หากใครมาเที่ยวอินเดียแล้ว ถ้าไม่เข็ดขยาด ก็จะตกหลุมรักไปเลย ผมเองมาสัมผัสอินเดีย 2 ครั้งแล้ว สำหรับทริปนี้คือการมาเที่ยวอินเดียครั้งที่ 3 และครั้งนี้พิเศษกว่า 2 ทริปแรก นั่นคือ ทริปนี้ผมจัดการทริปเองทุกอย่าง ตั้งแต่วางแผนเที่ยว จองรถ จองโรงแรม ทำวีซ่า แถมยังนำสมาชิกอีก 9 ชีวิตไปผจญดินแดนภารตะด้วยตัวของผมเอง บอกเลยว่าเที่ยวอินเดียไม่ได้ยาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากวางแผนการเดินทางดีๆ ปัญหาต่างๆ เกิดน้อยมากครับ

หลังจากกลับมาจากการไปตะลุยแคว้นราชาสถานที่ประเทศอินเดีย ช่วงปลายปี 2561 มาแล้ว

https://th.readme.me/p/22734 นั้นบอกเลยว่าทริปนั้นมีอะไรที่ค้างคาใจ ฝังใจ ประทับใจอยู่หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่โดน Cancel Flight (เพื่อจะบินไปยัง Jaisalmer) ตั้งแต่เท้าเหยียบแผ่นดินอินเดีย เจอ Flight Delay แบบไม่มีกำหนด โดนโรงแรมที่วางมัดจำไว้ เปลี่ยนให้ไปพักอีกโรงแรมหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาเดียวกัน โดยอ้างว่า Upgrade ห้องให้ แต่สภาพโรงแรมที่ Upgrade ให้มีสภาพห่วยแตก จากห้องที่เราจองไว้อย่างมาก เรียกได้ว่าหน้ามือหลังเท้าเลยก็ว่าได้ และที่น่าเจ็บใจที่สุดคือเราต้องจ่ายค่าห้องห่วยๆ ในราคาห้องที่เราจองไว้แบบ 4 ดาว และอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นสิ่งจุดประกายให้เกิดทริปนี้ขึ้น นั่นคือในวันที่ผมมีโปรแกรมเที่ยว Jaipur ดันไปตรงกับวันเลือกตั้งของ Jaipur เข้า สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งจึงปิดหมด ทริปนั้นผมเลยได้เที่ยวชม Jaipur แบบฉาบฉวย คือได้เที่ยวชมสถานที่สำคัญๆ แค่เพียงภายนอกเท่านั้น ตอนนั้นบอกเลยว่าผมจะต้องกลับมาล้างตา Jaipur อย่างแน่นอน

ถามผมว่า ผมไม่เข็ดเหรอ ที่เจอเหตุการณ์แบบนั้น ตอบเลยว่า “ไม่เข็ด” เพราะหากเรามองอุปสรรคทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาคือปัญหาให้เราได้แก้ ถ้าเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้สำเร็จ ผมว่ามันเป็นการเพิ่มสีสันให้ทริปนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้มีเรื่องเล่า ได้ประสบการณ์ที่ประทับใจและไม่ประทับใจ ทั้งหมดทั้งมวลนั่นแหล่ะ มันคือเสน่ห์ของอินเดีย

หลังจากจบทริปราชาสถานไม่ถึง 3 เดือน ผมไม่ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง ที่จะต้องกลับไปล้างตาที่ Jaipur อีกรอบ เริ่มส่องค่าตั๋วเครื่องบินอยู่โดยตลอด และค่อยๆ เริ่มหาสมาชิกที่จะไปร่วมชะตากรรมด้วย ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปกันเพียง 4 คน แต่มีเหตุที่ชวนกันไป ชวนกันมา ท้ายสุดมีสมาชิกร่วมชะตากรรมทั้งสิ้น 10 คน ตอนนั้นสารภาพเลยว่าค่อนข้างกังวล เพราะทริปนี้ผมต้องเป็นคนนำทริปเอง นำทริปทั้งๆ ที่ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผมแค่ Snake Snake Fish Fish และอีกสิ่งที่กังวลที่มันฝังใจจากทริปก่อน นั่นคือการจองห้องพักนั่นเอง แต่ขอบอกเลยครับว่า เริ่มตั้งแต่การวางแผน การติดต่อประสานงาน จนถึงวันสุดท้ายของทริป มันไม่ยากอย่างที่คิด ทุกอย่างค่อนข้างราบลื่น อาจเป็นเพราะผมทำการบ้านมาเป็นอย่างดีครับ

การเตรียมตัว

เลือกสายการบิน

ผมเลือกที่จะบินลง Jaipur เลย เนื่องจากจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางโดยการนั่งรถยนต์ข้ามเมืองไกลๆ สายการบินที่เปิดเส้นทางบิน Bangkok – Jaipur มี 2 สายการบินที่บินตรง นั่นคือ Thai Smile และ Air Asia ใช้เวลาในการบินประมาณ 4 ชั่วโมงนิดๆ ครับ

Thai smile มีบินไป Jaipur ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ช่วงเวลา 22.15 น. ถึง Jaipur เวลา 01.15 น. ส่วนขากลับมีบินวันจันทร์ อังคาร พฤหัส เสาร์ อาทิตย์ ช่วงเวลา 02.15 น. ถึงเมืองไทยเวลา 08.15 น.

Air Asia มีบินไป Jaipur ในวันอังคาร พุธ ศุกร์ อาทิตย์ ช่วงเวลา 19.30 น. ถึง Jaipur เวลา 22.35 น. ส่วนขากลับมีบินวันอังคาร พุธ ศุกร์ อาทิตย์ เช่นกัน ช่วงเวลา 23.05 น. ถึงเมืองไทยเวลา 04.30 น. ครับ

ผมเลือกที่จะบินกับ Air Asia เนื่องจากว่าช่วงเช้าผมยังสามารถไปทำงานได้ เพราะบินช่วงหัวค่ำ และถึง Jaipur ช่วงดึกๆ ซึ่งจะทำให้ผมพอมีเวลานอนพักผ่อนที่ Jaipur อยู่ราวๆ 6-7 ชั่วโมง หากบินกับ Thai Smile อาจจะพักผ่อนได้น้อย และจะทำให้เพลียระหว่างท่องเที่ยวครับ

แต่ถ้าหากใครอยากจะเดินทางถึงอินเดียตอนเช้า สามารถหาสายการบินที่บินลง Delhi ได้เช่นกัน แล้วค่อยนั่งรถมา Jaipur หรือ Agra อีกทอด มีสายการบินให้เลือกหลายสายครับ

สำหรับค่าตั๋วเครื่องบินไป/กลับ รวมค่าสัมภาระ 20 กิโลกรัม ที่ผมจองให้กับสมาชิกได้ถูกสุด ได้ราคาประมาณ 8,200 บาท แพงสุดประมาณ 12,000 บาทครับ

วางโปรแกรม

ผมมีเวลาสำหรับทริปนี้ 5 วัน 5 คืน เลยวางโปรแกรมคร่าวๆ ให้เวลา 2 วัน ไปเที่ยว Agra อีก 2 วัน เที่ยวใน Jaipur สำหรับ 1 วันที่เหลือ พยายามหาเมืองใกล้ๆ กับ Jaipur ท้ายสุดมาปักหมุดที่ Pushkar ครับ

โดยผมเลือกเดินทางไปยังที่ Agra, Pushkar และ Jaipur ตามลำดับ โดยเลือกเที่ยว Jaipur เป็นเมืองสุดท้าย ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ข้อคือ

  1. การท่องเที่ยวใน Jaipur หากต้องการเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ให้ครบทุกแห่ง ควรซื้อตั๋วแบบ Composite Ticket (Rs.1000) จะคุ้มกว่า แต่ตั๋วนี้มีอายุการใช้งาน 2 วัน โดย Composite Ticket สามารถเที่ยวชมได้ 8 จุด คือ Amber Palace (Rs.500) , Nahargarh Fort (Rs.200), Hawa Mahal (Rs.200), Albert Hall Museum(Rs.300), Jantar Mantar(Rs.200), Sisodiya Garden, Vidyadhar Garden, Isarlat
  2. หากเลือกไปเที่ยว Agra หรือ Pushkar ในวันสุดท้ายของทริป หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อาจทำให้ตกเครื่องได้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละเมือง ตามรูปเลยครับ

การติดต่อรถเช่า

เนื่องจากสมาชิกในทริปนี้มีทั้งหมด 10 คน ผมจึงเลือกใช้รถแบบ Tempo Traveler ครับ

ขนาดของรถแบบ Tempo Traveler จะใหญ่กว่ารถตู้บ้านเราเล็กน้อย สามารถนั่งได้ 10 คน (เก้าอี้แบบเบาะหลัก 9 ที่นั่ง และเบาะเสริม 1 ที่นั่งด้านข้างคนขับ) ด้านท้ายของรถสามารถบรรทุกสัมภาระของผู้โดยสารได้มากพอสมควร

สำหรับบริษัทที่ผมติดต่อ มีอยู่ 4 บริษัท

1. india by car and driver (https://www.indiabycaranddriver.com)
2. India world wide travel (https://www.indiaworldwidetravel.com)
3. Rajasthan tour by car and driver (https://www.rajasthantourbycaranddriver.com)

4. Auto Travels (http://autotravelsagra.com)

ท้ายสุดผมเลือกใช้บริการของ Rajasthan tour by car and driver เพราะราคาถูกสุด เมื่อเทียบกับ 4 บริษัท และกระบวนการชำระมัดจำ สามารถชำระมัดจำผ่านบัตรเครดิตได้เลย สำหรับการจ่ายมัดจำ บริษัทจะให้เราโอนล่วงหน้า 30% และไปจ่ายที่อินเดียเมื่อเดินทางถึงอีก 70% แต่เอาเข้าจริงๆ พอเดินทางถึงอินเดีย เขาก็ยังไม่ขอเงิน 70% ที่เหลือทีเดียว แต่จะทยอยขอ 2 ครั้ง เพราะคนขับจะต้องเอาไปจ่ายเป็นค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถครับ

สำหรับขั้นตอนการติดต่อรถเช่า ผมจะส่งโปรแกรมการเดินทางและจำนวนผู้โดยสาร ส่งไปทาง e-mail ของแต่ละบริษัท จากนั้นก็รอเขาตอบ e-mail กลับมา ราคาที่แต่ละบริษัทเสนอมา มีตั้งแต่ Rs. 36000 ,Rs. 38000 , Rs. 40000 อีกบริษัทเสนอมาถึง Rs. 60000 (รถขนาด 18 ที่นั่ง) ราคาที่เขาเสนอมานั้น จะรวมค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ ค่ากินอยู่ของคนขับ ถือว่าราคาถูกมากๆ เมื่อเทียบกับรถเช่าเมืองไทย ผมไป 10 คน จ่ายค่ารถเช่าคนละ Rs.3600 เองครับ

เรื่องรถเช่า ถามว่าการบริการของ Rajasthan tour by car and driver ดีไหม ผมว่าก็โอเคดีนะครับ รถไม่เก่าและไม่ถึงกับใหม่ รถสะอาด มีน้ำดื่มให้คนละ 1 ขวดในทุกๆ วัน คนขับพูดภาษาอังกฤษได้ และไปตามโปรแกรมที่ผมวางไว้ทุกจุด จะมีก็ที่ Patrika Gate ซึ่งผมต้องการจะไปในช่วงเช้า แต่คนขับจะนำไปไว้ท้ายโปรแกรม ตอนไปส่งผมที่สนามบิน เพราะ Patrika Gate อยู่ในเส้นทางที่จะไปสนามบิน ผมบอกว่า ผมจะไปสนามบินราวทุ่มครึ่ง ซึ่งถ้าไป Patrika Gate ตอนนั้น ก็คงมืด มองไม่เห็นอะไรแล้ว ท้ายสุดคนขับก็พาไปในช่วงเช้า โดยไม่อิดออดอะไรครับ

คนขับพาเข้าร้านขายของเพื่อรับค่าคอมฯ ไหม? ระหว่างเส้นทางจาก Jaipur-Agra-Jaipur , Jaipur-Pushkar-Jaipur ระหว่างทางคนขับจะจอดให้เราแวะเข้าห้องน้ำตาม Cafe /ร้านอาหาร ซึ่งก็เป็นจุดแวะพักรถนั่นแหล่ะครับ ภายในก็จะมีร้านขายของที่ระลึกอยู่ด้วย ราคาของที่ระลึก/อาหาร/เครื่องดื่ม ค่อนข้างแพง (ของที่ระลึกสามารถต่อรองราคาได้) หากเราเข้าห้องน้ำอย่างเดียวโดยไม่ซื้อของก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากซื้อของ คนขับก็จะได้ค่าคอมฯ จากที่เราไปซื้อสินค้าครับ แล้วถามว่า คนขับแวะให้เข้าห้องน้ำบ่อยไหม (เพื่อจะได้ค่าคอมฯ บ่อยๆ)? ก็ไม่นะครับ สมเหตุสมผลกับระยะทางที่เราควรจะต้องลงไปพัก หรือบางทีเราเองก็ขอให้คนขับจอดเพื่อแวะเข้าห้องน้ำเอง

สำหรับร้านค้าในเมืองใหญ่ๆ คนขับก็ไม่ได้ยัดเยียดพาเราไปครับ จะมีแต่เราที่ขอให้แวะ Himalaya Shop เอง

การทำวีซ่า

การทำ e-visa ค่อนข้างง่าย แต่รายละเอียดที่ต้องกรอกเยอะพอสมควร Website สำหรับทำ e-Visa ตามลิงค์ด้านล่างเลยครับ

https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html

ดูหน้าตา Website ให้ดีๆ นะครับ เพราะมีหลายลิงค์ จัดทำขึ้นจากบริษัทรับทำวีซ่า ซึ่งถ้าหากเราเข้าไปใช้บริการ เราจะต้องจ่ายค่าบริการในการทำวีซ่า นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการออกวีซ่าด้วย

สำหรับตัวอย่างการกรอกรายละเอียดวีซ่า ตามลิงค์นี้เลยครับ เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว

https://www.paitamnam.com/visa-india-online/?fbclid=IwAR3hblOQDdfxhoPODgtLsUmeafi8FT1qm1UuKLIwMxCVcYcm1xk2Co9tdk4

นอกจากต้องเตรียมข้อมูลในการกรอกแล้ว เรายังต้องเตรียมไฟล์รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว นามสกุล. jpg (สามารถใช้กล้องโทรศัพท์ถ่ายก็ได้ โดยพื้นหลังต้องเป็นสีขาว) และอีกสิ่งที่ต้องเตรียมคือไฟล์หน้า Passport นามสกุล.pdf ครับ

สำหรับนักท่องเที่ยว จะมีประเภทของ e-visa ให้เลือก 2 แบบ คือแบบ 1 ปี (ค่าธรรมเนียม 40 USD) และแบบ 1 เดือน (ค่าธรรมเนียม 25 USD) ทั้งนี้สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้ โดยจะมีค่าธรรมเนียมในการจ่ายเป็นเงินต่างประเทศอีกนิดหน่อยครับ

หลังจากยื่นวีซ่าแล้วประมาณ 2 วัน ก็เข้าไปเช็คได้เลยครับว่าวีซ่าผ่านหรือไม่ ส่วนใหญ่ถ้าข้อมูลครบ ก็ไม่มีปัญหาอะไร วีซ่าผ่านแน่นอน

อายุของวีซ่า จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เรายื่นขอวีซ่านะครับ ดังนั้นใครที่ยื่นขอวีซ่าแบบ 1 เดือน ต้องวางแผนการขอวีซ่าดีๆ เช่น เราจะเดินทางไปอินเดียช่วงวันที่ 3-8 ธ.ค. เราจะสามารถเริ่มยื่นวีซ่าแบบ 1 เดือนได้หลังวันที่ 9 พ.ย. เป็นต้นไป แนะนำว่ายื่นก่อนวันเดินทางสัก 7 วัน เพราะหากยื่นใกล้วันเดินทางมากเกินไป หากติดปัญหาอะไร วีซ่าอาจจะออกไม่ทันครับ

การแลกเงิน

หลายคนอาจเลือกแลกเงินที่ Super Rich เพราะคิดว่าที่นี่ให้เรทราคาดี

แต่ผมเลือกแลกที่ http://www.twelvevictory.com/ เพราะเรทราคาดีกว่า แต่หากจะแลกเงินอินเดียในจำนวนมาก แนะนำให้โทรสอบถามที่สำนักงานใหญ่ก่อนนะครับ ว่ามีพอให้แลกหรือไม่ ตอนที่ผมแลก ผมโทรไปเช็คที่สำนักงานใหญ่ (02-618-4663 /02-090-2231-2) แต่ที่สำนักงานใหญ่มีไม่พอให้แลก เลยแนะนำให้ไปแลกที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์ครับ

**** เมื่อทุกอย่างพร้อม เวลามาถึง ก็ออกเดินทางกันครับ ****

22.35 น. (เวลาอินเดีย) ผมมาถึงสนามบิน Jaipur ตรงตามเวลาครับ กว่าจะกรอกแบบฟอร์มเข้าเมือง กว่าจะผ่าน ตม. ก็กินเวลาไปร่วมชั่วโมง ในใจก็แอบหวั่นๆ ว่าบริษัทจะส่งรถมารับหรือไม่ เมื่อเดินออกมาจากสนามบิน ก็เห็น Mr.Bhanu โซเฟอร์ที่บริษัท Rajasthan tour by car and driver ส่งมา ยืนรอถือป้ายต้อนรับอยู่เป็นนานสองนาน

Mr.Bhanu พยายามโทรไปยังโรงแรม Pandya Niwas ซึ่งเป็นที่พักของผมในคืนนี้ เพื่อจะสอบถามถึงที่ตั้ง แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ ผมเลยเปิด GPS เพื่อนำทาง แต่ผมก็ยังพอจะจำเส้นทางอยู่ได้บ้าง เพราะเมื่อปีก่อนก็เคยมาพักที่นี่แล้ว เมื่อรถมาจอดที่ด้านหน้าโรงแรม บริเวณลอบบี้ก็เปิดไฟสว่างขึ้น พนักงานเดินออกมาต้อนรับด้วยหน้าตางัวเงีย สักพักก็มาแจ้งกับคณะของผมว่า เราจะต้องแยกกันพัก เนื่องจากห้องพักเต็ม เอาแล้วไง surprised มาตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าสู่อินเดีย ตอนแรกก็ถกเถียงกันอยู่นาน แต่ทางโรงแรมก็ยังยืนกรานว่าการเข้าพักในวันนี้ เราต้องแยกกันนอนเนื่องจากห้องไม่พอ แต่อีกสองวันที่เราจองไว้ จะได้พักร่วมกันแน่นอน เพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะเราต้องการจะพักผ่อนตุนแรงสำหรับการเดินทางต่อในวันพรุ่งนี้ ก็เลยหยวนๆ กันไป ดีหน่อยที่อีกโรงแรมหนึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก

สรุปคืนนี้คณะของเราพักที่ Pandya Niwas 2 ห้อง สำหรับผมเข้าพักที่ Nahargarh Palace Hotel อีก 3 ห้องครับ ห้องพักก็ถือว่าไม่ได้น่าเกลียดอะไรครับ มาตรฐานใกล้เคียงกับ Pandya Niwas ครับ

เช้าวันใหม่ ก่อนถึงเวลานัดหมาย ผมเดินขึ้นไปยัง Roof Top ของโรงแรม เป็นจังหวะที่พระอาทิตย์กำลังสาดแสงสีทองอยู่พอดี ส่วนด้านหลังมองเห็น Nahargarh Fort อยู่ใกล้แค่เอื้อมครับ

08.30 น. คณะออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่ Agra นั่งรถยาวไปกว่า 5 ชั่วโมง เรียกได้ว่า เดินทางข้ามรัฐกันเลยครับ จากรัฐราชาสถาน (Jaipur) สู่รัฐอุตตรประเทศ (Agra) ระหว่างทางจะแวะเที่ยวกันที่ Chand Baori จาก Jaipur ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครับ

จะบอกว่า Chand Baori เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบนเส้นทางจาก Jaipur ไปยัง Agra ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความสวยงามของบ่อน้ำโบราณแห่งนี้ไม่ขาดสาย Chand Baori เป็นอีกหนึ่งบ่อน้ำโบราณขั้นบันไดที่เห็นได้ทั่วไปในอินเดีย แต่ Chand Baori พิเศษกว่าบ่ออื่นๆ ตรงที่เป็นบ่อน้ำขั้นบันไดที่ลึกที่สุดในอินเดียครับ บ่อน้ำแห่งนี้สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 ที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน เหตุที่ต้องสร้างบ่อน้ำโบราณนี้เนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในสมัยนั้น กษัตริย์ Chanda จึงได้รวบรวมกำลังพลของชาวเมืองมาร่วมกันสร้างบ่อน้ำโบราณขึ้น โดยบ่อน้ำแห่งนี้ได้ออกแบบให้ด้านหนึ่งสร้างเป็นศาลาให้กับเหล่าราชวงศ์ ส่วนอีก 3 ด้าน สร้างเป็นบันไดลดหลั่นลงไป บ่อแห่งนี้ลึกกว่า 30 เมตร แบ่งเป็นชั้นๆ ได้ 13 ชั้น เห็นว่ามีจำนวนขั้นบันไดถึง 3,500 ขั้นเลยทีเดียว ได้มาชมแล้วต้องแอบชื่นชมและนับถือภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นจริงๆ ครับ การออกแบบโครงสร้างที่ดูซับซ้อนในแต่ละจุดก็จะมีจุดประสงค์เฉพาะที่แตกต่างกัน เช่นการออกแบบให้มีบันไดอยู่โดยรอบก็เพื่อจะได้ให้ชาวบ้านได้ลงไปในบ่อน้ำได้พร้อมกันทีละหลายๆ คน ส่วนที่สร้างให้เป็นบันไดแคบๆ นั้นเพื่อป้องกันการแซงคิว และจะมีจุดให้หยุดพักไว้เป็นระยะๆ ด้วย และถึงแม้น้ำจะแห้งแค่ไหน ชาวบ้านก็สามารถเดินลงไปยังที่ก้นบ่อได้ นอกจากประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้แล้ว สิ่งที่ได้แถมมา ผมว่ามันคือความสวยงามของลวดลายที่เกิดจากขั้นบันไดนี่แหล่ะครับ สำหรับค่าเข้าชม Chand Baori นั้น นักท่องเที่ยวไทย เมื่อยื่น Passport จะเสียค่าเข้าชมเท่ากับคนอินเดีย คือคนละ Rs.25 แต่ถ้าไม่แสดง Passport จะเสีย Rs.300 ครับ

ติดกับ Chand Baori เป็นที่ตั้งของวิหารฮินดู Harshat Mata Temple ที่สร้างลักษณะเป็นหลังคาโดม บนผนังวิหารยังคงหลงเหลือร่องรอยของการแกะสลักหินเป็นภาพสลักอยู่บ้าง ภาพสลักบางส่วนถูกนำมาวางอยู่โดยรอบวิหาร เห็นแล้วก็นึกเสียดาย ถ้าหากวิหารแห่งนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์ คงจะเป็นวิหารที่งดงามเลยทีเดียว วิหารแห่งนี้เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ

โดยรอบของ Chand Baori และ Harshat Mata Temple จะมีร้านขายของทั้งของกินและของที่ระลึกมากมาย บ้างก็เป็นร้านกึ่งถาวร บ้างก็เป็นรถเข็น แวะจุดนี้อาจจะหาซื้ออะไรทานรองท้องได้ แต่อย่าลืมต่อราคาด้วยนะครับ อ้อ บริเวณนี้มีห้องน้ำให้เข้าด้วย แต่ความสะอาดเทียบไม่ได้กับห้องน้ำที่โซเฟอร์พาแวะระหว่างทางครับ

ผมใช้เวลาเที่ยวทั้ง 2 จุดอยู่ราว 1 ชั่วโมงครึ่ง คงต้องรีบออกเดินทางกันต่อแล้ว เนื่องจากเวลาคลาดเคลื่อนไปมาก แถมยังต้องเดินทางอีกไกลพอสมควร

ระหว่างนั่งรถ สมาชิกแต่ละคนก็งัดเสบียงที่เตรียมเอาไว้มาทานกันบนรถ เราใช้ทุกช่วงเวลาให้มีค่ามากที่สุด กว่า 3 ชั่วโมง ทั้งกิน ทั้งนอนพัก มาเข้าเขต Agra ก็เกือบ 4 โมงเย็นแล้ว ผมมุ่งหน้าเข้า Hotel Taj Resorts ซึ่งเป็นที่พักของเราในคืนนี้ เพื่อนำสัมภาระลงเก็บไว้ที่โรงแรมก่อน อีกทั้ง Mr.Bhanu จะได้ไปพักผ่อน

ครั้งนี้ผมเลือกที่จะเข้าชมทัชมาฮาลช่วงเย็นบ้าง เนื่องจากทริปก่อนได้ชมทัชมาฮาลช่วงพระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว ครั้งนั้นต้องรีบตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปยืนรอต่อคิวซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน แถมทัศนวิสัยในการมองเห็นทัชมาฮาลก็ไม่ค่อยเคลียร์ด้วย เนื่องจากมีหมอกปกคลุมค่อนข้างมาก

จากโรงแรมไปยังจุดจำหน่ายตั๋ว ประมาณ 800 เมตร ผมกึ่งเดินกึ่งวิ่งกันอย่างไม่คิดชีวิต เพราะจะต้องไปให้ทันซื้อตั๋วก่อนจุดจำหน่ายตั๋วจะปิดในเวลา 16.30 น. ผมมีเวลาเดินไม่ถึง 10 นาที พวกพ่อค้าที่ตั้งร้านรวงอยู่ในแถวนั้นพอเห็นเราจ้ำอ้าว ต่างก็เอาใจช่วย... ช่วยกดดัน 555 Quick!! Quick!! เสียงนั้นดังก้องในหู ยิ่งทำให้ผมต้องเร่งฝีเท้าให้มากขึ้นกว่าเดิม ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ผมแทบทรุดอยู่ตรงหน้าจุดจำหน่ายตั๋ว มือไม้ ขาแข้งสั่นไปหมด รีบควัก Passport ออกมาแสดงเพื่อขอรับส่วนลดในการซื้อตั๋วเข้าชม เจ้าหน้าที่ไม่เปิดดู Passport เลย ดูเหมือนเขาก็เร่งที่จะปิดจำหน่ายตั๋วเหมือนกัน สรุปแล้วค่าตั๋วอยู่ที่ Rs.750 ครับ (ทัชมาฮาลปิดวันศุกร์นะครับ)

เมื่อได้รับตั๋วแล้ว ข้างๆ กันจะเป็นจุดที่รับถุงผ้าคลุมรองเท้าและน้ำดื่ม คนละ 1 ขวด จากนั้นต้องเดินต่อเพื่อไปยังประตูทางเข้า ผ่านกรรมวิธีตรวจค้น สำหรับสิ่งต้องห้ามในการเที่ยวชม หลักๆ คือ เป้ขนาดใหญ่ ขนมขบเคี้ยว ขาตั้งกล้องทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หากใครนำติดตัวไปก็ต้องเสียเวลาในการนำไปฝากไว้ตรงจุดรับฝากสิ่งของครับ

มาทัชมาฮาลรอบนี้ ก็ยังคงทึ่ง อึ้ง กับความยิ่งใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่เหมือนเดิมครับ มาช่วงเย็นก็ดีหน่อย เพราะนักท่องเที่ยวไม่มากมายเหมือนมาช่วงเช้าครับ

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) อนุสรณ์สถานแห่งความรักอมตะที่สวยที่สุดในโลก สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมกุล ผู้มีรักที่มั่นคงต่อมุมตัช มาฮาล พระมเหสีของพระองค์ เจ้าชายขุร์รัม ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล พระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงได้พบรักกับธิดาของรัฐมนตรี เธอชื่อ อรชุมันท์ พานุ เพคุม วัย 14 ปี หลังจากนั้น 5 ปี เมื่อพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน มีพระชนม์มายุ 36 พรรษา และนางอรชุมันท์ พานุ เพคุม ในวัย 19 ปี จึงได้มีการอภิเษกสมรสกันในปี พ.ศ.2155 จากนั้นทั้งสองก็มิเคยได้อยู่ห่างกันอีกเลย หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ.2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม เป็นอย่างมาก และเรียกนางว่า มุมตัช มาฮาล ซึ่งแปลว่า “อัญมณีแห่งราชวัง” พระนางมุมตัช มาฮาล นับเป็นพระมเหสีคู่บารมีสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเป็นอย่างมาก ครั้นในปี พ.ศ.2174 พระมเหสีมุมตัช มาฮาล ได้สิ้นพระชนม์ลงในวัย 39 ปี หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีคู่บารมีนำความเศร้าโศกเสียใจให้สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเป็นอย่างมาก พระองค์ไม่ยอมเสวยพระกระยาหารเป็นเวลาถึง 7 วัน ได้แต่ทรงคร่ำครวญตลอดเวลา นับจากวันสิ้นพระชนม์ของมเหสีคู่กายพระองค์ไม่ออกว่าราชการ ห้ามมีการบรรเลงดนตรีในพระราชวัง ห้ามแต่งเครื่องเพชรนิลจินดา ห้ามแต่งเครื่องแต่งกายสีอื่นนอกจากสีขาวอันเป็นสีไว้ทุกข์เป็นเวลา 2 ปี โดยถ้าหากใครขัดขืนก็ให้ฆ่าทิ้งเสีย

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีคู่กาย พระองค์ได้สั่งหาช่างทั้งในอินเดียและในประเทศใกล้เคียง เช่น เปอร์เซีย อาหรับ และตุรกี นำเสนอแบบที่ฝังศพของพระชายา ซึ่งทรงได้แบบมาหลายแบบ แต่พระองค์ได้ทรงเลือกแบบจากสถาปนิกชาวตุรกี ชื่อ อิสา อาฟันดี มาสร้างทัชมาฮาลนี้ และได้ระดมช่างและคนงานมาจากที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถึงกับต้องสร้างเมืองให้คนเหล่านี้ได้อาศัย โดยเมืองใหม่นี้ชื่อว่าเมืองมุมตาสบาด แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองทัชคันช์

ทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาบนพื้นที่ประมาณ 42 เอเคอร์ สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวที่นำมาจากเมือง Jaipur, ศิลาแลงนำมาจากเมือง Fatehpur Sikri ประดับลวดลายด้วยเพชรจากเมืองฟันนา พลอยสีฟ้าจากธิเบต พลอยสีเขียวจากอียิปต์ หินสีฟ้าและโมราจากคัมภัย หินทองแดงจากรัสเซีย หินทรายจากแบกแดด จนได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 22 ปี มี อุสตาด ไอซา เป็นนายช่างผู้ออกแบบและภายหลังถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยกว่าได้ ราชสมบัติส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์

ภายหลังที่สร้างทัชมาฮาลเป็นที่ฝังศพของพระชายาแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันก็ประสงค์ที่จะสร้างที่ฝังศพของพระองค์เองไว้ที่อีกฝั่งของแม่น้ำยมุนาให้เป็นปราสาทคู่กับทัชมาฮาล และปราสาทหลังใหม่นี้พระองค์ตั้งพระทัยให้สร้างด้วยหินอ่อนสีดำล้วนเพื่อให้คู่กับทัชมาฮาลซึ่งทำด้วยหินอ่อนสีขาวล้วน แต่ ออรังเซพ พระโอรสของพระองค์เกรงว่าพระบิดาจะใช้เงินของคลังหลวงเสียหมด เมื่อตอนที่ตนขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจะไม่มีเงินแผ่นดินเหลือ ในปี พ.ศ.2202 ออรังเซพจึงจับพระบิดาขังไว้ในมูซัมมัน เบิร์จ ภายใน Agra Fort แล้วตั้งตัวเองขึ้นครองราชย์แทน สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ.2209 ออรังเซพไม่ยอมสร้างที่ฝังพระศพให้กับพระองค์ จึงนำศพพระบิดาไปฝังข้างศพพระมารดาไว้ที่ทัชมาฮาลนั่นเอง ตามตำนานกล่าวว่าในวันสุดท้ายของชีวิตสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาลและสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ

ด้านในทัชมาฮาลไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ ด้านในจะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่และมีหีบพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และ มุมตัช มาฮาล ตั้งอยู่เคียงคู่กัน แต่หีบพระศพที่เห็นเป็นเพียงหีบเปล่าเท่านั้น เพราะพระศพจริงถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดินลึกลงไปใต้ทัชมาฮาลอีกที

ผมใช้เวลาในทัชมาฮาลจนสิ้นแสง ช่วงกลางคืนทัชมาฮาลไม่เปิดไฟนะครับ โบราณสถานที่อินเดีย ไม่มีการเปิดไฟส่องสว่างเหมือนบ้านเราครับ

ออกจากทัชมาฮาล เดินกลับโรงแรม เหล่าสมาชิกก็แวะซื้อของตามประสาคนช่างช๊อปครับ ค่ำนี้ไปถล่มร้าน Himalaya จนสินค้าบางรายการหมดร้านเลยครับ

ค่ำนี้ ถึงห้องพักแล้ว จัดแจงงัดเสบียงที่เตรียมมาจากเมืองไทยขึ้นมากิน แล้วรีบนอนพักเอาแรงไว้ก่อนครับ วันนี้เหนื่อยมาทั้งวันเลย

สำหรับ Hotel Taj Resort ผมเคยมาพักเมื่อปีที่แล้ว เห็นว่าโรงแรมนี้อยู่ใกล้กับ Taj Mahal เลยเลือกที่จะพักที่นี่ครับ

สภาพห้องพักสะอาดดีทีเดียวครับ ราคาห้องพักอยู่ที่ประมาณ 1,400 บาท ราคานี้รวมอาหารเช้าด้วย

ห้องอาหารเช้าอยู่ชั้นล่างสุด มีอาหารให้เลือกพอสมควรครับ

Roof Top ของโรงแรม สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ครับ วันนี้หมอกลงหนาเหมือนกัน ถือว่าโชคดีที่ผมตัดสินใจเข้าชมทัชมาฮาลเมื่อเย็นวาน

สำหรับโปรแกรมแรกของเช้านี้ ผมเริ่มที่ Agra Fort ครับ

ที่ตัดสินใจถูกอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือผมเที่ยวสวนทางกับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เพราะช่วงเช้า นักท่องเที่ยวจะนิยมเข้าชมทัชมาฮาลกันก่อน จากนั้นถึงจะมาเที่ยวต่อที่ Agra Fort แต่ผมเลือกมาถึงที่ Agra Fort ตั้งแต่ประตูเปิด เลยทำให้ ณ เวลานี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ผิดกับครั้งก่อนที่ผมมาถึง แทบจะหาพื้นที่ว่างไม่ได้เลย เพราะนักท่องเที่ยวเยอะมากๆ ครับ สำหรับค่าเข้าชม Agra Fort นักท่องเที่ยวชาวไทยหากยื่น Passport จะเสียค่าเข้า Rs.90 ครับ

ก่อนที่จะเข้าไปด้านใน Agra Fort ก็ต้องผ่านกรรมวิธีตรวจค้นเช่นเคย ที่นี่ห้ามใช้ขาตั้งกล้องทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เช่นเดียวกับที่ทัชมาฮาลครับ ขนาดขาตั้งกล้องเล็กๆ ที่ติดอยู่บนไม้เซลฟี่ของกล้อง Gopro ก็ต้องนำไปฝากใกล้ๆ จุดจำหน่ายตั๋วครับ

อัคราฟอร์ท (Agra Fort) เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่ใช้เวลาการสร้างยาวนานถึงสามยุคของกษัตริย์ คือยุคของสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์, สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีรี และสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันนี้เองที่ได้พัฒนาให้ Agra Fort เป็นพระราชวังโดยสมบูรณ์และเป็นพระราชวังส่วนหนึ่งของกษัตริย์ในราชวงศ์โมกุล ลักษณะของ Agra Fort เป็นกำแพงสองชั้นและป้อมอาคารทางเข้าสี่ทิศ กำแพงล้อมรอบสูงกว่า 20 เมตร ยาวถึง 2.5 กิโลเมตร และมีคูน้ำที่กว้างถึง 10 เมตรล้อมรอบทุกด้าน ภายในบริเวณมหาราชวังประกอบด้วยท้องพระโรง ฮาเล็ม ห้องนางสนม สุเหร่า สระอาบน้ำ อุทยานดอกไม้

ชะฮันคีร์ มาฮาล (Jahangiri Mahal) เป็นตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าชะฮันคีร์ ในสมัยเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ก่อสร้างจากหินทรายแดงทั้งหลัง สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮินดู ด้านในมีการสลักลวดลายอย่างสวยงาม หลายสิ่งอย่างสื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของฮินดูเช่น ลายดอกบัว เสาแต่ละต้นในตำหนักจะใช้หินก้อนเดียวในการแกะสลัก ส่วนกลางของพระตำหนักจะเป็นลานกว้างและจะมีห้องต่างๆ อยู่โดยรอบลานกว้างนั้น พื้นที่ส่วนในสุดของชะฮันคีร์ มาฮาล จะมีคล้ายๆ ซุ้มระเบียง ซึ่งในวันที่ฟ้าใสจะมองเห็นทัชมาฮาลได้ด้วย เมื่อครั้งก่อน ผมมาถึงที่นี่ราว 9-10 โมง ปรากฏว่าหมอกลงจนมองไม่เห็นอะไร มาครั้งนี้ก็เตรียมใจไว้แล้วครับ ว่าคงจะมองไม่เห็นทัชมาฮาลเหมือนเช่นเคย

กัส มาฮาล (Khas Mahal) พระตำหนักทำด้วยหินอ่อนสีขาว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่งามที่สุดแห่งหนึ่งของงานเขียนสีบนหินอ่อน ด้านหน้าของกัส มาฮาล จะเป็นสวนองุ่น (Anguri Bagh) ที่มีการตกแต่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งมาจากอิทธิพลที่ชาวโมกุลได้รับมาจากชาวเปอร์เชียอีกทอดหนึ่ง สวนนี้ใช้เป็นที่พักผ่อนของจักรวรรดิโมกุล ปัจจุบันไม่มีต้นองุ่นแล้วครับ มีแต่ไม้คลุมดินปลูกสลับสีกัน ดูสวยไปอีกแบบครับ

ด้านข้างของกัส มาฮาล เป็นที่ตั้งของ มูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) หรือ Jasmine Palace เป็นหอคอยขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งมีระเบียงหินอ่อนเปิดออกไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ใช้เป็นที่คุมขังสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน โดย ออรังเซพ พระโอรสของพระองค์เอง ด้วยเหตุที่ว่ากลัวพระบิดาจะก่อสร้างที่ฝังศพของพระองค์และจะใช้เงินจากคลังหลวงจนหมด สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกว่า 8 ปี อยู่ในมูซัมมัน เบิร์จ และเฝ้ามองผ่านแม่น้ำยมุนาไปยังทัชมาฮาลที่ซึ่งมเหสีสุดที่รักของพระองค์ประทับอยู่อย่างนิรันดร ภายใน มูซัมมัน เบิร์จ ตกแต่งด้วยหินอ่อนสีขาวและประดับด้วยอัญมณีที่มีค่ามาตกแต่งเป็นลวดลายดอกไม้ต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ Jasmine Palace ครับ

ดิวัน-อิ-อัม (Diwan-i-Am) หรือท้องพระโรง สำหรับใช้ออกว่าราชการทั่วไป อนุญาตให้ประชาชนได้มาถวายฎีการ้องทุกข์ จุดเด่นของท้องพระโรงนี้คือการประดับด้วยเสามากมายตามสถาปัตยกรรมแบบโมกุลและมุสลิม ในท้องพระโรงแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของบัลลังก์นกยูงทอง (Peacock Throne) ด้วยครับ

Agra Fort มีความสัมพันธ์กับทัชมาฮาลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดความคิดที่จะสร้างทัชมาฮาลขึ้น และคนที่คิดให้สร้างก็จบชีวิตลงที่นี่เช่นกัน Agra Fort ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO ในปี พ.ศ.2526

จาก Agra Fort ไปต่อกันที่สุสานอิตมัดอุดดุลลาห์ หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีในชื่อ เบบี้ทัช (Baby Taj) การเข้าชม Baby Taj มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม Passport ไทยใช้เป็นส่วนลดได้เช่นเคย โดยเสียค่าธรรมเนียมคนละ Rs.35 ที่ Baby Taj ก็เช่นเคย ห้ามนำขาตั้งกล้องเข้าไปด้านในครับ

สุสานอิตมัดอุดดุลลาห์ (Itmad-ud-Daula) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Baby Taj เป็นสุสานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายมีร์ซา กียาซ เบค (Mirza Ghiyas Beg) พ่อค้าที่ทำการค้าจนล้มละลาย แต่โชคชะตากลับพลิกผันหลังจากที่บุตรสาวของเขานามว่า นูร์ ชะฮัน (Nur Jahan) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งต่อมานายกียาซ เบค ได้ก้าวขึ้นเป็นเสนาบดีฝ่ายการคลังของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ แห่งราชวงศ์โมกุล และได้รับฐานันดรอิตมัดอุดดุลลาห์ (เสาหลักแห่งจักรวรรดิโมกุล) ขณะที่บุตรีของเขาเป็นพระมเหสีของท่านจักรพรรดิ และพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮันนี่เองที่ทรงได้สร้างสุสานขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่นายมีร์ซา กียาซ เบคในช่วงทศวรรษที่ 1620 ครับ

Baby Taj สร้างจากหินอ่อนขาวชนิดเดียวกับที่นำไปใช้สร้างทัชมาฮาล มีการตกแต่งด้วยพลอยที่มีความประณีตสูงคู่กับกระเบื้องโมเสกที่มีสีสันสวยสะดุดตา จนเป็นที่เลื่องชื่อด้านงานแกะสลักที่อ่อนช้อยและละเอียดบรรจง บริเวณผนังด้านในและซุ้มประตูมีการตกแต่งด้วยภาพวาดและการแกะลวดลายดอกไม้ สัตว์ และรูปมนุษย์ต่างๆ ไว้อย่างงดงาม

ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่คงต้องยกให้กับทัชมาฮาล แต่ถ้าพูดถึงความละเอียดอ่อนของงานแกะสลักตกแต่ง ผมขอยกให้กับ Baby Taj เลยครับ ถึงแม้ว่าขนาดความยิ่งใหญ่ของ Baby Taj จะเทียบไม่ได้กับทัชมาฮาลเลย แต่บอกเลยว่าความงามของ Baby Taj นี่เล็กพริกขี้หนูจริงๆ

Baby Taj ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนาครับ ช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมุนาลดก็จะมีสันดอนเกิดขึ้น สันดอนนี้ก็จะกลายเป็นที่ตากผ้าหลากหลายสีสันดีจริงๆ คาดว่าน่าจะเป็นผ้าที่ใช้ประดับประดาตามงานแต่งงานครับ

จาก Baby Taj ไปต่อกันที่ Soami Bagh Temple ครับ แต่ดูเหมือนที่นี่น่าจะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสักเท่าไร เพราะ Mr.Bhanu เองก็ยังไม่แม่นเรื่องที่ตั้งนัก ต้องไปถามเส้นทางคนละแวกนั้นเอาครับ

Soami Bagh Temple เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและยิ่งใหญ่ น้องๆ ทัชมาฮาลครับ ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญยอดนิยมสำหรับสาวกของหลายๆ ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ฮินดู อิสลาม และ ซิกซ์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับราธาสวามี องค์กรศาสนาที่รวมคำสอนของทุกความเชื่อเข้าด้วยกัน เริ่มก่อสร้างในช่วงต้น ค.ศ.1900 และงานสร้างก็ยังคงดำเนินต่อมากว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการก่อสร้างไปเรื่อยๆ ฮุซูร์ สวามีจิมหาราช ผู้ก่อตั้งราธาสวามี พยายามอย่างแรงกล้าที่จะก่อตั้งขบวนการเพื่อส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของมวลมนุษยชาติ เป็นผลทำให้อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของทั้งโบสถ์ คุรุทวารา มัสยิดและวัดภายใต้หลังคาเดียวกัน เรียนรู้ความเชื่อของท้องถิ่นทั่วไปที่ว่าความสมานฉันท์ของศาสนาโดยสมบูรณ์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น วิหารนี้จึงไม่มีวันสร้างเสร็จ

เราสามารถยืนถ่ายภาพได้เฉพาะบริเวณรั้วเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าไปด้านใน เราจะต้องฝากกล้อง และโทรศัพท์ไว้บริเวณด้านหน้าครับ

และรูปต่อจากนี้ไป ผมไปหามาจาก internet เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เห็นบรรยากาศโดยรอบและบรรยากาศด้านในครับ

Cr. FB : Radhasoami Satsang Soami Bagh Samadh Art

Soami Bagh Temple สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาว งานก่อสร้างนับว่าฝีมือประณีตมากๆ ด้านนอกว่างดงามแล้ว ด้านในก็งดงามไม่แพ้กัน

ไปดูบรรยากาศด้านในกันบ้าง หินอ่อนที่ดูแข็ง ถูกสลักเป็นกลีบดอกไม้ ดูอ่อนช้อยมากๆ ด้านในเป็นหลุมฝังศพของฮุซูร์ สวามีจิ มหาราชและภริยา Soami Bagh Temple เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันครับ มาเที่ยว Agra แล้ว ไม่อยากให้พลาดชมครับ

จาก Soami Bagh Temple ผมมาปิดโปรแกรมเที่ยวใน Agra กันที่ Sikandra ครับ สำหรับการเข้าชมที่นี่ Passport ไทยเสียค่าเข้าชมเพียง Rs.30 ครับ

จากจุดจำหน่ายตั๋ว เราเดินต่อกันสัก 300 เมตร ก็มาถึงยังซุ้มประตูขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างหลังคาโค้ง ขนาบด้วยหอคอยสูง 21 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ส่วนหน้าของซุ้มประตูมีส่วนประกอบของหินอ่อนสีขาว มีการตกแต่งด้วยลายประดับปูนปั้นเรขาคณิตครับ

Sikandra เป็นสุสานของพระเจ้าอักบาร์มหาราช กษัตริย์ที่ทรงอิทธิพลของจักรวรรดิโมกุล จนได้สมญานามว่า “มหาราช” การออกแบบสุสานแห่งนี้ผสมผสานงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม และเชนได้อย่างกลมกลืน ยิ่งใหญ่สมกับความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองอันเป็นที่เคารพนับถือพระองค์นี้

จากซุ้มประตูเมื่อเดินเข้าไปด้านในสุสาน มองเห็นฝูงละมั่งแทะเล็มหญ้า ดูไม่ต่างกับซาฟารีกลางเมืองเลยครับ

ภายในสุสานครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 เอเคอร์ อาคารหลังนี้เป็นสิ่งปลูกสร้าง 5 ชั้น มีลักษณะคล้ายรูปทรงพีระมิดย่อส่วน ตัวอาคารสร้างจากหินทรายแดงและหินอ่อน กำแพงด้านนอกประดับด้วยอิวานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหอหลังคาโค้ง มีฉัตรีและหอสูงจำนวนมาก ในซุ้มประตูที่จะเข้าไปในสุสาน มีการตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกและพลอยเนื้ออ่อน ดูสวยงามมาก เสียดายช่วงที่ผมไปอยู่ระหว่างการซ่อมแซม เลยเก็บภาพมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เราสามารถถ่ายภาพได้บริเวณซุ้มประตูเท่านั้น เมื่อก้าวข้ามซุ้มประตูนี้ไปจะเป็นทางที่นำไปสู่ห้องฝังพระศพของพระเจ้าอักบาร์มหาราช หนึ่งในผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิโมกุล ด้านในไม่มีการตกแต่งใดๆ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ครับ

จาก Sikandra ผมตีรถยาวราว 4 ชั่วโมงครึ่ง ก็มาถึงยัง Jaipur มุ่งหน้าสู่ Pandya Niwas ซึ่งเป็นที่พักของผมในคืนนี้ และอีกตลอด 2 คืนที่เหลือครับ หวังว่าการ Check in รอบนี้คงจะไม่มีปัญหาเหมือนวันแรกแล้ว เพราะก่อนที่ผมจะ Check out ในคืนแรก ได้ย้ำพนักงานแล้วว่า ผมจะกลับมาพักที่นี่อีก พนักงานรับปากว่าไม่มีปัญหาแน่นอน แต่..... พนักงานวันนั้นกับวันนี้ คนละคนกัน แล้วปัญหาเดิมๆ ก็เกิดขึ้นอีกจนได้ พนักงานแจ้งว่า ห้องพักไม่พอ เราต้องแยกกันนอนอีกแล้ว แต่สมาชิกในทริปทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่!!!” จนท้ายสุด พนักงานยอมเปิดห้องที่ดีกว่าห้องที่เราจองให้ 2 ห้อง แต่นอนห้องละ 3 คน ส่วนอีก 2 ห้อง ก็นอนห้องละ 2 คนตามปกติครับ

นอนห้องละ 3 คน ก็ยังดีกว่าต้องนอนแยกโรงแรมกันครับ และเป็นแค่คืนเดียว ส่วนคืนที่เหลือได้ห้องตามที่ทำการจองไว้ คือ 5 ห้อง ห้องละ 2 คน นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่ายอมใจอ่อนกับแขก เสียงแข็งเข้าไว้ ให้รู้ว่า เราก็ไม่ยอม เดี๋ยวเขาจะยอมเองครับ

เช้าวันใหม่ ผมออกเดินทางไกลกันอีกรอบ วันนี้ผมวางโปรแกรมไปเที่ยวที่ Pushkar ซึ่งเป็นเมืองในเขต Ajmer ในรัฐราชสถาน นั่งรถยาวไป 3 ชั่วโมง เส้นทางจาก Jaipur-Pushkar สองฟากทางยังเห็นสิ่งปลูกสร้างมากมาย ผ่านแหล่งผลิตหินอ่อนของอินเดียด้วย ผิดกับเส้นทาง Jaipur-Agra ซึ่งสองข้างทางจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกเสียมากกว่า วันนี้ตอนที่ Mr.Bhanu พาแวะเข้าห้องน้ำตามจุดแวะกลางทาง ปรากฏว่าเราหมดเวลาไปกับที่นี่ร่วมชั่วโมง ร้านนี้มีทั้งเสื้อผ้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ให้บรรดาลูกทริปช๊อปปิ้งกันแบบไม่ลืมหูลืมตา ต่างคนต่างเลือกชุดสีสันสดใส ควักเงินจ่ายค่าเสียหายแล้วใส่ชุดใหม่ออกจากร้านเลย ดูประหนึ่งนกหงส์หยกแตกรัง 555 จอดรถครั้งนี้ Mr.Bhanu น่าจะรับค่าคอมฯ ไปไม่น้อย

ก่อนที่ผมจะเลือกปักหมุดที่ Pushkar สารภาพเลยว่าผมอ่านรีวิวของ Pushkar มาหลายรีวิว บ้างก็บอกว่าสวยงาม เป็นเมืองเก่าในตำนาน บ้างก็บอกให้ระวังการโดนรีดไถเงินจากผู้ประกอบพิธีกรรมบริเวณ Pushkar Lake ซึ่งผมเองก็คาดว่า ตัวเองน่าจะพอรับมือได้ เลยเลือกที่จะมาปักหมุดที่ Pushkar

เมื่อรถเข้าเขต Pushkar Mr.Bhanu ก็บอกกับผมว่า เดี๋ยวจะมีไกด์ท้องถิ่นมาพาพวกเราไปชมสถานที่เที่ยวต่างๆ บริเวณรอบๆ Pushkar Lake ภายหลังจากจบทริป หากเรา Happy กับการให้บริการของไกด์ก็จ่ายค่าทิปไป แต่ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องให้อะไร

Mr.Bhanu มาจอดส่งผมด้านหน้าร้านอาหาร จากนั้นก็มีไกด์ท้องถิ่นเดินออกมาต้อนรับ ผมแจ้งโปรแกรมที่ผมวางแผนไว้ให้กับไกด์ท้องถิ่น เขาพยักหน้ารับทราบ แล้วบอกผมว่าที่เที่ยวทุกแห่งอยู่รอบๆ Pushkar Lake นั่นเอง

Pushkar เป็นเมืองเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา มีทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ใจกลาง ถึงจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ความสำคัญนี่ไม่เล็กตามขนาดของเมืองเลยครับ Pushkar เป็นเมืองเก่าของอินเดียที่ในตำนานศาสนาฮินดูมีความเชื่อว่าเป็นบ้านเกิดของพระพรหมองค์มหาเทพที่ยิ่งใหญ่ครับ

จากหน้าร้านอาหารที่เราลงรถ ไกด์พาเดินเที่ยวชมเมืองไปเรื่อยๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวง ดูไม่ต่างกับตลาดนัดบ้านเรา สินค้ามีทั้งของฝาก ของใช้ในชีวิตประจำวัน ร้านอาหารต่างๆ เยอะไปหมด เดินไม่นานก็มาถึง Brahma Temple หรือวัดพระพรหม เทพเจ้าผู้สร้างโลกตามความเชื่อของชาวอินเดีย ไกด์บอกว่ามีแห่งเดียวในโลก เห็นว่าความเก่าแก่ของวัดอายุยาวนานนับ 2,000 ปีเลยครับ

Cr: http://thenewsroomnow.com/brahma-temple-pushkar/

Cr: https://rajasthantourplanner.blogspot.com/2018/08/same-day-trip-to-pushkar-ajmer.html

การจะเข้าไปชมในวัด จะต้องถอดรองเท้า และด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปนะครับ ผมเลยหาภาพบรรยากาศด้านในวัดมาให้ชมครับ

ด้านในจะมีรูปบูชาของพระศิวะ ซึ่งมี 4 หน้า ไกด์พยายามพากลุ่มของผมไปไหว้บูชาพระศิวะ โดยนำกลีบดอกดาวเรืองกลีบกุหลาบไปสักการะ ซึ่งด้านหน้าองค์พระศิวะจะมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ผมพยายามเดินเลี่ยงๆ ออกจากการบูชาแล้ว แต่พี่หมาน สมาชิกร่วมทริปเดินตามไกด์ไป เวลาประกอบพิธีกรรมเสร็จ พราหมณ์จะมอบกลีบดอกไม้ที่เรานำไปบูชากลับมาให้เรา เพื่อให้เราเอาไปลอยใน Pushkar Lake เพื่อบูชาพระศิวะ ซึ่งไกด์เองก็เก็บกลีบดอกไม้หลังประกอบพิธีกรรมแล้วมาให้ผมด้วย เพื่อให้ผมนำไปบูชาพระศิวะที่ทะเลสาบครับ จากนั้นไกด์ก็พยายามที่จะเล่าประวัติต่างๆ ของวัดให้ฟัง ผมเองก็พยายามจะฟังให้เข้าใจ แต่ก็เกินความสามารถครับ จับใจความได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

เรื่องที่จะเล่าต่อไป คือจุด Peak ครับ

จาก Brahma Temple เดินต่อนิดหน่อยก็มาถึง Pushkar Lake ช่วงที่ผมกำลังจะยกกล้องเพื่อเตรียมถ่ายรูป ก็มีเสียงตะโกนโหวกเหวกว่าห้ามถ่ายรูป จากนั้นไกด์ก็พยายามต้อนกลุ่มของผมมาบริเวณบันไดริมทะเลสาบ เอ๊ะ!! มันเริ่มเหมือนกับที่ผมอ่านในรีวิวเลย ว่าให้ระวังโดนรีดไถ สักพักมีกลุ่มคนไทยเดินตามกลุ่มของผมมาอีก 3 คน เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ได้อ่านรีวิวมาเหมือนกันว่ามีการรีดไถ แถมยังเล่าต่อว่าโดนชาวอินเดียหน้าตาน่ากลัวตามกลุ่มของเธอมาติดๆ มีทั้งเดินตามและขี่มอเตอร์ไซด์ตาม จนเธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เลยมาขอรวมกับกลุ่มของผม ผมพยายามรวบรวมความกล้า บอกกับทุกคนว่า ให้ใจเย็นๆ แล้วให้เกาะกลุ่มรวมกัน จากนั้นค่อยให้เงินกับพราหมณ์ทีเดียว Rs.100 แต่... ตดยังไม่หายเหม็น ผมพูดจบ ทั้งไกด์และพราหมณ์ก็พยายามแยกพวกเราออกจากกัน โดยการถามว่า มาครอบครัวเดียวกันไหม ถ้าใช่ แยกออกมา มาเป็นคู่รักกันใช่ไหม ถ้าใช่ แยกออกมา ถ้าใครไม่เข้าเคส แปลว่า มาคนเดียว ใช่ว่า ใครที่มาคนเดียว จะจับรวมกันเป็นกลุ่มนะครับ แต่ใครมาคนเดียว ก็แยกออกมานั่งคนเดียว ผมเห็นรูปการไม่ดีแล้ว เลยพยายามตะโกนบอกทุกคนว่า ถ้าโดนรีดไถให้จ่ายแค่คนละ Rs.100 พอนะ

แล้วปฏิบัติการรีดไถของพราหมณ์ก็เกิดขึ้น กลุ่มพราหมณ์มาประกบเป็นรายกลุ่มตามที่แยกไว้ในตอนแรก ใครมาเดี่ยวก็โดนตัวต่อตัวเลย เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้ว พราหมณ์ก็จะเริ่มให้เราพูดตาม เดาว่าคงเป็นคาถาของเขา ประมาณว่า ขอให้เราโชคดี พบเจอแต่เรื่องดีๆ มีความสุข พ้นทุกข์ภัยอันตรายต่างๆ ประมาณนั้น จากนั้นก็ให้เราโปรยกลีบดอกไม้ไปด้านหลัง ประหนึ่งเอาความซวยออกจากตัว แล้วก็เอาเมล็ดข้าวสารกับสีแดงมาแต้มที่หน้าผากเรา เอาสายสิญจน์มารัดที่ข้อมือ ถือเป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ก็ให้เราทำบุญ ด้วยเงิน Rs.2000!! ฟังไม่ผิดหรอกครับ Rs.2000 หรือตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,000 บาท ผมได้ยิน ผมก็แกล้งทำเอ๋อๆ ทำเป็นฟังไม่ออก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพราหมณ์ถามอะไร เราตอบได้เกือบหมด พอพูดเรื่องเงินปุ๊บ ผมฟังภาษาไม่ออกปั๊บ 555 ผมทำทีบอกว่าผมเงินไม่พอ แต่พราหมณ์พยายามหาทางออกให้ โดยบอกว่าขอเป็นเงินไทยก็ได้ แต่ให้มูลค่าประมาณ Rs.2000 ผมก็บอกว่าเงินไทยอยู่ในรถ เลยค่อยๆ แง้มกระเป๋าสตางค์เพื่อหยิบแบงค์ Rs.100 ออกมาให้ แต่พราหมณ์ทำท่าจะไม่รับแถมไม่พอใจ ผมวางเงินไว้ตรงหน้าแล้วเดินออกมาเลย สำหรับคนอื่นๆ บางคนใจกล้า ก็เดินออกมาทั้งๆ ที่พิธียังไม่เสร็จ โดยไม่เสียเงิน แต่ส่วนใหญ่ก็จะเชื่อตามที่ผมแนะนำไป คือให้เงิน Rs.100 แต่พี่ก้อน หนึ่งในสมาชิกของทริปนี้ แกเป็นคนค่อนข้างขวัญอ่อน พี่ก้อนเล่าว่า คำพูดที่กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่บอกว่าโดนคนอินเดียตาม มันหลอนอยู่ในหัว พราหมณ์ขอ Rs.2000 พี่ก้อนก็เชื่อฟัง เพราะกลัวว่าถ้าไม่ให้ตามนั้น เกรงว่าจะกลับเมืองไทยไม่ได้ เลยบริจาคไป Rs.2000 หลังเสียเงินไปแล้ว แกมาเล่าด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือว่า ถือซะว่ามาสะเดาะเคราะห์ที่อินเดีย…

เอาเป็นว่าเราได้สายสิญจน์มาคล้องที่ข้อมือแล้ว ถือว่าเป็นการจ่ายค่าเข้าไปถ่ายรูปใน Pushkar Lake ได้แล้ว ขนาดที่ผมยืนถ่ายภาพอยู่ ก็ยังมีพราหมณ์บางคนบอกว่าห้ามถ่าย พอผมยกมือให้เห็นว่ามีสายสิญจน์แล้ว เขาก็อนุญาตให้ถ่ายภาพได้

Pushkar Lake หรือทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้ มีเรื่องเล่ากันมายาวนานว่าเกิดจากหยาดน้ำตาของพระศิวะที่ร้องไห้ เพราะการจากไปของพระนางสตี นางอันเป็นที่รัก บ้างก็เล่าว่า ทะเลสาบนี้เกิดจากกลีบดอกบัวที่พระพรหมทิ้งลงมา จึงทำให้เชื่อกันว่าน้ำในทะเลสาบแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาป และรักษาโรคได้ เลยทำให้มีคนอินเดียทุกเพศ ทุกวัย เดินทางมาชำระล้างร่างกายอยู่โดยรอบทะเลสาบอย่างไม่ขาดสาย สำหรับใครที่จะลงไปยัง Pushkar Lake จะต้องถอดรองเท้าไว้ตรงจุดที่เราทำพิธี เวลาเดินถ่ายรูปเล่นริมทะเลสาบ ควรจะต้องดูซ้ายดูขวาด้วยนะครับ อย่ามัวแต่ถ่ายรูปเพลิน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเหยียบกักระเบิดของวัวก็เป็นได้ครับ

ไกด์พาเดินเลาะๆ รอบทะเลสาบ เพื่อไปยังจุดหมายต่อไป เดินไปก็ต้องหลบขี้วัวไป คือจะบอกว่าละสายตาจากพื้นถนนไม่ได้จริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นคงต้องเหยียบขี้วัวอย่างแน่นอน แค่เดินหลบอย่างเดียวก็นับว่าแย่แล้ว แต่นี่ยังมีกลิ่นที่ไม่รัญจวนใจอีก เดินจนสมาชิกเริ่มจะถอดใจ บอกว่าจะขอกลับไปรอที่รถ แต่ไกด์บอกว่าอีกนิดเดียวก็จะถึง Old Rangji Temple แล้ว แล้วจะพาเดินผ่านตลาดเพื่อกลับไปที่รถ จะสะดวกกว่าการเดินย้อนกลับไป สมาชิกทุกคนลงความเห็นตามคำแนะนำของไกด์ครับ

Old Rangji Temple เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าที่ตั้งอยู่รอบๆ Pushkar Lake แต่ตอนที่ผมไปวัดปิด เท่าที่หาอ่านจากรีวิว เห็นว่าไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปชมด้านในวัดด้วย แต่สามารถเดินชมภายนอกวัดได้ครับ

ก็ถือเป็นอันจบโปรแกรมเที่ยวใน Pushkar เพียงเท่านี้ครับ ระหว่างเส้นทางที่เดินกลับไปยังจุดลงรถ ผ่าน Haveli ทำให้เหล่าสมาชิกในทริปตื่นตาตื่นใจ ถ่ายภาพกันอย่างเมามันครับ

อีกหนึ่งกิจกรรมที่เหล่าสมาชิกในทริปใช้เวลาทำพอๆ กับเวลาเที่ยว นั่นคือการเดินชมวิถีชีวิตรวมถึง Shopping และดูแล้วเหล่าสมาชิกจะประทับใจการ Shopping มากกว่าการซึมซับความสำคัญของสถานที่ท่องเที่ยวใน Pushkar ครับ

มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะนำตัวอย่างดีๆ จาก Pushkar มาใช้ที่เมืองไทย นั่นคือ ถุงใส่ของ ที่ร้านค้าแต่ละร้านจะใช้ถุงผ้าแบบหูรูดแทนการใช้ถุงพลาสติกครับ เนื้อผ้าที่นำมาใช้นุ่มด้วย แถมสีสันยังสะดุดตามากๆ ดูรูปถุงผ้าที่อยู่ในมือสมาชิกแต่ละท่านซิครับ เข้าร้านโน้น ออกร้านนี้ ได้กันมาคนละถุงสองถุง

จริงๆ แล้วผมวางโปรแกรมจะพาสมาชิกในทริปไปขึ้นกระเช้าเพื่อขึ้นไปชมเมือง Pushkar แบบ Bird Eye View แต่ไกด์ท้องถิ่นบอกว่ากระเช้าเสียซะงั้น (เสียจริงหรือเปล่าไม่รู้) แต่พยายามจะชวนพวกเราเพื่อไปทำสิ่งหนึ่ง นั่นคือ “ขี่อูฐ” ซึ่ง อูฐ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เมือง Pushkar โดยช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่ Pushkar จะมี Pushkar Camel Fair หรือเทศกาลอูฐ ว่ากันว่าช่วงที่มีงานเทศกาลอูฐ จะมีอูฐมารวมตัวกันกว่า 20,000 ตัวเลยทีเดียว งานเทศกาลใหญ่ขนาดนี้ จึงติด 1 ใน 10 เทศกาลที่โด่งดังที่สุดในโลกเลยนะครับ โดยในงานจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับอูฐมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกวดอูฐสวยงาม การวิ่งแข่งอูฐ การละเล่นกีฬาท้องถิ่นที่จัดให้นักท่องเที่ยวร่วมแข่งขัน เห็นว่าไฮไลท์ของงานคือ “ระบำอูฐ” โดยเจ้าของจะขี่อูฐของตัวเองออกมากลางฟลอร์ พอเพลงบรรเลงเท่านั้นแหละ อูฐจะโชว์ลีลาการเต้นระบำแข่งกัน ตัวไหนเต้นสวยก็จะได้ทิปจากนักท่องเที่ยวเป็นรางวัล แต่ถ้าหากมาไม่ตรงช่วงเทศกาล (เหมือนผม) ก็จะมาเจออูฐอยู่ราวๆ 10 กว่าตัว ยืนรอนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณจุดขึ้นอูฐ ตอนแรกที่ไกด์บอกจะพาขี่อูฐ สมาชิกทุกคนก็ดูตื่นเต้นนะครับ ผมเองก็จินตนาการเห็นภาพทะเลทรายกว้างไกล แต่ความเป็นจริง ตรงจุดขึ้นอูฐ มองไม่เห็นทะเลทรายเลย มันเหมือนที่ดินว่างๆ ที่มีเศษขยะอยู่เต็มไปหมด เห็นสภาพแล้วทุกคนเลยขอบายครับ

สำหรับ 2 วันสุดท้ายของทริป ผมวางแผนเที่ยวเจาะใน Jaipur ทั้งหมดครับ ช่วงเช้าเลยขึ้นมาชมวิวบน Roof top ของโรงแรม เพื่อชมวิถีชีวิตของชาว Jaipur สักหน่อย บรรยากาศช่วงเช้าดูสงบและเงียบมากๆ ไม่วุ่นวายเหมือนช่วงกลางคืน แถมช่วงเช้า อากาศเย็นสบายดีครับ

“Jaipur” หรือที่เรียกกันติดปากว่า ชัยปุระ” มีความหมายว่า เมืองแห่งชัยชนะ เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐราชาสถาน สิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะในบริเวณตัวเมืองเก่านั้นได้รับการทาให้เป็นสีชมพู เหตุเพราะในสมัยของ Maharaja Ram Singh อินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อเป็นการต้อนรับกษัตริย์ Edward VII จากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1853 พระองค์จึงมีรับสั่งให้ราษฎรทาสีบ้านเรือนเป็นสีชมพูเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ เจ้าอาณานิคม จนทำให้ Jaipur ได้รับสมญานามว่า “นครสีชมพู” ครับ

วันนี้ Mr.Bhanu ติดภารกิจ เลยส่ง Mr.Madan มาพาผมเที่ยว สำหรับโปรแกรมแรกใน Jaipur ผมเริ่มต้นที่ Amber Fort ครับ

Amber Fort เป็นป้อมปราการหินทรายแดงที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขาเหนือทะเลสาบ Maota การจะเช้าชมด้านใน Amber Fort ทำได้ 3 วิธี คือ 1.เดินเท้า 2.นั่งช้าง และ 3.นั่งรถจี๊บ ซึ่งผมเลือกอย่างหลัง เนื่องจากถ้าใช้การนั่งรถจี๊บ จะสามารถแวะเที่ยว Step Well ได้ด้วยครับ

ก่อนที่จะเข้าเขต Amber Fort จะเป็นจุดจอดรถนักท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นรถจี๊บ ลงรถปุ๊บก็มีคนขับรถจี๊บมาติดต่อปั๊บ รถจี๊บ 1 คัน สามารถนั่งได้ 5 คน ในราคาคันละ Rs.550 ครับ

นั่งรถไม่ถึง 5 นาที คนขับรถจี๊บก็พามาจอดที่ Panna Meena Ka Kurd ครับ

Panna Meena Ka Kurd เป็นบ่อน้ำโบราณที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ถึงจะดูไม่อลังการงานสร้างเหมือน Chand Baori ที่ผมได้ไปสัมผัสเมื่อวันที่เดินทางไป Agra แต่ที่ Panna Meena Ka Kurd ก็มีความแตกต่างในเรื่องของสี Step well จากที่อ่านหลายๆ รีวิวบอกว่า ในช่วงที่ปลอดนักท่องเที่ยว เราสามารถลงไปด้านล่างได้แว๊บหนึ่ง แต่ต้องจ่ายค่าปิดตาให้คนที่ดูแล Step well เล็กน้อย แต่ในวันที่ผมมาเที่ยวชม ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย แถมยังมีเจ้าหน้าที่คอยเป่านกหวีดห้ามนักท่องเที่ยวที่เดินลงไปด้านล่างด้วยครับ ที่ Panna Meena Ka Kurd ไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใดครับ

จาก Step Well นั่งรถต่อกันอีกสัก 5-10 นาที คนขับรถจี๊บก็พามาจอดรถด้านบน Amber Fort แล้วแจ้งให้เวลาเราเพียง 1 ชั่วโมง ให้ตายซิ 1 ชั่วโมงเนี่ยนะ จะดูอะไรได้ทัน

ก่อนจะเข้าชมด้านใน ต้องซื้อตั๋วเข้าชมให้เรียบร้อยครับ หากใครมีเวลาเที่ยว Jaipur 2 วัน ผมแนะนำให้ซื้อตั๋วแบบ Composite Ticket (Rs.1000) จะคุ้มกว่า แต่ตั๋วนี้มีอายุการใช้งาน 2 วัน โดยตั๋ว Composite Ticket สามารถเที่ยวชมได้ 8 จุด คือ Amber Palace (Rs.500) , Nahargarh Fort (Rs.200), Hawa Mahal (Rs.200), Albert Hall Museum(Rs.300), Jantar Mantar(Rs.200), Sisodiya Garden, Vidyadhar Garden, Isarlat ครับ อ้อ การท่องเที่ยวใน Jaipur นั้น Passport ไทย ไม่สามารถใช้เป็นส่วนลดราคาค่าเข้าชมต่างๆ ได้แล้วนะครับ

Amber Fort เป็นป้อมปราการที่มีอายุกว่า 1,000 ปี เคยเป็นศูนย์กลางการทหารและการปกครองของมหาราชาแห่งชัยปุระมาหลายรุ่นหลายสมัย Amber Fort สร้างขึ้นเมื่อปี 966 จนมาถึงสมัยของ Maharaja Man Singh ในปี ค.ศ.1592 จึงได้สร้างพระราชวัง มัสยิด ท้องพระโรงขึ้นภายในป้อม จากนั้นก็มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของ Maharaja Jai Singh ก่อนจะย้ายเมืองหลวงมาอยู่บนพื้นราบครับ

เมื่อเดินผ่านเข้าประตู Suraj Pol หรือประตูราชสีห์ จะพบลานกว้าง ล้อมรอบด้วยกำแพงใหญ่ ด้านในกำแพงจะเป็นจุดจำหน่ายตั๋วครับ

ซื้อตั๋วเสร็จ ก็เดินขึ้นบันไดเลยครับ ทางเข้า Amber Fort อยู่ด้านบนครับ

เมื่อเดินเข้ามา จะพบหอ Diwan – I – Am (Hall of Public Audience) ซึ่งเต็มไปด้วยแนวเสามากมาย ที่หอแห่งนี้ใช้เป็นที่จัดประชุมระหว่างกษัตริย์และเหล่าขุนนาง และเป็นจุดรับฟังเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนครับ

บริเวณ หอ Diwan – I – Am สามารถยืนชมวิวได้แบบ 180 องศาครับ

ตรงข้ามกับ หอ Diwan – I – Am จะพบประตู Ganesh Pol (ประตูช้าง) ลวดลายบนซุ้มประตูดูสวยงามและละเอียดอ่อนมากครับ หากสังเกตดีๆ ด้านบนจะมีภาพเขียนองค์พระพิฆเนศด้วย มีความเชื่อที่ว่าเพื่อเป็นสิริมงคลเมื่อประชาชนเดินผ่านเข้ามา ใครที่ได้เดินผ่านประตู องค์พระพิฆเนศก็จะปกป้อง คุ้มครองรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุขครับ

เดินเข้ามาจะพบสวน Aram Bagh หรือ Garden of Paradise สวนนี้จะปลูกต้นมะลิไว้โดยรอบ เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมทั่วพระราชฐานชั้นใน

จุดนี้คือ Sheesh Mahal หรือพระราชวังกระจก เป็นพระตำหนักของมหาราชาที่ประดับประดาด้วยกระจกโมเสกและกระจกสีเต็มเพดาน บอกเลยว่าลวดลายละเอียดมากๆ นี่ถ้าหากมาชมที่นี่ช่วงกลางคืนแล้วมาจุดเทียน ที่นี่คงระยิบระยับตาน่าดูเลยครับ

ช่วงที่ผมไป นักท่องเที่ยวเยอะแยะมากมาย จะถ่ายภาพก็ติดคนจำนวนมาก มีหลายจุดที่คิดว่าจะกลับมาถ่ายภาพตอนขาออก เผื่อคนจะเบาบางลงบ้าง แต่ขอบอกเลยครับว่า หากจะถ่ายก็รอถ่ายให้เรียบร้อยซะเลย เพราะทางเข้ากับทางออก เป็นคนละทางกัน บางจุดคุณจะไม่สามารถกลับเข้ามาถ่ายภาพในจุดเดิมได้แล้ว

Amber Fort นับเป็นต้นแบบของศิลปะสถาปัตยกรรมแบบราชปุต เป็นการผสมผสานจากโมกุล (อิสลาม) และฮินดูได้อย่างกลมกลืน เป็น 1 ใน 6 ป้อมปราการแห่งราชาสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 Amber Fort เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.30 น. ครับ

จาก Amber Fort ไปต่อกันที่ Jal Mahal ครับ

Jal Mahal เป็นพระราชวังกลางน้ำที่ตั้งเด่นอยู่กลางทะเลสาบมันสกา (Man Sagar Lake) มีฉากหลังเป็นเทือกเขานหาร์การห์ (Nahargarh) พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของ Maharaja Sawai Jai Singh II ตัวอาคารออกแบบตามสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานแบบราชปุตและโมกุลอันเป็นเอกลักษณ์ของราชาสถาน Jal Mahal สร้างขึ้นจากหินทรายสีแดง มีทั้งหมด 5 ชั้น โดย 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อระดับน้ำในทะเลสาบสูงสุด และจะเหลือให้เห็นเพียงชั้นบนสุดเท่านั้น ฉัตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยม สร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล ส่วนฉัตรีบริเวณสี่มุมของอาคารเป็นทรงแปดเหลี่ยม นักท่องเที่ยวสามารถชม Jal Mahal ได้แต่เพียงภายนอก โดยยืนชมอยู่ริมทะเลสาบเท่านั้นครับ

สำหรับใครที่มาอินเดียแล้วอยากจะลองนั่งบนหลังอูฐ สามารถมาใช้บริการขี่อูฐได้บริเวณถนนด้านหน้า Jal Mahal ครับ เหล่าสมาชิกในทริปที่ผิดหวังจากการขี่อูฐที่ Pushkar ก็มาสมหวังได้ขี่อูฐสมใจกันที่นี่เหมือนกันครับ สำหรับค่าขี่อูฐ 1 ตัว ราคา Rs.500 สามารถนั่งได้ 2 คน ใช้เวลานั่งประมาณครึ่งชั่วโมงครับ

จาก Jal Mahal ผมตีกลับเข้ามาในตัวเมือง Jaipur อีกครั้งเพื่อไปชมความสวยงามของ City Palace ครับ

การเข้าชม City Palace ไม่สามารถใช้ Composite Ticket ได้นะครับ สำหรับการเข้าชม City Palace มีให้เลือก 2 แบบ คือการเข้าชมแบบปกติ ค่าตั๋วราคา Rs.700 แต่ถ้าใครต้องการชมห้องพิเศษเพิ่มอีก 3 ห้อง ค่าเข้าชมจะอยู่ที่ Rs.3500 (ราคารวมค่าไกด์ มีเครื่องดื่ม ชา/กาแฟ/น้ำผลไม้ (เลือกได้หนึ่งอย่าง) นอกจากนี้ยังมีคุกกี้ และน้ำดื่มให้อีกคนละ 1 ขวด)

สำหรับผม ไหนๆ ก็อุตส่าห์ดั้นด้นมาตั้งไกล เสียค่าเครื่องบินมาเฉียดหมื่น จะทำอะไรก็ต้องเอาให้สุด ไม่เช่นนั้นคงจะต้องค้างคาใจ เลยเลือกเข้าชมแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบครับ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ City Palace กันก่อนดีกว่า City Palace สร้างขึ้นโดย Sawai Jai Singh ในศตวรรษที่ 18 เป็นพระราชวังอันดับที่ 2 ของชัยปุระ โดยมีสไตล์การออกแบบตามสถาปัตยกรรมแบบผสมระหว่างราชปุตฮินดูกับโมกุลอิสลาม เดิมเป็นพระราชวังของมหาราชใจสิงห์ (Jai Singh) พระราชวังถูกสร้างขยายออกในสมัยหลัง ปัจจุบันได้รวบเป็นพิพิธภัณฑ์ Sawai Man Singh Museum ทุกวันนี้ City Palace ยังเป็นที่พำนักของราชวงศ์ และเปิดบางส่วนให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ไกด์เล่าให้ผมฟังว่า เจ้าชายอายุประมาณ 21 ปีเองครับ ที่สำคัญยังโสดอยู่ด้วย

รู้ประวัติของ City Palace กันแล้ว ทีนี้เราเข้าไปดูด้านใน ในส่วนที่เป็นพื้นที่พิเศษกันก่อนครับ โดยผ่านประตูไม้บานนี้ อ้าว..ใครถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่ด้านหน้า อย่าลืมจ่ายค่าทิปด้วยนะครับ

ไกด์พาขึ้นลิฟต์ไปชั้นบน มองออกไปเห็นวิวเมือง Jaipur มีฉากหลังเป็นเทือกเขา Nahargarh ครับ

แล้วก็มาถึงห้องพิเศษห้องแรก The Blue Palace in Chandra Mahal ในอดีตเป็นห้องสำหรับพักพระวรกายของราชวงศ์ด้วยการโล้ชิงช้า ห้องนี้เน้นโทนสีฟ้า และมีการเขียนลวดลายเป็นดอกไม้ ใบไม้ด้วยสีขาว ดูสวยงามทีเดียว ลักษณะห้องจะเปิดโล่ง รับอากาศจากภายนอกได้แบบเต็มๆ ทำให้รู้สึกเย็นสบาย แต่ละห้องจะมีทหารคอยดูแลด้วย และยังอาสาคอยถ่ายรูปจากโทรศัพท์ให้ด้วย บอกเลยครับว่ามุมกล้องที่ทหารถ่ายออกมาให้เนี่ย ไม่ใช่เล่นๆ เลยครับ

ห้องที่สองคือ The Room of Mirrors or the Sri Niwas เป็นห้องบรรทม ผนังและเพดานห้องประดับประดาด้วยกระจก ลวดลายละเอียดอ่อน ไฮไลท์ของห้องนี้คือ เมื่อปิดประตูทุกบานจนมืดแล้วจุดเทียน จะเห็นความวับวาวของกระจกที่สะท้อนแสงเทียน ดูระยิบระยับเหมือนดวงดาวเลยครับ

ทหารที่คอยดูแลแต่ละชั้น แต่ละห้องนิสัยดีครับ ไม่เรียกทิป แต่เรายินดีจะให้ทิป เนื่องจากว่าช่วยถ่ายรูปสวยๆ ให้พวกเรา ทหารจะอยู่ประจำชั้น ชั้นใครชั้นมันครับ

จากนั้นไกด์พาเดินขึ้นไปชั้นบนสุด เพื่อพาไปชมวิวมุมสูง ด้านบนมีพลับพลา และเสาธง ที่ตอนนี้บนเสาธงมีธง 2 ผืน นั่นหมายถึง วันนี้พระราชาอยู่ใน City Palace ด้วยครับ จากชั้นบนสุดนี้มองเห็นอาคารหลายๆ อาคารใน City Palace รวมถึง Jantar Mantar ที่อยู่ติดกันครับ

ห้องสุดท้ายคือ The Golden room of Shobha Niwas ห้องนี้คล้ายๆ เป็นห้องรับแขก เป็นอีกห้องที่สวยงาม ห้องนี้ออกโทนสีทอง ภายในตกแต่งด้วยหินอ่อนและมีเสาสีทอง ประดับประดาด้วยกระจก หินสีแดง สีเขียว ตกแต่งเป็นลวดลายดอกไม้อยู่บนผนังและเพดาน

3 ห้องพิเศษที่ได้ชมในอดีตเป็นสถานที่พักและรับรองแขกที่มาเยือนพระราชวังครับ

เสร็จสิ้นภารกิจชม 3 ห้องพิเศษ ก็ถึงช่วง Afternoon Tea เราสามารถเลือกเครื่องดื่มได้ ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เสิร์ฟพร้อมคุกกี้ และน้ำดื่มอีก 1 ขวด สังเกตที่แก้วชา มีตราสัญลักษณ์ราชวงศ์ด้วยครับ จุดที่นั่งพักมองเห็นวิวเมือง Jaipur โดยรอบได้เช่นกัน มองออกไปเห็น Nahargarh Fort ด้วย ก่อนเคลื่อนย้ายไกด์สะกิดบอกให้ทิปกับบริกรด้วยครับ

จบจากห้องพิเศษ ไกด์ยังคงทำหน้าที่พาชมพื้นที่ในส่วนตั๋ว Rs.700 ให้อีกด้วย อีกหนึ่งจุด Highlight ที่ใครมาเที่ยวชมใน City Palace ต้องห้ามพลาด นั่นคือ Pritam Niwas Chowk เป็นที่ตั้งของประตู ที่แทนด้วย 4 ฤดูกาล โดยมีประตูนกยูงแทนฤดูฝน ประตูดอกบัวแทนฤดูร้อน ประตูดอกกุหลาบแทนฤดูหนาว ประตูสีเขียวลักษณะคล้ายๆ คลื่นแทนฤดูใบไม้ผลิครับ


Sarvato Bhadra เป็นอีกส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องเงิน สิ่งที่เป็นไฮไลท์เห็นจะเป็นหม้อน้ำขนาดมหึมา 2 ใบ ทำจากโลหะเงินสูง 1.50 เมตร ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อกันว่าเป็นหม้อน้ำที่กษัตริย์ Madho Singh ได้รับมาจากงานราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิล์ดที่ 7 ซึ่งบรรจุน้ำจากแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ครับ

ผมอำลาไกด์ตรงจุดนี้ เราให้ทิปกับไกด์ แต่ไกด์ไม่รับ เนื่องจากไกด์คงได้ค่านำเที่ยวไปเรียบร้อยจากค่าตั๋วที่พวกเราจ่ายตั้งแต่แรกแล้ว

City Palace เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-17.00 น. เดิมทีเดียวผมจะเปิดทริป Jaipur ที่ City Palace > Amber Fort > Nahargarh Fort ซึ่งมันจะไล่ระยะจากใกล้ไปไกล และอยู่ในเส้นทางเดียวกัน แต่เนื่องจาก City Palace เปิดสาย ผมเลยต้องปรับโปรแกรมไปที่ Amber Fort ก่อน แล้วย้อนกลับมา City Palace แล้วจึงตีไป Nahargarh Fort ซึ่ง Nahargarh Fort อยู่ในเส้นทางเดียวกับ Amber Fort ครับ

เดิมหลังจากที่ผมเที่ยว Amber Fort ในจุดแรกเสร็จ Mr.Madan จะพาไป Nahargarh Fort แล้วจึงมาปิดทริปที่ City Palace เนื่องจากจะได้ไม่ต้องตีรถย้อนไปย้อนมา แต่ผมยังยืนยันคำเดิมว่า จะปิดทริปของวันที่ Nahargarh Fort เพราะต้องการชมพระอาทิตย์ตก ซึ่ง Mr.Madan ก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใดครับ

จาก Jaipur ผมใช้เส้นทางเดิมที่ไป Jal Mahal เพื่อมุ่งหน้าไปยัง Amber Fort ก่อนที่จะถึง Amber Fort จะมีทางแยกซ้ายมือเพื่อไปยัง Nahargarh Fort ครับ วิวบนเส้นทางที่จะไปยัง Nahargarh Fort เมื่อมองออกไปเห็น Jal Mahal มุมสูง สวยมากเลยครับ ใจผมอยากจะให้ Mr.Madan จอดรถเพื่อถ่ายรูป แต่ดูจากสภาพเส้นทางที่กำลังขึ้นเขาบวกกับขนาดรถของเรา คงจะลำบากถ้าหากจอดรถกลางทาง เลยได้แต่เก็บภาพสวยๆ ไว้ในความทรงจำครับ

ผมขึ้นมาถึงลานจอดรถหน้า Nahargarh Fort ราว 5 โมงเย็นแล้วครับ พอมีเวลาเหลืออีกนิดหน่อย คงต้องรีบจ้ำเท้าจากลานจอดรถเพื่อไปยัง Nahargarh Fort แบบไม่คิดชีวิต เนื่องจากใกล้ถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดินแล้ว ดีหน่อยที่ผมตีตั๋วแบบ Composite Ticket มา เลยไม่ต้องเสียเวลามาต่อคิวซื้อตั๋ว เพียงแค่แสดงตั๋วก็เข้าไปด้านในได้เลยครับ

บริเวณด้านหน้า Nahargarh Fort ก็มองเห็นวิวเมือง Jaipur รวมถึงมีอ่างเก็บน้ำเล็กๆ อยู่ด้านบนด้วย

Nahargarh Fort มีความหมายว่า “ถ้ำเสือ” สร้างขึ้นเมื่อปี 1734 ตั้งชื่อตามองค์ชายนาฮาร์ สิงห์ นับเป็น 1 ใน 3 ป้อมปราการที่ในอดีตคอยปกป้องเมืองนี้อยู่ ปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ยังเป็นทั้ง Museum และสถานที่จัดงานศิลปะของ Jaipur อีกด้วยครับ

Nahargarh Fort เป็นจุดชมวิวมุมสูงของ Jaipur และจะสวยสุดๆ ตอนพระอาทิตย์กำลังตกดินครับ จากจุดนี้ หากมองดีๆ จะเห็น City Palace และ Jantar Mantar ด้วย สำหรับใครที่พอจะมีแรงแนะนำให้เดินไปตามแนวกำแพงเมืองไปอีกสักหน่อย จะมีจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกครับ แต่ถ้าไม่มีแรงก็สามารถยืนชมบนชั้นดาดฟ้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ก็ได้ครับ สวยงามคนละมุมมองกันครับ Nahargarh Fort เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-18.00 น. ครับ
วันนี้เรียกได้ว่าใช้เวลาเที่ยวกันเต็มวันครับ หลังจากกลับถึงโรงแรมแล้ว ใครหมดแรงก็นอนพักในโรงแรม ใครยังพอมีแรงเหลือก็ออกเดินเที่ยวรอบๆ โรงแรมและหาลองชิม Street food กัน

เช้าวันสุดท้ายของทริปนี้ ผมมาเปิดทริปที่ Patrika Gate ครับ Patrika Gate อยู่บนเส้นทางที่จะไปสนามบินครับ

Patrika Gate เป็นประตูเมืองลำดับที่ 9 ของ Jaipur สร้างโดยเจ้าของหนังสือพิมพ์ Patrika เดิมที่นี่เป็นเพียงวงเวียนธรรมดา แต่เมื่อมีการสร้างประตูเมืองแห่งนี้ขึ้น ก็ทำให้วงเวียนธรรมดาๆ กลับมีสีสันขึ้น นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาถ่ายภาพที่ Partrika Gate กันมากมายเลยครับ

ภายในประตูมีภาพเขียนสีแสดงประวัติศาสตร์ของเมือง Jaipur ใครที่รักการถ่ายภาพแนะนำเลยว่าไม่ควรพลาดที่นี่ครับ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

จาก Patrika Gate ย้อนกลับเข้ามาในตัวเมือง Jaipur อีกครั้ง แวะเที่ยวชม Birla Mandir ครับ

Birla Mandir เป็นสถานที่สักการะของฮินดูเพื่อสักการะแด่พระวิษณุและพระแม่ลักษมี สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1988 สถาปัตยกรรมของวัดผสมผสานสไตล์ของยุคใหม่เข้ากับลวดลายแบบอินเดียโบราณ สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาว มีโดมขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์แทนศาสนาฮินดู พุทธ และอิสลาม สามศาสนาที่สำคัญของอินเดีย ภายในวัดมีการจารึกภาพเหตุการณ์ตามตำนานบนแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในหลายๆ วัดที่สร้างขึ้นทั่วอินเดียโดยครอบครัว Birla ผู้มั่งคั่ง Birla Mandir เปิดให้เข้าชมด้านในได้ 2 รอบ รอบแรก 06.30-12.00 น. และ 15.00-20.30 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ

จาก Birla Mandir เดินเท้าต่อนิดหน่อย เพื่อไปยัง Ganesh Temple

Ganesh Temple สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้วยความเป็นมงคลขององค์พระพิฆเนศวร นับเป็นไฮไลท์สำคัญที่มีผู้คนทั้งในและนอกเมือง Jaipur ต่างนิยมเข้าชม เคารพบูชาเพื่อเป็นมงคลในชีวิตประจำวันและเพื่อค้นหาของความสุขนิรันดร์ พระพิฆเนศช้างหัวเทพในศาสนาฮินดูถือว่าเป็นพระเจ้าแห่งความเป็นมงคล ภูมิปัญญาความรู้และความมั่งคั่ง จึงทำให้วัดพระพิฆเณศนี้มีผู้คนศรัทธาเข้ามาสักการะโดยนิยมนำขนมโมทกะมาถวายท่านอย่างไม่ขาดสาย Ganesh Temple เปิดให้เข้าชมวันละ 2 รอบ คือ 05.00-13.00 น. และ 14.30-21.30 น. เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

จาก Ganesh Temple นั่งรถต่อกันอีกนิดเดียว Mr.Madan ก็พามาส่งที่ Albert Hall Museum ตั๋วสำหรับเข้าชม Albert Hall Museum รวมอยู่ใน Composite Ticket แล้วครับ

Albert Hall Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในรัฐ Rajasthan ในอดีตที่นี่เป็นที่ทำการบริหารส่วนต่างๆ ของเมือง และได้มีการปรับเปลี่ยนภายหลังมาเป็น Art Museum ที่รวบรวมศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ไว้มากมาย หากจะบอกว่าที่นี่เป็นคลังมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประจำภูมิภาคก็ไม่น่าผิด เพราะพิพิธภัณฑ์นี้มีผลงานจัดแสดงหลายพันรายการ รวมทั้งอัญมณี เซรามิก ประติมากรรมโลหะ งานคริสตัล เครื่องดนตรีสมัยโบราณ รวมถึงอาวุธต่างๆ สำหรับชื่อ Albert ก็มีที่มา มาจากการเสด็จประพาสของ King Edward VII (Albert Edward) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษ ด้านในไม่อนุญาตให้ใช้กล้องใหญ่ถ่ายภาพ แต่สามารถใช้กล้องมือถือถ่ายภาพได้ครับ ใครที่ชอบประวัติศาสตร์ น่าจะเพลิดเพลินกับการชมบรรดาโบราณวัตถุที่มีอยู่มากมายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีมัมมีให้ชมด้วยนะครับ สำหรับด้านนอกมีฝูงนกพิราบมากมาย เวลาโบยบินดูสวยงามดีครับ และในช่วงค่ำๆ ที่ Albert Hall Museum จะมีการประดับประดาไฟ โดยเปิดไฟสลับสี สวยงามเลยทีเดียวครับ

กองทัพเดินด้วยท้อง มื้อเที่ยงนี้นับเป็นมื้อพิเศษของทริปนี้เลย เพราะปกติทุกวันเราจะหุงข้าวกันในช่วงเช้าแล้วใส่กล่องข้าวเตรียมไว้ในตอนเที่ยง ใช้กินบนรถระหว่างเดินทาง สำหรับวันนี้เราเที่ยวอยู่แต่ใน Jaipur ไม่ต้องทำเวลาอะไรกันมากมาย เลยมีเวลานั่งทานอาหารกันในร้านบ้างครับ สำหรับเที่ยงนี้ผมไม่พลาดที่จะมาที่ Caffé Palladio ร้านอาหารที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะต้องแวะมา Check in ที่นี่ ผมเองก็ไม่พลาดเช่นกัน

Caffé Palladio เป็นร้านอาหารสไตล์อิตาเลียนผสมอาหรับ เจ้าของเป็นชาวอิตาเลียนสวิสและเพื่อนชาวดัตช์ ร้านนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก Andrea Palladio สถาปนิกชาวอิตาลีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดผู้หนึ่งทางด้านแนวคิดการออกแบบในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อร้านด้วย ภายในร้านตกแต่งสไตล์บารอคผสมราชปุต ทางร้านจะนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหารครับ

มาดูหน้าตาของอาหารกันบ้างดีกว่า

Farmer’s Salad คล้ายๆ กับสลัดธัญพืช มีทั้ง Green Herbal , Zucchini, Barley , มะเขือยาว พริกชี้ฟ้า หัวหอม Feta Cheese ครับ เมนูนี้ Rs.600

Funghi เป็นพิซซาหน้าชีสและเห็ด ทานร้อนๆ อร่อยสุดๆ หอมกลิ่นเห็ดมาก เมนูนี้ Rs.350

Pasta All Norma เป็นสปาเก็ตตีสไตล์อิตาเลียนที่โรยหน้าด้วยมะเขือม่วงอบกรอบ ชีส และซอสมะเขือเทศ เมนูนี้อร่อยดีครับ สนนราคา Rs.400

Seftali Kebab เป็นไส้กรอกแกะ มี 5 ชิ้นครับ แกะไม่มีกลิ่นสาบ ทานคู่กับน้ำจิ่ม อร่อยดีครับ เมนูนี้ Rs.750

Chicken,Olive & Lemon Tagine เป็นเมนูท้องถิ่นของโมรอคโค จะใช้การตุ๋น เสิร์ฟมาในภาชนะดินเผาที่มีฝาปิดเป็นทรงโดมสูง เสิร์ฟพร้อมข้าว เมนูนี้ Rs.850

ตบท้ายด้วยของหวานอย่าง Ricotta Cannoli มารอบที่แล้วก็จัดไปแล้ว รอบนี้ขออีกสักครั้ง Ricotta Cannoli เป็นแป้งพัฟกรอบที่สอดไส้คล้ายๆ ครีมส้ม หน้าตาคล้ายๆ แผ่นเกี๊ยวทอด รสชาติหวานๆ มันๆ เมนูนี้ Rs.300 (มี 2 ชิ้น)

หากใครมาเที่ยวที่ Jaipur ก็ลองมาแวะชิมได้นะครับ อาหารอร่อย บรรยากาศดี มุมถ่ายภาพเพียบ ร้านนี้หยุดทุกวันอังคาร โดยวันจันทร์-เสาร์ เปิดเวลา 12.30-22.30 น. และวันอาทิตย์เปิด 10.30-22.30 น. บอกเลยว่าลูกค้าคนไทยเยอะมากครับ

อิ่มท้องกันแล้ว ไปลุยกันต่อในช่วงบ่าย เริ่มที่ Royal Gaitor หรือ อนุสรณ์สถานมหาราชาแห่ง Jaipur ครับ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงอดีตมหาราชาที่เคยปกครองเมือง Jaipur ภายในเป็นสุสานของอดีตมหาราชาหลายพระองค์ แบ่งออกเป็นหลายส่วนตามราชวงศ์ครับ

อนุสรณ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนเป็นรูปโดมแบบฮินดูสไตล์ราชปุต ใช้เป็นสถานที่ณาปนกิจของมหาราชาหลายพระองค์ของ Jaipur พื้นที่ภายในแบ่งเป็น 2 ลานขนาดใหญ่ แต่ละลานได้รับการตกแต่งด้วยผลงานประติมากรรมแกะสลักอันประณีต ลานแรกเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์แห่งศตวรรษที่ 20 ของมหาราชามัดโฮ ซิงห์ที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นมหาราชาแห่ง Jaipur มายาวนานกว่า 40 ปี พระองค์มีพระชายาสี่พระองค์ และนางสนมอีกกว่า 50 คน ที่มีพระโอรสและพระธิดามากกว่า 100 องค์

ในพื้นที่ส่วนที่สองจะเป็นสุสานของมหาราชาชัยสิงห์ที่ 2 ซึ่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี 1743 ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง Jaipur โดยรอบส่วนฐานของสุสานมีภาพแกะสลักเป็นฉากการล่าช้างและสิงโต ส่วนภายในโดมขนาดใหญ่ จะมีภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ จากเทพนิยายฮินดู Royal Gaitor เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.30 น. แต่วันจันทร์จะเปิด 09.00-18.30 น. ครับ สำหรับค่าเข้าชม Rs.30 (ไม่รวมอยู่ใน Composite Ticket)

จาก Royal Gaitor ผมไปต่อที่ Jantar Mantar ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ City Palace เลยครับ

หอดูดาวจันทรามันตรา (Jantar Mantar ) สร้างและคิดค้นขึ้นโดย Maharaja Jai Singh II ในปี 1727 ด้วยทรงมีความสนพระทัยและพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงได้ทรงรับสั่งให้สร้างหอดูดาวแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อสร้าง City Palace เพื่อใช้ดูความเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว ภายในศูนย์ดาราศาสตร์กลางแจ้งแห่งนี้มีเครื่องมือสังเกตการณ์หลัก 19 ชิ้น เป็นหลักฐานให้เราเรียนรู้ได้ว่านักวิทยาศาสตร์ของ Jaipur ในยุคศตวรรษที่ 18 สามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคา/จันทรุปราคาได้อย่างไร โดยใช้เพียงเครื่องมือที่เหมือนอิฐก่อสร้างเหล่านี้เท่านั้น

เครื่องมือบางชิ้นมีขนาดใหญ่มหึมา อย่างเช่น Brihat Samrat ซึ่งสูงถึง 26.2 เมตร ประกอบด้วยขั้นบันไดขนาบด้วยทรงโค้งครึ่งวงกลม ทำมุมอย่างแม่นยำในองศาเดียวกับละติจูดของเมือง Jaipur ซึ่งเครื่องมือชิ้นนี้สามารถระบุเวลาของวันได้แม่นยำ โดยคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน 2 วินาทีเท่านั้น

Jai Prakash จะช่วยให้นักดาราศาสตร์โบราณเห็นท้องฟ้าในมุมกลับและทำผังการโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ

Great Ram จะช่วยบันทึกการอ่านพิกัด ที่ได้จากการคำนวณพิกัดของดาวผ่านเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่ชื่อ Kapala Yantra ครับ

Dhruva Yantra ใช้ค้นหาตำแหน่งของดาวเหนือครับ

หอดูดาวจันทรามันตราแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสําคัญในสมัยโบราณ เนื่องจากจะใช้คำนวณฤกษ์เวลาในการออกรบนั่นเอง หอดูดาวจันทรามันตราได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2553 ด้วยครับ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. สำหรับค่าเข้าชมรวมอยู่ใน Composite Ticket แล้วครับ

ผมมาปิดทริปนี้ที่ Hawa Mahal ซึ่งอยู่ติดกับหอดูดาวจันทรามันตรานั่นเองครับ

Hawa Mahal เป็นหนึ่งในหลายพระราชวังที่อยู่ในกำแพงเมืองของนครสีชมพู สร้างขึ้นในสมัยของ Maharaja Sawai Pratap Singh ออกแบบโดย Lal Chand Ustad โดยถอดแบบมาจากรูปทรงของมงกุฎพระนารายณ์ มีลักษณะเด่นอยู่ที่ด้านหน้าอาคารมีหน้าบันสูงห้าชั้นลักษณะคล้ายรวงผึ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีแดงสดฉลุหินให้เป็นช่องหน้าต่างเล็กๆ ที่นับรวมๆ กันได้ถึง 953 บาน แต่ถูกปิดไว้ด้วยหินทรายฉลุ ทำให้นางในฮาเร็มพระสนมที่อยู่ด้านในสามารถมองออกมาข้างนอกได้ แต่คนภายนอกไม่สามารถมองเข้าไปด้านในได้ และประโยชน์ของการที่มีหน้าต่างเยอะนั่นคือเป็นช่องแสงและช่องลม จนเป็นที่มาของชื่อ “Palace of Wind” หรือพระราชวังสายลมนั่นเองครับ

จาก Hawa Mahal เมื่อมองออกไปด้านนอก เราสามารถชมความสีชมพูของเมือง Jaipur ได้แบบเต็มๆ ตาครับ และฝั่งตรงข้ามของ Hawa Mahal จะเป็น Cafe ที่สามารถชม Hawa Mahal ในอีกมุมมองหนึ่งที่สวยงามมากๆ ซึ่งเดี๋ยวเราจะข้ามไปชมกันครับ

Hawa Mahal เปิดให้เข้าชมด้านในทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สำหรับค่าเข้าชมรวมอยู่ใน Composite Ticket แล้วเช่นกัน Hawa Mahal ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับ City Palace และ Jantar Mantar สามารถเดินเที่ยว 3 จุดนี้ได้แบบสบายๆ ครับ

ฝั่งตรงข้ามกับ Hawa Mahal จะมี Cafe อยู่ 2 ร้าน นั่นคือ The Tattoo Café และ Wind View Café ซึ่งทั้ง 2 ร้านนี้นับเป็นทำเลที่ดีเยี่ยมในการถ่ายภาพ Hawa Mahal ได้แบบเต็มๆ ตา โดยที่เราไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่าเหมือนตอนที่ยืนถ่ายภาพตรงฟุตบาทด้านหน้า Hawa Mahal ครับ ผมมาปิดทริปกันบนร้าน The Tattoo Café ถือเป็นอันจบทริป Jaipur แบบเกือบจะสมบูรณ์แล้วยังคงเหลืออีกหนึ่งกิจกรรมที่จะทำให้ทริปนี้จบแบบสมบูรณ์นั่นคือการ Shopping ของฝากนั่นเอง

ด้านหน้า Hawa Mahal มีร้านขายของเพียบบบบบ... ใครที่ต้องการหาซื้อของฝาก ผมแนะนำให้มาหาซื้อที่นี่เลยครับ สินค้าก็มีหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า ส่าหรี รองเท้าผ้า รองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง ของ souvenirs มากมาย และแน่นอนอย่าลืมต่อราคากันด้วยนะครับ ต่อราคาให้เกินกว่าครึ่งของราคาที่ตั้งไว้เลยและอย่าแสดงความอยากได้ของชิ้นนั้นมากมาย ถ้าต่อรองราคาแล้วพ่อค้าไม่ให้ลองใช้วิธีเดินออกจากร้านดูนะครับ รับรองว่าคนขายจะยื่นข้อเสนอดีๆ ให้อย่างแน่นอน อย่างผมไปเห็นกระเป๋าหนัง พ่อค้าเปิดราคามา Rs.1600 ผมก็ต่อราคาเล่นๆ ดู เหลือ Rs.800 ส่วนถ้าเขาให้ก็เอา ไม่ให้ก็ไม่เอา ต่อครั้งแรก ลดให้เหลือ Rs.1000 ผมก็เลยเฉยๆ ไม่คิดจะซื้อแล้ว จนพี่ก้อนและพี่หมานต่อรองราคาจนสมใจแล้วจนได้กระเป๋ากันมาคนละใบ จากนั้นก็พากันจะเดินออกจากร้านแล้ว เพราะจวนเจียนเวลาที่เราต้องรีบไปสนามบินแล้ว ก่อนจะออกจากร้านเท่านั้นแหล่ะ พ่อค้าก็เรียก OK My Friend.. Rs.800 เป็นอันว่าควักเงินซิครับ รออะไร 5555 เป็นอันว่าจบทริปโดยสมบูรณ์ครับ

Mr.Madan พามาส่งที่สนามบิน ก่อนเข้าสนามบินก็เกิดปัญหาขึ้นนิดหน่อยครับ เจ้าหน้าที่สนามบินจะขอเช็ค Booking ของทุกคนก่อนการเข้าไปด้านในสนามบิน หากไม่มี Booking จะไม่สามารถเข้าไปด้านในสนามบินได้ Booking ของคณะผมจองไม่พร้อมกัน พวกที่จองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม จะได้ booking เป็นภาษาอังกฤษ แต่พวกที่มาจองตอนใกล้ๆ วันเดินทาง จะได้ Booking เป็นภาษาไทย แต่ก็มีตัวอักษรภาษาอังกฤษควบคู่บ้างนิดหน่อย ผมรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องมีปัญหา จริงๆ ก่อนออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง ผมไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของแอร์เอเชียเพื่อขอเปลี่ยน Booking จากภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษแล้ว แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถเปลี่ยนได้ เนื่องจากในระบบก็เป็นภาษาไทย เหมือน Booking ที่อยู่ในมือผม คิดไว้แล้วเหมือนกันว่าตอนเข้าสนามบิน Jaipur ต้องมีปัญหาแน่ๆ แล้วก็เป็นเหมือนที่คิดไว้ แต่ก็ไม่ยากเย็นอะไรครับ แค่ไปขอเปลี่ยน Booking ที่เคาเตอร์แอร์เอเชีย ก็สามารถเข้าได้ เพียงแต่จะเสียเวลาดำเนินการนิดหน่อยครับ

Are you Happy? สมาชิกทุกคนตอบกลับมาว่า I’m Happy (แต่พี่ก้อนอาจจะตอบแบบไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะคงเสียดายเงินที่ต้องไปสะเดาห์เคราะห์ที่ Pushkar Lake) ถ้า You’re Happy, I’m ก็ Happy เหมือนกัน เป็นอันว่าจบทริปด้วยความประทับใจครับ

ใครที่ชอบความอลังการของสถานที่ท่องเที่ยว ใครที่ชอบสัมผัสวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง ใครที่ชอบช๊อปปิ้งสินค้าราคาถูก ใครที่ชอบถ่ายรูปหรือถูกโดนรุมถ่ายรูป ใครที่ชอบลิ้มลองอาหาร Street food ใครที่ชอบทำอะไรแบบติดดิน บอกเลยว่า อินเดียตอบโจทย์ได้ทุกข้อครับ

หากใครมาชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวอินเดีย อย่าเพิ่งด่วนปฏิเสธไปเลยครับ อินเดียมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย ลองใช้ใจไปสัมผัสอินเดียดู แล้วจะรู้ว่า อินเดียไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด


ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ลุงเสื้อเขียว

 วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 12.12 น.

ความคิดเห็น