ผมตั้งใจจะไปอินเดียเพียงคนเดียว โดยไม่หวั่นกับคำทักท้วงจากเพื่อนๆว่าการเดินทางในอินเดียนั้นแสนลำบาก ไหนจะเรื่องความไม่เจริญหูเจริญตาของวิถีชีวิตผู้คน ความสกปรกบนท้องถนน โดยเฉพาะเรื่องสุขาที่มีก็เหมือนไม่มี เพราะชาวอินเดียส่วนใหญ่มักจะถ่ายหนักถ่ายเบากันอย่างเปิดเผย โดยไม่ยึดติดกับเรื่องสถานที่ อีกทั้งยังเรื่องความสะอาดและรสชาติของอาหารที่ส่วนใหญ่ไม่ถูกปากคนไทยแบบเรา
แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะเป็นแค่ลักษณะภายนอกที่เคลือบไว้ให้คนที่กลัวๆกล้าๆถอนตัวจากการเดินทาง คนเหล่านั้นจึงพลาดโอกาสดีๆในชีวิตที่จะได้สัมผัสถึงความสวยงามของศิลปวัฒนธรรม ที่สะท้อนออกมาจากหลายสถานที่ ซึ่งซ่อนไว้ในดินแดนภารตะแห่งนี้ หากคิดจะเดินทาง ก็อย่าไปกลัวกับสิ่งต่างๆที่ยังไม่พบเจอ
แม้อยากเดินทางเพียงคนเดียว แต่เอาเข้าจริงๆที่สนามบินอินทิรา คานธี (Indira Gandhi International Airport) ในกรุงนิวเดลี (New Delhi) ระหว่างต่อคิวตรวจหนังสือเดินทางผมก็ได้รู้จักนักเดินทางคนไทย 4 คน คือ หรั่ง กับต้น 2 หนุ่ม ที่ลาเรียนมาเที่ยวด้วยกัน และ จุ๊ กับ เบสท์ 2 สาวพี่น้องใจหาญกล้าที่ชักชวนมาแบกเป้ท่องอินเดียโดยไม่หยี่หระต่อทุกคำขู่ ด้วยแผนการเดินทางวันแรกๆที่เหมือนกัน เราจึงชักชวนเดินทางในช่วงวันแรกๆด้วยกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นผลจากทฤษฎีแรงดึงดูด ที่มักจะดึงคนที่มีนิสัยเหมือนๆกันให้มาเจอกัน
เครื่องบินลงจอดเวลา 4 ทุ่ม 40 นาที แต่กว่าจะผ่านการตรวจหนังสือเดินทางก็เป็นเวลา 5 ทุ่มครึ่ง หากเทียบกลับเป็นเวลาไทยซึ่งเร็วกว่าอินเดีย 1 ชั่วโมง 30 นาที ขณะนี้ก็ปาเข้าไปตี 1 แล้ว ทำให้ผมสุดแสนจะง่วงนอน จึงชักชวนเพื่อนหน้าใหม่ แต่หัวใจรักการเดินทางเหมือนกัน หาที่นั่งเพื่อหลับสักตื่นก่อนที่จะออกจากสนามบินในเวลาใกล้รุ่ง แต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครหลับลง เพราะไม่สามารถข่มใจต่อเสียงรบเร้าของหัวใจที่เต้นโครมครามว่าอยากท่องอินเดียเสียแต่ตอนนี้ จึงพากันแบกเป้ออกไปนอกอาคารผู้โดยสารเพื่อหารถแท็กซี่พาไปส่งในตัวเมือง แต่แท็กซี่ที่สนามบินมีแบบเดียวเท่านั้นคือแบบ Pre paid ที่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่เรียกค่าโดยสารคันละ 400 รูปีต่อผู้โดยสาร 4 คนเท่านั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันทีเพราะเรามีกัน 5 คน
เพราะไม่อยากเสียเงินจำนวนมากตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เหยียบแผ่นดิน เราจึงเข้าไปเจรจาแบบลับๆกับคนขับว่าขอนั่ง 5 คนต่อคันได้ไหม ทีแรกคนขับก็ทำท่าอิดออด แต่สุดท้ายก็ยอม โดยขอเงินเพิ่มอีก 100 รูปี คน 5 คนที่เพิ่งรู้จักกันเพียงไม่นาน จึงนั่งเบียดกันเป็นปลากระป๋องในรถแท็กซี่รุ่นคุณปู่
เราให้แท็กซี่ไปส่งที่สถานีรถไฟนิวเดลี เพื่อหมายจะจับรถไฟเที่ยวแรกไปไจปู้ร์ตั้งแต่เช้า ทันทีที่ถึงสถานีรถไฟเราก็ถึงกับอึ้งไปตามๆกันกับภาพที่เห็น เพราะชั้นล่างของอาคารผู้โดยสารนั้นเต็มไปด้วยชาวอินเดียที่ทั้งนั่งและนอนกระจายเต็มพื้นที่ เพื่อเฝ้ารอการมาถึงของรถไฟขบวนแรก นั่นคือภาพแรกที่ผมได้เห็น ในการยืนยันถึงปริมาณและความหนาแน่นของประชากรชาวอินเดียที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือบางที สำหรับบางคน ที่นี่อาจเป็นบ้านที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา
เราสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงตั๋วรถไฟไปไจปู้ร์ ได้ความว่ารถไฟเที่ยวแรกจะออกเวลาตี 5 แต่ไม่สามารถจองตั๋วได้ ให้เรากลับมาซื้อใหม่ในเวลาตี 4 ครึ่ง แล้วเวลาที่เหลืออีก 2 ชั่วโมงจากนี้เราจะไปสิงสถิตที่ไหนดีหนอ จะให้ไปนั่งจับเจ่ารวมกลุ่มกับชาวอินเดียในอาคารผู้โดยสารก็คงไม่ไหว อีกทั้งอากาศยามดึกนั้นหนาวยิ่งนัก เราจึงเลือกไปนั่งหลบหนาวและฆ่าเวลาในร้านอาหารหน้าสถานีที่ยังเปิดให้บริการ
เราใช้เวลากับการนั่งๆนอนๆอยู่ที่ชั้น 2 ในร้านอาหารที่มีแต่เราเท่านั้นที่เป็นลูกค้า จนเวลาล่วงเลยถึงตี 4 เศษ ผมกับเบสท์จึงชวนกันออกไปซื้อตั๋วรถไฟตามที่เจ้าหน้าที่บอกไว้ แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าตั๋วรถไฟไม่มี ถ้าจะไปไจปู้ร์ต้องไปขึ้นที่สถานีรถไฟโอล์ดเดลี (Old Delhi) เท่านั้น เอากับเขาสิ แล้วทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก สุดท้ายจึงได้แค่เก็บคำว่า “งง” ไปฝากเพื่อนๆแทนตั๋วรถไฟ
ในเมื่อตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่แล้วว่าอย่างไงเสียวันนี้เราต้องได้ตั๋วรถไฟไปไจปู้ร์ เราจึงใช้บริการรถไฟฟ้า Metro เพื่อไปซื้อตั๋วที่สถานีรถไฟโอล์ดเดลี
สถานีรถไฟโอล์ดเดลีมีศิลปะและรูปแบบการสร้างที่เก่าแก่ดูคลาสสิคต่างจากสถานีนิวเดลีที่เป็นสถานีที่สร้างขึ้นใหม่อย่างเห็นได้ชัด แล้วเราก็ต้องสับสนกับการซื้อตั๋วรถไฟไปไจปู้ร์ เพราะนอกจากความวุ่นวายจากผู้โดยสารจำนวนนับพันแล้ว ยังถูกชาวอินเดียแซงคิวกันอย่างหน้าตาเฉย จนเพื่อนๆถอดใจออกไปนั่งสงบสติอารมณ์อยู่ด้านนอก ปล่อยให้ผมผจญกับชาวอินเดียต่อไปเพียงลำพัง
รถไฟไปไจปูร์เที่ยวแรกออกไปแล้วตั้งแต่เวลา 04.25 น. เที่ยวต่อไปจะเป็นตอนสายๆ โดยจะถึงไจปู้ร์ตอนเย็น หากเรายังตั้งใจที่จะไปไจปูร์ในวันนี้ ก็เท่ากับว่าวันนี้ทั้งวันจะหมดไปโดยที่ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย ไหนๆเวลาก็ล่วงเลยมาจนขนาดนี้แล้ว ผมจึงตัดสินใจซื้อตั๋วรถไฟของวันพรุ่งนี้เที่ยวแรกแทน เพื่อให้วันนี้พอมีเวลาเที่ยวเดลี แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาส่วนใหญ่ของวันนี้ก็หมดไปกับการหาที่พัก กับการต่อแถวผ่านเครื่อง X Ray ของรถไฟฟ้า Metro
ย่านโอล์ดเดลีไม่ได้ถูกแนะนำว่าเป็นย่านที่พักสำหรับเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ แต่เพื่อตั้งหลักในการเดินทางในวันพรุ่งนี้ เราจึงตัดสินใจที่จะพักที่นี่ แต่หลังจากที่เดินวนไปวนมากับเวลาที่ล่วงเลยไปร่วมชั่วโมง สิ่งที่เราได้รับคือน้ำเหลว เพราะแม้จะมีที่พักจำนวนมาก แต่ที่พักส่วนใหญ่นั้นไม่มีใบอนุญาตจากรัฐบาลสำหรับให้ชาวต่างชาติเข้าพัก จะมีก็แต่โรงแรมขนาดใหญ่เท่านั้นที่อ้าแขนต้อนรับเรา แต่ก็ติดที่ราคาสูงเกินกว่าพวกแบกเป้เช่นเราจะรับไหว
เราโบกออโต้ริกซอว์ (Auto Rickshaw) หรือรถตุ๊กตุ๊กเพื่อไปยังย่านปาฮากันจ์ (Paharganj) ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟนิวเดลี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของที่พักราคาประหยัดของแบ็คแพ็คเกอร์
นิวเดลี หรือเขตเมืองใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่อินเดียตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ ในปีพ.ศ.2420 โดยมีเซอร์เอ็ดวิน ลุตเยนส์ (Edwin Lutyents) กับเฮอร์เบิร์ต เบเกอร์ (Herbert Berger) เป็นผู้ออกแบบผังเมือง เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของรัฐสภา รัฐบาลและที่ทำการของหน่วยงานราชการโดยใช้เวลาสร้างเมืองใหม่แห่งนี้นานถึง 19 ปี
ทันทีที่ถึงย่านปาฮากันจ์ นายหน้าโรงแรมก็เข้ามาประกบพวกเราทันที โดยทั้งแนะนำ ชักจูงและจูงมือเราให้ไปยังที่พักที่เขาได้ส่วนแบ่ง เราพยายามปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีกจนถึงขั้นเดินหนี แต่นายหน้าที่หน้าเข้มก็ไม่ยอมปล่อยเราพวกหน้าจืดไปง่ายๆ จุ๊จึงออกความคิดให้ผมชวนนายหน้าไปหาที่พักไกลๆ ในขณะที่เธอกับต้นจะแยกไปหาที่พักซึ่งน่าจะได้คุณภาพและราคาถูกกว่า ส่วนหรั่งกับเบสท์ถูกมอบหมายให้ยืนเฝ้าสัมภาระ
ด้วยแผนของจุ๊ทำให้ผมถูกนายหน้าเดินจูงมือเหมือนเป็นผู้ต้องหาไปตามที่พักต่างๆจนเมื่อยขา แต่ก็คุ้มค่าเพราะจุ๊กับต้นสามารถหาที่พักที่สะอาดและราคาประหยัดได้ แต่นั่นก็ต้องแลกกับการเสียเวลาไปร่วมชั่วโมง
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.07 น.