คนนิจิวะ ~ ยังคงติดใจในญี่ปุ่นหลังเพิ่งกลับมา (20- 23 มิถุนายน)
รีวิวนี้ถือเป็นรีวิวที่ 2 ของการเดินทางไปโตเกียว จากครั้งที่แล้วเราเที่ยวในโตเกียว+ฟูจิ แบบ 5 วัน 4 คืน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้https://pantip.com/topic/38373066
ครั้งนี้เลยอยากไปที่อื่นใกล้ๆ แบบไปเช้า-เย็นกลับ ดูบ้าง จนไปเจอพาสนึงชื่อ Greater Tokyo Pass เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อ 1 เมษายน 2018 แต่ยังไม่มีใครรีวิวเลย เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง คุ้มค่ามั้ย ครั้งนี้เราเลยเสี่ยง 555 ขอลองใช้ และจะรีวิวแบบไม่อวย กับเจ้าพาสนี้ให้ฟังค่ะ
เจ้า Greater Tokyo Pass สามารถใช้ได้กับรถไฟ Tokyo metro line, Toei transportation รถบัส และสายเอกชน (ยกเว้นเครือ JR) ใช้ขึ้นรถไฟและรถไฟใต้ดินของรัฐและเอกชนในเขตคันโตถึง 12 บริษัท ขึ้นรถประจำทางในโตเกียวและโดยรอบรวมแล้ว 52 บริษัท เป็นตั๋วแบบขึ้น - ลงแบบไม่อั้นเป็นเวลา 3 วัน ย้ำ!! นับเป็นวันนะคะ ไม่ใช่รายชั่วโมง ถ้าวันแรกเริ่มตอนค่ำ ก็นับ 1 วัน เพราะฉะนั้นควรใช้ตั้งแต่เช้า และวางแผนเดินทางแบบแน่นอนจะดีกว่า และการใช้งานบัตรคือยื่นพาสให้เจ้าหน้าที่พร้อม passport ไม่สามารถสอดบัตรที่เครื่องได้ อายุการใช้งานจะถูกปั๊มบนบัตรแบบในรูปค่ะ ตย.เส้นทางทั้งหมดที่ใช้ได้ขอแสดงไว้ใน PDF file นะคะ https://www.greater-tokyo-pass.jp/tha/pdf/gtp.pdf
ส่วนข้อมูลพื้นฐานของบัตรนี้ มีหลายเว็บไซต์อธิบายไว้แล้วว่า รถไฟสายไหนใช้ได้บ้าง เดินทางไปไหนได้บ้าง ซื้อได้ที่ไหนราคาเท่าไหร่ ใช้ร่วมกับอะไรได้บ้าง รีวิวนี้จะขอตีแผ่ความคุ้มค่าและการใช้งานจริงในเวลา 3 วันที่ซื้อมาให้ฟังค่ะ
ขอยกตัวอย่างข้อมูลที่เคยอ่านมาสัก 2-3 เว็บไซต์
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้https://www.klook.com/th/blog/greater-tokyo-pass/
https://chillchilljapan.com/greater-tokyo-pass/
สำหรับพาสนี้ เราซื้อที่ไทยไม่ได้ พอถึงสนามบินนาริตะ Terminal 2 ช่วง 09.05 น. ก็ไปติดต่อซื้อตั๋วที่ Skyliner & Keisei Information Center ตอนแรกพนักงานงงค่ะว่าคือ พาสอะไรเหมือนไม่ค่อยมีคนมาซื้อแน่ๆ สักพักพนักงานอีกคนถึงหยิบมาให้ 55 จากนั้นก็จะปั๊มวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการใช้งาน พร้อมให้เราเซ็นต์ชื่อให้ตรงกับ passport ในตัวพาสเองจะบอกรายละเอียดของรถไฟสายต่างๆที่เราสามารถใช้งานได้
ต่อไปนี้คือการเริ่มต้นทริปกับเวลาแค่ 3 วัน เราเดินทางไปพร้อมๆกันเลยนะคะ ว่า pass พระเอกของเราจะพาเราไปไหนได้บ้าง.....
วันที่ 1 : Narita Terminal 2 - Asakusa - Kuramae Hotel - Jimbocho meat Ueno - Sensoji Temple - Amayoko - ไก่ Yamachan
เริ่มต้นการเดินทางจากสนามบินนาริตะ สู่สถานี Asakusa ด้วย grater tokyo pass กันค่ะ แน่นอนว่ารถไฟที่เราสามารถไปได้คือ Narita sky Access Line จุดนี้ถ้าเปรียบเทียบกับ Keisei Skyliner ที่ใช้ครั้งที่แล้ว #ข้อเสีย = ขึ้นยากกว่าเพราะเราต้องรู้ตารางรถไฟที่ตรงจาก Narita → Asakusa แบบไม่ต้องเปลี่ยนสาย ซึ่งไม่ได้มาตลอดและอาจทำให้เราหลงเพราะ Sky Access Line บางขบวนตรงไป Nippori (ดูตัวอย่างเส้นทางสาย Access Line สีส้ม) ในกรณีที่กระเป๋าใบใหญ่แล้วคนเยอะ อาจทำให้ไม่สะดวกสบายเพราะต้องยืนเบียด
สำหรับใครที่ยังกังวลว่าขบวนที่เราขึ้นจะตรงไปถึง Asakusa มั้ย หรือว่าจะตรงไป Nippori สามารถเช็คตารางรถและเวลาได้ที่...
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้http://www.keisei.co.jp/keisei/tetudou/skyliner/th/index.php
สำหรับเที่ยวที่เราขึ้นคือรอบ 10.07 รถไฟที่ญี่ปุ่นมาตรงเวลามากก และนี่คือหน้าตาที่นั่งในวันที่คนน้อย มีหลายคนเลือกเดินทางเข้าเมืองด้วยวิธีนี้เช่นกัน
สักพักก็สวนทางกับ Sky Access อีกคันนึง หน้าตาขบวนรถเป็นประมาณนี้ค่ะ
ประมาณ 11.00 น.เราก็มาถึงที่สถานี Asakusa สำหรับการเดินทาง Narita →Asakusa ถ้าไม่ใช้พาส จะราคา 1,290 เยน เดี๋ยวเราจะบวก คชจ.ไปเรื่อยๆนะคะ ว่าคุ้มกับ 7,200 เยน ที่ซื้อไปมั้ย *จุดเริ่มต้นถ้าขึ้นถูกขบวนตรงมาลง Asakusa ได้ ถือว่าสะดวกสบายเลยค่ะ
จากสถานี Asakusa เราพักกันที่สถานี Kuramae ชื่อโรงแรม Hotel Kuramae อันนี้ตอนจองไม่ทันคิด เพราะจองโรงแรมก่อนค่อยคิดมาใช้พาสนี้ทีหลัง จริงๆถ้าพักที่สถานี Asakusa เลยน่าจะสะดวกกว่า แต่เมื่อจองแล้วเราก็ต้องเดินทางกันต่อ โดยนอกจาก Hyperdia กับ Google map ที่ใครหลายคนใช้แล้ว เรายังใช้ app เดิมที่เคยโหลดมาค่ะ คือ NAVITIME
กดเข้าไปเลือกสถานีต้นทาง และปลายทาง ทำให้เรารู้ว่าต้องใช้สาย A = Asakusa Line ตอนนี้เราอยู่ A18 ต้องไป สถานี Kuramae A17 โดยใช้ Platform 1 สำหรับรถไฟ subway Greater Tokyo Pass ครอบคลุมค่ะ เราแค่ยื่นตั๋วพร้อม passport ให้เจ้าหน้าที่สถานีดูเท่านั้นก็เดินผ่านได้เลย (เจ้าหน้าที่งงนิดหน่อย) สงสัยไม่ค่อยมีคนใช้ ตามใน app ราคาจะอยู่ที่ 180 เยน (รวมตอนนี้ 1,290+180 = 1,470 เยน)
ตรงนี้ขออัพเดททางออกที่สถานี Kuramae นะคะ เพราะเห็นหลายคนแนะนำว่าคือ Exit A4 แต่เราว่า Exit A0 ใกล้กว่า ที่สำคัญมันมีลิฟท์!! ออกมามองซ้ายมือจะเจอตึกของโรงแรมสีส้มๆเลยค่ะ
ถ่ายจากฝั่งตรงข้ามโรงแรม เห็นค่อนข้างชัดเจน
เชคอินได้บ่ายสาม เราเลยเลือกฝากกระเป๋าเอาไว้ ล้างหน้าแปรงฟัน แล้วออกไปหาข้าวกินช่วงบ่าย
ช่วงบ่ายเราอยากกินบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง เลือกไปเลือกมาจากที่ไทยหลายร้าน จนมาได้ Jimbocho meat center ueno ซึ่งเป็นบุฟเฟ่ต์หมู+ตับ ปิ้งย่าง 45 นาที ราคา 950 เยน วันนี้เราเที่ยวในโตเกียว ดังนั้นเราจะเลือกใช้ subway ที่ greater tokyo pass ครอบคลุม การเดินทางไป ueno จึงเป็นแบบนี้ค่ะ
จากรูป JPY IC ราคา 280 เยน ดังนั้นค่าเดินทางรวมตอนนี้คือ (1,470+ 280 = 1,750 เยน)
เมื่อมาถึง ueno เราก็เปิด google map เดินอีกประมาณ 10 นาที ก็จะเจอร้านค่ะ
ร้านจะอยู่บริเวณชั้น 2 บุฟเฟ่ต์ช่วงกลางวันคือ 11.00 - 14.30 น. วันนี้คนไม่เยอะมาก รอประมาณ 10 นาทีก็ได้กินแล้วว
สำหรับบุฟเฟ่ต์ จะมีให้เลือก 3 เซ็ต เค้าจะเอามาให้เป็นจานๆ อ่านไม่ออกเหมือนกันค่ะ ดูรูปเอา 555 พนักงานบอกต่างกันที่ซอสหมักหมู แต่หมดแล้วสั่งเซ็ตอื่นมาอีกก็ได้
หมูจะเสริฟมาพร้อมกับข้าว น้ำซุปและสลัดหัวหอมใหญ่รสชาติเปรี้ยวๆ ค่ะ
สำหรับร้านนี้โดยรวมสำหรับเรานะคะ คือ ราคาถูกเมื่อเทียบกับบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างร้านอื่น เดินทางง่ายอยู่ไม่ไกลตลาด Ameyoko แต่ #ข้อเสีย คือ ร้านอับมาก ควันเหมือนระบายไม่ทัน อบทั่วห้องแอร์ หมูกินแรกๆอร่อย แต่พอจานที่สองเริ่มเลี่ยน มีแต่มัน ดูได้จากในรูปคือ ขนาดหรี่ไฟต่ำๆแต่พอโดนน้ำมันหมูไฟลุกเลยจ้า หมูไหม้ง่ายมาก ไม่มีน้ำจิ้ม ต้องกินสลัดหัวหอมตัดเลี่ยนเอา กินไปได้แค่คนละ 2 จาน ดีที่ตับเค็มเลยช่วยตัดเลี่ยนได้ เน้นกินกับข้าวค่ะ โดยรวมให้ 8/10 ละกัน ด้วยราคากับคุณภาพที่ได้รับ
พอกินมื้อกลางวันเสร็จ แพลนของเราคือไปช้อปปิ้งที่ Ameyoko กับไปไหว้พระที่ Asakusa กินไอศกรีมชาเขียวเข้มข้น และเมล่อนปัง ถึงแม้เราจะอยู่ใกล้ Ameyoko นะคะ แต่เราเลือกไปวัด sensoji ก่อน เหตุผลคือ 1.วัดจะปิดห้าโมง แต่ Ameyoko ปิด 1 ทุ่ม จะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องเวลา และข้อ 2. คือ พอช้อปปิ้งเสร็จจะได้กลับห้องเลย ไม่พะรุงพะรังไปเดินวัด เราเลยเดินทางกันต่อค่ะ
จาก Ueno → Asakusa อีก 170 เยน ตอนนี้ค่าเดินทาง ( 1,750 + 170 = 1,920 เยน) คนยังคงแน่นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน
และก็ไม่พลาดที่จะกินไอศกรีมชาเขียวพรีเมี่ยม no.7 ที่เข้มข้นที่สุดในโลก ที่ร้าน Suzukien โคนนี้ราคา 670 เยนค่ะ
สำหรับเรา ไอศกรีมยังคงอร่อยและเข้มข้นเหมือนเดิม เพิ่มเติมวันนี้ได้กินเมล่อนปังแล้วว แต่ถ้าบอกว่ารู้สึกเฉยๆ หวานๆจากน้ำตาลที่โรยมา ขนมปังบ้านเราอร่อยกว่าจะโกรธมั้ย อันละ 200 เยนแหนะ 555
เอาละค่ะ เกือบจะห้าโมงแล้ว กินทั้งคาว ทั้งหวานมาแล้วแบบนี้ เราเลยไปเดินย่อย ด้วยการช้อปปิ้งที่ Ameyoko จาก Asakusa → Ueno อีก 170 เยน ตอนนี้ค่าเดินทาง ( 1,920 + 170 = 2,090 เยน)
สำหรับ Ameyoko อันนี้แล้วแต่ life style การช้อปแต่ละคนเลยนะคะ ส่วนตัวเราเน้นครีมกันแดด ครีมทาผิว ลิปมัน และโฟมล้างหน้า ร้านประจำเราคือ Mutsumoto เราลองเปรียบเทียบราคา สาขาต้นซอย กับ กลางๆซอย ปรากฎว่า ของเหมือนกันราคาไม่เท่ากันคร่าา บางอย่างถูกกว่า บางอย่างแพงกว่า เดินเปรียบเทียบราคาก่อนนะคะ เราลองเดินไปดูดองกี้ด้วย ปรากฎว่าราคาที่ดองกี้แพงสุด 555 ก่อนกลับก็มีแวะไปซื้อขนมและของน่ารักๆที่ Daiso ตึก ABAB จะบอกว่าขนม 100 เยน อร่อยและถูกมาก จะกินเองหรือซื้อฝากก็ได้ค่ะ 😋 พอช้อปจนหอบไม่ไหวเราเลยนั่งรถกลับที่พัก เอาของไปเก็บ+เชคอิน จาก Ueno → Kuramae ราคา 280 เยน ( 2,090+280 = 2,370 เยน)
และนี่คือสภาพห้องพักของเรา เทียบกับครั้งก่อนที่ Hotel MyStay Ueno East มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดี คือห้องใหญ่กว่า ราคาถูกกว่า แต่ข้อเสีย ห้องดูเก่ากว่า ห้องน้ำไม่มีระบบฉีดก้นใดๆ ที่สำคัญปลั๊กเสียบนานกว่า เช่น แบตนานกว่าจะเต็ม ต้มน้ำนานกว่าจะเดือด ที่หนีบผมไม่ยอมร้อน
พอได้อาบน้ำให้สดชื่นก็เริ่มขี้เกียจไปกินไกลๆ เราเลยเลือกกลับไปที่ ueno อีกครั้ง 555 ยื่นตั๋วบ่อยจน พนง.เริ่มจำหน้าได้ หลังๆไม่ตรวจแล้วค่ะให้เดินผ่านเลย สำหรับค่าตั๋ว ไป-กลับ Kuramae → Ueno เที่ยวละ 280 เยน รวม 560 เยน รวมค่าเดินทางวันนี้ทั้งหมด (2,370 + 560 = 2,930 เยน)
มื้อเย็นวันนี้ เราเลือกกินปีกไก่ทอด Yamachan กับเบียร์สด มีสาขาที่ไทยด้วยนะคะ กินนิดหน่อยก็กลับห้องไปนอนเก็บแรงสำหรับวันพรุ่งนี้ได้คร่าา zZ
วันที่ 2 : Kuramae - Kamakura -พระใหญ่ Daibutsu - Yokohama - Ramen musuem - KIRIN beer village - Sky Garden - Shibuya
หลังจากนอนชาร์จพลังแล้ว วันนี้เราออกจากโรงแรมช่วงแปดโมง เพื่อไปไหว้พระใหญ่ Daibutsu ที่ Kamakura แล้วค่อยกลับมาเที่ยว Yokohama การเดินทางโดยใช้ Grater Tokyo Pass วันนี้จะครอบคลุมถึงแค่ Yokohama จาก Kuramae นั่งยาวไปลง Yokohama ไม่ต้องเปลี่ยนขบวน JPY IC 530 เยน (2,930+530 = 3,460 เยน)
จาก Yokohama เราต้องซื้อ JR เพิ่มไป Kamakura ราคา 340 เยน
พอถึงสถานี เดินออกมาก็จะเจอกับสถานีรถบัสที่ตรงไปลงหน้าวัด Daibutsu ได้เลย
จริงๆจากสถานี Kamakura เราสามารถนั่งรถไฟไปลงสถานี Hase ได้ แต่ต้องเดินอีก 650 เมตรเพื่อมาวัด เราเลยเลือกนั่งรถบัสแทน ราคาอยู่ที่ 200 เยนต่อเที่ยว ถามคนขับก่อนก็ได้ถ้าไม่มั่นใจว่าไป Daibutsu มั้ย
ค่าเข้าชมภายในวัดอยู่ที่ 200 เยนนะคะ เรามาวันศุกร์เลยได้เห็นบรรยากาศเด็กญี่ปุ่นมาทัศนศึกษากันเยอะมากค่ะ
เดินเล่นจนประมาณสิบโมงกว่าเราเลยเอาข้าวปั่นที่ซื้อไว้เมื่อคืนมากินรองท้องก่อนจะเดินทางไปกินราเมง ที่ Shin Yokohama Ramen Musuem โดยมารอรถบัสที่ป้ายหน้าวัดค่ะ ขึ้นตามคนข้างหน้าโดยขึ้นที่ประตูตรงกลาง แล้วหยิบบัตรกระดาษไว้รอจ่ายตังค์ที่สถานีปลายทางแบบนี้
จะมีราคาแสดงผลหน้าจอว่าเราขึ้นจากสถานี 5 ราคา 200 เยน จ่ายเสร็จก็ซื้อตั๋ว JR อีกครั้ง 340 เยนเพื่อกลับมาสถานี Yokohama ตรงนี้จะดูจุ๊กจิ๊กสักหน่อยและต้องเสียเงินเพิ่มเพราะ Greater Tokyo Pass มาไม่ถึง Kamakura
จากสถานี Yokohama เราจะไปกันที่สถานี Shin-Yokohama เพื่อไปกินราเมง ที่พิพิธภัณฑ์ โดยใช้รถไฟสาย City subway blue line ตรงนี้เกือบขึ้นรถผิดนะคะ เพราะสถานี Yokohama ค่อนข้างใหญ่มีทั้ง JR และ subway ขนาดเราถามเจ้าหน้าที่ว่า Shin-Yokohama ไปทางไหน เค้าชี้ให้เราไปทาง JR ซึ่งจริงๆเราต้องสอดบัตร JR จาก Kamakura ออกก่อน แล้วเดินตามป้าย blue line ไปขึ้นรถอีกที่นึง ถามว่ายากมั้ย ไม่ยากค่ะ แต่ค่อนข้างเสียเวลาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาจทำให้งงได้ จาก Yokohama → Shin-Yokohama JPY IC 240 เยน (3,460+240 = 3,700 เยน) หาทางออกหมายเลข8 แล้วเดินตาม google map อีก 5-10 นาทีก็ถึงแล้วจ้า
มีค่าเข้าคนละ 310 เยนนะคะ ได้โบรชัวร์ภาษาไทยมาด้วย ข้างในมีร้านราเมง+การแสดง เมนูก็มีภาษาไทยด้วย เราเลยได้ราเมงมาคนละชาม ¥700 กับ ¥1,300
โดยรวมอร่อยดีค่ะ แต่ซุปกระดูกหมูกินเยอะแอบเค็มไปหน่อย ให้ 8/10 เหมือนเดิม ใครที่มาแถวนี้ลองมาชิมกันนะคะ มีหลายร้านมาก พอกินเสร็จก็บ่ายโมง เราเลยเดินทางกันต่อ จุดหมายต่อไปของเราคือ KIRIN Beer Village อยู่สถานี Namamugi เราต้องนั่งรถไฟ subway blue line มาลง Yokohama ซะก่อนแล้วต่อสาย Keikyu main line ไปลงสถานี Namamugi ราคา JPY IC 400 เยน (3,700+400 = 4,100 เยน)
ออกจากสถานีแล้วลงทางออกด้านซ้ายมือ แล้วเดินตาม google map ไปประมาณ 10 ก็จะเจอกับป้าย KIRIN โดดเด่นเห็นแต่ไกล
การเข้าชมไม่มีค่าใช้จ่ายนะคะ ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม. ในการฟังบรรยาย ขั้นตอนการทำเบียร์ ชมวีดีทัศน์ เดินเยี่ยมชม แต่ไม่มีภาษาอังกฤษเด้ออ อ่านเอกสารภาษาอังกฤษเอา หรือเลือกเป็นเครื่องช่วยภาษามาฟังแต่ละจุดก็ได้
สุดท้ายได้ชิม Kirin beer ฟรี 3 แก้ว ที่สุดเลยเว้ยแกร..
ถือว่าคุ้มค่ามากกก คนรักเบียร์ไม่ควรพลาด ดูจากเวลา 4 โมงกว่าแล้วเราเลยจะไปดูวิว Yokohama มุมสูงที่ตึก Yokohama Landmark ชั้น 69 แน่นอนจ้า เดินกลับไปสถานีอีก 10 นาที อย่าเมานะจ๊ะเดี๋ยวไม่มีแรงเดิน 555
อีกแล้วค่ะท่านผู้ชม มาเปลี่ยนสถานีที่ Yokohama อีกแล้วว ปลายทางคือสถานี Mimatomirai ราคา JPY IC 340 เยน (4,100+340 = 4,440 เยน)
พอออกมาก็หาทางออกไปยังตึก Queen's Square จะมีทางเดินไปยังตึก Landmark ได้ แต่ถามว่าเราเดินถูกมั้ย ตอบเลยว่า ไม่จ้าาา google map เดินงงมาก 55555 ถามคนแถวนั้นเอาค่ะว่าตึก Landmark ไปทางไหน หน้าตาตึกประมาณนี้
พอเข้าตึก Landmark แล้ว เราไปถาม information ที่ชั้น 3 ว่าจะไปชั้น 69 ซื้อตั๋วที่ไหน พนักงานก็ชี้ทางให้เราเดินตรงไปประตูทางเข้า Sky Garden ชั้น 69 จะอยู่ขวามือ เสียค่าขึ้นไปชมวิวคนละ 1,000 เยน
เรากะมาตอนเย็นๆ จนพระอาทิตย์ตกดิน แต่ท้องฟ้าวันนี้ดูไม่เป็นใจเท่าไหร่ ภาพมุมสูงที่ได้ ประมาณนี้ค่ะ
กะนั่งนานๆ ใช้ 1,000 เยนให้คุ้มจนดึกแต่ก็กลัวจะไม่ได้ภาพมุมอื่น เลยลงมาเดินเล่นรอบๆแทนค่ะ
จริงๆเรามีแพลนไป cup noodle musuem ด้วย แต่ดูจากเวลาและก็กำลังขาที่เดินมาทั้งวันแล้ว รู้สึกว่าไม่ไหว *วันนี้เดินเยอะมากค่ะ Greater Tokyo Pass วันนี้กับสถานที่ ที่เราไป ต้องมาเปลี่ยนสถานีที่ Yokohama บ่อย เดินเยอะ ที่สำคัญมีสติ ระวังหลงโดยเฉพาะจาก JR ที่กลับมาจาก Kamakura จำไว้เลยว่าสอดบัตร JR ออกก่อน ค่อยหา subway อย่าไป Shin-yokohama โดยในมือยังมี JR เพราะนั่นแปลว่าคุณไปถึงปลายทางอาจต้องเสียเงินค่า JR เพิ่ม
เดินเล่นถ่ายรูปจนหนำใจ เราเลยเดินกลับมาที่สถานี Minatomirai ตอนแรกตั้งใจจะเดินไป China town เพื่อหาอะไรกินแล้วค่อยกลับ แต่คือวันนี้เดินเยอะมากเลยเปลี่ยนแผน ไปกินราเมงข้อสอบที่ชิบูย่าแทน
รถไฟจากสถานี Minatomirai สามารถนั่งตรงยาวไปลงที่ Shibuya ได้เลย ราคา JPY IC 450 เยน (4,440+450 = 4,890 เยน)
แต่พอมาถึงคือ...คิวยาวมากจ้าา ยาวแบบเหนื่อยมากกว่าหิว เราเลยเลือกกลับห้องกินมาม่าคัพใน 7-11 ดีกว่า เพราะร่างกายเริ่มเหนื่อย Shibuya → Kuramae ราคา JPY IC 310 เยน ( 4,890+310 = 5,200 เยน ) ส่วนมาม่าใน 7-11 ที่ซื้อมาราคา 150 เยน โดยประมาณ ไม่รู้ว่าหิวหรือมันอร่อยจริงๆนะคะ และอีกอย่างที่ซื้อคือข้าวปั้น ไว้สำหรับม้อเช้านั้นเอง
วันที่ 3 : Kuramae - Ikebukuro - Kawagoe
สวัสดีเช้าวันที่สามของการเดินทางค่ะ วันนี้เราเลือกไปเที่ยวกันที่ Kawagoe เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น Little edo เดินทางง่าย แถมมีเจ้ามันหวาน มันม่วงของโปรดเราด้วย วันนี้เราออกจากที่พักตอนแปดโมงเหมือนเดิม เพื่อนั่งรถไฟไปลง Ikebukuro แล้วต่อสาย Tobu Line ไปลงสถานี Kawagoe
จริงๆ Kawagoe ไปได้หลายทางแต่เราเลือกทางที่ Greater Tokyo Pass ครอบคลุมซึ่งหลักๆก็คือ Subway พอเริ่มเที่ยวแรกของวันเจ้าหน้าที่สถานีก็จะคอยปั๊มวันที่ เพื่อให้รู้ว่าบัตรใช้มากี่วันแล้ว ตรงนี้จากสถานี Kuramae → Ikebukuro ราคา JPY IC 280 เยน (จากค่าเดินทางรวมเมื่อวาน 5,200+280 = 5,480 เยน) แต่จากสถานี Ikebukuro เราต้องหาป้าย Tobu Line ให้เจอแล้วยื่นพาสให้ เจ้าหน้าที่ดู ที่สถานีนี้เจ้าหน้าที่ดูงงมาก จนเราต้องชี้ที่ตั๋วว่า Tobu Line อิทโอเค I just pass (เนี่ย ขอเดินผ่าน) แต่เหมือนจะฟังเราไม่เข้าใจและหยิบตั๋วเราไปปั๊มวันที่เพิ่ม 555 ตลกดีอะกับการใช้พาสนี้เจอหลายรูปแบบมาก ตรงนี้ขอเน้นว่า Tobu Line จากสถานี Ikebukuro → Kawagoe ใช้ชานชาลาที่ 2 ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชานชาลา เราไม่มั่นใจเลยถามคนแถวนั้น เพราะไม่งั้นจะหลงยาว
สถานี Ikebukuro → Kawagoe ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง JPY IC ราคา 470 เยน (5,480+470 = 5,950 เยน)
เราจะใช้วิธีเดินซะส่วนใหญ่ เพราะที่เที่ยวอยู่ไม่ไกลกันมาก จากสถานี เราเลือกออกทางขวามือ เดินตาม google map ไปที่ศาลเจ้าชื่อ Kawagoe Hachimangu เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ที่มีต้นแปะก๊วยใหญ่ 2 ต้นโตมาคู่กันจนรวมกลายเป็นต้นเดียว แต่วันนี้คนเยอะมาก เพราะในศาลเจ้าดันมีแข่งมวยปล้ำเด็ก เหมือนมาได้ตรงวันจริงๆ 55
ดูเวลาใกล้สิบโมงครึ่ง เราเลยรีบเดินไปจองคิวข้าวหน้าปลาไหลเก่าแก่กว่า 120 ปี ในย่าน Kawagoe กับร้านที่ชื่อว่า Ogakiku
เรามาถึงร้านก็กดบัตรคิว สรุปได้คิวที่ 22 จ้า คนเยอะมาก และเยอะขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่เปิดสองรอบ มื้อกลางวันคือ 11.00-14.30 น.ค่ะ ระหว่างรอก็ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ 555
และใช่ค่ะ เรารอเกือบ 2 ชั่วโมง จนกระทั่งฝนตกหนัก แต่ก็สู้ซิจ๊ะ รอมาขนาดนี้แล้ว อยากรู้ว่าจะอร่อยแค่ไหน จนในที่สุดก็ถึงคิวเรา
เข้าใจแล้วค่ะ ว่าทำไมคนต่อคิวยาว รอนาน มันอร่อยมากจริงๆ คุ้มค่าการรอคอย เอาไป 10-10-10 เลยจ้าา เซ็ตที่กินราคา 3,350 เยน ถ้า เพิ่ม size ราคาก็แพงขึ้น ร้านมี 2 ชั้น เรานั่งชั้นบน
กินเสร็จออกมา ประมาณบ่ายโมงตรง ฝนยังตกปรอยๆ ให้ถนนเปียก การเลือกมาหน้าฝน ตั๋วถูกแต่ก็เสี่ยงกับฝนฟ้าอากาศ 55 เราเปิด google map เพื่อเดินไปยัง Toki no Kane ซึ่งเหมือนเดิมเลยคนเยอะ แถมฝนฟ้ายังไม่ค่อยเป็นใจให้ถ่ายรูป
เรามีโอกาสได้ลองชิมขนมอย่างนึงที่ก็ไม่รู้เค้าเรียกว่าอะไร ราคา ¥150 เป็นเหมือนทาโกยากิ ประกบแผ่นข้าวเกรียบ ร้านอยู่ติดกับหอระฆัง อร่อยมากกกกก พอทาโกะด้านในหายร้อนเราบีบให้แบนๆเหมือนกินแซนวิสได้เลยค่ะ
กินเสร็จก็เดินต่อ เพราะถ้ารอฝนหยุดคิดว่าน่าจะไม่ได้เที่ยวแน่ๆ ไปที่ย่าน Kurazukuri ซึ่งถือได้ว่ามีอาคารเก่าแก่ สไตล์ Edo ให้เราได้เห็นอย่างสวยงาม
เนื่องจากฝนตก ถนนก็แฉะ เราจึงไม่ได้ถ่ายรูปกันเยอะ เราเดินต่อ เพื่อตรงไปยังตรอกลูกกวาดที่ชื่อว่า Kashiya Yokocho
ในที่สุดก็ได้กินซอฟต์เสิร์ฟ มันหวาน+มันม่วง คร่าาา อร่อยมากกก มีให้เลือกหลายร้าน ราคา 300 เยน
ตอนนี้บ่ายสองโมง แต่เราเหลืออีก 1 จุดหมายที่อยากไปคือ ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงของที่นี่ ชื่อ Hikawa Kawagoe เป็นศาลเจ้าแห่งความรัก ความสำเร็จ วันนี้เราตั้งใจจะไปขอพร และไปชมงานเทศกาลกระดิ่งลมแบบ Edo style จำนวน 2,000 ชิ้น จากตรอกลูกกวาด Kashiya Yokocho ไปศาลเจ้า Hikawa Kawagoe ประมาณ 15 นาที ระยะทาง 900 เมตร เกือบกิโลเหมือนกันค่ะ 55
พอเดินมาถึงปรากฎว่า คนเต็มศาลเจ้าเลยจ้าาาาาา ถึงขนาดต่อคิวขอพร
อีกมุมฮิตในศาลเจ้า กับแผ่นไม้ Ema ที่เต็มไปด้วยคำขอพร
ในส่วนของกระดิ่งลมที่เราตั้งใจมาถ่ายรูป ปิดจ้าาาาา เนื่องจากลมแรง ทางศาลเจ้าไม่เปิดให้เดินผ่านสงสัยกลัวกระดิ่งจะแตกหักจากลมที่พัดได้ เลยต้องเอื้อมมือถ่ายจากด้านข้างเอา
อยู่ในศาลเจ้าได้ไม่นานเหมือนฝนจะตกหนักอีกแล้ว เราเลยตัดสินใจกลับดีกว่า จากหน้าศาลเจ้าข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามจะเป็นที่รอรถบัส เรานั่งรถบัส สาย Tobu bus ไปลงที่สถานี Kawagoe รถบัสสายนี้รวมอยู่ใน Greater Tokyo Pass นะคะ
ราคา Tobu bus 200 เยน รวมค่าเดินทางตอนนี้ (5,950+200 = 6,150 เยน)
เรามาถึงสถานี Kawagoe ประมาณบ่ายโมงครึ่ง แล้วไปเดินเล่นในห้อง ช้อปปิ้งรองเท้าที่ ABC mart *ตรงนี้ถ้าใครไม่เน้นเที่ยวแช่ที่ Kawagoe แค่เดินเล่น+ถ่ายรูป+เดินหาของกิน ทำเวลาดีๆ ออกจากโตเกียวเช้าๆหน่อย สักบ่ายสอง บ่ายสาม สามารถหาที่เที่ยวใกล้ๆ Kawagoe ได้อีกนะคะ แต่เราอยากชิลๆเลยไม่ได้ไปไหนต่อ เดินไปเดินมาจนฝนตกหนักค่ะ จากสภาพเมื่อเช้า ช่วงเย็นเลยเป็นแบบนี้
ฝนตกจนเราต้องถอยรองเท้า (แตะ) มาหนึ่งคู่ 55 ชิลๆจนห้าโมงเย็นเราเลยนั่งรถกลับมาที่ lkebukuro โดยใช้ Tobu line จากสถานี Kawagoe → Ikebukuro ราคา JPY IC 470 เยน (6,150+470 = 6,620 เยน)
มาถึงช่วงหกโมงเย็นพอดี เราตั้งใจเลือกกิน Roast Beef ohno เพราะหาข้อมูลตั้งแต่ที่ไทยว่าในโตเกียวมี 4 สาขาซึ่งหนึ่งในนั้นคือที่ Ikebukuro ใครสายเนื้อห้ามพลาดร้านนี้โดยเด็ดขาดค่ะ จากสถานี Ikebukuro เราออกทาง East extie แล้วเดินตาม google map ประมาณ 10 นาทีก็ถึงร้านแล้วค่ะ
ทางเข้าร้านค่อนข้างแคบอยู่ชั้น B1 ภายในร้านมีประมาณ 3 โต๊ะกับ นั่งหน้าเค้าเตอร์ได้อีกประมาณ 5 คน โชคดีที่เรามาถึงไวคนเลยไม่เยอะ ถ้าใครอยากมากินสาขานี้เผื่อเวลานิดนึงนะคะ
ที่ร้านจะมีอยู่เมนูเดียวคือ Roast beef แต่มีให้เลือกว่าอยากได้เนื้อวากิวจากญี่ปุ่น หรือเนื้อจากออสเตรเลีย ราคาก็จะต่างกันไป เราเลือกเป็นเนื้อวากิวราคา 1,760 เยน
ทางร้านมีแนะนำวิธีการกินด้วย ส่วนตัวชอบมาก เนื้อนุ่ม ละมุนลิ้น ตอนแรกคิดว่าจะคาวแต่ป่าวเลย เพราะไม่ใช่เนื้อดิบจ้ะ แต่ถูกอบในอุณหภูมิต่ำเป็นเวลานาน เคยออกรายการดูให้รู้ ช่อง Thai PBS ลองหาใน Youtube ดูเพิ่มเติมนะคะ ยิ่งกินคู่เบียร์สด ช่วยลดความเลี่ยนได้มาก ส่วนตัวให้ไป 10-10-10 เลยค่ะ วันนี้มีแต่ของอร่อย
เนื่องจาก Greater Tokyo Pass จะหมดอายุเย็นนี้ ทำให้พรุ่งนี้ การกลับไทย จากที่พักไปสนามบินนาริตะ เราไม่สามารถใช้ Narita Sky Access โดยพาสได้เหมือนขามา จะต้องซื้อตั๋วเพิ่ม เลยชั่งใจและตัดสินใจเลือกกลับ Keisei Skyliner แทน เพราะเรามีของฝาก สัมภาระเยอะขึ้น การโดยสาร Sky Access line อาจไม่สะดวกสบายสำหรับเรา เนื่องจากไม่ได้ขึ้นต้นสาย ยอมจ่ายแพงเพื่อความสะดวกสบายและรวดเร็ว โดยเราซื้อตั๋ว Skyliner แบบเที่ยวเดียวจาก H.I.S. ที่ไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ตั้งใจว่าวันนี้เวลาเหลือจะไปแลกตั๋วที่ Keisei Ueno information ไว้เลย
ถ้าถามว่าทำไมไม่แลกตั้งแต่ที่สนามบินนาริตะ ทาง H.I.S.แนะนำค่ะว่า ขึ้นต้นทางที่ไหน ค่อยไปแลกสถานีนั้น ป้องกันพนักงานสับสน เราเลยนั่งรถไฟจาก Ikebukuro → Ueno ราคา JPY IC 240 เยน (ุ6,620+240 = 6,860 เยน)
สำหรับคนเดินทางใหม่ที่เลือกเดินทางโดย Keisei Line เมื่อมาลงที่สถานี Ueno ให้ออก exit ที่มีสัญลักษณ์ KS ในวงกลมสีน้ำเงินประมาณ Exit 7 แล้วเดินผ่านอุโมงค์ไปสัก 10 นาที
แต่เพราะความไม่ศึกษามาก่อนที่ Information ตอนสองทุ่มมันปิดไปแล้ว เค้าเปิด 05.30 - 18.00 น. แปลว่าพรุ่งนี้เราต้องเผื่อเวลาให้ไวขึ้นอีกสักนิด เพื่อมาแลกตั๋วละเดินทางไปยังสนามบินนาริตะ จริงๆใครยังไหว จะออกไปเที่ยวรอบๆโตเกียวในยามค่ำคืนยังพอมีเวลานะคะ Greater Tokyo Pass ใช้ได้ถึง 23.59 น. แต่เราเลือกกลับมาแพ็คของ เพราะพรุ่งนี้เชคเอ้าเช้า
Ueno → Kuramae JPY IC ราคา 280 เยน (รวมทั้งทริป 6,860+280 = 7,140 เยน)
ขอสรุปสั้นๆ จากความคิดเห็นหลังใช้งานพาสนี้นะคะ สำหรับเราขาดทุนไป 60 เยน หรือประมาณ 18 บาท แต่เราคิดว่าสิ่งที่ได้มามันคุ้มมากกว่า นั่นคือ ทำให้เราได้ศึกษาเส้นทาง รู้จักการใช้รถไฟหลายสายมากกกกกกกก
แต่ก็ต้องรู้จักเผื่อเวลา เผื่อหลง เผื่อเจ้าหน้าที่สถานี งง ว่า พาสอิหยังวะ เพราะจากในรูป จะเห็นว่าบางวันถูกปั๊มวันที่ 2 รอบ ทั้งที่มันควรปั๊มแค่วันละรอบก็พอ ไม่มี standard เลย ถึงวิธีการเข้า-ออก สถานี บางสถานีไม่แม้แต่จะดูพาสให้เข้าได้เลย บางสถานีดูแล้วดูอีก บางสถานีเจ้าหน้าที่ติดคุยกับผู้โดยสารนานก็ต้องยืนรอ อันนี้ควรเผื่อเวลานิดนึง เพราะรู้สึกได้ว่าค่อนข้างวุ่นวาย เนื่องจากสอดบัตรผ่านเครื่องไม่ได้ ต้องคอยโชว์พร้อม Passport ทุกสถานี
อีกข้อคือ เนื่องจากไม่ครอบคลุม JR มันง่ายมากที่เราจะขึ้นรถผิด โดยเฉพาะจากสถานี Kamakura ที่ใช้ Jr Pass มาลง สถานี Yokohama จำไว้ว่าต้องสอดบัตร JR Pass ออกจากระบบก่อน แล้วค่อยไปขึ้น subway สายสีน้ำเงินต่อเพื่อไปลงสถานี Shin-Yokohama ดังนั้นการเผื่อเวลางง เวลาหลงในการใช้ครั้งแรกสำคัญมาก
สำหรับใครที่คิดจะใช้พาสนี้ อยากให้ลองศึกษาเส้นทางที่จะไปดูก่อน แล้วคำนวณค่าเดินทางทั้งหมดคร่าวๆว่าคุ้มค่ามั้ย
เพราะ Greater Tokyo Pass เฉลี่ยแล้วต้องใช้ให้ได้วันละ 2,400 เยนถึงจะเท่าทุน ในขณะที่พาส ขึ้น JR ไม่ได้ ใช้กับ Ltd.Exp ก็ไม่ได้เช่นกัน
สุดท้ายแล้วนี่เป็นเพียงรีวิวอีกหนึ่งทางเลือกเท่านั้นนะคะ ส่วนการเลือกใช้งาน พาสต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เอง ว่าจะเลือกใช้พาสไหน
ถ้าชอบการเดินทางของเรา ฝากติดตามการเดินทางอื่นๆได้ที่เพจ กานต์•เดิน•ทาง https://www.facebook.com/krandurntrang/ ด้วยนะคะ
กานต์เดินทาง
วันพฤหัสที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 14.55 น.