การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

วีซ่า

การเดินทางเข้าประเทศจีนต้องขอวีซ่า โดยสามารถขอได้ที่ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 57 ถ.รัชดาภิเษก ดินแดน กรุงเทพฯ โทร.0 2245 7032-3 เปิดรับการยื่นขอวีซ่าทุกวันราชการ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.00 น.

หลักฐานที่ต้องใช้ประกอบด้วย

1)พาสปอร์ตที่มีอายุใช้งานเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน

2)ใบคำร้องขอวีซ่า สามารถไปรับที่สถานทูตฯ หรือดาวน์โหลดจาก www.chineseembassy.org/th

3)รูปถ่ายสี หน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 1 ใบ

4)สำเนาใบจองตั๋วเครื่องบิน

5)สำเนาใบจองที่พักในประเทศจีน อย่างน้อย 1 คืน

6)หน้าสมุดบัญชี ซึ่งควรมียอดเงินในบัญชีไม่น้อยกว่า 50,000 บาท (ไม่ได้กำหนดว่าต้องแสดงย้อนหลังกี่เดือน) เฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีวีซ่าเข้าประเทศจีน หรือวีซ่าเดิมมีอายุเกิน 1 ปี

หากไม่สะดวกไปทำเอง สามารถฝากให้ผู้อื่นไปยื่นและรับแทนได้ โดยมีเอเจนซี่ทัวร์หลายบริษัทรับดำเนินการ

การเดินทางจากประเทศไทย

การเดินทางจากไทยไปประเทศจีนนั้นมีหลายสายการบินให้บริการ ไปยังเมืองสำคัญหลายต่อหลายเมือง สำหรับเมืองที่กล่าวถึงในบันทึกนี้มีสายการบินให้บริการ ดังนี้

• การเดินทางจากไทยสู่ฉงชิ่ง (Chongqing)

สายการบินไทย (Thai Airway) http://www.thaiairways.co.th

สายการบินไทยแอร์เอเชีย (Thai Air Asia) http://www.thaiairasia.com

• การเดินทางจากไทยสู่อู่ฮั่น (Wuhan)

สายการบินไทยแอร์เอเชีย (Thai Air Asia) http://www.thaiairasia.com

• การเดินทางจากไทยสู่ซีอาน (Xian)

สายการบินไทยแอร์เอเชีย (Thai Air Asia) http://www.thaiairasia.com

สายการบินไชน่าเซาเทิร์น (China Southern) http://www.flychinasouthern.co...

สายการบินไชน่าอีสเทิร์น (China Eastern) http://www.flychinaeastern.com

สายการบินเคเธ่ย์แปซิฟิกซ์ (Cathay Pacific) http://www.cathaypacific.com

การเดินทางภายในประเทศจีน

รถไฟ

- การเดินทางระหว่างเมืองโดยรถไฟ ควรจองตั๋วล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 วัน เพราะชาวจีนนิยมเดินทางด้วยรถไฟ ฉะนั้นการซื้อตั๋วก่อนเดินทางแค่ไม่กี่ชั่วโมงจึงอาจพบความผิดหวัง โดยสามารถตรวจสอบตารางเดินรถได้ที่ www.travelchinaguide.com หรือ http://chinatour.net/train หรือที่ Trip.com

- สำหรับรถไฟตู้นอน มีให้เลือก 2 แบบคือ Soft Sleep กับ Hard Sleep ซึ่งแม้ชื่อจะฟังเหมือนที่นอนมีความนุ่มหรือแข็งต่างกัน แต่ความจริงแล้วลักษณะที่นอนนั้นเหมือนกัน เพียงแต่ตู้นอนแบบ Soft Sleep 1 ห้องจะประกอบด้วยเตียงนอน 4 เตียง คือ ฝั่งละ 2 เตียง และมีประตูปิดกั้นระหว่างตู้นอนกับทางเดิน ส่วน Hard Sleep 1 ห้องจะประกอบด้วยเตียงนอน 6 เตียง คือฝั่งละ 3 เตียง ฉะนั้นหากคุณนอนเตียงบนสุดจึงต้องปีนป่ายพอควร ราคาค่าโดยสารแบบ Soft Sleep จะแพงกว่า Hard Sleep ราว 50% และเตียงนอนล่างจะราคาสูงกว่าเตียงบน

- เราควรมาถึงสถานีรถไฟก่อนเวลาอย่างน้อย 15 นาที โดยมีช่องประตูทางออกแยกชัดเจนตามหมายเลขขบวนรถ เมื่อขึ้นไปบนรถไฟแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำตู้ จะเก็บตั๋วโดยสารเราไว้ พร้อมกับให้บัตรพลาสติก 1 ใบแทน เมื่อใกล้ถึงสถานีปลายทางเจ้าหน้าที่จึงจะนำตั๋วโดยสารมาคืนเราพร้อมเก็บบัตรพลาสติกคืน ซึ่งผู้โดยสารต้องเก็บตั๋วโดยสารไว้กับตัว ห้ามทิ้ง เพราะจะถูกตั๋วอีกครั้งก่อนออกจากสถานี

- ภายในรถไฟมีน้ำอุ่นให้บริการ เพราะชาวจีนนั้นติดการดื่มชา นอกจากนี้ยังมีตู้เสบียงให้บริการอาหาร โดยมีโต๊ะอาหารให้นั่งอย่างสะดวกสบาย แต่หากไม่อยากเดินไปก็มีเจ้าหน้าที่เข็นอาหาร เครื่องดื่มมาเสนอขายเป็นระยะ รวมถึงขายของที่ระลึกประเภทหยก สร้อยไข่มุกด้วย

- ห้องสุขาภายในรถไฟสะอาดพอใช้ โดยมีอ่างล้างหน้าให้ล้างหน้า แปรงฟัน

รถประจำทาง

ผังเมืองในประเทศจีนมักจะเหมือนกันเกือบทุกที่ คือ สถานีรถไฟกับสถานีขนส่งมักจะอยู่ใกล้กันชนิดเดินถึง โดยตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง ฉะนั้นการเดินทางระหว่างเมืองด้วยรถประจำทาง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสบายไม่แพ้การเดินทางด้วยรถไฟ

การจองตั๋วล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ควรทำ ในช่วงเวลาปกติที่ไม่ใช่ช่วงเทศกาล เช่น ช่วงตรุษจีน หรือปีใหม่ การจองตั๋วล่วงหน้าเพียงแค่ 1 วันก็เพียงพอที่จะได้ที่นั่งดีๆตามที่ต้องการ

สำหรับการเดินทางระหว่างเมืองที่อยู่ไกลกันที่ใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ 10 ชั่วโมงขึ้นไป มักมีรถนอนให้บริการ โดยรถนอนที่ว่านี้ไม่เหมือนรถนอนประเภทวีไอพีแบบเมืองไทย เพราะไม่ใช่แบบที่นั่งปรับเอียงนอนได้ แต่เป็นการสร้างเตียงนอน 2 ชั้นไว้บนรถ เตียงชั้นล่างจะมีราคาสูงกว่าเตียงชั้นบนเล็กน้อย เพราะระยะห่างระหว่างเตียงพอที่จะนั่งได้ ผิดกลับเตียงชั้นบนที่ผู้โดยสารต้องอยู่ในท่านอนไปตลอดทาง โดยภายในรถไม่มีห้องน้ำให้บริการ

การเดินทางสู่ทิเบต

ปัจจุบันชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่ดินแดนทิเบตได้ง่ายกว่าก่อน แต่อย่างไรก็ตามเพราะยังเป็นดินแดนที่อ่อนไหวในแง่ความมั่นคง แม้คุณจะมีวีซ่าเข้าประเทศจีน แต่การเดินทางสู่ทิเบตยังคงต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก ดังนี้

- Tibetan Travel Permit เพื่อใช้เดินทางเข้าสู่เขตปกครองตนเองทิเบต โดยคุณจะถูกตรวจใบอนุญาตนี้ตั้งแต่การขึ้นรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบต หรือหากเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็จะถูกตรวจตั้งแต่ท่าอากาศยานต้นทาง

- Alien’s Travel Permit สำหรับการเดินทางภายในทิเบต

- Military Permit ใช้สำหรับกรณีที่จะเดินทางไปยังบริเวณชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งต้องขออนุญาตจากทหาร

ปัจจุบันทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในทิเบตได้ด้วยตัวเอง โดยให้ผ่านเอเจนซีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งเอเจนซี่จะเป็นผู้เตรียมใบอนุญาตต่างๆที่จำเป็น

การเดินทางสู่ทิเบตมี 3 ทางเลือก คือ

1. ทางอากาศ มีสายการบินภายในประเทศให้บริการบินตรงจากเมืองใหญ่ๆในประเทศจีนสู่ลาซา ดังนี้

- Air China (www.airchina.com) ให้บริการจากปักกิ่ง ฉงชิ่ง ซีอาน เฉิงตู และคุนหมิง

- Shandong Airline (www.shandongair.com) ให้บริการจากปักกิ่ง, เฉิงตู และฉงชิ่ง

แม้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งสั้นกว่าการเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 วัน 1 คืน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ ผู้เดินทางมีโอกาสที่จะมีอาการแพ้ความกดอากาศ เพราะเป็นการเดินทางไต่ระดับความสูงหลายพันเมตรภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงไม่แนะนำให้เดินทางสู่ทิเบตด้วยวิธีนี้ แต่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการเดินทางขากลับจากทิเบตสู่เมืองต่างๆ

2. ทางรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบต สามารถเดินทางสู่ลาซาได้จากหลายๆเมืองในประเทศจีน ดังนี้

- ปักกิ่ง ใช้เวลา 42 ชั่วโมง 42 นาที

- ซีอาน ใช้เวลา 32 ชั่วโมง 53

- เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลา 48 ชั่วโมง 46 นาที

- ฉงชิ่ง ใช้เวลา 44 ชั่วโมง 37 นาที

- ซีหนิง ใช้เวลา 25 ชั่วโมง 12 นาที

- เฉิงตู ใช้เวลา 43 ชั่วโมง 11 นาที

- หลานโจว ใช้เวลา 27 ชั่วโมง 55 นาที

- กวางโจว ใช้เวลา 55 ชั่วโมง 38 นาที

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคุณจะเริ่มต้นเดินทางจากเมืองไหน ก็จะใช้เวลาเดินทางสู่ลาซา ในดินแดนทิเบตมากกว่า 1 วัน 1 คืนทั้งสิ้น แต่การเดินทางด้วยรถไฟนั้นเป็นการเดินทางที่ค่อยๆไต่ระดับความสูง จึงมีความปลอดภัยที่จะเกิดอากาศแพ้ความกดอากาศได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเดินทางทางอากาศ อีกทั้งทิวทัศน์สองข้างทางก็แสนงดงาม คุณจึงสามารถเพลิดเพลินได้ตลอดการเดินทาง จึงแนะนำให้เดินทางเข้าทิเบตด้วยวิธีนี้ แต่สำหรับขากลับหากมีเวลาจำกัดหรือไม่อยากเห็นทิวทัศน์ซ้ำแนะนำให้กลับทางเครื่องบินจะประหยัดเวลามากกว่า

โดยทั่วไปแล้วการเดินทางด้วยรถไฟในประเทศจีนคุณสามารถซื้อตั๋วได้ด้วยตัวเองที่สถานีรถไฟ แต่สำหรับทางรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบต เป็นเส้นทางที่ใช้เวลายาวนาน และมีเพียงวันละเที่ยวหรือ 2 วันเที่ยวเท่านั้น ทำให้ต้องจองล่วงหน้าเป็นแรมเดือน จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่คุณจะสามารถซื้อตั๋วได้ด้วยตัวเอง การให้เอเจนซี่จัดการให้จึงเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกที่สุดในการเดินทางด้วยวิธีนี้

3. ทางถนน เป็นทางเลือกที่ไม่แนะนำสำหรับคนทั่วไป เพราะไม่ว่าคุณจะเริ่มเดินทางจากเมืองไหน ไม่ว่าจะเป็น จากเฉิงตู เต๋อชิง ซินเจียง หรือแม้แต่ซีหนิง ก็จะใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ ทางเลือกนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลามาก และรักการผจญภัยเท่านั้น

ที่พัก

สามารถค้นหาและจองที่พักในเมืองต่างๆได้ที่ www.agoda.com , www.booking.com

สำหรับชาวแบกเป้ ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แนะนำให้พักที่บ้านพักเยาวชนนานาชาติ (Hostelling International) หรือ ยูธโฮสเทล (Youth Hostel) เพราะมีราคาถูกกว่าพักในโรงแรมทั่วไป อีกทั้งยังคิดค่าที่พักเป็นรายหัว ฉะนั้นหากแบกเป้ไปพักคนเดียวก็ไม่ต้องกังวลว่าไม่มีเพื่อนมาร่วมหารค่าห้อง โดยส่วนใหญ่เป็นห้องนอนรวม มีห้องน้ำและพื้นที่ส่วนกลางใช้ร่วมกัน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนตัว ก็มีห้องพักแบบส่วนตัวให้เลือก

ยูธโฮสเทลมีเครือข่ายให้บริการทั่วโลก ในประเทศจีนมีให้บริการอยู่ทุกมณฑล มณฑลละหลายแห่ง กระจายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อีกทั้งยังสะดวกในการสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี สามารถดูรายละเอียดและจองที่พักล่วงหน้าได้ที่ www.yhachina.com

เวลา

แม้ประเทศจีนจะมีอาณาเขตกว้างใหญ่ แต่ทั้งประเทศนั้นใช้เวลาเดียวกัน คือเวลากรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) โดยเร็วกว่าเวลาประเทศไทย 1 ชม. ซึ่งกรุงเป่ยจิงนั้นอยู่ทางฟากตะวันออกของประเทศ ทำให้ดินแดนทางฟากตะวันตก เช่น ทิเบต เกิดความแตกต่างของเวลาจากตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา กับเวลาจริงๆตามธรรมชาติราว 1 – 2 ชั่วโมง

การสื่อสาร

ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ฉะนั้นการเตรียมแผนที่ที่มี 2 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษกับภาษาจีนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งหากแผนที่มีภาพสถานที่ท่องเที่ยวด้วยยิ่งดี หรือนำภาพสถานที่ที่เราจะเดินทางไปติดตัวไปด้วย เพราะจะสะดวกเวลาถามทาง ซื้อตั๋วรถประจำทาง หรือแม้แต่การเหมารถเที่ยว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือการเปิดใจให้กว้าง โดยอย่าคิดว่าการสื่อสารที่ต่างภาษาเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก แต่ให้คิดว่านี่แหละคือสีสันแห่งการเดินทางด้วยตัวเอง เพียงแค่นี้การเดินทางของคุณก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ที่ไม่ใช่เพียงความสุขทางสายตาที่ได้ไปชมสถานที่ที่ต้องการไป หากแต่ยังสุขใจไปกับการเดินทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและสีสันจากคนท้องถิ่น

อาหารการกิน

หากคุณไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องควบคุมประเภทของอาหารแล้ว ไม่ขอแนะนำให้นำอาหารจากเมืองไทยแบกให้หนักกระเป๋าเพื่อไปกินที่เมืองจีน เพราะหากรักการท่องโลกแล้ว การได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่นักท่องโลกไม่ควรพลาด อย่างเช่น อาหารทิเบตแท้ๆ จากฝีมือชาวทิเบต นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่คนจากที่ราบต่ำเช่นเราจะมีโอกาสครั้งที่ 2 ที่จะได้ไปกินอาหารแบบนั้นในสถานที่ที่เป็นแหล่งกำนิดของอาหารนั้นจริงๆ

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.54 น.

ความคิดเห็น