ทะลวงพสุธากันค่อนวัน ได้เวลาออกมาสูดอากาศและรับแสงอาทิตย์กันเสียที จากเมื่อวานที่ไม่อยากจะอัดโปรแกรมชมพระราชวังเครมลิน (Moscow Kremlin) ไว้วันเดียวกับการเที่ยวจัตุรัสแดง จนกลายเป็นชะโงกทัวร์แบบทัวร์ลูกเป็ดทำกัน มาท่องโลกด้วยตัวเองเช่นนี้จึงขอเที่ยวแบบทะลุปรุโปร่งเสียให้โล่งใจ ด้วยการแยกการชมพระราชวังเครมลินออกมา เพราะภายในกำแพงสีแดงที่ทอดยาวจนสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ นอกจากพระราชวังแล้ว ยังมีโบสถ์และสถานที่สำคัญอีกเหลือคณานับ จนองค์การยูเนสโกไม่รอช้าที่จะขึ้นให้เป็นมรดกโลก

ก่อนอื่นต้องอธิบาความหมายของคำว่า เครมลิน (Kremlin) กันสักนิด ว่าหมายถึงป้อมปราการ ฉะนั้นไม่เฉพาะกรุงมอสโก แต่เราสามารถพบคำว่าเครมลินได้ทั่วไปตามเมืองสำคัญๆในรัสเซีย พระราชวังเครมลินจึงหมายถึง พระราชวังที่ตั้งอยู่ในป้อมปราการนั่นเอง ฉะนั้นหากจะเรียกให้ถูกหลังคำว่าพระราชวังเครมลินต้องตามด้วยชื่อเมือง คือ พระราชวังเครมลินมอสโก แต่เพื่อความสะดวก จึงขอเรียกโดยย่อว่า พระราชวังเครมลิน

ไม่รู้เป็นเพราะเมื่อเช้าถูกผมพาเที่ยวสถานีรถไฟจนเบลอหรือเปล่า ตอนนี้น้องเนจึงเกิดอาการเท ด้วยการขับไสไล่ส่งให้ผมเข้าชมพระราชวังเครมลินเพียงคนเดียว ส่วนตัวเธอขอเดินเที่ยวแบบชิลล์เอ้าท์ในจัตุรัสแดง โดยนัดหมายเจอกันหน้าร้านไอศครีมในดวงใจ นั่นคือไอศครีมแห่งห้างกุม

พระราชวังเครมลินแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระเจ้าอีวานที่ 3 ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าซาร์ทุกพระองค์ ยกเว้นช่วงที่เมืองหลวงของรัสเซียย้ายจากกรุงมอสโกไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตามพระราชบัญชาของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่เมื่อเมืองหลวงย้ายกลับมายังกรุงมอสโกอีกครั้ง พระราชวังเครมลินก็กลับมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าซาร์อีกหน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติและเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในสมัยสหภาพโซเวียต พระราชวังเครมลินจะเปลี่ยนฐานะจากพระราชวังที่ประทับของพระเจ้าซาร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงความรวยรุ่มของพระเจ้าซาร์แต่ละพระองค์ และความเจริญที่ถือเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมในยุคนั้นให้ประจักษ์แก่สายตานักเดินทางจากทุกมุมโลก

บัตรเข้าชมพระราชวังเครมลินมีหลายแบบตามประเภทและจำนวนสถานที่ที่เข้าชม หลังจากการยืนงงๆอยู่สักพักว่าจะเลือกแบบไหน กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วเป็นผู้เลือกตั๋วให้ผมเสร็จสรรพ โดยเป็นแบบ Architectural complex of the Cathedral square ซึ่งเป็นการเข้าชมบรรดาโบสถ์และสถานที่สำคัญต่างๆทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพระราชวังเครมลิน ยกเว้นการเข้ามชม Armoury Chamber ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ หากต้องการชมต้องซื้อตั๋วแยกอีกใบ เพราะไม่มีตั๋วแบบเหมารวม

การเดินทางเข้าสู่พระราชวังเครมลินเริ่มกันที่หอคอยคุตาฟิยา (Kutafiya) แล้วเดินบนสะพานสีแดงที่ทอดผ่านกลางสวนอเล็กซานเดอร์สู่ป้อมปราการทรินิตี้ (Trinity) ป้อมปราการยอดแหลมสีเขียวขนาดใหญ่ของแนวกำแพงพระราชวังเครมลิน ในอดีตสะพานสีแดงที่ทั้งสูงและใหญ่นี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามสวน แต่ใช้ข้ามสายน้ำที่ใช้ป้องกันพระราชวังเครมลินจากการรุกราน แต่เมื่อบ้นเมืองสงบ จึงทำท่อใต้ดินให้น้ำไหลผ่าน และสร้างเป็นสวนอเล็กซานเดอร์ขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อเข้าสู่เขตพระราชวังด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ทำให้ผมอยู่ในสภาวะมึนงงไม่รู้ว่าควรจะเดินไปทางไหนดี จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี เอาเป็นว่าช่วงแรกขอเดินตามทัวร์ลูกเป็ดก่อนแล้วกัน

หัวหน้ากรุ๊ปทัวร์พาเดินผ่านอาคาร State Kremlim Palace ซึ่งเป็นอาคารสีเหลืองความสูง 3 ชั้นสู่จัตุรัสเซเนท (Senate Square) กรุ๊ปทัวร์เลี้ยวขวาผมก็เลี้ยวตามประหนึ่งมาทัวร์เดียวกันสู่บริเวณที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว

แน่นอนว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นกลุ่มสถานที่สำคัญ ที่หากมาพระราชวังเครมลินแล้วต้องไม่พลาด แต่สำหรับผมที่ไม่ค่อยชอบผู้คน เห็นเช่นนั้นจึงเดินเลี่ยงแล้วข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม ที่แทบจะปราศจากมนุษย์ จะมีก็แต่ทหารที่ยืนประจำจุด บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอาคารวุฒิสภา (Senate) เป็นกลุ่มอาคารสีเหลือง 3 ชั้น สร้างเชื่อมต่อกัน ในตำแหน่งใจกลางสร้างเป็นอาคารรูปโดม สร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1776 ถือเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่มากในยุคนั้น ด้านหน้าเป็นสวนขนาดใหญ่ ที่มากไปด้วยไม้ดอกสีสันจัดจ้าน ภายในสวนมีผู้คนจำนวนหนึ่งนั่งพักกายภายใต้ร่มเงาไม้ ผมจึงเดินเข้าไปนั่งบ้าง ด้วยบรรยากาศที่เย็นสบาย กับดอกไม้ที่สวยงามทำเอาผมเกือบลืมไปเลยว่าผมมาที่นี่ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเที่ยวชมพระราชวัง

ผมสลัดความปลีกวิเวกทิ้ง แล้วเดินข้ามถนนตรงสู่บริเวณที่ยังคงพลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว พวกเขากำลังยืนถ่ายรูปคู่กับสิ่งของขนาดยักษ์ 2 อย่าง นั่นคือ ปืนใหญ่พระเจ้าซาร์ กับ ระฆังพระเจ้าซาร์ เขียนคำว่า พระเจ้าซาร์มาหลายครั้งแล้ว รวมถึงครั้งนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าทั้งปืนใหญ่กับระฆังถูกสร้างขึ้นโดยคนๆเดียวกันนะครับ เพราะคำว่า พระเจ้าซาร์ หรือ ซาร์ เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินของรัสเซีย โดยมีที่มาจากคำว่า ซีซาร์ ซึ่งเป็นคำใช้เรียกผู้ปกครองสูงสุดในอาณาจักรโรมัน โดยพระเจ้าอิวานที่ 4 เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัสเซียพระองค์แรก ที่เรียกตัวเองว่าพระเจ้าซาร์

เริ่มกันที่ปืนใหญ่พระเจ้าซาร์ (Tsar cannon) กันก่อน ปืนใหญ่กระบอกนี้มีสีเขียว หนักถึง 40 ตัน ยาว 5.34 เมตร ลำกล้องขนาด 89 เซ็นติเมตร ด้านหน้ามีปืนใหญ่ขนาดปกติตั้งเรียงราย เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆว่าปืนใหญ่พระเจ้าซาร์กระบอกนี้ใหญ่สมชื่อจริงๆ นอกจากความใหญ่โตแล้ว ยังตกแต่งลวยลายไว้อย่างสวยงาม ทั้งตัวกระบอกปืนและแท่นรถลาก ที่ด้านหน้าทำเป็นรูปสิงโตแยกเขี้ยวอย่างดุดัน เดินเข้าไปใกล้ๆจึงได้พบว่าที่ปากกระบอกยังมีรูปสลักพระเจ้าซาร์ทรงขี่ม้า ซึ่งพระเจ้าซาร์องค์นี้คือ Feodor Iannovich พระองค์มีราชโองการให้สร้างปืนใหญ่กระบอกนี้ในปีค.ศ. 1586 เพื่อให้เป็นปืนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หวังจะใช้ทำลายกองทัพข้าศึก แต่เอาเข้าจริงๆกลับไม่เคยออกใช้ทำศึกสงครามเลย เป็นแค่เพียงปืนใหญ่ประดับบารมี แต่นั่นก็ถือว่าดี เพราะมิเช่นนั้นคงมีทหารล้มตายจำนวนมากจากแรงระเบิดของปืนใหญ่กระบอกนี้

ใกล้ๆกันเป็นระฆังพระเจ้าซาร์ (Tsar bell) ที่มีขนาดใหญ่โตมโหราฬด้วยความสูง 6.14 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.6 เมตร มีน้ำหนักมากถึง 200 ตัน หรือหนักกว่าปืนใหญ่พระเจ้าซาร์ถึง 5 เท่า ถือเป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในปีค.ศ.1733 ในสมัยพระเจ้าซาร์ Alexei Mikhailovich น่าเสียดายที่ปัจจุบันระฆังใบนี้แตกหัก แต่ช่องที่แตกหักนี้เองที่ทำให้เห็นความหนาของระฆัง โดยส่วนฐานมีความหนาเกือบครึ่งเมตร

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.58 น.

ความคิดเห็น