วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดในลำปางที่นักท่องเที่ยวแวะกันเยอะมาก เพราะความงดงามของศิลปะล้านนาโบราณ ความเก่าแก่และมีเสนห์ของวัด วัดอยู่ที่อำเภอเกาะคา โดยห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร
- เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของนครลำปางมาตั้งแต่โบราณกาล
- เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
- เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู โดยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู
- ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง
วัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็นวิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และวิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และหอพระพุทธบาท ด้านใต้มีวิหารพระพุทธและอุโบสถ
นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคารหอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์
การเดินทางไปวัดพระธาตุลำปางหลวง
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว ไปตามทางหลวงสายลำปาง-เถิน ถึงแยกไฟแดงเข้าตัวอำเภอเกาะคา เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอีก 1 กิโลเมตร
2. รถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสีฟ้าที่ถนนรอบเวียงใกล้ตลาดออมสิน
หากแต่งกายไม่สุภาพ ที่ซุ้มบริเวณอนุสาวรีย์หนานทิพย์ช้างจะมีบริการให้ยืมใส่ ค่าใช้จ่ายตามแต่ศรัทธาครับ
อนุสาวรีย์พระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) หรือ หนานทิพย์ช้าง เจ้าผู้ครองนครลำปางและเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน
บันไดด้านหน้าเป็นนาคสองชั้น
ประตูโขง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2036 เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่ก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้นๆสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในตราจังหวัดลำปาง
วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขงและองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร
กู่พระเจ้าล้านทอง ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสัมฤิทธิ์ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 2 คืบ ศิลปะสมัยล้านนา เจ้าหาญศรีธัตถะมหาสุรมนตรี เจ้านครลำปางสร้างเมื่อ พ.ศ. 2019
ภาพวาดเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา
การยกช้างเสี่ยงทายความสำเร็จ ต้องยกด้วยกัน 2 ครั้ง ผู้ชายยกด้วยนิ้วก้อย ผู้หญิงยกด้วยนิ้วนาง
- ครั้งที่ 1 ถ้าเรื่องที่อธิษฐานประสบความสำเร็จ ขอให้ยกช้างขึ้น
- ครั้งที่ 2 อธิษฐานตามเดิม ถ้าประสบความสำเร็จ ขอให้ยกช้างไม่ขึ้น
ไม้วาเสี่ยงโชคพระเจ้าทันใจ ครั้งแรกวาเสียก่อน แล้วเลื่อนยางให้ตรงกับที่วา จึงหยุดอธิษฐาน แล้วกลับมาวาอีกครั้ง ถ้ายาวกว่าเดิมแสดงว่ามีโชค
ต้นขะจาว เป็นต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดลำปาง ถ้าตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงแล้ว มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นขะจาว หรือไม้ขะจาวดังว่า...
ไม้ขะจาวปลูกครั้งพุทธกาล เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งได้มีมีชาวลัวะคนหนึ่งได้นำกิ่งขะจาวทำเป็นไม้คานหาบกระบอกน้ำผึ้งมะพร้าวและมะตูมมาถวายพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายหลังอธิษฐานนำไม้ขะจาวโดยใช้ทางปลายปักลงไม่นานไม้คานที่ปักไว้ ก็แตกกิ่งก้านเจริญเติบโตเกิดเป็นกิ่งก้านสาขาขึ้นมา สร้างความแปลกใจให้ชาวบ้าน และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเอารากไม้ขะจาวไปบูชาหรือนำไปเป็นเครื่องรางของขลัง
ตำนานต้นขะจาว เป็นตำนานที่มีหลักฐานคงอยู่ให้ผู้ที่ได้ไปเที่ยวชมวัดพระธาตุลำปางหลวงได้แวะชม ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนี้มีตำนานเล่าเรื่องต้นขะจาวดังข้างต้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีต้นขะจาวที่เห็นลักษณะลำต้นที่มีส่วนปลายปักอยู่บนพื้นดิน และส่วนลำต้นนั้นมีกิ่งก้านงอกออกมาเต็มไปหมด แต่กิ่งก้านนั้นจะชี้ลงดิน พอนานไปลำต้นเดิมก็แห้งพุพังจนไม่เห็นซากเดิมของต้นขะจาว มีแต่ต้นที่งอกออกมาตรงส่วนเดิมของต้นขะจาวนั้นเป็นพุ่มใหญ่
องค์พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่า บรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบัน เป็นลายดอกไม้ติด กระจกสีภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย เงาพระธาตุที่วิหารพระพุทธผู้หญิงสามารถเข้าชมได้
ซุ้มพระพุทธบาท เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อปี พ.ศ.1992 เป็นจุดชมเงาพระธาตุกลับหัวที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ
ทางวัด “ห้ามผู้หญิงขึ้น” เพราะได้สร้างครอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ด้านล่าง จึงห้ามผู้หญิงขึ้นตามคติความเชื่อของล้านนา
รูที่ประตูของหอพระพุทธที่แสงส่องผ่านทำให้เกิดเงาพระธาตุกลับหัว
เมื่อปิดประตูแล้วภายในจะมืดสนิทจนปรากฎเงาพระธาตุกลับหัว
วิหารพระศิลา พระนาคปรก กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะ
ปล่องที่หนานทิพย์ช้างได้ลอบเข้ามาในวัดเพื่อสังหารท้าวมหายศ
วิหารน้ำแต้ม สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก
เจ้าพ่อกุมภัณฑ์ เทพอารักษ์องค์พระธาตุ
ร่องรอยกระสุนปืนที่รั้วพระธาตุ ที่หนานทิพย์ช้างได้ยิงท้าวมหายศตาย กระสุนปืนได้ไปถูกกรงเหล็กที่ล้อมรอบพระเจดีย์
วิหารต้นแก้ว อยู่ทางทิศเหนือของวิหารหลวง ด้านหน้าของวิหารน้ำแต้ม เป็นที่ตั้งของวิหารต้นแก้ว ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง
หอระฆัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2410 ระฆังใบใหญ่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2356 ระฆังใบเล็กสร้างเมื่อ พ.ศ.2411
สถูปเจ้าศรีอโนชา จะอยู่ที่ด้านนอกเขตกำแพงแก้ว เจ้าศรีอโนชาเป็นพระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ
วิหารพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว
พระเจ้าแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปสำคัญของนครลำปาง ศิลปะเชียงแสนปางขัดสมาธิราบ มีหน้าตักกว้าง 6 นิ้วครึ่ง สูงจากฐานถึงเศียร 8 นิ้ว
ภายในจะแสดงหมวกและดาบทหารโบราณ เหรียญเก่า เครื่องมือของใช้โบราณมากมาย
พิพิธภัณฑ์พระธาตุลำปางหลวงและพิพิธภัณฑ์เครื่องไม้ ทางวัดได้ติดป้ายห้ามถ่ายรูปภายใน ต้องมาเดินชมด้วยตัวเองครับ
ไม้ค้ำศรี หรือ ไม้ค้ำโพธิ์ ตามความเชื่อของชาวเหนือเชื่อว่าการทานไม้ค้ำศรีจะหนุนค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนยาวตลอดไป และเพื่อเป็นการสืบชะตา ค้ำอายุตัวเอง และเสริมศิริมงคล พร้อมกับใช้ไม้ค้ำโพธิ์ค้ำกิ่งก้านสาขาไม่ให้โน้มลงมาจนกิ่งหัก
ที่ด้านหน้าวัดจะมีรถม้าบริการให้นั่งชมเมือง
ที่อยู่ : ถนนลำปาง-เกาะคา ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 52130
เบอร์ติดต่อ : 054-281-359
เวลาทำการ : 7.30-17.00 น.
ไปกับพี่พูห์
วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 21.25 น.