ที่สถานี Karlsplatz เราโดยสารรถไฟใต้ดิน สาย 4 เพื่อเดินทางไปยังพระราชวังที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศออสเตรีย นั่นคือ พระราชวังเชินบรุนน์ (Schonbrunn palace) ขึ้นจากสถานีรถไฟ แล้วเดินต่ออีกไม่ไกล พระราชวังที่มีขนาดใหญ่โตก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า แต่ถ้าไม่รีบเร่งกินไป ระหว่างทางก็มีสารพัดอาหารแนวสตรีทฟู้ดเรียงราย ที่รู้สึกแปลกตาคือการที่ฝรั่งผิวขาวยืนคั่วเก๋าลัคขาย แทนที่จะเป็นชาวจีนแบบที่คุ้นตา

เดิมทีพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเชินบรุนน์ได้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปีค.ศ.1569 ในสมัยจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 2 ตั้งแต่ดินแดนในภูมิภาคนี้ยังเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ล่าสัตว์ จนกระทั่งเมื่อปีค.ศ.1637 พระนางอีลีโอโนรา วอน กอนซากา พระมเหสีของจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ได้มีพระรับสั่งให้สร้างคฤหาสน์ขึ้น โดยไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร แต่จักรพรรดิองค์ต่อๆมาก็มีพระรับสั่งให้ขยายต่อเติม จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระราชวังให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ยิ่งใหญ่กว่าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่อลังการมากที่สุดในยุคนั้น การสร้างพระราชวังเชินบรุนน์จึงเริ่มดำเนินการขึ้นอย่างจริงจัง และขยายต่อเติมเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์สวรรคตในปีค.ศ.1780 และเป็นที่พระทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงกาลล่มสลายของราชวงศ์ พระราชวังแห่งนี้จึงตกเป็นสมบัติของชาติ และเป็นอีกหนึ่งพระราชวังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

พระราชวังเชินบรุนน์ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าเราขณะนี้ แม้จะมีความสูง 3 ชั้น แต่ก็เป็นอาคารขนาดใหญ่ยักษ์ที่ปีกทั้งสองข้างแผ่ออกไปจนสุดสายตา โดยรวมแล้วพระราชวังแห่งนี้เป็นสีเหลือง การตกแต่งภายนอกเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ได้วิจิตรอลังการอะไร ซึ่งหากไม่ได้วัดกันด้วยขนาดแล้ว ผมว่าพระราชวังเบลเวเดียร์นั้นดูสวยกว่าเยอะ แต่ดูจากภายนอกเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตัดสินอะไรได้ เพราะหากไม่เจ๋งจริง พระราชวังแห่งนี้คงไม่ได้กลายเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในประเทศออสเตรีย

ภายในพระราชวังที่ใหญ่โตอลังการแห่งนี้ มีห้องมากถึง 1,441 ห้อง สงสัยเหมือนกันว่าห้องมากขนาดนี้จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาจะทรงเคยเข้าไปทุกห้องไหม การซื้อบัตรเข้าชมภายในจึงมีให้เลือก 2 แบบ คือ Imperial Tour เข้าชมได้ 22 ห้อง ใช้เวลาประมาณ 40 นาที กับ Grand Tour เข้ามชมได้ 40 ห้อง คือจำนวนห้องมากสุดแล้วที่เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชม โดยใช้เวลาประมาณ 60 นาที ไหนๆก็ข้ามฟ้าข้ามทะเลมาถึงที่แล้ว เราจึงตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือกแบบ Grand Tour ให้ได้ชมห้องที่ตกแต่งอย่างงดงามและสมบัติอันตระการตาให้หน่ำใจไปข้าง

ทีแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าเวลาที่ประมาณการในการเข้าชมนั้นคิดจากอะไร หรือว่ามีไกด์พาชมเป็นรอบๆ คำตอบก็คือ ไม่มีไกด์เป็นคน มีแต่ Audio Guide ให้ยืมพกติดตัว ถึงห้องไหน เห็นหมายเลขที่ปรากฏที่ห้องนั้นก็กดหมายเลขลงไป Audio Guide ก็จะบรรยายให้เสร็จสรรพว่าห้องนี้มีความสำคัญอย่างไร ใครเป็นผู้ออกแบบ ฉะนั้นเวลาที่ประมาณการก็คือเวลารวมที่ Audio Guide จะบรรยายนั่นเอง แต่ก็อาจจะนานกว่านี้ตามความสนใจของแต่ละคน แรกๆเราก็เดินวนเวียนอยู่ในแต่ละห้องนานกว่าเวลาที่ Audio Guide บรรยาย แต่เมื่อผ่านไปกว่าสิบห้อง อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป จึงเริ่มรู้สึกว่าเอาแค่เวลาที่ Audio Guide บรรยายพอ เพราะเริ่มมึนมากขึ้นจากจำนวนห้องที่มากตาม จนเมื่อถึงทางแยกที่บัตรแบบ Imperial Tour แยกไปอีกทางเพราะหมดโควต้าเข้าชม 22 ห้อง ผมก็เริ่มรู้สึกว่าน่าอิจฉาคนกลุ่มนี้จัง ที่ไม่ต้องเดินต่ออีกถึง 18 ห้อง !

จนถึงห้อง Grand Gallery ซึ่งเป็นห้องโถงกลางพระราชวัง ผมจึงรู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ซื้อบัตรแบบ Grand Tour ซึ่งแม้จะมีป้ายห้ามถ่ายรูป แต่ผู้มาเยือนส่วนใหญ่ก็ยกกล้องถ่ายรูปกันหน้าตาเฉย เพราะแต่ละคนอดใจไม่ไหวที่ได้เห็นความตระการตาของการตกแต่ง ภายในห้องนี้ ทั้งโคมไฟระย้า ลวดลายสีทองที่ประดับบนผนังสีขาวนวล โดยเฉพาะภาพวาดเฟรสโก้บนเพดานนั้นงดงามยิ่งนัก

เราออกจากพระราชวังด้วยอาการอิ่มจนจุกกับความงามของทั้ง 40 ห้องที่ได้ชม เวลานี้จึงรู้แล้วว่าทำไมจึงเปิดให้เข้าชมแค่นี้ เพราะหากเปิดให้ชมมากกว่านี้ มีหวังผู้มาชมคงได้เบลอกันหมด การไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป โดยอยู่ที่ความพอดี จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ด้านหลังพระราชวังเป็นสวนขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปจนจรดเนินเขา น่าเสียดายในวันที่เรามาเป็นช่วงที่ผลัดเปลี่ยนไม้ดอก จึงเห็นเพียงสนามหญ้าเขียวขจีที่มีร่องรอยของแนวไม้ดอกที่ถูกรื้อถอนออกไป แต่อย่างไรก็ตามตลอดความยาวของสวนนี้ก็เรียงรายไปด้วยรูปปั้นของเหล่าเทพเจ้า พร้อมแนวต้นไม้ที่ถูกตัดแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบ ดูแล้วงามตายิ่งนัก

ด้วยความกว้างใหญ่ของสวน รวมถึงเนินเขาที่อยู่เบื้องหน้า ผมกับเต้ยจึงตกลงกันว่าต่างคนต่างเดินไปตามมุมที่สนใจ โดยนัดหมายมาเจอกันในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้าที่รูปปั้นซึ่งตั้งอยู่ที่มุมซ้ายของพระราชวัง หลังจากนัดแนะเสร็จ เต้ยก็หายแว๊บไปในมุมที่ชอบ ส่วนผมก็เดินมุ่งหน้าผ่านสวนขึ้นไปยังเนินเขาเบื้องหน้า

พื้นที่ด้านหลังพระราชวังซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่และเนินเขานี้ อดีตคือสถานที่ที่ใช้ล่าสัตว์ของจักรพรรดิและเหล่าพระราชวงศ์ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพระราชวังแห่งนี้จึงอยู่ค่อนข้างไกลออกไปจากใจกลางเมืองซึ่งตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำดานูบ แม้ในวันนี้จะไม่มีการล่าสัตว์อีกต่อไปแล้ว แต่ที่เชิงเนินเขาก็มีสวนสัตว์ Imperial zoo ที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปีค.ศ.1752 โดยอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสวนสำหรับจักรพรรดิและเหล่าพระราชวงศ์

ผมเดินเลยผ่านทางเข้าสวนสัตว์ เพราะหากแวะเข้าไปชม 1 ชม.คงไม่พอ จึงมุ่งหน้าขึ้นเนินเขา โดยมีน้ำพุเทพเนปจูน (Neptune Fountain) ตั้งเป็นเสมือนประตูทางขึ้น โดยเป็นรูปปั้นเทพเนปจูนพร้อมเหล่าเทพเจ้า ตั้งอยู่เบื้องหน้าสระน้ำใส แม้วันนี้น้ำพุจะไม่ทำงาน แต่ก็มีกลุ่มนกเป็ดน้ำแหวกว่ายอย่างน่าชม

การขึ้นสู่ยอดเนินเขามี 2 ทางเลือก คือเดินไปตามทางด้านข้างซึ่งตัดตรงสู่ยอดเนินเขา หรือเดินสลับฟันปลาไปตามทุ่งหญ้าที่เขียวขจี แน่นอนว่าผมเลือกแบบหลัง แม้ว่าจะมีระยะทางมากกว่าก็ตาม เพราะระยะทางที่มากกว่านี้ก็นำพาความสุขใจได้มากกว่า

เหนือสุดของเนินเขามีอีกสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ นั่นคือ Gloriette มีลักษณะคล้ายกำแพงขนาดใหญ่ ตลอดแนวเป็นซุ้มโค้ง 11 ซุ้ม ซุ้มฝั่งซ้ายและขวาเปิดโล่ง ในขณะที่ตรงกลาง 3 ซุ้ม มีกระจกปิด ด้านบนมีรูปปั้นนกอินทรีเหยียบลูกโลกสีทอง อันเป็นสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก

นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกที่จะถ่ายรูปกับมุมสวยๆของ Gloriette ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเนินเขา บ้างก็เลือกที่จะถ่ายรูปย้อนลงไปที่สามารถมองเห็นพระราชวังเชินบรุนน์อยู่เบื้องล่าง หรือหลายคนก็เลือกที่จะหย่อนตัวเองลงบนสนามหญ้านุ่มๆ เพื่อพูดคุยกัน ซึ่งผมเองเลือกทุกสิ่งที่กล่าวมา และสุดท้ายคือเลือกที่จะนั่งลงบนสนามหญ้า และมองลงไปเบื้องล่างที่เห็นพระราชวังเชินบรุนน์ที่ตั้งตระหง่าน โดยมีตัวเมืองเวียนนาเป็นฉากหลัง ซึ่งในเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า และความคิดสงบลงจากการได้หยุดก้าวเดิน ทำให้ผมสัมผัสได้ว่า พระราชวังเชินบรุนน์แห่งนี้งดงามมากเพียงใด และสมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในพระราชวังที่งดงามมากที่สุดในโลกใบนี้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.15 น.

ความคิดเห็น