เคยมีคนบอกกับเราว่า เกษตรอินทรีย์เป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย เหมือนแฟชั่น ไม่นานก็คงหายไป นั่นเป็นเรื่องของเขา เพราะวันนี้เราได้มาสัมผัสวิถีของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ ชาวบ้านที่ prefer การกินผักอินทรีย์จริงๆ เป็นของจริงที่มีให้เห็นแล้วที่บ้านนาถ่อน นครพนม


"สมัยก่อน การเกษตรในบ้านนาถ่อนจะมีคนมาจ้างปลูกและรับซื้อ แต่พอดินเราแย่ลงจากการใช้เคมี ผลผลิตก็หลุดสเป็ค เขาก็ไม่เอา ต้นทุนสูง แต่ราคาก็ตกต่ำลง สุดท้ายมันไม่มีอะไรดีเลย"



นำไปสู่การทำเกษตรแบบอินทรีย์

"เราต้องเริ่มจากตัวเรา ทำให้เขาเห็นว่าเราดีขึ้นจริง เขาถึงจะเปลี่ยนตาม เพราะการเปลี่ยนคนมันไม่ง่าย "

แม่พรธิภา หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านนาถ่อน

ชุมชนบ้านนาถ่อน เริ่มเข้าสู่สังคมเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 จนปัจจุบัน มีหลายครัวเรือนเข้าร่วม แม้จะยังไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็สามารถขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่แข็งแรง คนในชุมชนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ มีระบบการตรวจฟาร์มอินทรีย์โดยคนในเครือข่าย มีศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตเพื่อการเกษตร มีธรรมนูญชุมชนที่จะเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า และเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และใช้น้ำหมัก และปุ๋ยหมักแทน


ที่บ้านนาถ่อนทำการเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อการบริโภค เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงนำมาขาย เพราะการบริโภคเองนี่แหละ ทำให้พ่อๆแม่ๆหันมาใส่ใจต่อการเกษตรแบบอินทรีย์มากขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง แถมผักอินทรีย์ยังขายได้ราคาดีกว่าเห็นๆ

ปัจจุบันทางกลุ่มมีการร่วมกันทำ"นาแปลงใหญ่" เพื่อได้รู้ข้อมูลแปลงปลูก ข้อมูลเกษตรกร และการตลาด โดยมีเกษตรอำเภอเป็นเก็บข้อมูลไว้ แล้วมีบริษัทเข้ามาซื้อ(บริษัทรู้จักกลุ่มแม่ผ่านข้อมูลจากราชการ)


พี่ลำดวน เกษตรกรที่พลิกผืนดิน 13 ไร่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์

พี่ลำดวนเคยทำงานที่กรุงเทพฯกว่า 30 ปี หลังจากนั้นก็ผันตัวมาทำเกษตรกรอินทรีย์ได้ 6 ปี บนพื้นที่ 13 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวเหนียวก ข.6 (ปลูกเอาไว้กินเอง) ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงจิ้งหรีด และผลไม้ตามฤดูกาล ที่นี่ทำนาข้าวโดยวิธี "นาโยน" เป็นเทคนิคการปลูกข้าวที่ช่วยทุ่นแรง ลดกำลังคน เพิ่ม productivity เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ไว้ใช้เองในไร่ (มีส่วนผสมไข่ และผงชูรส เอามาตากแดดไว้ให้จุลินทรีย์ทำงาน) ทำน้ำหมักจากไส้ปลา ทุกอย่างหาได้จากในฟาร์มเอง


"ทุกวันนี้ มีความสุข ช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้

ถึงไม่ได้ร่ำรวยเงินทองแต่เรามีของกินที่ดี จากดินที่มีคุณภาพ"

นอกจากนี้ พี่ลำดวนยังได้นำผลผลิตจากสวน อย่างมะกรูดและตะไคร้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและทำขาย เพราะไม่ได้ใช้เคมีจึงมั่นใจ ตั้งแต่น้ำยาล้างจาน ครีมหมักผม น้ำมันเหลือง(ไพล) ครีมมะกรูด ตะไคร้หอมกันยุง สบู่จากขมิ้นและทะนาคา



ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยใฝ่ฝันว่าอยากลองทำนา และอยากทำนาข้าวอินทรีย์ซะด้วย

วันนี้สมหวังแล้วค่ะ พ่อๆแม่ๆที่บ้านนาถ่อนสอนการทำนาอินทรีย์ทุกขั้นตอน (แถมได้ลองไถนาด้วยน้องควายด้วยนะ)

การเตรียมดิน ทำโดยการไถ เพื่อทำให้ดินอ่อนพร้อมต่อการเติบโตของกล้า ขังน้ำฝนไว้ในนา

การถอนกล้า การดึงกล้าที่ปลูกไว้มามัดกล้าเพื่อเอาไปปักลงดินต่อไป ปลูกได้ 1 เดือนก็ถอนเอามาปักดำได้


การดำนา จะต้องใช้ 3 นิ้วจับต้นกล้าแล้วปักลงดิน เรียงเป็นแถว แต่ละกอห่างกัน 25-30 ซ.ม.เพื่อเว้นช่องว่างให้รากเติบโตแบบไม่แย่งสารอาหารกัน



พันธุ์ข้าวที่จะปลูกวันนี้เป็นไรซ์เบอรี่อินทรีย์ อีก 120 วันก็จะเก็บเกี่ยวได้ แม่ๆชวนว่าให้มาเกี่ยวเองในปลายเดือนตุลาคม :)



กิจกรรมของวันนี้ยังไม่หมดแค่นี้นะคะ ยังมีการทอดแหหาปลา เก็บผักจากท้องนา และ Cooking Class จากผักพื้นบ้านด้วย ทั้งแกงหน่อไม้บังฮวกใส่ใบย่านางและผักพื้นบ้านที่ปลูกแบบออแกนิก หม้อน้อยหรือเจลลี่คอโรฟีลที่ได้จากใบหม้อน้อย ปรุงแบบเครื่องคาวใส่ปลาดุกย่างแกะ เป็นรสชาติใหม่ที่ยังไม่เคยได้ลิ้มลองที่ไหนมาก่อน


วัตถุดิบสำหรับแกงหน่อไม้

วัตถุดิบสำหรับหม้อน้อย

ระหว่างทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อยก็ได้กลิ่นควันไฟลอยมา แม่ๆบอกว่ามันเขากำลังทำ "ไบโอชา" มันคืออะไร ด้านล่างนี้มีคำตอบค่ะ

Biocha(coal)
คือการนำเอากิ่งไม้ หรือไม้ไผ้ไปเผาในระบบปิดความร้อนประมาณ400-500องศาเซลเซียสเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วให้ความร้อนระอุเผาไหม้ตัวเองต่อ ด้วยวิธีนี้มันมีรูพรุนเพื่อเก็บคุณสมบัติที่ดีไว้ (ถ่านปกติเผา1,000องศาจะไม่มีรูพรุน)

ก่อนเผา

หลังเผา

ถ้าเรานำไบโอชาไปบดผสมกับดิน มันจะดูดสารพิษ สารอาหารและ น้ำ แต่ไม่ปล่อยสารพิษลงดินอีก
ตอนผสมไบโอชากับดิน จะใส่เชื้อเห็ดลงไปในการผสม หลังจากนั่นประมาณ 3 ปี เราก็จะมีเห็ดกิน ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวมันเป็นแบบนี้นี่เอง


หลังจากกินข้าวอิ่มแล้ว พ่อๆก็พามาปลูกยางนาโดยใส่ไบโอชาเข้าไปในหลุมปลูกด้วย ยางนาเป็นต้นไม้สูง สามารถมีอายุยืนถึง 1,000 ปี ด้วยความสูงมันจึงช่วยบังแดดให้คน และช่วยทำให้ต้นไม้ด้านใต้ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อจะแข่งไปรับแสงแดดด้านบนได้


ยางนาเอ๋ย ขอให้เจ้าฝ่าฝันอุปสรรคและเติบโตได้เป็นไม้ใหญ่อย่างที่ตั้งใจ แล้วจะกลับมาเยี่ยมหาใหม่นะเจ้ายางนา


Pasiree Parichani

 วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 01.40 น.

ความคิดเห็น