เรากลับมายืนอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (State Historical Museum) อีกครั้ง ความงดงามของสถาปัตยกรรมภายนอกที่สร้างด้วยศิลปะแบบโกธิค โดย Vladimir Sherwood ยังคงมนต์เสน่ห์ให้เราหยุดชมความงาม ก่อนที่จะพาตัวเองเข้าไปดึ่งลึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีพื้นแผ่นดินกว้างใหญ่ที่สุดในโลก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตามราชโองการของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมครั้งแรกในวันเดียวกับวันราชาภิเษกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เมื่อก้าวเท้าเข้าไปสัมผัสก็ให้เกิดความรู้สึกทึ่งกับห้องโถ่งขนาดใหญ่ ที่เป็นเสมือนห้องรับแขกต้อนรับผู้มาเยือนด้วยงานศิลปะบนฝาผนัง เสา และโค้งเพดาน เสมือนหนึ่งอยู่ในมหาวิหาร

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นห้องต่างๆที่บอกเล่าเรื่องราวของประเทศรัสเซียตั้งแต่สมัยไดโนเสาร์ ต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน โบราณวัตถุในอดีตที่จัดแสดงมีความเหมือนกับหม้อ ไห เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่บ้านเชียง ในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะรูปทรง หากแต่ลวดลายก็มีความเหมือน จนสร้างความรู้สึกแปลกใจที่ดินแดนที่อยู่ห่างไกลชนิดคนละขอบทวีปกลับมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันได้ขนาดนี้

เมื่อเข้าสู่ยุคที่เริ่มมีการแบ่งเขตแดนประเทศ ข้าวของของกษัตริย์รัสเซียที่ถูกนำมาจัดแสดงก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่หรูหราและความรวยร่ำของประเทศ โดยเฉพาะยุคสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ในช่วงปีค.ศ.1682 – 1725 ถือเป็นยุคเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด บรรดาทรัพย์สินจึงมากมายตามไปด้วย ไม่ใช่เพียงมาจากกษัตริย์ หากแต่บรรดาทรัพย์สินเลอค่าที่นำมาจัดแสดงนั้นส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของพ่อค้าและชนชั้นสูง

จากที่คิดว่าจะใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง เราเดินเข้าห้องนั้น ออกห้องนี้ ขึ้นชั้นนั้น เดินไปชมชั้นนี้จนเวลาล่วงเลยไปกว่าที่ตั้งใจไว้นานโข

แม้ว่าจะใช้เวลาในพิพิธภัฑ์ประวัติศาสตร์นานเกินกว่าตั้งใจไว้ แต่หลังจากออกมาเราก็ยังเพลิดเพลินกับการเลือกหาของฝากโดยไม่สนใจเวลากันที่ร้านขายของฝากที่อยู่ด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ของฝากจากรัสเซียนั้นมีหลายประเภท แต่ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้นตุ๊กตาแม่ลูกดก หรือภาษารัสเซียเรีกยว่า มาตร็อชกา (Matryoshka) โดยทำจากไม้ แต่งหน้าทาสีอย่างสดใส แต่ละตัวมีความสวยงามและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เมื่อเปิดโดยการแยกครึ่งบนครึ่งล่างของตุ๊กตาออกจากกันก็จะพบกับตุ๊กตาอีกตัวที่มีขนาดเล็กกว่าซ่อนอยู่ในนั้น และเมื่อเปิดไปเรื่อยๆก็จะพบตุ๊กตาตัวเล็กกว่าไปเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของชื่อ ตุ๊กตาแม่ลูกดก โดยมีตุ๊กตารวมกัน 3 ตัวบ้าง 5 ตัวบ้าง หรืออาจมากถึง 7 ตัว 9 ตัวตามขนาดความใหญ่ของตุ๊กตา

หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปจะพบว่าตุ๊กตามาตร็อชกานี้มีที่มาจากตุ๊กตาดารุมะ (Daruma) ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวกลมๆ ข้างในกลวง โดยชาวรัสเซียได้ดัดแปลงให้ภายในช่องกลวงๆนี้สามารถนำตุ๊กตาตัวเล็กใส่ซ้อนเข้าไปได้อีกหลายตัว ตามความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีลูกดกเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวที่อบอุ่น ชาวรัสเซียในสมัยก่อนจึงนิยมมีตุ๊กตานี้ไว้ประจำบ้าน

ราคาตุ๊กตาแม่ลูกดกมีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยรูเบิล จนเป็นพันๆรูเบิล ตามความสวยงามและละเอียดละออของการลงสีที่มากขึ้น ในเมื่อเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อขนาดนี้ผมจึงเลือกซื้อมาเป็นของฝากเพื่อการระลึกถึง ทั้งๆที่รู้ว่าซื้อของฝากในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าของประเทศอย่างจัตุรัสแดง ราคาของสินค้านั้นจะแพงกว่าการซื้อจากร้านค้าทั่วไป แต่ที่เมืองซุสดัล ผมจึงได้รู้ว่าราคาที่ผมจ่ายไปนั้น ไม่ใช่แค่แพงกว่า 2 เท่า แต่มันมากกว่านั้นจนไม่อยากคิด

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 21.39 น.

ความคิดเห็น