แม้แอจเมอร์จะเป็นเมืองชุมทางในตำแหน่งกึ่งกลางของรัฐราชสถาน แต่ที่นี่กลับเป็นแค่เมืองทางผ่านสำหรับนักท่องโลกที่จะเดินทางไปยังพุชการ์ (Pushkar) เมืองสุดฮ็อต ที่นักท่องโลกสุดฮิปใช้เป็นสถานที่ปล่อยตัวให้หลุดโลกตามแบบที่ตนเป็น

จากตัวเมืองแอจเมอร์ ผมใช้บริการรถประจำทางคันเล็กเพื่อไปยังเมืองพุชการ์ โดยเหลือที่นั่งสุดท้ายสำหรับผมพอดิบพอดี ซึ่งนอกจากผมซึ่งเป็นชาวต่างชาติแล้ว ในรถยังมีสาวนักท่องโลกอีก 2 คน ที่สอนให้ผมรู้ว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้มาเยือนจะต้องเกรงใจคนเจ้าถิ่น

นอกจากการทิ้งไม่เลือกที่ ปล่อยหนัก ปล่อยเบาริมถนนโดยไม่สนใจสายตาของคนผ่านทางแล้ว ชาวอินเดียยังทำให้ผมรู้ว่าพวกเขาสามารถส่งเสียงดังคุยกันได้อย่างไม่เกรงใจใครด้วยเช่นกัน แต่สำหรับสองสาวชาวอิตาลี กับชาวเชคที่โดยสารรถเมล์คันนี้ เธอสองคนก็ไม่เกรงใจคนเจ้าถิ่นด้วยเช่นกัน เพราะหันไปส่งเสียงเอ็ดเป็นภาษาอังกฤษกับผู้โดยสารชาวอินเดียที่กำลังคุยกันเสียงดังเสียยกใหญ่ ว่า “ตั้งแต่ฉันขึ้นรถก็เห็นพวกคุณคุยๆๆเสียงดังอย่างไม่หยุด เมื่อไหร่พวกคุณจะเหนื่อยแล้วเงียบกันเสียที”

 เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังหันไปกัดคนขับอีกว่า “ทำไมคุณจอดบ่อยจัง ขับได้เดี๋ยวเดียว แป๊บๆก็จอด แล้วอย่างงี้เมื่อไหร่จะถึงพุชการ์สักที” โอ้โห้ต่อว่าต่อขานได้ดุเด็ดเผ็ดมันโดนใจผมเหลือเกิน ว่าแล้วเธอก็หันมาทางผม ทำให้ผมต้องสะดุ้ง เพราะเกรงว่าผมอาจทำผิดอะไรไป ทำให้เธอ 2 คนต้องหันมาต่อว่า แต่กลายเป็นว่า เธอหันมาคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางแบบปกติที่นักท่องโลกเขาทำกัน

เมื่อรถขับข้ามแนวขุนเขา จนมาจอดสงบนิ่งที่สถานีขนส่งเมืองพุชการ์ ผมก็ออกเดินอีกครั้งเพื่อไปยังจุดหมายที่สำคัญที่สุดของเมืองนี้ นั่นคือทะเลสาบพุชการ์ (Pushkar Lake) ซึ่งว่ากันว่ามีความสำคัญในด้านความเชื่อทางจิตวิญญาณของผู้นับถือศาสนาฮินดูไม่แพ้แม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีเลยทีเดียว

แต่ช้าก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่สายตาจะได้ยลทะเลสาบ เพราะผมต้องจัดการที่ว่างในกระเพาะเสียก่อน แต่จะให้กินอาหารพื้นๆประเภทขนมปังแบบพวกฝรั่งตาน้ำขาวกินกันแล้วหละก็ เมินเสียเถอะ ไปประเทศไหน ผมเป็นไม่พลาดที่จะลิ้มลองอาหารถิ่นของประเทศนั้น ซึ่งหลายครั้งก็ได้อาหารอร่อยถูกลิ้น แต่ก็บ่อยครั้งที่เมื่อได้เห็นอาหารที่ยกมาเสริฟแล้ว ผมก็ถึงกับทำหน้าเหลอหลา ว่าเราสั่งอะไรมากินเนี่ยะ ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมทำหน้าเหลอหลาไม่แพ้ครั้งก่อนๆ เพราะ Fried jira rice ที่ผมสั่งนั้นคือ ข้าวผัดที่ปราศจากสิ่งอื่นใด นอกจากเมล็ดทานตะวันไม่กี่เมล็ดผสมอยู่ในข้าวที่ชุ่มไปด้วยน้ำมัน

ยังไม่ทันที่ข้าวจะเรียงเม็ด ผมก็จัดแจงย่อยอาหารด้วยการเดินเล่นบนถนนที่ทอดตัวไปตามทะเลสาบ สองฟากของถนนนั้นมากไปด้วยงานหัตถกรรม ประเภทของฝากของที่ระลึก ที่สีสันสุดแสบสันตามแบบฉบับอินเดี๊ยอินเดีย จนแสบตาไปหมด ที่พุชการ์จึงเห็นนักท่องโลกชาวตะวันตกหลายคน มีอาการอินแบบสุดๆ ด้วยการสวมอาภรณ์แบบอินเดียที่เต็มไปด้วยสีสัน แล้วปล่อยตัวตามสบายในแบบที่ตัวเองเป็น

ได้เวลาชมทะเลสาบพุการ์แบบเต็มๆตาเสียที แต่ยังไม่ทันที่ผมจะเดินถึงทะเลสาบ ผมก็ได้รับการหยิบยื่นดอกดาวเรืองใส่มือ โดยผู้ให้บอกว่าเอาไว้ไปสักการะน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ทะเลสาบ ซึ่งในเวลานั้นผมไม่รู้เลยว่า เจ้าดอกดาวเรืองในมือผมนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องสักการะแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงตนว่าเป็นผู้มาใหม่ที่ไม่ประสีประสา

ผมถอดรองเท้าไว้ที่บันไดขั้นแรกแล้วเดินเท้าเปล่าสู่ทะเลสาบอย่างที่คนอินเดียทำ แต่ยังไม่ทันที่รองเท้าจะถูกถอด ลุงคนหนึ่งก็เข้ามาประกบพร้อมจูงมือผมอย่างที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้ โดยบอกว่าจะพาไปทะเลสาบเพื่อนำดอกดาวเรืองไปสักการะ

จากดอกดาวเรืองดอกเล็กๆในมือ ในเวลานี้สองมือต้องถือพานขนาดใหญ่ที่มากไปด้วยเครื่องสักการะ ทั้งดอกไม้นานาชนิดและมะพร้าวลูกโต จนต้องเกร็งแขนขณะถือ ลุงคนนั้นบอกให้ว่าตามที่เขาพูดเป็นภาษาอินเดีย ซึ่งคล้ายบทสวดเพื่อสักการะและขอพรกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ในทะเลสาบ โดยมีการควักน้ำจากทะเลสาบมาลูบหัวบ้าง โปรยดอกไม้ลงในทะเลสาบบ้าง แต่สุดท้ายก็จบลงที่ว่า หากต้องการขอพรให้กับทุกคนในครอบครัวต้องจ่าย 300 รูปี!

เอากับเขาสิ ไม่ใช่ผมจะไปลบหลู่ความเชื่อนะ แต่นี่ลุงหากินง่ายเกินไปแล้ว เงินทองไม่ได้หามาง่ายๆนะลุง 300 รูปีนี่ผมใช้ซื้อข้าวกินได้ตั้งหลายมื้อ เมื่อเห็นท่าผมไม่ยอมจ่ายง่ายๆ ลุงจึงมีช่วงโปรโมชั่นมานำเสนอ ว่าถ้างั้นจ่าย 200 รูปีก็ได้ แต่ได้บุญเฉพาะพ่อแม่นะ ญาติพี่น้องไม่เกี่ยว เออมีอย่างนี้ด้วย ผมจึงยังคงนิ่งต่อ ลุงจึงเพิ่มโปรโมชั่นแบบลดกระหน่ำว่า 100 รูปีก็ได้ แต่เฉพาะขอพรให้ตัวเองนะ ลดกระหน่ำขนาดนี้ถ้าผมยังไม่ยอมจ่าย ผมจะถูกคุณลุงผลักตกทะเลสาบไหม ด้วยภาวะจำยอม ผมจึงควักเงินให้ลุงไป 50 รูปี ไม่ใช่เพื่อค่าขอพรให้ใคร แต่ถือเป็นค่าเสียเวลาและค่าดอกไม้ที่ลอยไปตามน้ำแล้วกัน

ผมมีเวลาราวครึ่งวันในเมืองพุชการ์ แน่นอนว่าจุดหมายของบ่ายนี้คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้เดินทอดน่อง ซึมซับบรรยากาศแบบซิลเอ้าท์บนเส้นทางรอบทะเลสาบ ที่แม้ยามเที่ยงแสงแดดจะสาดแสงเปรี้ยงปร้างจนแสบตา แต่ผิวทะเลสาบที่ใสสะอาดนั้นก็สะท้อนเงาความสวยสดของท้องฟ้าให้สายตาไปปริ๊งปรั๊งได้ไม่แพ้กัน

ตามตำนานทะเลสาบแห่งนี้เกิดจากกลีบดอกบัวของพระพรหม จึงเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 รอบทะเลสาบแห่งนี้จึงมากไปด้วยแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่ชาวฮินดูมีต่อเทพเจ้าของพวกเขา ในทุกช่วงเวลาของแต่ละวันจึงสามารถพบเห็นชาวฮินดูลงไปอาบน้ำในทะเลสาบ ด้วยจุดประสงค์ในการชำระบาปและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

ผมเดินเท้าเปล่าไปตามเส้นทางที่ทอดตัวตามความคดโค้งของทะเลสาบ วัดในศาสนาฮินดูหลายแหล่งขึ้นกระจัดกระจายบนเส้นทางสายนี้ แม้จะไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู แต่การที่ได้นั่งใต้ร่มเงาของตัววัดเพื่อทอดสายตามองฝูงนกพิราบนับร้อยนับพันที่โผบินอยู่บนผืนน้ำใส ที่กว้างไกลไปสุดอีกฟากฝั่งอันมีทิวเขาสูงใหญ่ทอดตัวโอบกอด ก็ทำให้สายตาและหัวใจได้ดื่มด่ำกับความสุขที่โชยพัดมาพร้อมกับสายลม

รอบทะเลสาบมีท่าน้ำหลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนทำเป็นบันไดที่ทอดตัวจากผิวน้ำสู่เบื้องบน ซึ่งหากไม่เป็นวัดก็เป็นเขตบ้านเรือน แต่นอกจากการเป็นทางเชื่อมระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับวิถีชีวิตปุถุชนแล้ว บนขั้นบันไดแต่ละขั้น ยังเป็นทั้งที่นั่ง ที่นอน ที่ขายของ ที่อาบน้ำ ที่ซักผ้า และที่ตากผ้า ได้อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ช่าง ใครใคร่นั่ง นั่ง ใครใคร่นอน นอน หรือใครใคร่เดินอย่างผม ก็เดินกันต่อไป

พระอาทิตย์เริ่มยอแสง ในห้วงเวลาที่สองเท้าพาผมก้าวเดินมาถึงท่าน้ำทางฟากตะวันออก นอกจากนกพิราบนับพันแล้ว บนขั้นบันไดที่ทอดลงสู่ผิวน้ำนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ที่กำลังเฝ้าชมความสวยงามของห้วงเวลาที่พระอาทิตย์จะทอแสงสีส้มอันอ่อนโยน แล้วค่อยๆจมหายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของผิวน้ำ ซึ่งนั่นกินเวลาเพียงสั้นๆ หากแต่คือช่วงเวลาที่ทะเลสาบพุชการ์งดงามมากที่สุด

ในเวลานี้คู่รักหลายคนได้ใช้บริการจากนักดนตรีท้องถิ่นเพื่อบรรเลงเพลงรักให้ฟัง ดูแล้วน่าอิจฉาเป็นยิ่งนัก คนโดดเดี่ยวเช่นผมจึงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ แล้วแอบกระซิบกับพระอาทิตย์ว่า “เราสองคนช่างโดดเดี่ยวไม่แพ้กันเลย”

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.20 น.

ความคิดเห็น