คนขับรถบัสบอกผมก่อนขึ้นรถว่าจะถึงอูไดปู้ร์ก่อน 6 โมงเย็น แต่เอาเข้าจริงๆเกือบ 1 ทุ่ม รถจึงเข้าจอดในสถานีขนส่งเมืองอูไดปู้ร์ (Udaipur) ที่เผอิญไฟดับพอดี ความรู้สึกในการเดินทางต่างแดนเพียงลำพังในเวลานี้จึงรู้สึกแปร่งๆชอบกล

ต้องอาศัยแสงจากเทียนไขในระหว่างที่ผมกำลังสอบถามพนักงานขายตั๋วสำหรับการเดินทางในวันพรุ่งนี้ ทีแรกวางแผนว่าจะไปอักรา แต่ข้อมูลที่ได้ทำให้ผมเกิดความลังเลว่าจะนั่งหลังคดหลังแข็งยาวนานขนาดนั้นในเวลากลางคืนไหวไหม เพราะต้องใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 15 ชั่วโมง พนักงานขายตั๋วจึงเสนอทางเลือกให้ผมเดินทางไปที่ไจปู้ร์ก่อน ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง โดยเป็นรถนอน จากนั้นจึงต่อรถไปอักรา เพื่อเห็นแก่การได้หลับนอนอย่างมีความสุขในระหว่างการเดินทาง อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้ไปเก็บตกสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งในไจปู้ร์ ผมจึงตัดสินใจเลือกข้อเสนอนี้

ตัวเมืองอูไดปู้ร์อยู่ไกลจากสถานีขนส่งค่อนข้างมาก ผมจึงใช้บริการออโต้ริกซอว์อีกครั้งเพื่อพาไปส่งที่ Lal Ghat Haveli ซึ่งเป็นที่พักราคาประหยัดอีกทั้งยังอยู่ใกล้ทะเลสาบพิโคลา (Pichola Lake) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมือง

หลังจากอาบน้ำเพื่อชะล้างคราบไคล้จากฝุ่นผงบนเส้นทาง ผมก็ขึ้นไปนั่งชิวเอ๊าท์อยู่ที่ร้านอาหารบนดาดฟ้าของที่พัก เพื่อกินอาหารค่ำ โดยมื้อนี้ผมเลือกกินข้าวกับ Alu Mutter หรือแกงมันฝรั่ง เพราะชาวอินเดียส่วนใหญ่เป็นมังสาวิรัติ หลายมื้อที่ผ่านมา ผมจึงได้กินแต่แกงถั่ว แกงมัน จึงไม่ได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ แถมรสชาติยังมีกลิ่นเครื่องเทศรุนแรง จึงทำให้กินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังแน่วแน่ที่จะกินอาหารอินเดียต่อไป โดยไม่สนใจอาหารตะวันตก ยิ่งอยู่อินเดียนานวันเข้า ผมจึงยิ่งผ่ายผอมลงทุกที

แม้อยากจะล้มตัวนอนบนเตียงนิ่มๆเต็มแก่ แต่เงาสะท้อนแสงไฟบนผิวน้ำของทะเลสาบพิโคลาก็ทำให้สองขาผมมีแรงอีกครั้ง ที่จะพาร่างกายและสายตาไปชมความงามริมทะเลสาบ เพื่อเก็บภาพนั้นไปหลับฝัน

อูไดปู้ร์ หรือที่คนไทยเรียกอย่างเพราะพริ้งว่าอุทัยปุระ แต่เดิมมีชื่อว่าอาณาจักรมีวาร์ (Mewar) สร้างขึ้นโดยมหาราชาอูได สิงห์ ที่ 2 (Udai Singh 2) เมื่อปีพ.ศ.2102 โดยเป็นอาณาจักรเล็กๆหากแต่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาราชปุตด้วยกัน เพราะสามารถยืนยันต่อสู้กับราชวงศ์โมกุลได้ยาวนานที่สุด จนอังกฤษยกทัพเข้ามา อาณาจักรแห่งนี้จึงถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชสถาน โดยมีฐานะเป็นเมืองๆหนึ่งนามว่าอูไดปู้ร์ หรือเมืองแห่งมหาราชาอูได หาใช่เมืองแห่งพระอาทิตย์ตามชื่อที่คนไทยเรียกแต่อย่างใด

แม้เมืองแห่งนี้จะไม่ใช่เมืองแห่งพระอาทิตย์ แต่ก่อนที่แสงแรกแห่งวันจะฉายส่อง ผมก็พาตัวเองออกมาเดินเลียบเลาะอยู่ริมทะเลสาบพิโคลา โดยข้ามสะพานไปยังฝั่งหนุมาน กาท (Hanuman Ghat) เพื่อชมพระอาทิตย์ดวงกลมที่ค่อยๆลอยขึ้นจนมาฉายแสงสีส้มอยู่บนฟากฟ้า

ฝั่งหนุมาน กาทมีความหนาแน่นของผู้คนและบ้านเรือนน้อยกว่าฝั่งพระราชวังมาก ชีวิตของผู้คนบนฝั่งนี้จึงเรียบง่ายมากกว่า ริมผืนน้ำแห่งทะเลสาบจึงได้เห็นสีสันยามเช้าที่ชาวเมืองเริ่มต้นชีวิตด้วยการใช้น้ำจากทะเลสาบพิโคลาชำระล้างร่างกาย ดูแล้วพวกเขาช่างมีชีวิตที่ช่างน่าอิจฉา เพราะแม้จะเป็นมหาราชาที่รวยล้นฟ้า ก็คงไม่สามารถสร้างอ่างอาบน้ำที่ใหญ่โตได้ขนาดนี้

กลางผืนน้ำแห่งทะเลสาบพิโคลาปรากฏพระราชวังสีขาวสะอาดตา ที่ค่อยๆโดดเด่นเมื่อม่านหมอกยามเช้าจางหายไป พระราชวังนามว่าจักนิวาส (Jag Niwas) แห่งนี้สร้างขึ้นโดยมหาราชาไจ สิงห์ ที่ 2 (Jai Singh 2) เมื่อปีพ.ศ.2289 เพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อน ปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นโรงแรม 5 ดาว ที่ว่ากันว่าหากผู้ใดได้มาพักที่นี่ นอกจากจะได้ความรู้สึกว่าพักในพระราชวังดุจมหาราชาแล้ว ยังได้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสวรรค์ชั้น 7 ที่ได้ยลความงามของผิวน้ำใสสะอาดแห่งทะเลสาบพิโคลา และทิวเขาอะราวาลลี (Aravalli Hill) ที่โอบล้อม

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 21.00 น.

ความคิดเห็น