ลาซา วันนี้ที่เป็นไป
สถานีรถไฟลาซาที่เป็นเหมือนประตูสู่ดินแดนทิเบตถูกสร้างไว้อย่างโออ่า ท่ามกลางการโอบล้อมของขุนเขา ที่นี่มีตำรวจจีนมาดเข้มหลายนายยืนประจำการในทุกจุดสำคัญที่ผู้โดยสารผ่านเข้าออก นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มที่เดินทางมาที่นี่จะไม่สามารถออกจากสถานีรถไฟได้หากบริษัททัวร์ที่ติดต่อไว้ไม่มารับ แล้วเหตุการณนั้นก็เกิดขึ้นกับเราจนได้ เพราะไม่ว่าจะหันมองไปทางไหน ก็ไม่เห็นมีคนจากบริษัททัวร์ที่เราติดต่อไว้สักคน เหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาขบวนรถไฟเดียวกับเรา เริ่มทยอยออกจากด่านตรวจพร้อมกับตัวแทนบริษัททัวร์ที่ละกลุ่ม จนเหลือกลุ่มเราเพียงกลุ่มเดียว ที่ยืนหันซ้ายหันขวาเพราะหาตัวแทนบริษัททัวร์ไม่เจอ ตำรวจจีนจึงเดินตรงเข้ามาหา เราเริ่มใจไม่ดีว่าอุตส่าห์รอนแรมมาตั้งไกล จนถึงสถานีรถไฟลาซาแล้ว จะต้องถูกส่งตัวกลับหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะสื่อสารภาษาจีนกับตำรวจอย่างไรจึงแสดงหลักฐานการจองทัวร์กับบริษัททัวร์ท้องถิ่นให้ตำรวจดู นายตำรวจมาดเข้มรับเอกสารไปดูไม่นาน ก็หยิบโทรศัพท์ออกมาเพื่อโทรไปยังสำนักงานของบริษัททัวร์ว่าลูกทัวร์ของคุณมาแล้ว ให้รีบออกมารับโดยด่วน
หลังจากคุยโทรศัพท์เสร็จ ตำรวจก็หันมาบอกว่าด้วยภาษาอังกฤษปนภาษามือว่า อีกไม่เกิน 1 ชั่วโมง บริษัทจะส่งรถมารับ เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดเรื่องเวลา เพราะมีการเลื่อนเวลาการเดินทางของพวกเราในการเดินทางด้วยรถไฟจากซีหนิงให้เร็วขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ซีหนิงไม่ได้แจ้งมาที่ลาซาให้รับทราบ เมื่อรู้ว่าเราไม่ใช่พวกหลบหนีข้ามแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้เราไปนั่งรอในสถานีตำรวจ แถมมีบริการชาร้อนๆให้ดื่มแก้หนาว
เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมงเศษ หนุ่มทิเบตนามว่า รินโต ซึ่งเป็นไกด์ที่บริษัททัวร์จัดมาก็เดินทางมารับเรา พร้อมกับ เจนเซ็น คนขับมินิบัส ซึ่งจะเป็นพาหนะในการเดินทางของพวกเราในแผ่นดินทิเบต
รินโตขอโทษขอโพยพวกเราเป็นการใหญ่ที่ต้องให้รอ จากนั้นจึงมอบผ้าสีขาวให้พวกเราคนละผืนตามประเพณีการต้อนรับแบบทิเบต โดยเขาบอกว่าให้เก็บผ้าผืนนี้ไว้ให้ดี จนถึงวันที่เดินทางสู่เอเวอเรตส์เบสแคมป์ จึงนำขึ้นมาใช้
เจนเซ็นขับรถพาเราเข้าสู่ตัวเมืองลาซา ระหว่างทางรินโตแนะนำตัวเองให้เรารู้จัก ว่าจริงๆแล้วอาชีพหลักของเขาไม่ใช่การเป็นไกด์ แต่เขาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ มารับงานเสริมก็เฉพาะช่วงที่วิทยาลัยปิดเทอม จากนั้นก็เริ่มบรรยายข้อมูลเบื้องต้นของทิเบตให้เราทราบ เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ระดับความสูง ปริมาณประชากร สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เราอยากรู้จากเขานัก เพราะสามารถหาอ่านได้จากหนังสือทั่วไปที่กล่าวถึงทิเบต แต่ที่เราอยากรู้คือสภาพชีวิตของชาวทิเบตในปัจจุบันมากกว่า ซึ่งโชคดีที่รินโตเป็นชาวทิเบตโดยกำเนิด ไม่ใช่ชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาประกอบอาชีพในดินแดนทิเบต เราจึงได้ฟังเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของทิเบตจากคนทิเบตจริงๆตั้งแต่การจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นเมื่อจีนเข้ามาปกครอง
การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ชาวจีนย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในดินแดนทิเบต โดยมีสิ่งจูงใจหลากหลายรูปแบบ เพื่อหวังให้สัดส่วนประชากรทิเบตลดลง เวลาผ่านไป ชาวจีนได้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการต่างๆมากมาย ในขณะที่ชาวทิเบตหากไม่ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรอยู่ในชนบท หรือเลี้ยงสัตว์ในดินแดนแห่งเทือกเขาสูงและแห้งแล้ง ก็ต้องทำงานเป็นลูกจ้างของชาวจีนในเขตเมือง ที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของกิจการเองได้ พวกเขาต้องร่ำเรียนภาษาจีนเพื่อใช้สื่อสารกับผู้เป็นนายจ้าง ในขณะที่เด็กๆก็ต้องร่ำเรียนภาษาจีนเช่นกัน เพราะตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียนล้วนเป็นภาษาจีนทั้งสิ้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนชาวทิเบต ที่วันนี้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองบนผืนแผ่นดินเกิด
เจนเซ็น คนขับมินิบัสที่ตลอดการเดินทางในทิเบตเราแทบไม่ได้ยินเสียงพูดจากเขา ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะอุปสรรคเรื่องการสื่อสาร แต่ยังคงเห็นรอยยิ้มจากเขาตลอดการเดินทาง พาเรามาถึงที่พักในตัวเมืองลาซา คือ Lhasa Yak Hotel หรือแปลเป็นไทยคือ โรงแรมจามรีแห่งลาซา แม้ภายนอกจะดูเรียบๆ แต่ภายในห้องพักนั้นดูโอ่โถงสวยงามมาก แต่ติดตรงที่ห้องที่เราพักนั้นอยู่ถึงชั้น 4 แถมไม่มีลิฟท์ หากเป็นประเทศอื่นคงไม่เป็นอุปสรรคอะไรมากนัก แต่การเดินขึ้นชั้น 4 ในภูมิประเทศแบบทิเบตที่อากาศเบาบางเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย เพราะจะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อรินโตบอกเราว่า ห้องอาหารสำหรับมื้อเช้านั้นอยู่ชั้น 5 ซึ่งหากได้ยินแค่นี้ก็คงไม่เป็นอะไร เพราะอย่างไงก็นอนชั้น 4 อยู่แล้ว แค่ขึ้นบันไดไปอีกชั้นเพื่อรับประทานอาหารเช้าก็คงไม่เหนื่อยอะไร แต่ที่ไหนได้ ชั้น 5 ที่ว่านี้อยู่คนละอาคารกัน และอาคารนี้ก็ไม่มีลิฟท์เช่นกัน !
โปรแกรมเที่ยวลาซาที่บริษัททัวร์จัดไว้ให้นั้นจะเริ่มต้นพรุ่งนี้ แต่เนื่องจากโรงแรมที่เราพักตั้งอยู่บนถนนเป่ยจิงฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นถนนที่ทางการจีนตัดผ่านหน้าพระราชวังโปตาลา เราจึงชักชวนกันไปเดินเล่นชมเมือง โดยมีปลายทางอยู่ที่พระราชวังโปตาลา เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะเข้าไปชมแบบเต็มๆในวันพรุ่งนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ เดินไปด้วยกันได้ไม่เท่าไหร่ ก็เหลือผมเพียงคนเดียวที่เดินไปจนถึงพระราชวังแห่งนี้
บนเส้นทางสู่พระราชวังโปตาลามากไปด้วยที่พัก ร้านอาหาร และร้านค้าที่ส่วนใหญ่ยังคงทำการค้าขายภายใต้ตัวอาคารแบบทิเบตเดิมๆ ที่สร้างจากอิฐสีขาวโดยไม่ฉาบปูน แต่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่มาตั้งรกรากในทิเบตตามนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ต้องการให้สัดส่วนชาวจีนในแผ่นดินทิเบตมีปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้สัดส่วนของชาวทิเบตในแผ่นดินตนเองลดน้อยลง
ร้านค้าที่นี่จำหน่ายสารพัดสินค้าตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว ที่มีมากคงหนีไม่พ้นบรรดาเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันหนาวตั้งแต่หัวจรดเท้า ดูแล้วมีทั้งยี่ห้อที่ผลิตในประเทศจีน กับยี่ห้อของชาติตะวันตกที่คุ้นตา แม้ไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นของแท้หรือเปล่า แต่ก็เห็นพวกฝรั่งจมูกโด่งเลือกซื้อกันหน้าตาเฉย
นอกจากอุปกรณ์กันหนาวแล้ว สิ่งที่มีมากอีกอย่างคือบรรดาเครื่องประดับที่ทำจากหินทิเบต ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือที่สีสันงดงาม รวมถึงบรรดากงล้อมนตราที่ใช้สำหรับสวดภาวนาของชาวทิเบต แต่ในวันนี้ได้กลายเป็นของที่ระลึกจากดินแดนหลังคาโลกไปเสียแล้ว
บรรดาร้านค้าที่เรียงรายสองข้างทาง แม้เจ้าของร้านจะเป็นชาวจีน ไม่ใช่ชาวทิเบตผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินเดิม แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ขัดหูขัดตาเท่ากับบรรดาผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่มีมากกว่าที่คิด ยิ่งเวลาค่ำมืดลูกค้ายิ่งแน่นร้าน เช้าเข้าวัด กลางคืนเข้าผับนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทหนึ่ง ที่มาเที่ยวเพียงเพื่อตักตวงความสุขให้กับชีวิต โดยไม่สนใจว่าความสุขนั้นจะมาในรูปแบบใด กระแสของธุรกิจที่เม็ดเงินเป็นพระเจ้า กำลังเข้ามาแทนที่เทพเจ้าที่ชาวทิเบตนับถือ ยิ่งนานวันระยะห่างระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที แม้ลาซาในวันนี้จะมีสภาพไม่ต่างจากเมืองใหญ่หลายๆเมืองในแผ่นดินจีน หรือเมืองท่องเที่ยวทั่วไปในโลกใบนี้ แต่ ณ ตรอกแคบๆที่ลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่น เรายังสามารถพบเห็นวิถีชีวิตเดิมๆของชาวทิเบต ที่ไม่ได้หมุนไปตามกระแสของโลกยุคปัจจุบัน ท่ามกลางรอยเท้าของนักท่องเที่ยว เราจึงยังคงได้เห็นรอยเท้าของชาวทิเบตที่ก้าวอย่างช้าๆพร้อมการหมุนของกงล้อมนตราในมือ และบทสวดภาวนาที่ออกจากปากอย่างไม่ขาดสาย
แล้วสองขาก็พาผมเดินมาถึงด้านหน้าพระราชวังโปตาลา (Potala) รอบพระราชวังโดยเฉพาะด้านหน้าฟากถนนเป่ยจิงตะวันออกที่ผมเดินมานั้น มากไปด้วยอาคารสูงของบรรดาห้างร้านและสำนักงานจากการเข้ามาปกครองของจีนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ เพราะในอดีตนั้น รอบพระราชวังโปตาลา รวมถึงสองฟากถนนที่มุ่งตรงสู่พระราชวังจะสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 2 ชั้น เพราะนอกจากจะไม่เป็นการบดบังภูมิทัศน์ของพระราชวังแล้ว ยังไม่เป็นการบังควรที่จะมองดูขบวนเสด็จขององค์ดาไลลามะจากมุมสูง
ไม่เฉพาะอาคารโดยรอบ แต่ถนนที่พาดผ่านหน้าพระราชวังในวันนี้ก็ถูกสร้างไว้กว้างจนเกือบจะเป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แต่รถวิ่งน้อยมากจนแทบหลับตาข้ามถนนได้ ผิดจากภาพพระราชวังในอดีตที่ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม ซึ่งถ่ายไว้ก่อนที่จีนจะบุกยึดทิเบต นั้นเป็นเพียงทางดินสายเล็กๆที่ตัดผ่านหน้าพระราชวัง ปราศจากรถรา มีแค่การเดินเท้าของผู้คนเท่านั้นที่ย้ำผ่าน
ผมเดินผ่านเครื่องสแกนและถูกตรวจค้นกระเป๋าในการเข้าไปในเขตหน้าพระราชวังโปตาลา ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ชาวทิเบตเองก็ต้องผ่านการตรวจเช่นเดียวกัน แม้ว่าเหตุผลคือการรักษาความปลอดภัย แต่นั้นก็คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของความคับข้องใจที่ชาวทิเบตยังคงเก็บซ่อนไว้ แม้ว่าจะไม่มีเสียงคับข้องใจนี้ปริออกมาจากปากก็ตาม
แม้ในวันนี้จะไม่มีองค์ดาไลลามะอยู่ในพระราชวังโปตาลาแล้วก็ตาม แต่บนทางเดินที่ทอดยาวไปตามแนวสนามหญ้าด้านหน้าพระราชวังโปตาลา ชาวทิเบตบางคนกำลังเดินไปพร้อมกับการหมุนกงล้อมนตราที่อยู่ในมือ จนไม่รู้ว่าในวันหนึ่งๆกงล้อมนตราจะถูกหมุนไปกี่พันกี่หมื่นรอบ ในขณะที่อีกหลายคนกำลังก้มกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ โดยก้มกราบ 1 ครั้ง ก้าวเดิน 3 ก้าว ทำวนซ้ำเช่นนี้บนทางเดินที่ทอดยาวหลายร้อยเมตรหน้าพระราชวังโปตาลา ซึ่งเป็นระยะทางที่แสนยาวไกลกว่าที่การก้มกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์จะพาพวกเขาไปถึงปลายทาง แต่นั่นไม่ได้ไกลเกินกว่าแรงศรัทธาที่มีอย่างเปี่ยมล้นในจิตวิญญาณของพวกเขา
ผมก้าวเท้าเดินอย่างช้าๆ ยิ่งเดินเข้าใกล้มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของพระราชวังแห่งนี้ ในเวลานี้ผมจึงบอกตัวเองว่าอดใจรออีกนิด เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าก็จะได้เที่ยวชมทั้งภายนอกและภายในพระราชวังแบบเต็มๆ ในเวลานี้จึงหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพพระราชวังที่แสนอลังการ ซึ่งทุกอย่างของการออกแบบก่อสร้างพระราชวังดูลงตัวหมด ยกเว้นแต่เพียงรูปปั้นสิงห์และซุ้มประตูบริเวณด้านหน้าทางเข้าพระราชวังนั้นขัดแย้งกับศิลปะแบบทิเบตอย่างเห็นได้ชัด เพราะทางการจีนสร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบจีน เพื่อเป็นการบอกเชิงสัญลักษณ์ว่าในวันนี้ พระราชวังโปตาลาได้เปลี่ยนเจ้าของแล้ว
ฝั่งตรงข้ามพระราชวังโปตาลาในวันนี้ถูกปรับแต่งภูมิทัศน์ให้เป็นจัตุรัสโปตาลา อันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ ที่รัฐบาลจีนสร้างไว้อย่างใหญ่โต แม้ฟังชื่อแล้วจะชวนให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับหน้าประวัติศาสตร์ เพราะชาวทิเบตเองคงไม่คิดว่าการเข้ามาของชาวจีนจะเป็นการปลดปล่อย แต่เป็นการทำในสิ่งตรงกันข้ามมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าจุดนี้เป็นจุดชมพระราชวังโปตาลาที่ดีที่สุดจุดหนึ่ง เพราะสามารถมองเห็นพระราชวังอันยิ่งใหญ่ได้เต็มสองตา อีกทั้งยังมีบึงน้ำใสขนาดใหญ่ที่พระราชวังโปตาลาทอดเงาลงบนนั้น ผมจึงใช้เวลาให้หมดไปกับการนั่งชมพระราชวังโปตาลาที่แสนยิ่งใหญ่และงดงาม โดยความงามนี้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงเฉกสีตามช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนตัวลาลับขอบฟ้า จนเมื่อท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีดำ พระราชวังโปตาลาก็ถูกอาบไล้ด้วยแสงไฟ จนดูงามเด่นท่ามกลางความมืดของบรรยากาศโดยรอบ
ผมเดินย่ำเท้ากลับโรงแรม คืนนี้เป็นคืนที่สองที่อาการแพ้ความกดอากาศเข้าเล่นงานผมอย่างจัง โดยมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงเมื่อล้มตัวลงนอน จนเหมือนหัวกำลังจะระเบิดออกจากกัน จนสุดท้ายผมก็ไม่อาจที่จะเอาหัวหนุนหมอนได้อีกต่อไป จึงลุกขึ้นนั่งเอาหลังพิงหัวเตียง แล้วสูดลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆจนกระทั่งอาการทุเลาลง แต่ก็ยังไม่สามารถล้มตัวนอนได้อยู่ดี เพราะหัวถึงหมอนเมื่อใด อาการปวดจนหัวแทบจะระเบิดก็เกิดขึ้นทุกที จนในที่สุดผมก็ต้องหลับในท่านั่งจนเช้า
แม้จะทรมานจากอาการแพ้ความกดอากาศ แต่เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่างอาการผมก็ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ จากชั้น 4 ของอาคารที่พัก ผมเดินลงไปชั้นล่างแล้วก็ต้องเดินไปหอบไปในการก้าวเท้าขึ้นไปยังชั้น 5 ของอีกอาคารเพื่อรับประทานอาหารเช้า ในเวลานี้เพื่อนๆเริ่มทยอยมากันบ้างแล้ว แม้อาหารเช้าจะดูแสนเรียบง่าย แต่ด้านบนนี้มีภาพทิวทัศน์มุมกว้างของเมืองลาซา พร้อมด้วยภาพพระราชวังโปตาลาที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก จึงพอจะคุ้มค่าที่ต้องขึ้นมาสูงขนาดนี้
ภาพพระราชวังโปตาลาปรากฏให้เห็นแบบเต็มสองตาอีกครั้ง เมื่อรินโตพาพวกเราเดินผ่านเข้าไปภายในพระราชวัง จากรูปปั้นสิงห์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า หากมองจากภายนอกจะเห็นว่าพระราชวังโปตาลานั้นมีความสูงใหญ่มาก แต่ในความจริงนั้นภาพที่เห็นคือแนวกำแพงสีขาว ที่สร้างขึ้นตามความสูงของเขามาโปรีอันเป็นฐานของพระราชวัง โดยเขานี้มีความสูงกว่าตัวเมืองลาซาราว 110 เมตร จึงมีส่วนเสริมส่งให้พระราชวังนี้ดูยิ่งใหญ่อลังการกว่าโครงสร้างจริงที่เป็นอยู่ และด้วยตำแหน่งที่ตั้งอันโดดเด่นนี้เอง ทำให้พระราชวังโปตาลานอกจากเป็นพระราชวังโบราณที่เก่าแก่ที่สุดพระราชวังหนึ่งในโลกแล้ว ยังเป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุดในโลก คือ 3,767 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เราเดินผ่านกำแพงสีขาวที่ซ้อนกันหลายชั้นสู่ลานกว้างภายในพระราชวัง แหงนหน้ามองขึ้นไปเห็นขั้นบันไดทอดยาวไขว้ไปมาสู่ตัวพระราชวังที่อยู่เบื้องบน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆคือ พระราชวังขาวกับพระราชวังแดง ตามสีภายนอกที่แตกต่างกัน โดยพระราชวังแดงตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลาง สีแดงสื่อถึงความสง่าและอำนาจ ในขณะที่พระราชวังขาวที่โอบล้อมทางปีกซ้ายและขวาสื่อถึงความสงบและสันติภาพ
หน้าประวัติศาสตร์บันทึกว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2493 ขั้นบันไดเหล่านี้ ทหารจีนเคยใช้เป็นที่สังหารข้าราชการที่ทำงานในพระราชวังโปตาลา ในช่วงที่ยกทัพมายึดทิเบต โดยเสนอให้ทิเบตยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือตน 4 ปีหลังจากนั้นองค์ดาไลลามะที่ 14 ที่มีวัยเพียง 19 ปี ได้เดินทางไปกรุงเป่ยจิงเพื่อเจรจาสันติภาพกับประธานเหมา เจ๋อ ตุง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
มีนาคม พ.ศ.2502 ที่กรุงลาซาเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ทิเบต ทหารจีนเข้าจับกุมและสังหารผู้ประท้วงจำนวนมาก กรุงลาซานองไปด้วยเลือดของประชาชนชาวทิเบต เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้องค์ดาไลลามะพร้อมด้วยประชาชนชาวทิเบตอีกนับแสนต้องลี้ภัยข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปยังประเทศอินเดีย โดยประชาชนชาวทิเบตบางส่วนได้กระจัดกระจายไปยังประเทศเนปาล ภูฏาน และอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งนับแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงประทับอยู่ที่เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของประเทศอินเดียโดยไม่มีโอกาสได้กลับมาเยียบแผ่นดินเกิดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไปภาพความโหดเหี้ยมในวันนั้นได้ลบเลือนหายไปโดยถูกแทนที่ด้วยภาพของเหล่านักท่องเที่ยวที่ตื่นตาตื่นใจกับพระราชวังโปตาลา ที่ค่อยๆเผยความยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น เมื่อเท้าก้าวขึ้นไปตามขั้นบันไดอย่างช้าๆ
หมุนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลากลับไปสู่ปีพ.ศ.1180 ในเวลานั้นดินแดนนี้ยังไม่ได้เรียกว่าทิเบตเหมือนในปัจจุบัน แต่คืออาณาจักรทูโบ ที่กำลังเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าซองเซ็นกัมโปทรงรับสั่งให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นบนเขามาโปรี (Marpo Ri) หรือเขาแดง เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับเจ้าหญิงเหวินเฉิง พระราชนัดดาของฮ่องเต้ถังไท่จงผู้ปกครองแผ่นดินมังกร ซึ่งพระนางเดินทางมาที่ทิเบตเพื่ออภิเษกสมรสกับพระเจ้าซองเซ็นกัมโป โดยการอภิเษกสมรสครั้งนี้ เป็นไปเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างจีนกับทิเบต
พระราชวังโปตาลาในสมัยนั้น มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่เห็นในปัจจุบัน โดยเป็นหมู่อาคารขนาดใหญ่ ภายในมีห้องมากถึง 1,000 ห้อง อีกทั้งยังมีกำแพงล้อมรอบถึง 3 ชั้น แต่สุดท้ายแล้ว พระราชวังโปตาลาในอดีตก็ได้ถูกไฟสงครามทำลายจนเสียหายอย่างหนัก และถูกปล่อยทิ้งไว้จนเสื่อมโทรม เวลาผ่านไปร่วมพันปี องค์ดาไลลามะที่ 5 มีรับสั่งให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ ในปีพ.ศ. 2185 ซึ่งในเวลานั้นพระราชวังโปตาลามีแต่เพียงพระราชวังขาวเท่านั้น นอกจากใช้เป็นที่ประทับขององค์ดาไลลามะแล้ว ยังใช้เป็นที่บริหารงานของคณะรัฐบาล และในเวลานี้เราก็กำลังก้าวเข้าไปในพระราชวังขาวแห่งนั้น
ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ภายในพระราชวังขาวหรือโปตรัง การ์โป (Potrang Karpo) ผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความลึกลับ อันเกิดจากความทึบของกำแพงที่แทบจะปราศจากหน้าต่าง ประกอบกับภาพวาดที่ดูน่าเกรงขามของเหล่าเทพเจ้าและปีศาจตามความเชื่อของวัชรยาน ท่ามกลางกลิ่นกำยานและเสียงสวด“โอม มณี เปเมหุม” อันมีความหมายว่า “โอ ดวงมณีในดอกบัว” ก้องกังวานอย่างไม่ขาดสาย
พระราชวังขาวมี 4 ชั้น ชั้น 1 – 3 เป็นห้องโถงหลายต่อหลายห้อง เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับชั้น 4 เป็นที่ประทับ ที่บรรทม ที่ทรงงาน ที่เรียนวิทยาการ ที่ต้อนรับแขก ที่สวดมนต์ รวมถึงที่นั่งวิปัสสนาขององค์ดาไลลามะ ชีวิตโดยส่วนใหญ่ของดาไลลามะแต่ละองค์จึงวนเวียนอยู่ในห้องหับที่ดูลึกลับภายในพระราชวังนี้ ทุกจังหวะของการก้าวเดินจึงสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตที่ยังคงอยู่ของพระองค์ ผ่านทางข้าวของเครื่องใช้ที่ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี ซึ่งผมเชื่อว่าความรู้สึกที่ผมได้รับในเวลานี้ นั้นแสนน้อยนิดหากเทียบกับความรู้สึกที่ปรากฏของในหัวใจของชาวทิเบต ที่ยังคงแวะเวียนเพื่อมาสัมผัสถึงความคงอยู่ของผู้นำทางจิตวิญญาณของตน
ทางเดินที่ดูซับซ้อนเรียงรายไปด้วยพระพุทธรูปทองคำอันแสนงดงามในแบบวัชรยาน เราเดินขึ้นไปตามชั้นต่างๆของพระราชวังขาวจนถึงชั้นบนสุด จากจุดนี้มีทางเดินออกสู่ลานโล่งภายนอก ที่เชื่อมต่อไปยังพระราชวังแดงหรือโปตรัง มาร์โป (Potrang Marpo) พระราชวังนี้ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2233 หรือหลังจากองค์ดาไลลามะที่ 5 สิ้นพระชนม์ไปแล้ว 8 ปี จึงมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานสถูปทองคำเก็บพระศพของพระองค์ และนั้นได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งต่อไปยังดาไลลามะองค์ต่อๆมาในการสร้างสถูปทองคำเพื่อเก็บพระศพของแต่ละพระองค์
ชาวทิเบตจะใช้เกลือในการรักษาพระศพของดาไลลามะที่สิ้นพระชนม์ จากนั้นจึงบรรจุลงในหีบแล้วปิดด้วยแผ่นเงินแผ่นทอง แล้วจึงนำมาไว้ในสถูป โดยสถูปที่เก็บพระศพแต่ละองค์นั้นสูงใหญ่ยิ่งนัก นอกจากจะสร้างจากทองคำแล้ว ยังประดับด้วยอัญมณีที่แสนเลอค่า ซึ่งเป็นสมบัติส่วนพระองค์และจากผู้อุทิศ โดยสถูปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือสถูปเก็บพระศพขององค์ดาไลลามะที่ 5 มีความสูงถึง 12.6 เมตร กว้าง 7.65 เมตร หุ้มด้วยทองคำหนักเกือบ 6 พันกิโลกรัม และประดับด้วยเหล่าอัญมณีน้อยใหญ่จนไม่อาจประเมินค่าได้ ดังชื่อสถูปที่ว่า อัญมณีแห่งชมพูทวีป
ในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 นี้เอง ที่นอกจากเป็นประมุขแห่งพุทธศาสนาแล้ว ดาไลลามะยังทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลอีกด้วย โดยการปฏิบัตินี้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาสู่ดาไลลามะองค์ต่อๆมา จวบจนดาไลลามะองค์ที่ 14 ที่ประเทศทิเบตได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
ด้วยการที่ดาไลลามะทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งพุทธศาสนา และผู้นำรัฐบาล พื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชวังโปตาลาจึงถูกใช้เป็นที่ทำการของราชสำนัก โดยรูปแบบการบริหารแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายมีจำนวน 175 คนเท่ากัน คือ ฝ่ายสมณะ ประกอบด้วยคณะสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่ดูแลทะนุบำรุงพุทธศาสนา อีกฝ่ายคือฆราวาส ที่ส่วนใหญ่มาจากตระกูลขุนนาง ทำหน้าที่บริหารประเทศ จึงเห็นได้ว่าทิเบตนั้นให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาไม่น้อยไปกว่าการคิดจะพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เหมือนอย่างที่หลายๆประเทศในโลกนี้กำลังดิ้นรนเพื่อไปถึงจุดนั้น โดยไม่ได้มองถึงความสุขอันแท้จริงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจลึกๆของมนุษย์แต่ละคน
รินโตยังคงพาเราเดินไปตามทางเดินที่แสนซับซ้อน พาดผ่านไปยังห้องหับที่อบอวนไปด้วยกลิ่นกำยานและความลึกลับ ภาพปริศนาธรรมหลายภาพยังคงปรากฏให้เห็น ในขณะที่ความงดงามของพระพุทธรูปศิลปะทิเบตก็ยังคงเป็นเสมือนแสงส่องนำทาง ในทางเดินที่มีเพียงแสงสลัวๆจากเปลวไฟบนตะเกียงเนย พื้นที่พระราชวังโปตาลาที่เรามีโอกาสเข้าไปชมนั้น เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของพื้นที่ทั้งหมด ห้องหับนับร้อยห้องที่ซ่อนตัวอยู่ในพระราชวังแดงและพระราชวังขาวยังคงเก็บงำเรื่องราวขององค์ดาไลลามะ และมนต์ขลังของวัชรยานไว้ในนั้น จนเหมือนเป็นความลับชั่วนิรันดร์ที่ถูกปิดไว้จนกว่าผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงจะได้คืนกลับ
ถัดจากพระราชวังโปตาลาไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของจัตุรัสบาคอร์ (Bakhor) สถานที่แห่งนี้ถือเป็นจุดศูนย์กลางของผู้คนในลาซา เพราะอยู่ด้านหน้าวัดโจคัง (Jokhang) จุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในดินแดนทิเบต ที่นี่จึงมากไปด้วยร้านค้าจำหน่ายสารพัดผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกของดินแดนทิเบต ไม่ว่าจะเป็นเหล่าเครื่องประดับทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือที่ทำจากหินทิเบต ผ้าคาดเอว ผ้าพันคอ เสื้อผ้าแพรไหมสวดลายศิลปะแบบทิเบตขนานแท้ เหล่าเครื่องทองเหลือง ทั้งเชิงเทียนและกาน้ำที่ทำอย่างสวยงาม รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ทั้งภาพทังกา ธงมนตรา และกงล้อมนตราที่สามารถพกใส่กระเป๋าเสื้อได้ จนถึงขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของเกือบ 1 ฟุต
ภาพการค้าขายในวันนี้ ได้กลบอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2551 ไปจนหมดสิ้น ในครั้งนั้นเกิดการชุมนุมของชาวทิเบตจำนวนมากที่จัตุรัสแห่งนี้เพื่อการประท้วงครั้งรุนแรง ในการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปลดปล่อยทิเบตจากการปกครอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นจากการประท้วงครั้งนั้น นอกจากชาวทิเบตจำนวน 14 คนได้เสียชีวิตลงที่นี่ และองค์ดาไลลามะยังคงต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดียเช่นเดิม
เราเดินผ่านความพลุกพล่านของผู้คน ที่ผสมปนเประหว่างชาวทิเบต ชาวจีน และนักท่องโลกหลากเชื้อชาติ สู่วัดโจคัง (Jokhang) บริเวณนี้ไม่มีร้านค้าใดๆ มีแต่ชาวทิเบตจำนวนมากที่ก้มกราบด้านหน้าอาราม พวกเขาทำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนกับไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดอยู่ที่ใด ในขณะที่โดยรอบมีทหารจีนหลายนายกำลังเดินแถวจ้องดูพวกเขาอย่างไม่คาดสายตา
คนไทยเรียกการก้มกราบในท่วงท่าแบบนี้ว่าอัษฎางคประดิษฐ์ โดยมีที่มาจากตำแหน่ง 8 จุดที่เกี่ยวข้องกับท่วงท่า ตั้งแต่การยืนจนถึงการแนบกราบลงกับพื้น คือ หน้าผาก 1, ฝ่ามือทั้ง 2, หน้าอก 1, เข่าทั้ง 2 และเท้าทั้ง 2 ในขณะที่ชาวทิเบตเรียกการกราบในท่วงท่านี้ว่า “ชากเซล” (chag tsel) แม้จะเป็นคำสั้นๆแต่ก็มีความหมายที่ลุ่มลึก โดยคำว่า “ชาก” หมายถึง กายศักดิ์สิทธิ์ วาจาศักดิ์สิทธิ์ และจิตศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ส่วนคำว่า “เซล” หมายถึง การอุทิศ ฉะนั้น “ชากเซล” จึงหมายถึง การอุทิศทั้งร่างกายและจิตใจต่อพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะก้าวตามรอยทางอันถูกต้อง ในการบรรลุธรรมตามคำสอนของพระองค์ นอกจากนี้การน้อมตัวนอนราบกราบลงกับพื้น ยังมีนัยยะถึงการที่ยินดีอุทิศตน สลัดซึ่งอัตตา เพื่อพร้อมเข้าสู่วัฏสงสาร และเมื่อกลับมายืนพนมมือขึ้นอีกครั้ง จะหมายถึงการพร้อมที่จะช่วยและนำสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์แห่งวัฏสงสารด้วยเช่นกัน
ผมเฝ้าดูการก้มกราบครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขา ยิ่งดูนานมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกเหมือนร่างกายของพวกเขาจะเป็นเหมือนเกลียวคลื่นอันอ่อนโยน ที่เคลื่อนไหวอย่างอ่อนช้อยแต่แฝงไว้ด้วยพลานุภาพแห่งศรัทธา ด้วยเหตุนี้กระมั่งที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยในสิ่งที่ทำ และไม่เคยท้อถอยที่จะก้าวเดินไปตามรอยทางของพระพุทธเจ้า แม้ว่าสถานะของชาวทิเบตในวันนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
จากเสาสูงสองต้นที่ตั้งอยู่ด้านหน้า เราก้าวเท้าเข้าสู่ภายในวัดโจคัง ที่นี่คือวัดที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในดินแดนทิเบต มีประวัติการสร้างย้อนหลังไปกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยที่ดินแดนแห่งนี้ยังมีชื่อว่าอาณาจักรทูโบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสร้างพระราชวังโปตาลา โดยพระเจ้าซองเซ็นกัมโปทรงสั่งให้สร้างวัดแห่งนี้ เพื่อให้พระมหาเทวีภริกุติ ซึ่งเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่งที่มาจากเนปาล ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระโจโวมิเคียวดอร์เจ ทำให้วัดแห่งนี้มีกลิ่นอายของสถาปัตกรรมเนปาลค่อนข้างมาก (ภายหลังพระโจโวมิเคียวดอร์เจย้ายไปประดิษฐานที่วัดราโมเช)
หน้าประวัติศาสตร์ที่ส่งผ่านการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น บอกเรื่องราวการสร้างอารามแห่งนี้ว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ใจกลางเมือง โดยมีความเชื่อว่าเป็นตำแหน่งหัวใจของปีศาจที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน การจะจัดการปีศาจตนนี้ต้องสร้างวัดหลายแห่งในหุบเขารอบกรุงลาซา เพื่อตรึงอวัยวะส่วนต่างๆของปีศาจนี้ไว้ และตำแหน่งสุดท้ายอันเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด คือหัวใจ จะต้องดูดน้ำจากทะเลสาบออกให้หมด แล้วถมดินสร้างวัดขึ้นเพื่อทับร่างปีศาจเอาไว้ เรื่องราวนี้จะมีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด หรืออาจจะไม่มีเลย ก็คงไม่มีใครสามารถย้อนเวลากลับไปพิสูจน์ได้ แต่นั้นคงไม่มีความสำคัญเท่ากับการเกิดขึ้นและยังคงอยู่ในแรงศรัทธาของชาวทิเบตที่มีให้กับอารามแห่งนี้
ท่ามกลางแสงวับแวมจากเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้บนตะเกียงเนย เราก้าวเข้าสู่บรรยากาศที่ดูลึกลับในรูปแบบวัชรยานที่ผ่านเข้ามาในทุกความรู้สึกที่สองเท้าก้าวเดิน ภายในวิหารมีห้องโถงกว้างใหญ่หลายห้อง บางห้องใช้เป็นที่สวดมนต์ บางห้องใช้เป็นที่ประชุมของลามะ โดยแต่ละห้องจะมีแท่นบูชาเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่นี่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ หรือปราสาทราชวังที่ไร้ชีวิตอย่างโปตาลา เพราะแม้เวลาจะผ่านไป แม้การปกครองจะถูกเปลี่ยนมือ แม้ประมุขของพวกเขาจะไม่อยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้แล้วก็ตาม แต่ที่นี่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณอันเกิดจากชาวทิเบตที่เข้ามานมัสการและสวดมนต์ต่อหน้าเหล่าพระพุทธรูปที่พวกเขาศรัทธา
บนผนังวิหารมีภาพเขียนพุทธประวัติที่ลงสีสันอย่างสดสวย แต่หลายภาพก็เริ่มซีดจางไปตามกาลเวลา ตามทางเดินรอบวิหารมีกงล้อมนตราตั้งเรียงรายนับพัน ชาวทิเบตทุกคนที่มานมัสการพระพุทธรูปภายในวัดแห่งนี้ต่างหมุนกงล้อมนตรา จนเหมือนว่ากงล้อมนตราเหล่านี้จะถูกทำให้หมุนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะชาวทิเบตเชื่อกันว่า การหมุนกงล้อมนตราหนึ่งรอบเท่ากับการส่งบทสวดมนต์พันบทขึ้นสู่สวรรค์
ท่ามกลางแสงสลัว และกลิ่นกำยานที่อบอวนภายในอาราม พระโจโวศากยมุนี พระพุทธรูปอันเป็นพระประธานของวัดโจคังก็ปรากฏชัดอยู่เบื้องหน้า โดยเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่แสนงดงาม พระวรกายประดับด้วยอัญมณีที่ล้ำค่า อีกทั้งชาวทิเบตเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นี้ได้โด่งดังไปไกลถึงประเทศจีน ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน กองทัพเรคการ์ดได้ยกทัพมาทำลายวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญทางศาสนาในเมืองลาซาจนยับเยิน แต่กลับไม่กล้าแม้แต่แตะต้องวัดโจคังเพราะเกรงกลัวความศักดิ์สิทธิ์ของพระโจโวศากยมุนี วัดโจคังที่มีอายุนับพันปีจึงรอดพ้นการทำลายและคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
แม้พระโจโวศากยมุนีจะเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวัดที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในทิเบต แต่พระพุทธรูปองค์นี้กลับไม่ได้ถูกสร้างขึ้นที่นี่ หากแต่ถูกสร้างขึ้นและนำมาจากดินแดนที่คนทิเบตในปัจจุบันเรียกร้องอิสรภาพคืนจากพวกเขา
นอกจากพระมหาเทวีภริกุติที่เดินทางมาจากประเทศเนปาลแล้ว พระเจ้าซองเซ็นกัมโปกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรทูโบหรือทิเบตในอดีต ยังมีพระมเหสีอีกพระองค์ นั่นคือเจ้าหญิงเหวินเฉิง พระราชนัดดาของฮ่องเต้ถังไท่จงผู้ปกครองแผ่นดินมังกร เจ้าหญิงพระองค์นี้นี่เองที่เป็นผู้นำพระโจโวศากยมุนีจากซีอานมายังอาณาจักรทูโบ ในครั้งที่เดินทางมาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซองเซ็นกัมโบ และนั้นเองคือจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ที่เดินทางมาจากแผ่นดินมังกร ข้ามภูเขาสูงเสียดฟ้า จนมาเจริญงอกงามในจิตวิญญาณของผู้คนในดินแดนหลังคาโลก แทนการนับถือภูตผีของลัทธิบอนที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตามความเชื่อในลัทธิบอนก็ไม่ได้หายไปจากวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวทิเบต เพราะภูตผีที่ชาวทิเบตเคยบูชาได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องพุทธศาสนา และพิธีกรรมเก่าแก่ที่ถือปฏิบัติในลัทธิบอน ไม่ว่าจะเป็น การเผากำยาน ธงมนตรา และกงล้อมนตรา ก็กลายมาเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนา นิกายวัชรยานจนถึงปัจจุบัน
แม้บรรยากาศโดยรวมของวัดทิเบตจะดูลึกลับจากการที่ไม่ค่อยมีหน้าต่าง เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็นจากภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม หลายห้องในวิหารแห่งวัดโจคังนี้ ก็มีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก เพื่อให้องค์ดาไลลามะ และลามะอาวุโส สามารถมองเห็นพิธีทางศาสนาที่จัดขึ้นบนลานกว้างภายในวิหาร อีกทั้งลานนี้ยังใช้เป็นที่ชุมนุมของลามะนับพันรูปในพิธีสวดมนต์บูชา
แล้วเราก็ขึ้นมาถึงชั้นดาดฟ้าของวัดโจคัง ด้านบนนี้อร่ามไปด้วยสีทองของกวางหมอบคู่ธรรมจักร และกงล้อมนตราขนาดใหญ่ ที่สะท้อนแสงอาทิตย์จนเป็นประกายระยิบระยับ จากจุดนี้มองเห็นจัตุรัสบาคอร์ที่อยู่เบื้องล่างได้อย่างถนัดตา ลานกว้างแห่งนี้มากไปด้วยภาพอันหลากหลายที่เกิดขึ้นทับซ้อนและขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาพชาวทิเบตกำลังก้มกราบในท่าอัษฎางคประดิษฐ์ด้วยแรงศรัทธา เหลื่อมทับกับภาพการค้าขายที่แสนคึกคักจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว ภาพตึกสูงสมัยใหม่ ที่ดูไม่ลงรอยกับภาพบ้านเรือนสไตล์ทิเบตหลังเตี้ยๆที่เริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา ภาพทหารจีนที่กำลังเดินแถวอย่างยืดอก สวนทางกับภาพชาวทิเบตที่ต่างก้มหน้าหมุนกงล้อมนตราอย่างปล่อยวาง โดยไม่สนใจกับเข็มนาฬิกาที่หมุนไป เพราะแม้เข็มนาฬิกายังคงเดินตามจังหวะที่มันเป็น แต่การเปลี่ยนแปลงที่โหมเข้ามา ดูเหมือนจะเดินเร็วกว่าเวลาที่เคลื่อนผ่าน จนไม่มีแรงศรัทธาใดที่จะสามารถหมุนเวลาให้ทุกสิ่งหวนกลับคืนสู่สิ่งที่เคยเป็น
ในวันนี้ “ลาซา” ที่มีความหมายว่า “ดินแดนแห่งเทพเจ้า” อาจไม่ใช่เทพเจ้าอีกแล้วที่เป็นเจ้าของดินแดนนี้ เพราะมันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้เป็นเจ้าของใหม่ต้องการให้เป็น
ข้อมูลการเข้าชม
พระราชวังโปตาลา
เปิดให้เข้าชมภายในทุกวัน แต่จำกัดไม่เกินวันละ 4,000 คน
เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เปิดให้เข้าชมเวลา 7.30 – 18.40 น. ค่าเช้าชม 200 หยวน
เดือนพฤศจิกายน – เมษายน เปิดให้เข้าชมเวลา 9.00 – 16.00 น. ค่าเข้าชม 100 หยวน
ห้ามถ่ายรูปภายในพระราชวัง แต่สามารถนำกล้องเข้าไปได้
วัดโจคัง
เปิดให้เข้าชมภายในทุกวัน เวลา 7.00 – 12.00 น. และเวลา 15.00 – 18.30 น. (เวลา 12.00 – 15.00 น. เปิดให้เฉพาะชาวทิเบตเข้าไปสวดมนต์บูชาพระพุทธรูปภายในวัดเท่านั้น)
ค่าเข้าชม 85 หยวน ห้ามถ่ายรูปภายในอาราม แต่สามารถนำกล้องเข้าไปได้
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.21 น.