เอเวเรส์ตเบสท์แคมป์ สู่ขอบฟ้า หลังคาโลก

ใบอนุญาตใบเดียวไม่พอที่จะเดินทางไปถึงเอเวอเรสต์เบสท์แคมป์ เพราะ Tibetan Travel Permit ที่เราได้มาตั้งแต่ที่ซีหนิงนั้นมีขอบเขตอยู่แค่ลาซาถึงชิกัทเซ่เท่านั้น หากจะเดินทางออกนอกชิกัทเซ่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเพิ่มคือ Alien’s Travel Permit (ATP) จากสำนักงานความมั่นคงสาธารณะ (Public Security Bureau : PSB) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ตัวเมืองชิกัทเซ่

จริงๆแล้วรินโตตั้งใจจะมายื่นเรื่องให้ตั้งแต่เมื่อวานเพื่อประหยัดเวลาในวันนี้ แต่เนื่องจากเมื่อวานเรามาถึงชิกัทเซ่หลังเวลาเลิกงานของราชการ เช้านี้เราจึงต้องออกจากที่พักกันแต่เช้า เพื่อไม่ต้องต่อคิวนานในการยื่นขอใบอนุญาต แต่นั่นก็กินเวลาหลายชั่วโมงที่เราต้องรอในรถท่ามกลางการโปรยปรายของหิมะ

จากชิกัทเซ่สู่เอเวอเรสต์เบสท์แคมป์จะผ่านเมืองเล็กๆ คือ ลัทเซ่ (Lhatse) สภาพบ้านเรือนของเมืองนี้ดูแตกต่างจากลาซาหรือชิกัทเซ่อย่างเห็นได้ชัด ที่นี่ไม่มีตึกสูง ไม่มีห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งถนนที่ตัดผ่านตัวเมืองนั้นเป็นเพียงทางสายแคบๆที่อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ลัดเลาะไปตามบ้านเรือนที่สร้างอย่างแออัด แต่เราก็ไม่อาจตัดสินคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้คนได้จากสภาพบ้านเรือนที่เห็นเพียงอย่างเดียว เพราะแท้จริงแล้วปัจจัยที่เกื้อหนุนคุณภาพชีวิต และเติมเต็มความสุขให้เกิดขึ้นในหัวใจมนุษย์นั้น เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง และผมเชื่อว่าหนึ่งในนั้นคือรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ไม่ต้องเร่งรีบและแข่งขันแย่งชิงกับสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ชื่อเสียง เงินทอง หรือแม้แต่เวลา

พ้นจากลัทเซ่ บ้านเรือนของผู้คนก็แทบไม่มีให้เห็นเลยสักหลัง เส้นทางต่อจากนี้ไปเป็นทางที่พาดผ่านไปบนที่ราบสูง แม้ไม่ต้องขึ้นเขาที่คดเคี้ยว แต่เส้นทางนี้ก็มีความสูงกว่า 4 พันเมตร สองข้างทางพาดผ่านทุ่งหญ้าที่มากไปด้วยฝูงจามรี ฝูงแพะ และฝูงแกะที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ โดยเฉพาะฝูงแกะขนปุยนั้นมีมากเป็นร้อยๆตัว ให้เราเลือกอุ้มกันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่มีแค่ไม่กี่ตัวให้ต้องซื้อบัตรไปต่อคิวกันอุ้มเหมือนอย่างที่รีสอร์ทหลายแห่งในประเทศไทยซื้อมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

แม้เส้นทางจะเป็นถนนลาดยางอย่างดี แต่เจนเซ็นก็ไม่คิดที่จะขับรถเร็วกว่านี้ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะขับเร็ว เนื่องจากการเดินทางในทิเบตนั้นจำกัดความเร็วด้วยวิธีการลงเวลาจากจุดหนึ่ง แล้วคำนวณเวลาว่าจากจุดนี้ไปยังด้านตรวจข้างหน้า หากใช้ความเร็วตามที่กำหนดควรจะต้องถึงในเวลาใด หากถึงก่อนเวลาที่ระบุนั้นหมายถึงขับรถเร็วกว่าที่กำหนดและต้องถูกปรับ โดยตลอดเส้นทางนี้มีด่านตรวจร่วม 10 ด่าน มีหลายครั้งที่เจนเซ็นขับรถเร็วกว่าที่กำหนด จนต้องจอดก่อนที่จะถึงด่านตรวจ เพื่อรอให้ถึงเวลาตามที่ระบุไว้ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีในการควบคุมการเกิดอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ด้วยระยะทางที่ยาวไกล อีกทั้งยังพาดผ่านไปตามทุ่งหญ้าและขุนเขาที่ปราศจากตัวเมือง คงต้องใช้เวลานานพอดูกว่าที่รถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินจะวิ่งจากตัวเมืองมาถึงที่เกิดเหตุ

เรามาถึงเมืองทิงกริ (Tingri) แหล่งชุมชนขนาดใหญ่สุดท้ายก่อนที่จะเดินทางไต่ขอบฟ้าสู่เอเวอเรสต์เบสท์แคมป์ ตัวเมืองด้านนอกที่ดูเป็นระเบียบซึ่งเราแวะกินข้าวกลางวันในเวลาหลัง 5 โมงเย็นนั้นเหมือนเป็นภาพลวงตา เพราะเมื่อเราเดินทางเข้าสู่แหล่งชุมชนจริงๆของทิงกริ ภาพที่เห็นคือสภาพชุมชนที่มากไปด้วยขยะและสภาพถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่น แม้ว่าคนต่างถิ่นอย่างเราจะมองเห็นแต่ความแร้นแค้น หากแต่ทุกจังหวะที่ล้อรถวิ่งผ่านถนนที่แสนแคบ เมื่อมองไปนอกกระจกก็จะได้พบกับรอยยิ้มของเหล่าเด็กน้อยที่หยุดจากการวิ่งเล่นเพื่อโบกมือทักทายเรา นั่นเป็นเพราะความแห้งแล้งบนแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชีวิตต้องแล้งแค้นตามไปด้วย

แล้วเส้นทางไต่ขอบฟ้าก็กลับมาเยือนอีกครั้งเมื่อเข้าเขตอุทยานแห่งชาติโคโมลังม่า (Qomolangma) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวทิเบตเรียกยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีระดับความสูงมากที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 78,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เอเวอเรตส์เบสท์แคมป์ทางฝั่งทิเบต จรดชายแดนประเทศเนปาล เส้นทางภายในอุทยานแห่งชาตินี้เป็นเส้นทางไต่ขอบฟ้าที่สูงชันและหวาดเสียวกว่าทุกเส้นทางที่ผ่านมา อีกทั้งเส้นทางยังเปลี่ยนจากทางลาดยางเป็นทางดินที่ทอดตัวขึ้นสู่แนวเขาที่ตั้งตระหง่านเบื้องหน้า แถมยังโค้งซ้าย โค้งขวาประหนึ่งพญามังกรที่กำลังไต่กำแพงขึ้นสู่หลังคาโลก

จากเขาลูกหนึ่ง สู่เขาลูกแล้วลูกเล่าที่ซ้อนกันเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด ณ จุดนี้เราสามารถมองเห็นเอเวอเรสต์ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้ถนัดตา โดยมีลักษณะยอดแหลมคล้ายพีระมิดพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าเบื้องบน นอกจากยอดเขาเอเวอเรสต์ที่มีความสูงถึง 8,844.43 เมตรจากระดับน้ำทะเลแล้ว ยังสามารถมองเห็นยอดเขาที่สูงติดอันดับโลกอีกถึง 5 ยอด แต่ละยอดล้วนมีความสูงกว่า 8,000 เมตร ทะยานตัวขึ้นสูงเสียดฟ้าโอบยอดเขาเอเวเรสต์ไว้โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นยอดเขาโชโม โลนโซ (Chomo Lonzo) ที่สูงอันดับ 24 ของโลก ถัดมาคือยอดเขามากาลู (Makalho) ยอดเขานี้สูงถึงอันดับ 5 ตามมาด้วยยอดเขาลอทเซ่ (Lhotse) ที่สูงมากขึ้นไปอีกคืออันดับ 4 ถัดมาทางด้านขวาของเอเวอเรสต์ มีอีก 2 ยอดเขาที่ความสูงลดหลั่นลงมาบ้าง คือ ยอดเขากาชุง กาง (Gyachung Kang) สูงอันดับ 15 และสุดท้ายคือยอดเขาซูยา (Chooya) ยอดเขานี้สูงถึงอันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ยังมียอดเขาอีกกว่า 40 ยอดที่สูงกว่า 7,000 เมตร เรียกได้ว่าเทือกเขาหิมาลัยโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติโคโมลังม่านี้เป็นแหล่งรวมยอดเขาสูงเสียดฟ้า

ขุนเขาสูงเสียดฟ้าแห่งดินแดนหลังคาโลกยังคงโอบล้อมเส้นทางดินสายแคบๆที่เรากำลังข้ามผ่าน แสงอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า หากแต่ทางข้างหน้ายังคงยาวไกล เสบียงที่พอมีในเป้ของแต่ละคนถูกหยิบขึ้นมาแบ่งปันเพื่อบรรเทาความหิว จนเวลาเคลื่อนตัวมาถึง 4 ทุ่ม รถจึงจอดสงบนิ่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ท่ามกลางความมืดมิดที่แผ่ตัว มองเห็นแสงสลัวๆที่เล็ดลอดมาจากเต๊นท์ขนาดใหญ่หลายหลัง ใช่แล้ว ในเวลานี้เราเดินทางมาถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ (Everest Base Camp) จุดหมายปลายทางที่ตั้งอยู่บนความสูง 5,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล!

ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ เราแบกเป้คู่กายเดินตัวสั่นเข้าไปภายในเต็นท์ อากาศภายในนี้ช่างแตกต่างจากภายนอกยิ่งนัก เพราะมีเตาไฟให้ความอบอุ่นตั้งอยู่ตรงตำแหน่งกลางเต็นท์ เราไม่รอช้าที่จะปลดสัมภาระแล้วพาตัวเข้าไปอยู่รอบเตาไฟ ไอร้อนจากเตาไฟช่วยบรรเทาความหนาวเหน็บโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือได้ดียิ่ง นอกจากเตาไฟกับมูลจามรีตากแห้งที่วางไว้ข้างๆเพื่อเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ภายในเต็นท์ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ที่นอนสำหรับคืนนี้เป็นเพียงพื้นที่แคบๆที่มีความกว้างไม่เกิน 2 ฟุตที่อยู่รอบด้านทั้งสี่ของเต็นท์ ซึ่งพอดิบพอดีกับจำนวนพวกเรา

ท่ามกลางแสงสลัวจากเตาไฟ เจ้าของเต็นท์เดินมาเสนอรายการอาหาร แม้ก่อนหน้านี้เราจะหิวข้าวจนท้องไส้ปั่นป่วน แต่ในเวลานี้ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางทำให้เราไม่อยากทานสิ่งใด ค่ำคืนนี้จึงมีเพียงน้ำชาร้อนๆที่ถูกยกมาให้เราดื่มเพื่อขับไล่ความหนาวเท่านั้นที่ตกถึงกระเพาะ

เสื้อกันหนาว 2 ชั้น กับผ้านวม 2 ผืนใหญ่ที่ห่มคลุมร่างกาย ประกอบกับไออุ่นจากเตาไฟเพียงพอที่จะต่อสู้กับอากาศที่หนาวเย็นในค่ำคืน การหลับนอนบนระดับความสูงที่มากที่สุดที่ชีวิตนี้เคยสัมผัสค่อยๆเคลื่อนตัวผ่านไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางการไหลผ่านของสายลม และดวงดาวที่ทอแสงระยิบบนฟากฟ้าที่มืดมิด

เสียงกุกกักทำให้ผมตื่นขึ้นในเวลาก่อนฟ้าสาง ไฟฉายในมือถูกเปิดขึ้น จึงเห็นว่าเพื่อน 2 คนที่มาด้วยกันกำลังขมักเขม่นทำอะไรบางอย่างกับเตาไฟ เมื่อสลัดตัวจากผ้านวมผืนโตที่ห่มทับจนแทบหายใจไม่ออกตลอดทั้งคืนได้ ผมก็ลุกขึ้นไปดูใกล้ๆ จึงเห็นว่าพวกเขากำลังพยายามจุดไฟให้กับเตาที่กำลังมอดดับ อย่างที่บอกไว้ว่าชาวทิเบตนั้นใช้ชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ มูลจามรีตากแห้งที่วางไว้ข้างเตาไฟ จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับการดำรงชีวิตบนความสูง 5,200 เมตรที่ปราศจากไฟฟ้า แต่การทำให้มูลจามรีติดไฟโดยคนจากพื้นราบที่ไม่เคยมีประสบการณ์นั้นยากแสนเข็น จนเกิดควันโขมงจากการเผากระดาษเพื่อหวังว่าจะทำให้มูลจามรีตากแห้งนั้นติดไฟตามไปด้วย แต่ก็ไร้ผล จนกระทั่งเจ้าของเต๊นท์เดินหน้าตาตื่นเข้ามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นจากควันโขมงที่เล็ดรอดจากเต๊นท์ เธอคงกลัวว่าไฟกำลังไหม้เต๊นท์ แต่แล้วเธอก็หัวเราะกับการพยายามอย่างไร้ผลนี้ และเพียงแค่การจุดไฟแช็คครั้งเดียว เธอก็สามารถทำให้มูลจามรีตากแห้งนั้นติดไฟได้ทันที เตาที่ไฟกำลังมอดดับก็กลับลุกโชนและให้ความอบอุ่นอีกครั้ง

ก่อนที่แสงแดดจะรอดพ้นจากเหลี่ยมเขา เราแต่ละคนต่างหาทำเลเหมาะๆด้านหลังเต็นท์ เพื่อใช้เป็นสุขาส่วนตัว ไม่เฉพาะผู้ชายแต่เวลาที่ผ่านไป 2 วันนั้นทำให้เราทุกคนรวมถึงสาวๆคุ้นชินกับสุขาที่เบิกโล่งให้สัมผัสกับธรรมชาติแบบ 360 องศา แต่ละคนจึงเลือกที่จะใช้บริการสุขาแบบนี้ที่อากาศโดยรอบถ่ายเท และสุขอนามัยกว่าสุขาสาธารณะแบบปิดมิดชิดแต่อบอวนไปด้วยกลิ่นที่อยู่ข้างเต๊นท์เป็นไหนๆ

เช้านี้เรามีกิจกรรม Trekking เล็กๆในการเดินจากเต็นท์ไปยังเบสแคมป์ที่อยู่ด้านบน แม้แสงอาทิตย์จะเริ่มพ้นเหลี่ยมเขา แต่ความอบอุ่นจากแดดยามเช้านั้นไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับอากาศที่หนาวเหน็บ นอกจากร่างกายที่หนาวสั่นแล้ว สองขายังแทบจะก้าวเดินไม่ได้ ในขณะที่ปลายนิ้วก็เริ่มชาแม้ว่าจะสวมถุงมือก็ตาม แต่ในเมื่อปลายทางอันเป็นจุดหมายปรากฏชัดอยู่เบื้องหน้า ในนาทีนี้จึงไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งการเดินของเรา

ท่ามกลางสภาพทุระกันดาน ที่มีเพียงก้อนหิน ดินแห้งๆ และหิมะที่เกาะตัวจนกลายเป็นน้ำแข็ง ฝูงจามรีขนปุยกำลังเดินเป็นขบวนไปตามการนำของเจ้าของ สวนทางกับพวกเราที่กำลังเดินหนาวสั่นไปยังพื้นที่ที่ธงมนตราโบกไสวอยู่บนเนินสูงเบื้องหน้า เราก้าวเท้าที่ละก้าวอย่างช้าๆสวนแรงโน้มถ่วงโลก แต่ละย่างเท้าที่ก้าวไปให้ความรู้สึกว่าใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นทุกที บนพื้นที่ที่ธงมนตราโบกไสวนี้สามารถมองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ได้อย่างเด่นชัด จนเหมือนว่าสองมือเกือบจะเอื้อมไปสัมผัสยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะได้อย่างที่ใจปรารถนา แต่ในความจริงแล้ว ยอดเขานี้อยู่ห่างไกลจากจุดที่เรายืนอีกนับพันๆเมตร

ชื่อเอเวอเรสต์ มีที่มาจากเซอร์แอนดรูว์ วอ นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้ตั้งชื่อยอดเขานี้เพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ เอเวอเรสต์ นักสำรวจประเทศอินเดียชาวอังกฤษ หากแต่ชาวทิเบตตั้งแต่รุ่นโบราณเรียกยอดเขาสูงเสียดฟ้านี้ว่าโคโมลังม่า (Qomolangma) อันมีความหมายว่า มารดาแห่งสวรรค์ ปัจจุบันแนวยอดเขานี้ได้กลายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทิเบตกับเนปาล ซึ่งอีกฟากฝั่งขุนเขา ชาวเนปาลีเรียกยอดเขานี้ว่า สครมาถา หมายถึง หน้าผากแห่งท้องฟ้า จึงเห็นได้ว่า แม้ชาวทิเบตกับชาวเนปาลี จะเรียกชื่อยอดเขานี้ต่างกัน แต่ก็แสดงถึงความคาราวะต่อยอดเขาแห่งนี้ โดยยกย่องให้เป็นท้องฟ้าหรือสวรรค์ซึ่งอยู่สูงกว่าแผ่นดินที่มนุษย์อยู่ ซึ่งนั่นแตกต่างจากที่มาของชื่อเอเวอเรสต์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นชื่อที่เป็นทางการของยอดเขาแห่งนี้อย่างเห็นได้ชัด คนต่างถิ่นหลายคนในยุคปัจจุบันจึงมองยอดเขาแห่งนี้ไม่ต่างจากยอดเขาสูงทั่วไปที่เป็นเพียงจุดหมายท้าทายที่ต้องการพิชิต ในขณะนี้คนท้องถิ่นยังคงให้ความเคารพต่อยอดเขาแห่งนี้เสมือนหนึ่งเป็นที่สถิตของเทพเจ้าที่อยู่สูงเกินกว่ามนุษย์เดินดินจะลบลู่ด้วยการไปเหยียบยืนบนสถานที่แห่งนั้น

ผ้าสีขาวที่รินโตให้ไว้ตั้งแต่วันแรกที่เหยียบแผ่นดินทิเบตถูกนำไปผูกรวมไว้กับธงมนตรา เพื่อแสดงถึงการคารวะต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่แห่งขุนเขาเหมือนอย่างที่ชาวทิเบตปฏิบัติกันสืบมา

ผมทอดสายตาสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า นี่หรือคือภาพอันเป็นจุดหมายที่ต้องการเห็น นี่หรือคือรางวัลตอบแทนสำหรับการเดินทางตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทุกลมหายใจเข้าออกของผมในเวลานี้ จึงพยายามตักตวงความสุขจากภาพอันยิ่งใหญ่และงดงามที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ หากแต่ในอีกความรู้สึกหนึ่ง ภาพภูเขาสูงเสียดฟ้าที่ห่มคลุมด้วยหิมะนี้กลับไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เติมเต็มความสุขให้กับหัวใจได้มากเท่ากับเรื่องราวตลอดการเดินทางที่ได้สัมผัส การก้าวเดินทีละก้าวอย่างช้าๆ ไปตามเส้นทางที่เราเลือกที่จะเดินในอย่างที่เราเป็นต่างหาก ที่ค่อยๆเติมความสุขให้กับหัวใจทีละเล็ก ทีละน้อยโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว

ธงมนตราโบกพลิ้วไหวไปตามการเคลื่อนผ่านของสายลม เราทิ้งภาพยอดเขาเอเวอเรส์ที่สูงตระหง่านไว้เบื้องหลังเพื่อเดินทางกลับสู่เบสแคมป์ที่เราจากมา อากาศอันหนาวเย็นที่ร่างกายต้องสัมผัสถูกบรรเทาลงจากแสงแดดที่ค่อยๆแผ่ความอบอุ่นให้กับบรรยากาศโดยรอบ ในเวลานี้ไม่มีสิ่งใดจะดีไปกว่าการรับประทานอาหารร้อนๆจากฝีมือชาวทิเบต แม้ราคาอาหารจะสูงกว่าปกติหลายเท่า แต่เราก็ยินดีที่จะสั่งอาหารจากพวกเขา ซึ่งพวกเขาจะมาเปิดเต็นท์ให้บริการแก่นักเดินทางเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าถึงฤดูหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม อากาศจะหนาวจัดเกินกว่าที่ร่างกายมนุษย์จะทนไหว พวกเขาก็จะกลับไปทำไร่ทำนายังพื้นที่ด้านล่างที่พวกเขาจากมา ปล่อยพื้นที่แห่งนี้ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางพายุหิมะที่โหมกระหน่ำ

เราเดินทางกลับสู่เบื้องล่าง ณ ความสูง 4,980 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อันเป็นที่ตั้งของวัดรงบุก (Rongbuk) วัดที่ตั้งอยู่บนระดับความสูงมากที่สุดในโลก โดยอยู่ห่างจากเอเวอเรสต์เบสแคมป์เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร สถานที่นี้เป็นสถานที่สุดท้ายที่เราจะได้เห็นและอำลายอดเขาเอเวอเรสต์ เจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าวัด อยู่ในตำแหน่งที่มียอดเขาเอเวอเรสต์ตั้งเคียงคู่อยู่เบื้องหลังได้อย่างลงตัว ผมรู้ดีว่าชีวิตนี้คงไม่อาจมีวันได้กลับมาเห็นภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้านี้อีกแล้ว ภาพที่แสนงดงามและคุ้มค่าแก่การจดจำในบันทึกหน้าหนึ่งของชีวิต ที่ได้เดินทางมาเห็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกด้วยสายตาตัวเอง ณ ดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้

ข้อมูลการเดินทางและเข้าชม

- เนื่องจากเส้นทางนั้นยาวไกล และเป็นทางขึ้นเขา จากลาซา สู่ เอเวอเรสต์เบสแคมป์ ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 2 วัน นักเดินทางโดยทั่วไปจึงนิยมพักค้างคืนที่เมืองชิกัทเซ่ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของทิเบต ภายในเมืองนี้จึงมีที่พักให้บริการค่อนข้างมาก

- การเดินทางสู่เอเวอเรสต์เบสแคมป์ต้องขอ Alien’s Travel Permit (ATP) จากสำนักงานความมั่นคงสาธารณะ (Public Security Bureau : PSB) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ตัวเมืองชิกัทเซ่

- เอเวอเรสต์เบสแคมป์ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติโคโมลังม่า (Qomolangma) ต้องเสียค่าเข้าคนละ 180 หยวน, ค่ายานพาหนะขนาดเล็กคันละ 400 หยวน หรือขนาดใหญ่คันละ 600 หยวน หากมากับทัวร์ท้องถิ่นมักจะรวมค่าต่างๆนี้แล้ว

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.34 น.

ความคิดเห็น