ยังไม่ทันที่พระอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้า ผมก็แบกเป้คู่ใจ พร้อมโบกมืออำลาเพื่อนๆที่ยังฝังกายไว้บนเตียง เพื่อออกเดินทางไปยังเส้นทางที่ผมเป็นคนกำหนดเองเพียงลำพัง

รถโดยสารประจำทางสู่แอจเมอร์ (Ajmer) เที่ยว 06.00 น. พาผมเดินทางผ่านสายหมอกและอากาศหนาวเย็นยามเช้า ถนนช่วงแรกๆนอกจากจะกว้างขวางแล้วยังลาดยางอย่างดี จนผมแอบดีใจว่าเช้านี้ได้นั่งรถเปิดกระจกชมวิวอย่างสบายใจ แต่ที่ไหนได้ พ้นจากเขตตัวเมืองไจปู้ร์ได้ไม่นาน สภาพถนนแบบอินเดี๊ยอินเดียที่มากไปด้วยฝุ่นก็เผยโฉมให้ปอดได้สัมผัสแบบเต็มๆ

เวลาผ่านไป 2 ชั่วโมงเศษ รถโดยสารประจำทางก็พาผมเดินทางมาถึงสถานีขนส่งเมืองแอจเมอร์ ทันทีที่ลงจากรถ ผมก็ถูกคนขับออโต้ริกซอว์ตามประกบเพื่อให้เหมารถเที่ยวสถานที่สำคัญในแอจเมอร์ด้วยราคาหลายร้อยรูปี แต่ช้าก่อน เพราะสิ่งที่ผมต้องการตอนนี้ไม่ใช่เป็นยานพาหนะ หากแต่เป็นห้องน้ำสาธารณะที่อยู่ใกล้ที่สุด !

ภายในห้องน้ำมีสภาพย่ำแย่ แต่นั่นก็ไม่ต่างจากที่คาดคิดไว้นัก ซึ่งแค่นี้ก็ดีเท่าไหร่แล้วที่มีห้องน้ำสาธารณะใกล้ๆให้ได้ใช้ในเวลาฉุกเฉินเช่นนี้ เพียงแต่ในระหว่างปลดทุกข์ จิตใจจะเหมอลอยไม่ได้เป็นอันขาด เพราะต้องใช้มือข้างหนึ่งดันประตูไว้ไม่ให้มันเปิดอ้า ก็แค่นั้นเอง

ดูจากแผนที่แล้ว แอจเมอร์เป็นเมืองเล็กๆ และสถานที่สำคัญก็อยู่ใกล้ๆกัน หากไปตั้งต้นที่วัดนาสิยันซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองได้ ก็สามารถไปสถานที่ต่างๆได้สบาย เพื่อเห็นแก่เงินในกระเป๋า ผมจึงกระโดดขึ้นรถประจำทางหมายเลข 7 ที่จอดรอผู้โดยสารอยู่หน้าสถานีขนส่ง เพื่อไปยังปลายทางที่ต้องการ ด้วยค่าโดยสารเพียง 10 รูปีเท่านั้น


วัดนาสิยัน (Nasiyan Temple) เป็นวัดในศาสนาเชน สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระเจ้าอดินาท (Adinath) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2408 นอกจากขนาดอันใหญ่โตแล้ว วัดนี้ยังมีความโดดเด่นตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าที่มีลวดลายแกะสลักอย่างละเอียดยิบ

แต่นั้นก็เป็นแค่เพียงกระพี้ เพราะของจริงที่หากพลาดชมแล้ว อาจถึงขั้นนั่งน้ำตาคลอและนึกเสียใจภายหลังนั้นอยู่ภายในวิหารหลังใหญ่ โดยภายในจัดทำเป็นแบบจำลองของจักรวาลขนาดใหญ่เท่ากับตึก 2 ชั้น ตามความเชื่อของศาสนาเชน ที่มากไปด้วยปราสาทพระราชวัง พร้อมด้วยเรือหงส์ที่ลอยล่องอยู่บนท้องฟ้าเสมือนจริง จนทำให้ผู้มาชมเกิดความรู้สึกประหนึ่งกำลังอยู่ในสรวงสวรรค์ ที่งามอร่ามไปด้วยทองคำ

“โคเรีย” คำทักนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผม เพราะเวลาเดินทางไปต่างแดนทีไรมักถูกทักว่าเป็นคนเกาหลีบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง หรือไม่ก็เป็นคนจีน แต่ครั้นตอบกลับไปว่า “No, I come from Thailand” ก็มักจะได้คำตอบกลับมาว่า “Oh…Taiwan” เสียทุกทีไป คงเป็นเพราะหน้าตาตี๋ขนาดนี้จึงไม่มีใครคิดว่าผมเป็นคนไทย และในเวลานี้ก็อีกเช่นกันเมื่อเด็กหนุ่มอินเดียถึง 3 คนเดินเข้ามาทัก ด้วยคำว่า “Korea, My Friend” โดยที่ผมไม่รู้ว่าผมเผลอไปเป็นเพื่อนกับพวกเขาตอนไหน อีกทั้งยังชวนผมไปเที่ยวชมโน่น ชมนี่จนรังสีของความไม่น่าไว้วางใจเริ่มปรากฏให้รู้สึก

เริ่มจากชวนผมไปชมสวนสาธารณะริมทะเลสาบ อนา ซาการ์ จากนั้นพาผมวกเข้าไปในเขตตลาดที่มากไปด้วยความพลุกพล่าน แล้วอยู่ๆก็ขอให้ผมเลี้ยงข้าวอย่างหน้าตาเฉย

ด้วยความพลุกพล่านของผู้คน จึงไม่รู้ว่าจะเดินหนีไปทางไหน ผมจึงเดินตามสามหนุ่มไปอย่างห่างๆ ระหว่างเดินจึงได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆของหนุ่มชาวอินเดีย ที่มักจะเดินจับมือเกี่ยวแขนกันไม่ต่างจากบรรดาสาวๆ จนคิดว่าเจ้าสามหนุ่มนี้คงมีอะไรกัน แต่อยู่อินเดียหลายวันเข้า จึงค่อยๆสังเกตเห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายชาวอินเดียที่เป็นเพื่อนกัน ก็มักจะเดินจับมือเกี่ยวแขนกันเช่นนี้ เราจึงไม่ควรเอาสิ่งที่เราเคยผ่าน มาตัดสินสิ่งที่เพิ่งผ่านมาให้ได้เห็น เพราะต่างวัฒนธรรม พฤติกรรมจึงย่อมต่างกัน

ชักเริ่มปวดหัวกับความซับซ้อนของซอกซอยในตลาด ผมจึงเดินเลี่ยงโดยหวังจะหลบ 3 หนุ่มนี้ ด้วยการเข้าไปชมภายในพระราชวังอัคบาร์ (Akbar Palace) ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า แต่ 3 หนุ่มนั้นไม่ยอมปล่อยผมไปง่ายๆ โดยเปลี่ยนจากการให้เลี้ยงข้าวเป็นการให้ผมซื้อตั๋วเข้าพระราชวังให้กับพวกเขา ทีแรกก็กะจะซื้อให้ อ๊ะๆ...อย่าเพิ่งตกใจนะว่าผมเปลี่ยนเป็นคนใจบุญตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะที่ผ่านมาเห็นประหยัดเหลือเกินกับค่าโน้นค่านี่ แต่เป็นเพราะจากประสบการณ์ใน 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ว่าค่าตั๋วเข้าพระราชวังในประเทศอินเดียสำหรับชาวอินเดียนั้นถูกพอๆกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่สุดท้ายแล้วผมก็พบกับทั้งโชคดีและโชคร้าย โชคดีคือ ผมไม่ต้องซื้อตั๋วให้กับ 3 หนุ่ม และโชคร้ายคือ ผมก็ไม่สามารถซื้อตั๋วให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะพระราชวังปิด ! (พระราชวังปิดทุกวันจันทร์)

ในเมื่อหมดหนทางที่จะรีดเลือดเอาจากปูเช่นผม 3 หนุ่มจึงเดินคอตก และยกเลิกความเป็นเพื่อนกับผมเสียดื้อๆด้วยการเดินจากไป ความอิสระจึงกลับมาสู่ผมอีกครั้ง แม้พระราชวังจะปิดไม่ให้เข้าชมภายในซึ่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่อย่างน้อยประตูทางเข้าก็ไม่ได้ปิด ผมจึงสามารถเดินเข้าไปชมความงามภายนอกของพระราชวังแห่งนี้ได้

แอจเมอร์ คืออีกหนึ่งในนครรัฐอิสระก่อนที่จะถูกรวมกับนครรัฐอิสระอื่นๆภายใต้ชื่อใหม่ว่า รัฐราชสถาน นครรัฐแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 แต่สุดท้ายก็ถูกกษัตริย์อัคบาร์ (Akbar) แห่งราชวงศ์โมกุลเข้าตี จนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินแห่งราชวงศ์โมกุลในปีพ.ศ.2102 และพระราชวังสีเหลืองอำพันที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผม ก็คือพระราชวังของราชาพระองค์นั้น

ช่วงที่ประเทศอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ สถานภาพของพระราชวังอัคบาร์ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพักของนายทหารอังกฤษ จวบจนเมื่อเอกราชคืนกลับสู่เจ้าของแผ่นดิน พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนสถานะอีกครั้งเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมผลงานประติมากรรมหินและอาวุธในสมัยโบราณ แม้วันนี้พิพิธภัณฑ์จะปิด แต่ภายนอกก็มีงานประติมากรรมหินบางส่วนจัดแสดงเพื่อให้คนอกหักในการเข้าชมเช่นผมได้ยลเป็นบุญตา

ผมเดินอย่างอิสระชมบ้านชมเมืองจนมาถึงทะเลสาบอนา ซาการ์ (Ana Sagar) อีกครั้ง ซึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาไม่ได้ชมความงดงามของทะเลสาบแห่งนี้สักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่หาจังหวะเดินหนี 3 หนุ่มชาวอินเดีย กลับมาอีกครั้งจึงได้เห็นว่า ทะเลสาบแห่งนี้มีขนาดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ริมทะเลสาบถูกปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ที่แม้ในเวลากลางวันแดดจะแรงไปนิด แต่ก็มีชาวเมืองจำนวนมากพาครอบครัวมานั่งเล่นในศาลาหินอ่อนริมทะเลสาบ ในขณะที่คนต่างแดนเช่นผมก็ใช้ความกว้างใหญ่ของทะเลสาบแห่งนี้ปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการมองไปไกลสุดสายตา ซึ่งมีภูเขาอราวาลลี (Aravalli) อันสูงใหญ่ตั้งอยู่ไกลลับในม่านหมอก

ว่ากันว่าเราอยู่กับสิ่งใด เราก็มักจะซึมซับในสิ่งนั้น เหมือนกับผืนน้ำใสของทะเลสาบอนา ซาการ์ก็กำลังซึบซับสีของแนวเขาและท้องฟ้าเบื้องบน ในเวลานั้น ผมบอกกับตัวเองว่า “การเดินทางในแดนภารตะเพียงลำพัง ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว และนับจากเวลานี้ไปใจผมก็พร้อมที่จะเปิดรับการซึบซับสีสันและวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งผ่านเข้ามาบนเส้นทางที่หัวใจเลือกแล้วที่จะก้าวไป”

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 19.47 น.

ความคิดเห็น