตกต่างกัน เช่นการออกแบบให้มีบันได้อยู่โดยรอบ ก็เพื่อจะได้ให้ชาวบ้านได้ลงไปในบ่อน้ำได้พร้อมกันทีละหลายๆ คน ส่วนที่สร้างให้เป็นบันไดแคบๆ นั้นเพื่อป้องกันการแซงคิว และจะมีจุดให้หยุดพักไว้เป็นระยะๆ ด้วย และถึงแม้น้ำจะแห้งแค่ไหน ชาวบ้านก็สามารถเดินลงไปยังที่ก้นบ่อได้ นอกจากประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้แล้ว สิ่งที่ได้แถมมา ผมว่ามันคือความสวยงามของลวดลายที่เกิดจากขั้นบันไดนี่แหล่ะครับ

Step Well ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม นักท่องเที่ยวสามารถเดินลงไปยังด้านล่างของบ่อโบราณได้อีกด้วยครับ


10. Pachetia Hill






Pachetia Hill นับเป็นจุดที่สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก ที่สวยมากๆ ของ Jodhpur เลยครับ การจะขึ้นไปยัง Pachetia Hill ทำได้ทางเดียว คือ การเดินเท้าขึ้นไป ซึ่งทางขึ้นจะอยู่ในเมืองเก ่า เดินผ่านบ้านของชาวบ้านขึ้นไปเรื่อยๆ จากทางราบ ขึ้นไปบน Pachetia Hill ใช้เวลาประมาณ 10 นาที อาจจะเหนื่อยสักนิด แต่รับรองว่าเมื่อขึ้นมาถึงด้านบน ได้เห็นวิวสวยๆ จะรีบยกกล้องออกมาถ่ายรูป จนลืมความเหนื่อยไปเลยครับ บนยอด Pachetia Hill สามารถมองเห็นเมืองสีฟ้าได้แบบเต็มๆ ตา สีฟ้าละลานตาราวกับน้ำทะเลเลยครับ ว่าแต่ขึ้นมาถึงด้านบนแล้ว อย่าถ่ายรูปกันจนเพลินนะครับ คงต้องเดินด้วยความระมัดระวัง เพราะบริเวณจุดชมวิวเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ที่ไม่มีราวกั้นใดๆ ถ้าพลาดมาเป็นอันถึงแก่ชีวิตแน่นอนครับ


11. Ranakpur Jain Temple







Ranakpur Jain Temple เป็นวิหารของศาสนาเชน ในเมือง Ranakpur อยู่ระหว่างเส้นทางจาก Jodhpur-Udaipur สร้างขึ้นโดยคหบดี Dharna Sah เมื่อราว 500 ปีก่อน เพื่อถวายแด่องค์ Adinath ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน ภายในวิหารประกอบด้วยห้องโถ ง 24 ห้อง โดมทั้งหมด 80 โดม และมีเสาที่ถูกแกะสลักด้วยลวดลายที่งดงาม กว่า 1,114 ต้น คิดเป็นพื้นที่แกะสลักกว่า 3,000 ตารางเมตรเลยครับ ตัววิหารสร้างด้วยหินอ่อน จุดเด่นอยู่ที่มีโดมยอดแหลม ผนังโดยรอบมีภาพแกะสลักที่งดงาม เสาหินอ่อนแต่ละต้นมีลวดลายที่แตกต่างกัน ต้องยอมรับฝีมือของช่างสมัยโบราณจริงๆ ที่สลักหินที่ดูแกร่งให้มีความพลิ้วไหวเหมือนลายผ้าลูกไม้เลยครับ

Ranakpur Jain Temple เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 12.00-17.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 200 รูปี หากใครประสงค์จะถ่ายภาพด้านใน ต้องเสียค่าธรรมเนียมกล้อง 100 รูปีครับ


12. Kumbalgarh Fort

Kumbalgarh Fort แห่งเมือง Kumbalgarh เป็นอีกหนึ่งป้อมปราการที่มีความยิ่งใหญ่ กำแพงป้อมเลาะไหล่เขายาวถึง 36 กิโลเมตร กำแพงส่วนหน้าหนาถึง 15 ฟุต ลักษณะคล้ายโอ่งคว่ำ สร้างและออกแบบโดยเจ้าชาย Kumbhal ภายในป้อมมีวัดมากถึง 360 วัด นอกจากนี้ยังเป็นที่หลบภัยของเหล่ากษัตริย์จากการรุกรานของโมกุล หลังการล่มสลายของ Chittorgarh Fort รวมถึงเจ้าชาย Udai Singh ที่หนีมาตั้งแต่ยังเป็นทารก จนพระองค์เติบโตมาครอบครองราชบัลลังก์ และสร้างเมือง Udaipur ป้อมแห่งนี้เป็น 1 ใน 6 ป้อมปราการแห่งราชาสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 มาเที่ยวที่นี่ให้อารมณ์เหมือนไปเที่ยวกำแพงเมืองจีนเลยครับ

Kumbalgarh Fort อยู่ระหว่างเส้นทางจาก Ranakpur-Udaipur เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 600 รูปี (รวมค่าธรรมเนียมกล้องแล้ว) สำหรับใครที่ต้องการจะชม Light & Sound จะต้องซื้อตั๋วต่างหาก จะเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา 18.45-19.30 น. ครับ


Udaipur ราชธานีแห่งที่สองของอาณาจักรเมวาร์ (Mewar) สร้างโดย Maharaja Udai Singh II ในยุคนั้น Udaipur เรียกกันในนามอาณาจักรมีวาร์ (Mewar) มหาราชาผู้ปกครองเมืองต่อสู้อย่างหนักเพื่อครองอำนาจการปกครองตนเองโดยไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์โมกุลเหมือนเมืองอื่นๆ ในแถบนี้ และรักษาเอกราชประคองตัวผ่านการคุกคามของอิทธิพลโมกุลและผู้รุกรานจากต่างแดนมาหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 การเข้ามามีอิทธิพลเหนืออินเดียของอังกฤษก็ยากที่จะต้านทาน ถึงกระนั้นก็ยังมีการลงนามในสนธิสัญญาปกป้อง Udaipur จากผู้รุกราน คุ้มครองตัวเองมาได้จนถึงการประกาศอิสรภาพของอินเดียในปี ค.ศ.1947 Udaipur ก็ต้องเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียยุคใหม่ในที่สุด เมือง Udaipura ตั้งอยู่ริมทะเลสาบพิโชล่า (Lake Pichola) เป็นเมืองที่สุดแสนจะโรแมนติกเลยครับ เพราะเมืองนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของทะเลสาบ พระราชวัง และน้ำพุที่สวยงาม จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “Venice of The East” ผมชอบบรรยากาศเมืองนี้มากๆ ยิ่งช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตกนี่ สวยงามอย่าบอกใครเชียว



13. City Palace








City Palace หรือพระราชวังฤดูหนาว เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นจากหินแกรนิตและหินอ่อน ภายในประดับประดาด้วยกระจกและแก้วหลากสี มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ส่วนของอาคารสูงสุดวัดได้ 11 เมตร และพื้นที่จะยาวจนไปติดทะเลสาบพิโชลา นับเป็นพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในราชาสถานเลย ปัจจุบันบางส่วนยังคงเป็นที่ประทับของราชตระกูล บางส่วนมีการดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยจัดแสดงวัตถุโบราณที่มีค่ามากมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม และอีกส่วนหนึ่งดัดแปลงให้เป็นโรงแรมหรูที่ชื่อว่า Fateh Prakash Palace Hotel และ Shiv Niwas Palace (ทั้งสองโรงแรม ห้องถูกสุดประมาณ 5-6 พันบาท)

City Palace เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 300 รูปี (รวมค่าธรรมเนียมกล้องแล้ว)


14. Jack Mandir







Jack Mandir ท่ามกลางความสงบของ Lake Pichola ยังมีเกาะ 2 เกาะ เกาะแรกเป็นที่ตั้งของ Lake Palace เดิมเป็นพระราชวังฤดูร้อน ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็น โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว และอีกหนึ่งเกาะคือ Jack Mandir เป็นพระราชวังกลางน้ำ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรล่องเรือชมทะเลสาบ Pichola ได้ที่จุดจำหน่ายบัตรเข้าชม City Palace ทั้งบริเวณประตูหน้าและประตูหลัง ราคาบัตรล่องเรือจะมี 2 ช่วงเวลา คือช่วงเวลา 10.00-14.00 น. และช่วงเวลา 15.00-17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปชมพระอาทิตย์ตก ราคาตั๋ว 830 รูปี (ค่าเรือ 800+ค่าผ่านประตู 30 รูปี) ซึ่งจะแพงกว่าการล่องเรือช่วง 10.00-14.00 น. ประมาณ 300 รูปี

ด้านบนของ Jack Mandir ให้บริการคล้ายๆ Cafe นักท่องเที่ยวสามารถไปนั่งจิบเครื่องดื่ม ทานอาหารว่าง แกล้มไปกับการชมบรรยากาศของทะเลสาบ Pichola ได้ ผมสอบถามเจ้าหน้าที่บริเวณท่าเรือได้ความว่าเรือรอบสุดท้ายที่จะกลับเข้าฝั่ง เวลา 19.00 น. เลยมีโอกาสได้รอเก็บแสงสุดท้ายบน Jack Mandir ครับ


15. Jagdish Temple

Jagdish Temple วัดฮินดูเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปี และที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน Udaipur ชาว Udaipur ให้ความเคารพและศรัทธาวัดนี้เป็นอย่างมาก ภายในมีหินสีดำแกะสลักเป็นรูป Jagannath ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระวิษณุ นอกจากนี้ที่ผนังวัด ยังมีการแกะสลักลวดลายเป็นรูปนางอัปสรา และสัตว์ลักษณะต่างๆ อย่างวิจิตรบรรจง

Jagdish Temple ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม และจะต้องถอดรองเท้าด้วย สามารถถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอกวัดเท่านั้น

16. Chittorgarh Fort






Chittorgarh Fort อดีตเมืองหลวงและยังเป็นป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่แฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์มากมาย ป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Chittorgarh สร้างขึ้นบนเนินเขาสูง 180 เมตร ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ (Maurya) กินพื้นที่กว่า 2.8 ตารางกิโลเมตร ภายในป้อมมีพระราชวังหลายแห่ง มีวัดฮินดู มีหอคอยอนุสรณ์ และมีบ่อน้ำที่เคยมีมากถึง 84 บ่อ แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียง 22 บ่อ ป้อมแห่งนี้เป็น 1 ใน 6 ป้อมปราการแห่งราชาสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

Chittorgarh Fort เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 04.00-22.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมเข้าชม 600 รูปี แต่ช้าก่อน หากยื่น Passport ไทย จะได้รับส่วนลดด้วย โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชมไ ด้ในราคาคนอินเดียคือ 40 รูปีครับ จุดเที่ยวหลักๆ จะมีประมาณ 3 จุด แต่ละจุดอยู่ห่างกันพอสมควร คงต้องอาศัยการนั่งรถเพื่อพาไปส่งยังแต่ละจุด หากใครที่เดินทางมารถขนาด 10 ที่นั่ง คงต้องเช่ารถตุ๊กๆ จากพื้นราบ โดยรถ 1 คัน สามารถนั่งได้ 4 คน ค่ารถตุ๊กๆ คันละ 300 รูปีครับ


17. Hawa Mahal



Jaipur เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของราชาสถาน สิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะในบริเวณตัวเมืองเก่านั้นได้รับการทาให้เป็นสีชมพู เหตุเพราะในสมัยของ Maharaja Ram Singh อินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อเป็นการต้อนรับกษัตริย์ Edward VII จากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1853 พระองค์จึงมีรับสั่งให้ราษฎรทาสีบ้านเรือนเป็นสีชมพูเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติเจ้าอาณานิคม จนทำให้ Jaipur ได้รับสมญานามว่า “นครสีชมพู”

Hawa Mahal เป็นหนึ่งในหลายพระราชวังที่อยู่ในกำแพงเมืองของนครสีชมพู สร้างขึ้นจากหินทรายสีแดงสด ฉลุหินให้เป็นช่องหน้าต่างเล็กๆ ที่นับรวมๆ กันได้ถึง 953 บาน แต่ถูกปิดไว้ด้วยหินทรายฉลุ ทำให้นางในฮาเร็มพระสนมที่อยู่ด้านในสามารถมองออกมาข้างนอกได้ แต่คนภายนอกไม่สามารถมองเข้าไปด้านในได้ และประโยชน์ของการที่มีหน้าต่างเยอะนั่นคือเป็นช่องแสงและช่องลม จนเป็นที่มาของชื่อ “Palace of Wind” หรือพระราชวังสายลมนั่นเอง


18. Patrika Gate




Patrika Gate เป็นประตูเมืองลำดับที่ 9 ของชัยปุระ สร้างโดยเจ้าของหนังสือพิมพ์ Patrika เดิมที่นี่เป็นเพียงวงเวียนธรรมดา แต่เมื่อมีการสร้างประตูเมืองแห่งนี้ขึ้น ก็ทำให้ที่นี่มีสีสัน นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลกันเข้ามาถ่ายภาพ ภายในประตูมีภาพเขียนสีแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองชัยปุระ ใครที่รักการถ่ายภาพ แนะนำเลยว่า ไม่ควรพลาดที่นี่ครับ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย


19. Amber Fort




Amber Fort เป็นป้อมปราการหินทรายแดงที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขาเหนือทะเลสาบ Maota ด้านในมีพระราชวังที่เคยเป็นที่ประทับของราชปุตมหาราชาและพระราชวงศ์ ป้อมปราการแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการทหารและการปกครองของมหาราชาแห่งชัยปุระมาหลายรุ่นหลายสมัย ป้อมแห่งนี้มีอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี 966 จนมาถึงสมัยของ Maharaja Man Singh ในปี ค.ศ.1592 จึงได้สร้างพระราชวัง มัสยิด ท้องพระโรงขึ้นภายในป้อม จากนั้นก็ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของ Maharaja Jai Singh ก่อนจะย้ายเมืองหลวงมาอยู่บนพื้นราบ Amber Fort นับเป็นต้นแบบของศิลปะสถาปัตยกรรมแบบราชปุต เป็นการผสมผสานจากโมกุล (อิสลาม) และฮินดูได้อย่างกลมกลืน เป็น 1 ใน 6 ป้อมปราการแห่งราชาสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 ครับ


20. Jal Mahal



Jal Mahal เป็นพระราชวังกลางน้ำที่ตั้งเด่นอยู่กลางทะเลสาบมันสกา (Man Sagar Lake) กลางเมือง Jaipur พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของ Maharaja Sawai Jai Singh II ตัวอาคารออกแบบตามสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานแบบราชปุตและโมกุล อันเป็นเอกลักษณ์ของราชาสถาน นักท่องเที่ยวสามารถชม Jal Mahal ได้แต่เพียงภายนอก โดยยืนชมอยู่ริมทะเลสาบเท่านั้นครับ


ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ความคิดเห็น