เรามาปีเตอร์ฮอฟผิดวันจริงๆ เพราะนอกจากไม่สามารถเข้าชมภายในพระราชวังแล้ว แถมเวลาจะออกก็ไม่ยอมให้ออกอีก ประตูที่จะออกไปท่าเรือก็ถูกปิด ดีนะที่ไม่ได้ซื้อตั๋วเรือแบบไป-กลับ มิเช่นนั้นคงได้เสียเงินฟรี
เจ้าหน้าที่ชี้ให้เราเดินไปอีกทาง ซึ่งต้องย้อนกลับไปที่สวนตอนบนอีกครั้ง อย่างที่บอกว่าสวนตอนบนนั้นกว้างมากๆ กว่าจะเดินพ้นสวนก็เล่นเอาขาแข้งเมื่อยไปหมด แต่สุดท้ายก็พบว่าทางออกนั้นปิด เราเดินออกไปตามถนนด้านข้างพระราชวัง ซึ่งเห็นมีประตูทางออกอยู่ลิบๆ แต่เมื่อเดินไปถึงก็พบว่าประตูนี้ก็ถูกปิดอีกเช่นกัน เอาอย่างไงดี นี่เราจะถูกขังอยู่ในปีเตอร์ฮอฟจนถึงเช้าของอีกวันไหม แต่ก็รู้สึกงงๆว่าในเวลานี้ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชมสวนกันอย่างเป็นเรื่องปกติ ไม่เห็นมีใครเดือดเนื้อร้อนใจในการหาทางออกอย่างเราเลย จึงลองเดินผ่านสวนตอนบนอีกครั้งเพื่อกลับไปถามเจ้าหน้าที่ จึงได้ความว่า ในวันนี้เวลานี้มีทางเดียวที่เราจะออกจากปีเตอร์ฮอฟเพื่อกลับไปยังตัวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นั่นคือการเดินไปตามถนนด้านหลังพระราชวัง เพื่อออกสู่ถนนใหญ่

เราทำตามที่เจ้าหน้าที่บอก ซึ่งในเวลานั้นเข้าใจไปเองว่าคงมีรถเมล์ที่วิ่งตรงถึงตัวเมือง แต่เมื่อถึงถนนใหญ่ เดินไปถามคนนั้นคนโน้นพร้อมโชว์แผนที่ว่ามีรถเมล์สายไหนที่จะพาเรากลับตัวเมืองได้บ้าง แต่ละคนล้วนส่ายหน้า แต่แล้วก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาบอกให้เราข้ามไปฝั่งตรงข้าม แล้วรอรถเมล์ที่นั่น
ที่ป้ายรถเมล์ เราได้รับความช่วยเหลือจากชายคนหนึ่งที่ให้ความกระจ่างว่า จากปีเตอร์ฮอฟไม่มีรถเมล์ที่วิ่งถึงตัวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ผ่านสถานีรถไฟใต้ดิน Abtobo Avtovo จากนั้นก็สบายแล้ว เพราะสามารถโดยสารรถไฟใต้ดินไปยังใจกลางเมืองได้ ซึ่งนอกจากจะให้ข้อมูลแล้ว ชายผู้นี้ยังจะไปลงที่สถานีนี้ด้วยเช่นกัน

เรากล่าวขอบคุณชายผู้นั้นในความมีน้ำใจ จากนั้นก็โดยสารรถไฟใต้ดินสู่ใจกลางเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก น้องเนบอกว่าเริ่มเหนื่อยแล้ว จึงคิดว่าจะเดินเล่นแถวย่านเมืองเก่า จากนั้นค่อยเดินกลับที่พัก ส่วนผมดูจากเวลาแล้ว เย็นนี้น่าจะพอไปป้อมปีเตอร์แอนด์ปอลได้ จึงคิดว่าจะไปลงที่สถานี Nevskiy Prospekt ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เพื่อส่งน้อเน จากนั้นค่อยเดินไปป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล ทั้งที่จริงๆแล้วไปลงที่สถานี Gorkovskaya จะใกล้กว่า แต่เมื่อถึงสถานี Nevskiy Prospekt น้องเนเกิดเปลี่ยนใจ เลือกที่จะไปป้อมปีเตอร์แอนด์ปอลด้วย แทนที่จะเดินออกจากสถานี เราจึงเดินกลับเข้าไปใหม่ เพื่อโดยสารรถไฟใต้ดินต่อไปยังสถานี Gorkovskaya

ภายในสถานีรถไฟใต้ดิน Nevskiy Prospekt เวลานี้ชานชลาแทบจะร้างจากผู้โดยสาร มองเข้าไปในรถไฟที่เพิ่งเทียบชานชลาก็ค่อนข้างโล่ง เราก้าวเท้าเพื่อเดินเข้าไปในรถไฟ แต่แล้วก็มีชายร่างใหญ่ 4 – 5 คน โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้แย่งกันขึ้นรถไฟ เบียดผมกับน้องเนไปคนละทาง ในเวลานั้นผมได้แต่คิดว่าทำไมต้องแย่งกันขึ้นรถไฟกันขนาดนี้ ผู้โดยสารก็มีไม่กี่คน ในรถไฟก็ค่อนข้างโล่ง ผมพยายามแทรกตัวออกจากการเบียดดังกล่าวเพราะรู้สึกอึดอัดเหลือเกิน แต่เมื่อหลุดออกมา นอกจากพบกับความอิสระแล้ว ผมยังพบว่า กระเป๋าสตางค์ที่ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงได้หายไปเสียแล้ว !

ในตอนนั้น ไม่ได้คิดว่าถูกขโมย แต่กลับคิดว่ากระเป๋าสตางค์หล่นจากกระเป๋ากางเกงตอนไหน แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตอนเดินขึ้นรถไฟมันยังอยู่ในกางเกงอยู่เลย กระเป๋าสตางค์มันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันต้องอยู่กับชายร่างใหญ่คนใดคนหนึ่งที่เบียดผมแน่ จึงหันไปบอกน้อเนว่ากระเป๋าสตางค์โดนล้วง เราสองคนพยายามสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับชายเหล่านั้น พวกเขาทำไม้ทำมือบอกว่าฟังเราไม่เข้าใจ แม้ในเวลานั้นผู้โดยสารในรถไฟเริ่มหันมามองแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจในทำนองธุระไม่ใช่ แล้วหนึ่งในชายร่างใหญ่ก็บอกเราว่า ชายผู้ล้วงกระเป๋าได้วิ่งหนีไปแล้ว
“พี่อย่าไปเชื่อ พวกมันมาเป็นแก๊งค์ พวกมันนั่นแหละเอาไป” น้องเนออกความเห็น แต่ดูจากสถานการณ์แล้ว เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ใจเวลานั้นอยากจะขอค้นตัวพวกมัน แต่พวกมันคงไม่ยอม อีกทั้งแต่ละคนก็ตัวใหญ่อย่างกับหมี ขืนทำเช่นนั้นมีหวังเราสองคนโดนหมีขาวรัสเซียรุมสะกำแน่ เมื่อรถไฟเคลื่อนตัวถึงสถานี Gorkovskaya แทนที่จะเดินออกจากสถานีเพื่อเที่ยวชมป้อมปีเตอร์แอนด์ปอลตามที่ตั้งใจ เราจึงต้องนั่งรถไฟใต้ดินย้อนกลับมายังสถานี Nevskiy Prospekt ซึ่งเป็นสถานีที่เกิดเหตุเพื่อแจ้งตำรวจ

ตำรวจหนุ่มประจำสถานีพาเราเดินไปแจ้งความกับสถานีตำรวจภายในระบบรถไฟใต้ดิน แต่ปิด จึงพาเราเดินแล้วก็เดิน เข้าแล้วก็ออกไปยังชานชลานั้น สู่ชานชลานี้จนงงไปหมด จนรู้สึกว่าระบบรถไฟใต้ดินที่รัสเซียนั้นซับซ้อนยิ่งนัก จากนั้นก็ให้เรายืนรอ เพื่อเดินเข้าไปสอบถามทาง ในเวลานั้นผมจึงรีบโทรไปหาพี่สาวที่เมืองไทย เพื่อให้ช่วยโทรไปอายัติบัตรเครดิต ดีที่เวลาในเมืองไทยในขณะนั้นยังไม่ดึกมากนัก ในขณะที่พี่สาวที่เมืองไทยกำลังโทรไปอายัติบัตรเครดิตให้ ผมก็โทรไปอายัติบัตรด้วยเช่นกัน แต่เบอร์ Call Centre ของธนาคารธนชาตคือ 1770 เบอร์ 4 หลักแบบนี้ไม่สามารถโทรหาจากต่างประเทศได้
ตำรวจหนุ่มเดินกลับมาหาเราเพื่อพาเราไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ในซอกหลีบของชานชลา ภายในมีตำรวจสาวกำลังสอบสวนผู้ต้องหารายหนึ่งอยู่ เราต้องรออยู่นานกว่าเธอจะสอบสวนจนเสร็จ แล้วหันมาสอบถามเราในเรื่องที่เกิดขึ้น
แล้วภาษาก็เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ตำรวจหญิงใช้โปรแกรมแปลภาษาจากมือถือ เธอส่งให้ผมพิมพ์เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แล้วโปรแกรมจึงแปลเป็นภาษารัสเซีย จากนั้นเธอก็พิมพ์คำถามเป็นภาษารัสเซีย ให้โปรแกรมแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งมือถือให้ผม ส่งมือถือไปๆมาๆอย่างนี้ไม่รู้เรื่องแน่ ผมจึงโทรศัพท์ไปหาคนที่รู้จักที่เมืองไทย เป็นอาจารย์สอนรัสเซียศาสตร์ซึ่งสามารถพูดภาษารัสเซียได้ ตำรวจหญิงจึงเข้าใจในเรื่องที่เกิด แต่เราก็ยังไม่ได้ใบแจ้งความใดๆจากเธอ เธอโทรไปหาตำรวจอีกนายหนึ่ง หลังจากคุยเสร็จเธอก็บอกให้เราไปยืนรอที่หน้าร้านเช่าดีวีดี ซึ่งอยู่หน้าสถานีตำรวจ ประมาณ 10 นาทีจะมีตำรวจอีกคนมาหาเรา
เรายืนรออยู่หน้าร้านดีวีดีด้วยความงงๆ ว่าทำไมการแจ้งความในรัสเซียถึงยุ่งยากและเสียเวลาขนาดนี้ ใช้เวลานานเช่นนี้คนร้ายคงหนีไปไหนต่อไหนแล้ว แล้วก็เป็นไปตามที่คิด มี SMS จากธนาคารธนชาตส่งมาว่าขอบคุณที่ใช้บัตรเครดิต ยอด 25,700 รูเบิล เอาเข้าแล้วไง ขโมยมันรูดบัตรของผมแล้ว แล้วอีกไม่ถึงนาทีก็มี SMS ส่งเข้ามาอีก เป็นของธนาคารธนชาตเหมือนเดิม ว่าขอบคุณที่ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร 39,657 รูเบิล ทำเอาผมถึงกลับอึ้ง นี่จะขอบคุณผมทำไม ผมไม่ได้ใช้มันสักหน่อย

แล้วก็มีตำรวจผู้ชายตัวใหญ่นอกเครื่องแบบเดินเข้ามาหา เขาพาเราเดินๆๆแล้วก็เดิน เพื่อไปยังสถานีตำรวจอีกแห่ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในชานชลาเหมือนกัน จนเรารู้สึกว่าทำไมสถานี Nevskiy Prospekt มันช่างกว้างใหญ่และลึกลับเช่นนี้
ตำรวจนายนี้พอจะพูดภาษาอังกฤษได้ เขาโทรไปหาตำรวจผู้หญิงแล้วก็เขียนใบแจ้งความให้ผมเป็นภาษารัสเซีย เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมงกับการแจ้งความ ดูท่าแล้วจะหมดสิทธิ์ได้กระเป๋าสตางค์คืน ได้เพียงแค่ใบแจ้งความ 1 ใบเป็นภาษารัสเซีย ซึ่งอ่านไม่ออกว่าเขียนว่าอะไร ในใจเวลานั้นจึงได้แต่ภาวนาว่าอย่ามี SMS ขอบคุณที่ใช้บัตรเครดิตส่งเข้ามาอีกเลย
เป็นเรื่องปกติที่ทุกครั้งในการเดินทางผมจะแบ่งเงินไว้ 2 กระเป๋า คือกระเป๋าสตางค์ กับกระเป๋าคาดเอว แม้กระเป๋าสตางค์จะถูกล้วงไปแล้ว แต่ก็ยังดีที่กระเป๋าคาดเอวยังอยู่ นอกจากพาสปอร์ทที่อยู่รอดปลอดภัยแล้ว ในกระเป๋าคาดเอวยังมีเงินส่วนหนึ่งให้ผมพอใช้ชีวิตรอดในรัสเซียจนถึงกลับประเทศไทย
“จะกลับที่พักเลยไหมพี่ โดนล้วงกระเป๋าอย่างนี้คงหมดอารมณ์เที่ยว” น้องเนถามด้วยความเป็นห่วง แต่ผมกลับตอบไปว่า
“ไม่อะ นี่ออกจากสถานีรถไฟใต้ดินก็เป็นวิหารคาซานแล้ว เสียเวลาแจ้งความไปเกือบ 2 ชั่วโมง โปรแกรมเที่ยวพรุ่งนี้ต้องแน่นแน่ๆ เที่ยววิหารคาซานเสียวันนี้เลยแล้วกัน” ว่าแล้วเราสองคนจึงเดินตรงไปยังวิหารคาซาน เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

วิหารคาซาน (Kazan Cathedral) ก่อสร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เมื่อปีค.ศ.1708 เดิมเป็นเพียงโบสถ์เล็กๆ เมื่อเวลาผ่านไปเกือบร้อยปีในสมัยพระเจ้าปอลที่ 1 เมื่อปีค.ศ.1799 เมื่อพระองค์เสด็จประภาสกรุงโรม แล้วเกิดความประทับใจในรูปแบบสถาปัตยกรรม จึงมีพระราชโองการให้บูรณะวิหารคาซานด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอ คาสสิค โดยเป็นอาคารครึ่งวงกลม ตัววิหารนั้นอยู่เฉพาะตรงกลาง ยอดสร้างเป็นรูปโดม ลักษณะคล้ายพระที่นั่งอนันตสมาคมในบ้านเรา ส่วนโค้งฝั่งซ้ายและขวานั้น มีเสาโรมันตั้งเรียงรายกันในลักษณะระเบียง เสริมให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ
ด้านหน้าวิหารมีอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของระเบียงซ้ายขวา หากเป็นวิหารทั่วไปอนุสาวรีย์ด้านหน้าวิหารมักจะสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงนักบุญผู้ก่อตั้งวิหารเหล่านั้น แต่สำหรับวิหารคาซานแห่งนี้ไม่ใช่ เพราะอนุสาวรีย์ทั้ง 2 นี้สร้างให้กับ 2 นายพล คือ คูตูซอฟ กับ เดตอลลี ผู้นำกองทัพรัสเซียไปสู้รบในสงครามนโปเลียนจนได้รับชัยชนะ แล้ว 2 นายพลนี้เกี่ยวอะไรกับวิหารคาซาน ภายในวิหารนี้มีคำตอบ

ภายในวิหารเปิดให้เข้าชมโดยไม่ต้องซื้อบัตร เราจึงเดินเข้าไปภายในวิหารด้วยอาการสงบ ภายนอกนั้นว่าอลังการแล้ว แต่ภายในนี้กลับอลังการมากกว่า แม้จะไม่มีป้ายห้ามถ่ายรูป แต่บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์จากการประกอบพิธีกรรมของชาวคริสต์นิกายออกโธด๊อกซ์ ก็ทำให้ผมไม่กล้าที่จะหยิบกล้องขึ้นมา จึงได้แต่ยืนนิ่งเพื่อดูการประกอบพิธีกรรมอย่างสงบที่เบื้องหน้าไอคอนหรือรูปเคารพของพระแม่มารี ที่ร่ำลือกันว่าชาวรัสเซียสักการะรูปพระแม่มารีนี้ก่อนออกรบกับชาวตาตาร์ทำให้ชนะศึก โดยปัจจุบันชาวตาตาร์ได้อพยพไปอยู่ที่ตาตาร์สถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย แต่ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งกลับบันทึกไว้ว่า ไอคอนนี้ชาวรัสเซียนำมาจากคอนสแตนติโนเปิลหรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน แต่อยู่ๆไอคอนนี้ก็หายไป เมื่อพระเจ้าอีวานที่ 4 บุกตีอาณาจักรข่านคาซาน ก็พบไอคอนนี้อีกครั้ง จึงนำกลับเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และตั้งชื่อไอคอนนี้ว่า ไอคอนแม่พระแห่งคาซาน
คำร่ำลือในความศักดิ์สิทธิ์ของรูปพระแม่มารีแห่งคาซานยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อ 2 นายพล คือ คูตูซอฟ กับ เดตอลลีได้เข้ามาขอพรกับรูปพระแม่มารีก่อนออกรบและได้รับชัยชนะในสงครามนโปเลียน ความศักดิ์สิทธิ์ของรูปพระแม่มารีแห่งคาซานจึงเลื่องลือมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ไม่ว่าเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมานี้จะเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องแต่ง แต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ชาวรัสเซียก็เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ใช้ศาสนาสร้างความเชื่อ ไอคอนพระแม่แห่งคาซานก็เป็นหนึ่งในหลายๆไอคอนที่ถูกใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากศาสนาพุทธในบ้านเรา ที่พระพุทธรูปเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
ออกจากวิหารคาซานก็เป็นเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าเต็มที เราเดินกลับที่พักผ่านทางถนนเนฟสกี้ (Nevsky) ท้องฟ้ายิ่งมืด ถนนสายนี้ยิ่งคึกคักจากบรรดาร้านรวง และผู้คนที่เดินกันอย่างขวักไขว่ สรรพสินค้าที่ขายเน้นไปทางเสื้อผ้า และร้านอาหาร ซึ่งว่ากันว่าใครได้มาเดินถนนสายนี้ มีอันต้องตื่นตาตื่นใจจนไม่รู้จักหลับจักนอน แม้เพิ่งหลอกตัวเองว่าไม่เป็นอะไรด้วยการไปเที่ยววิหารคาซานทันทีหลังจากที่ถูกล้วงกระเป๋า แต่เอาเข้าจริงๆความรู้สึกในเวลานั้นสองสายตาและสมองไม่ได้สนใจในสิ่งล่อตาล่อใจ และแสงไฟบนถนนเนฟสกี้เลย แต่อยากไปนอนอย่างคนหมดแรงมากกว่า
เพราะแค่วันแรกที่มาสัมผัสเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผมก็ฝันร้ายไปทั้งคืน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.35 น.