เราใช้บริการรถไฟใต้ดินต่อ แต่ยังไม่ได้ไปเที่ยวไหน เพราะเราต้องดำเนินการกับสิ่งที่ทำไม่สำเร็จจากเมืองไทย นั่นคือการจองตั๋วรถไฟ ในเมื่อซื้อผ่าน web ไม่สำเร็จ เราจึงต้องไปซื้อที่สถานที่จริง นั่นคือสถานีรถไฟ Leningradsky ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย การเดินทางไปสถานีรถไฟแห่งนี้แสนง่าย เพียงแค่โดยสารรถไฟใต้ดินไปยังสถานี Komsomolskaya แล้วโผล่ขึ้นมาบนดินก็เจอกับสถานีรถไฟ Leningradsky ได้ทันที แต่กว่าที่เราจะโผล่ขึ้นมาบนดินก็ใช้เวลาเสียนานกับการถ่ายรูป เพราะสถานี Komsomolskaya แห่งนี้เป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในรัสเซีย สวยขนาดไหน ไว้พรุ่งนี้ที่เราตระเวนเที่ยวสถานีรถไฟใต้ดินกันแบบเต็มๆกว่า 10 สถานีจะเล่าให้ฟัง

เมื่อโผล่ขึ้นสู่พื้นดินเราก็ใช้เวลาอีกพอควรกับการปล่อยใจไปกับความตื่นตาตื่นใจในผู้คนที่เดินกันขวักไขว้ บริเวณนี้เป็นจุดบรรจบของ 3 สถานี จึงเป็นย่านที่เจริญมากที่สุดย่านหนึ่งในมอสโก จึงมากไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่ดูๆไปแล้วแต่ละอาคารล้วนมีความคล้ายคลึงกันอย่างหนึ่ง นั้นคือนิยมสร้างเป็นอาคารยอดแหลมเหมือนๆกัน

เราฉุดใจตัวเองกลับมาสู่ภารกิจที่ต้องทำ นั่นคือการจองตั๋วรถไฟ เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วที่ตู้จำหน่ายหน้าสถานีชี้ให้เราเข้าไปจองตั๋วในอาคาร การจองนั้นแสนง่าย เพราะผมได้ทำรายการเดินทางมาไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าเราจะเดินทางจากเมืองไหน ไปเมืองไหน ในวันที่เท่าไหร่ เวลาอะไร ขบวนรถไฟหมายเลขเท่าไหร่ และถ้าเดินทางตอนกลางคืนต้องการตู้นอนแบบไหน เพียงแค่ไม่ถึง 10 นาที เราก็ได้ตั๋วรถไฟไปวลาดิเมียร์กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาครอบครอง หากรู้ว่าง่ายและสะดวกแบบนี้ ผมคงไม่เสียเวลาหลายชั่วโมงในการจองตั๋วผ่าน website ซึ่งนอกจากเสียเวลาแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จอีก

เอาหละได้เวลาเที่ยวแบบตีวงล้อมกรุงมอสโกกันต่อ เป้าหมายต่อไปของเราคือ อนุสาวรีย์แห่งผู้พิชิตอวกาศ (Monument to the Conquerors of Space) ที่อยู่ทางทิศเหนือของกรุงมอสโก แน่นอนเรายังคงใช้บริการรถไฟใต้ดินซึ่งสะดวกและราคาประหยัดเหมือนเดิม เพราะไม่ว่าจะเดินทางใกล้ไกลแค่ไหน เปลี่ยนรถไฟสักกี่สายก็แค่ 55 รูเบิล หรือแค่ 32 บาท ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศของเรา ที่ไปแค่สถานีเดียวก็ราคาประมาณนี้แล้ว ยิ่งหากต้องเปลี่ยนสาย ราคาค่าโดยสารอาจทะลุไปถึงร้อยบาท

เมื่อโผล่พ้นสู่พื้นดิน สองสายตาก็ได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่สูงชะรูดจนเหมือนทะลุแผ่นฟ้า เป็นรูปยานสำรวจอวกาศที่ทะยานขึ้นสู่แผ่นฟ้าอยู่เหนือฐานสูงที่สร้างในลักษณะควันพวยพุ่งออกมา โดยมีความสูงถึง 100 เมตร นี่คืออนุสาวรีย์แห่งผู้พิชิตอวกาศ ที่สหภาพโซเวียตในสมัยนั้นสร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะด้านการสำรวจอวกาศที่มีเหนือสหรัฐอเมริกา โดยยูริ กาการิน เป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลกได้ขึ้นยานอวกาศไปโคจรรอบโลกในปีค.ศ.1961 ใช้เวลาอยู่ในอวกาศ 1 ชั่วโมง 48 นาที แต่เมื่อเข้าไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์การสำรวจอวกาศแล้วจึงได้รู้ว่า จริงๆแล้วเขาไม่ใช่เป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปโคจรในอวกาศ แต่เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปแล้วสามารถกลับลงมาได้โดยยังมีชีวิตอยู่!

เราเดินผ่านเวทีคอนเสิร์ตที่กำลังเล่นเพลงร็อคกันอย่างเมามัน แต่ดูเหมือนนักดนตรีจะมันกันเอง เพราะเล่นกันตั้งแต่หัววันจึงยังไม่ค่อยมีคนดูเท่าไหร่นัก จุดหมายของเราอยู่ที่อาคารพิพิธภัณฑ์การสำรวจอวกาศที่ตั้งอยู่ใต้อนุสาวรีย์รูปยานสำรวจอวกาศและควันที่พวยพุ่ง ป้ายที่ทางเข้าเขียนว่า ผู้ใหญ่ 250 รูเบิล แต่พอยื่นเงินไป เจ้าหน้าที่ก็ส่งตั๋วให้โดยไม่รับเงิน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงเข้าฟรี หรือเป็นเพราะวันนี้เป็นวันอาทิตย์ อาจเป็นวันครอบครัวสำหรับชาวรัสเซียที่หอบลูกจูงหลานมาเที่ยวเล่นและเรียนรู้นอกสถานที่

บนช่องประตูทางเข้ามีรูปขนาดใหญ่ของยูริ กาการินในชุดนักบินอวกาศ จึงเป็นการย้ำอีกครั้งว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างเพื่อเขา ผู้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของชาวรัสเซีย ภายในจัดแสดงแบบจำลองเสมือนจริงของยานสำรวจอวกาศรุ่นต่างๆของรัสเซีย หรือสหภาพโซเวียตในอดีต ที่เป็นคู่แข่งในทุกๆด้านกับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังจัดแสดงชุดนักบินอวกาศ ภาพและเกียรติประวัติของนักบินอวกาศตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน

ที่เป็นไฮไลน์คือการจำลองลักษณะการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ในยานอวกาศ ที่เมื่อดูแล้วรู้สึกได้ถึงความอึดอัดมากกว่าห้องที่เราพักเมื่อคืนหลายเท่านัก เพราะแม้ยานอวกาศจะขนาดใหญ่ แต่สำหรับห้องนักบินนั้นสุดแสนจะคับแคบ โดยเฉพาะแคปซูลที่ใช้เดินทางกลับมายังโลกนั้นแคบจนแทบไม่สามารถขยับตัวได้ จึงสมแล้วที่พวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ โดยเฉพาะกับบรรดาเด็กน้อยที่หัวใจและความคิดยังคงล่องลอยอยู่ในโลกแห่งความฝัน อวกาศจึงเป็นดังสวรรค์ที่พวกเขาอยากขึ้นไปวิ่งเล่นในนั้น สีหน้าในการชมของเหล่าเด็กน้อย จึงสะท้อนความสุขออกมาให้เห็นมากกว่าสีหน้าของผู้ใหญ่ ที่ปล่อยให้โลกแห่งความจริงกลืนกินความฝันไปเสียจนหมดสิ้น

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 10.36 น.

ความคิดเห็น