เพราะต้องการสร้างความประทับใจ อารีจึงพาเราแวะเที่ยวชมเกียเตอร์ (Gaitor) ก่อนที่จะมุ่งสู่ป้อมแอมเบอร์ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่บนเขา
ค่าเข้าชมเกียเตอร์นั้นแสนถูก เพียงแค่ 30 รูปีเราก็สามารถเข้าสัมผัสความงามได้อย่างชิดใกล้ โดยเกียเตอร์เป็นสุสานของมหาราชาสไว ไจสิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Jai Singh 2)
แม้จะเป็นสุสานขนาดเล็กหากเทียบกับสุสานสะท้านโลกอย่างทัชมาฮาล แต่เกียเตอร์ก็มีมุมมองสวยๆให้ชมหลายมุม โดยเป็นการผสมผสานของ 2 สถาปัตยกรรมจาก 2 ศาสนา โครงสร้างภายนอกสร้างเป็นอาคารที่มากไปด้วยโดม อันสะท้อนถึงสถาปัตยกรรมแบบศาสนาอิสลาม ในขณะที่ลวดลายแกะสลัก ตามผนังและใต้หลังคาโดมขนาดใหญ่อันเป็นจุดศูนย์กลางนั้นแสดงเรื่องราวของศาสนาฮินดู เช่น ภาพสลักการกวนเกษียรสมุทรที่คนไทยคุ้นตา
แหงนคอมองภาพสลักจนเมื่อย แต่ผมก็ต้องแหงนคอต่อ เพราะตำแหน่งที่ตั้งของเกียเตอร์นั้นอยู่บริเวณเชิงเขาจึงเห็นแนวกำแพงของป้อมแอมเบอร์ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา จนผมหมายมั่นที่จะเดินขึ้นไปยังป้อมแอมเบอร์จากตำแหน่งนี้ แต่ก็ต้องถอดใจเพราะดูจากระยะทางแล้ว กว่าจะเดินถึงป้อมมีหวังได้ค้างแรมระหว่างทางแน่ สุดท้ายจึงย้อนกลับมาหาอารีเพื่อให้พาขึ้นป้อมแอมเบอร์เหมือนที่คนทั่วไปเขาขึ้นกัน
ป้อมปราการสีเหลืองอำพันขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นอยู่บนแนวเขาที่เห็นได้แต่ไกล นั่นคือป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งเมืองไจปู้ร์ สร้างโดยมหาราชามันสิงห์ที่ 1 เมื่อปีพ.ศ.2135
หลังจากข้ามบึงน้ำขนาดใหญ่ บันไดที่ทอดตัวไหลเลื้อยขึ้นเขาก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้าให้เราก้าวเดิน ยิ่งเดินสูงขึ้นเท่าไหร่ นอกจากความยิ่งใหญ่ของป้อมแอมเบอร์สีเหลืองอำพันจะฉายชัดมากขึ้นแล้ว แนวกำแพงที่ทอดยาวไปตามสันเขาก็เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คืออีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากไฟแห่งสงครามระหว่างมหาราชาแห่งราชวงศ์ราชปุตผู้ปกครองเดิม กับราชวงศ์โมกุล ชาตินักรบที่แข็งแกร่งจากดินแดนมองโกล
ด้านบนป้อมแอมเบอร์เป็นลานกว้าง พื้นที่ส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ที่ซุกซ่อนความงามไว้หลังกำแพงอันแข็งแกร่ง ภายในพระราชวังแบ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายนอก ประกอบด้วยท้องพระโรงและลานกว้างสำหรับฝึกทหาร และเขตพระราชฐานฝ่ายใน อันเป็นที่ประทับของมหาราชา มเหสีและเหล่านางสนม
พระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังดั้งเดิมของมหาราชาแห่งเมืองไจปู้ร์ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บนเทือกเขา ที่แม้จะมีผลดีในเรื่องชัยภูมิที่ป้องกันการถูกรุกราน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ในปีพ.ศ.2270 มหาราชาไจสิงห์จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางการปกครองจากป้อมแอมเบอร์ลงมาสู่ที่ราบเชิงเขา นั่นคือพระราชวังไจปู้ร์ที่ผมเพิ่งไปเยือน
ลงจากป้อมแอมเบอร์ อารีก็จอดแวะให้ชม จาลมาฮาล (Jal Mahal) พระราชวังที่ถูกสร้างขึ้นกลางทะเลสาบขนาดใหญ่นามว่ามนตรา (Maotha) เพื่อทำหน้าที่เป็นพระราชวังฤดูร้อน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่กลางทะสาบที่น้ำใสสะอาด โอบล้อมด้วยแนวทิวเขา ประกอบกับบรรยากาศยามเย็นที่พระอาทิตย์ใกล้อัสดง ภาพของจาลมาฮาลในเวลานี้จึงงดงามดั่งปราสาทในสรวงสวรรค์ ที่ปรากฏให้คนเดินดินได้แลเห็น
เวลาผ่านพ้น 5 โมงเย็นไปแล้ว นั่นหมายความว่าวันนี้เราหมดสิทธิ์ที่จะได้เข้าชมภายในฮาวา มาฮาล หนึ่งในสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองไจปู้ร์ ซึ่งปิดในเวลา 16.30 น. แต่อย่างน้อยในขณะนี้แสงแดดก็ยังคงพอมีให้เราได้ชมความงามจากภายนอก ผมจึงบอกให้อารีพากลับตัวเมืองไจปู้ร์เพื่อชมฮาวา มาฮาลตามที่ตกลงกันไว้ แต่อารีปฏิเสธเสียดื้อๆ โดยบอกว่าฮาวา มาฮาลปิดแล้ว และคะยั้นคะยอให้เราเข้าชมร้านค้าจำหน่ายงานหัตถกรรมให้ได้ ซึ่งเรารู้อยู่แก่ใจว่าหากเราเข้าชม เขาย่อมได้เงินเล็กๆน้อยๆจากร้านค้านั้น
แม้ใจหนึ่งก็อยากให้อารีได้เงินเล็กๆน้อยๆนั้น แต่ในเมื่อเราไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้กลับมาเยือนไจปู้ร์อีกเมื่อไหร่ อย่างไรเสียวันนี้เราก็ต้องไปชมฮาวา มาฮาลให้ได้ แม้จะแค่ภายนอกก็ตาม เราจึงตัดสินใจไม่ลงจากรถ และยืนกระต่ายขาเดียวให้อารีพาเราไปชมฮาวา มาฮาลตามที่ตกลงกันไว้
อารีไม่รู้จะทำอย่างไง สุดท้ายจึงพาเรากลับตัวเมืองไจปู้ร์ โดยจอดรถหน้าฮาวา มาฮาลตามที่เราต้องการ และในที่สุดเราก็ได้เห็นฮาวา มาฮาล หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อพระราชวังแห่งสายลม ที่มีช่องหน้าต่างมากมายนับสิบนับร้อยบานตามที่ตั้งใจไว้
อารีพาเรากลับมาส่งยังที่พัก พร้อมกับคำถามง่ายๆแต่ยากที่จะตอบว่า วันนี้เราประทับใจในบริการของเขาไหม เราสามคนมองหน้ากัน ว่าบริการแบบนี้น่าประทับใจหรือไม่ แม้ในใจจะตอบตรงกันว่า “ไม่” แต่ด้วยความเกรงใจแบบคนไทย เราจึงตัดใจให้เงินค่าทิปอีก 100 รูปีตามที่เขาหวังไว้
สองสาวจุ๊กับเบสท์กลับมาช้ากว่า 3 ชายหนุ่มนานพอควร แต่กลายเป็นว่า นอกจากเมืองสีชมพูกับแหล่งช็อปปิ้งที่สารถีนามว่าสาไมร์พาไปแล้ว เธอสองคนก็แทบจะไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย อีกทั้งสาไมร์ยังตามตื๊อให้เธอทั้งสองจ้างพาไปเที่ยวเมืองไจปู้ร์ต่อในวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้แต่เป็นห่วงว่าสองสาวจะรับมือกับเล่ห์เหลี่ยมของหนุ่มอินเดียที่พูดไม่หยุดคนนี้ได้ไหม
เพราะต่างคนต่างมา ต่างคนจึงต่างมีเส้นทางของตัวเอง วันรุ่งขึ้นผมวางแผนที่จะเดินทางไปแอจเมอร์แล้วต่อไปยังเมืองต่างๆในรัฐราชสถาน ส่วนหรั่งกับต้นเลือกเดินทางไปแสวงบุญที่พาราณสี ในขณะที่จุ๊กับเบสท์เลือกที่จะเตร็ดเตร่อยู่ในไจปู้ร์ต่อ ค่ำนี้เราจึงชักชวนกันไปที่สถานีขนส่งเพื่อสอบถามตารางเดินรถ ตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือกไป รวมถึงกินมื้อค่ำร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย
ในเมื่อเป็นมื้อสุดท้ายเราจึงเลือกอาหารชุดใหญ่คือ Special Thali ซึ่งมีหลากหลายรายการอาหารที่ยกกันมาเป็นกองทัพ ด้วยราคาเพียงชุดละ 90 รูปี ทั้งข้าว ซุปมะเขือเทศ สลัดผัก แกงกะหรี่ และสารพัดโรตีที่เสิร์ฟแบบไม่อั้น ทั้งแบบหนานุ่ม แบบบางกรอบ กินยังไม่ทันหมดชิ้น พนักงานในร้านก็เดินมาเสิร์ฟชิ้นใหม่ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอถาม เห็นทีงานนี้จะเบื่อโรตีกันไปอีกนาน จึงลดความเลี่ยนด้วยการสั่งนมเปรี้ยวเนื้อข้นผสมผลไม้ หรือ ลาซซี่ (Lassi) กินคนละถ้วย กินไป แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางไป สุขใจมิใช่น้อย
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.04 น.