ด้านหน้าของอาคารบัญชาการฐานทัพเรือเป็นแม่น้ำเนวา ซึ่งเป็นช่วงปากแม่น้ำ ก่อนที่จะไหลสู่อ่าวฟินแลนด์ บริเวณนี้เป็นท่าเรือที่มีเรือท่องเที่ยวให้บริการหลายเส้นทาง ทั้งล่องแม่น้ำเนวาเพื่อชมทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือเดินทางล่องอ่าวฟินแลนด์เพื่อไปยังปีเตอร์ฮอฟแบบที่เรากำลังเดินไปซื้อตั๋วเรือ โดยมีแบบตั๋วไปเที่ยวเดียว กับตั๋วไปกลับ เจ้าหน้าที่พยายามจะขายตั๋วไปกลับให้เรา แต่ดูแล้วไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรในการซื้อตั๋วแบบนี้ เพราะราคาตั๋วก็ไม่ได้ถูกกว่าการซื้อตั๋วทีละเที่ยว แถมยังต้องระบุเวลากลับอีก หากมาไม่ทันก็คือตกเรือ

ปีเตอร์ฮอฟห่างจากตัวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 29 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ภายในเรือมีที่นั่งอย่างเป็นระเบียบ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีดาดฟ้าให้ขึ้นไปชมวิว จึงทำได้แค่เพียงนั่งชมวิวจากหน้าต่างเรือ แต่เอาเข้าจริงๆเมื่อเรือเริ่มเคลื่อนตัวออกจากท่าผมก็เริ่มหลับ มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนเรือเริ่มเข้าเทียบท่าที่ปีเตอร์ฮอฟ อ่าวฟินแลนด์ที่ว่าสวยนักสวยหนาจึงไม่ได้มีโอกาสได้เห็นกัน

เมื่อเราก้าวขึ้นสู่ท่าเรือหน้าพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof) เราจึงได้รู้เหตุผลว่าทำไมเรือจึงไม่มีดาดฟ้าให้ได้ยืนชมวิว พร้อมกับรู้เหตุผลว่าทำไมพระราชวังแห่งนี้จึงเป็นพระราชวังฤดูร้อน เพราะอากาศนั้นหนาวเย็นมาก ยิ่งมีสายลมพัดในเวลาที่เรือวิ่ง ความหนาวเย็นจึงน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ทางเดินสู่ปีเตอร์ฮอฟเรียงรายไปด้วยต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นแนว ขนานกับลำธารที่เป็นเหมือนเส้นนำสายตาสู่พระราชวัง และเมื่อสองสายตาได้เห็น เราก็ถึงกับอึ้งและทึ่งในความงดงามเกินบรรยายของเหล่ารูปปั้นเทพเจ้าสีทองอร่ามนับร้อย ที่ยืนอวดโชว์ซิกแพ็คเรียงรายไปตลอดขั้นบันไดสู่ตัวพระราชวัง โดยอยู่ในท่วงท่าที่แตกต่างกันไป

น้องเนไม่รอช้าที่จะเลือกรูปปั้นที่เธอมองแล้วว่าหล่อสุด หุ่นดีสุดเพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึก โดยรูปปั้นเหล่านี้แทบจะปราศจากอาภรใดๆ มีเพียงใบไม้ใบน้อยที่ปิดของลับไว้เท่านั้น

ปีเตอร์ฮอฟ หรือพระราชวังฤดูร้อนเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เมื่อปีค.ศ.1714 โดยถูกเนรมิตให้เป็นดั่งสรวงสวรรค์บนเนินเขาริมทะเล ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชั้นแนวหน้าในสมัยนั้นหลายคน เริ่มจาก โยฮันส์ ฟรี๊ดริก บราวน์สไตน์ สถาปนิกชาวเยอรมัน ต่อด้วย ฌอง แบ็บติสต์ อเล็กซองเดอร์ เลอบลอนด์ สถาปนิกชาวฝรั่งเศส โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างเรอเนสซองส์กับบารอค แต่หลังจากนั้นก็มีการขยายต่อเติมโดยพระเจ้าซาร์องค์ต่อๆมา จนพระราชวังมีขนาดใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากรูปปั้นของเหล่าเทพเจ้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวขานถึงนั่นคือ น้ำพุ ซึ่งหากเป็นยุคปัจจุบันการสร้างน้ำพุไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีทั้งปั๊มและไฟฟ้า แต่การสร้างน้ำพุเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเก็บน้ำปริมาณมหาศาลไว้ที่ด้านบนของเนินเขา จากนั้นจึงปล่อยให้ไหลตามแรงโน้มถ่วง พร้อมใช้ท่อลดขนาดเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ ซึ่งภายในปีเตอร์ฮอฟแห่งนี้มีน้ำพุมากถึง 150 จุด จนได้รับฉายาว่าสวนแห่งน้ำพุ

ตัวพระราชวังใช้สีหลักคือสีเหลืองสลับขาว หลังคาสีเขียวประดับด้วยลวดลายสีทองจนถึงยอดมงกุฎ ปีกด้านซ้ายของพระราชวังเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้นเสด็จมาเยือนรัสเซีย เมื่อปีค.ศ.1897 รัฐบาลไทยจึงร่วมสมทบทุนในการบูรณะพระราชวังแห่งนี้ รู้เช่นนี้จึงอดคิดไม่ได้ว่า คนไทยน่าจะได้สิทธิ์ยกเว้นการเก็บค่าบัตรเข้าชมพระราชวังแห่งนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ นอกจากเราจะต้องเสียค่าเข้าแล้ว วันนี้เรากลับไม่ได้เข้าไปชมภายในพระราชวังด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่เรามาเที่ยวในวันที่มีการจัดแสดงแสงสีเสียง นอกจากด้านหน้าพระราชวังจะมีนั่งร้านขวางหูขวางตาแล้ว พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงทรัพย์สมบัติและข้าวของเครื่องใช้ของพระเจ้าซาร์องค์ต่างๆยังปิดไม่ให้เข้าชมอีก เราจึงได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า ไว้ไปชมที่พิพิธภัณฑ์เฮอมิเทจแล้วกัน เพราะที่นั้นมีทรัพย์สมบัติละลานตากว่าที่นี้นับสิบนับร้อยเท่า

ดูจากแผนที่ นอกจากตัวอาคารพระราชวังแล้ว เนื้อที่ส่วนใหญ่ของปีเตอร์ฮอฟคือสวน แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ สวนตอนล่าง กับ สวนตอนบน ที่ไล่ไปตามระดับความสูงของเนินเขา นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ปีเตอร์ฮอฟ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเยรมัน แปลว่า สวนของปีเตอร์ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยรมันได้สร้างรอยแค้นให้กับชาวรัสเซียด้วยการทุบทำลาย และขโมยทรัพย์สมบัติในพระราชวังไป ทางการรัสเซียจึงเปลี่ยนชื่อพระราชวังให้เป็นภาษารัสเซียว่า เปตร้าดวอเรียซ ซึ่งแปลว่าวังของปีเตอร์ แต่หลังยุคสหภาพโซเวียต ก็กลับมาใช้ชื่อว่า ปีเตอร์ฮอฟ อีกครั้ง

เราเริ่มเที่ยวชมสวนตอนล่างกันก่อน โดยอยู่บริเวณตอนล่างของกลุ่มอาคารพระราชวัง พื้นที่สวนนั้นกว้างใหญ่มาก แบ่งออกเป็นส่วนๆที่เชื่อมต่อกัน หากเดินจนครบทุกซอกทุกมุมน่าจะใช้เวลาค่อนวัน นอกจากต้นไม้ ดอกไม้ที่ถูกตัดแต่งไว้อย่างสวยงามแล้ว แน่นอนว่าพื้นที่สวนตอนล่างยังคงมากไปด้วยน้ำพุ เทวรูปทั้งชายหญิง ที่สวมใส่อาภรณ์น้อยชิ้นจนถึงไม่มีอาภรณ์เลย โดยมีทั้งเทวรูปทองอร่าม และแบบปูนเปลือยๆ แต่ก็ยังคงสวยงามด้วยสัดส่วนและโครงสร้างกล้ามเนื้อที่ชัดเจน นอกจากนั้นยังมีน้ำตกจำลองซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น

แล้วก็เดินมาถึงสวนตอนบน ซึ่งอยู่บนเนินเขาด้านหลังอาคารพระราชวัง สวนตอนล่างว่ามีเนื้อที่กว้างใหญ่แล้ว แต่สวนตอนบนนั้นเนื้อที่กว้างใหญ่มากกว่าอีก โดยยังคงมากไปด้วยน้ำพุและเทวรูปที่ตั้งเรียงรายรอบบึงน้ำขนาดใหญ่

เดินดูเทวรูปแต่ละองค์ทั้งด้านหน้าพระราชวัง สวนตอนล่าง และสวนตอนบน ทุกองค์ล้วนมีหน้าตาที่งดงาม ทั้งหล่อ ทั้งสวยกันทั้งนั้น แต่ที่สวนตอนบนนี้มีเทวรูปหนึ่งองค์ที่ดูแปลกออกไป เพราะนอกจากรูปร่างจะไม่สวยงาม โดยออกจะลงพุงแล้ว หน้าตายังพิลึกพิลันด้วยการทำแก้มป่อง ปากแบะ จมูกบี้ เห็นแล้วจึงอดไม่ได้ที่จะอมยิ้มให้กับความซนของช่างปั้น

เราเดินชมสวนตอนบนอย่างมีความสุข ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย เมื่อเดินไปเรื่อยๆจึงพบว่า สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของสวนตอนบน ไม่ใช่น้ำพุ เทวรูป หากแต่เป็นต้นไม้นับร้อยนับพันต้นที่ไม่ใช่แค่ปลูกเป็นแนวไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่ใบไม้ก็ถูกตัดแต่งให้เป็นระเบียบ โดยแทบจะไม่มีใบใดเลยที่ยื่นแหลมออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในทุกตารางนิ้ว สมกับที่ได้ชื่อว่า ปีเตอร์ฮอฟ อันหมายถึง สวนของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.28 น.

ความคิดเห็น