ออโต้ริกซอว์พาผมมาส่งที่สถานีขนส่งเมืองอูไดปู้ร์ อีกไม่นานหลังจากนี้การเดินทางของผมก็จะเริ่มต้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการเดินทางในแดนภารตะที่สบายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผมสามารถซื้อตั๋วแบบนอนได้ โดยเป็นที่นอนที่ถูกติดตั้งอยู่เหนือที่นั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นที่นอนแบบนอนคนเดียว ในขณะที่อีกฝั่งเป็นแบบนอน 2 คน โดยตั๋วของผมเป็นฝั่งที่นอน 2 คน คนเดินทางคนเดียวเช่นผมจึงไม่สามารถเลือกได้ว่าคู่นอนแปลกหน้าคืนนี้จะเป็นใคร แต่ขอให้ไม่เป็น 3 แบบนี้เป็นพอ

1.อย่าเป็นคนอ้วน

2.อย่านอนกรน

และ 3.อย่ากลิ่นตัวแรง

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าที่ผมคาดไว้ เพราะรถเที่ยวนี้ผู้โดยสารไม่เต็ม ทำให้ที่นอนข้างๆผมนั้นปราศจากผู้โดยสาร คืนนี้ผมจึงได้นอนกลิ้งโดยไม่ต้องเกรงใจใคร

เวลา 1 สัปดาห์ที่ผมระหกระเหินไปยังเมืองต่างๆในรัฐราชสถาน ดูเหมือนช่างยาวนานเหลือเกินกว่าที่จะกลับมายืนอยู่ที่ไจปู้ร์อีกครั้ง เพราะนอกจากต้องร่อนเร่เป็นนกขมิ้นไร้ถิ่นฐานแล้ว ชีวิตยังต้องคลุกฝุ่นไปกับเส้นทางที่ลากผ่าน การกลับมาครั้งนี้ผมจึงปรับตัวเข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดียได้มากขึ้น ทั้งเรื่องอาหาร ขยะและการจราจร

ทันทีที่เดินผ่านประตูเมือง ผมก็เหมือนคนที่ตกอยู่ในความรัก เพราะโลกที่อยู่เบื้องหน้ากลายเป็นสีชมพู จากเหล่าอาคารบ้านเรือนที่พร้อมใจกันทาสีชมพูไปเสียทุกหลัง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2396 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอินเดียทั้งประเทศตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มหาราชารามสิงห์ (Ram Singh) จึงมีราชโองการสั่งให้ทาสีทั้งเมืองเป็นสีชมพู อันเป็นสีที่แสดงถึงการต้อนรับด้วยไมตรีจิต เพื่อต้อนรับเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) เมืองไจปู้ร์จึงกลายเป็นเมืองที่มีมนต์ขลังของสีชมพูไปทั้งเมือง แม้แต่สายไหมที่พ่อค้าเดินขาย ยังมีแต่สีชมพู จึงเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักท่องโลกที่ตกอยู่ในโลกแห่งความรักเป็นยิ่งนัก

เดินไปเดินมาผมก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) หรือพระราชวังแห่งสายลม ซึ่งเมื่อ 7 วันที่แล้ว ผมมีโอกาสเพียงแค่ชื่นชมความงามจากภายนอก แม้หนังสือไกด์บุ๊คหลายเล่มจะเขียนตรงกันว่า ภายในพระราชวังไม่มีอะไร เพราะเป็นเหมือนกำแพงสูงโดยปราศจากห้องหับให้เที่ยวชม แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า หากยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้ว อย่าไปเชื่อสิ่งใด กลับมาครั้งนี้ผมจึงไม่ยอมพลาดที่จะเข้าไปชมภายใน ว่าแล้วจึงแบกเป้เดินอ้อมไปยังทางเข้าที่อยู่ด้านหลังเพื่อซื้อตั๋วเข้าชมเป็นคนแรกของวัน

ฮาวา มาฮาลสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2342 โดยมหาราชาสไว ประทีป สิงห์ (Maharaja Sawai Pratap Singh) โดยสร้างให้ฐานชั้นล่างกว้าง แล้วค่อยๆแคบลงจนถึงชั้นบนสุด คล้ายพีระมิด แต่ละชั้นมากไปด้วยหน้าต่างที่ประดับด้วยกระจกหลากสี รวมหน้าต่างบานเล็กบานน้อยแล้วมีมากถึง 953 บาน ทำให้เมื่อมองจากด้านหน้าจึงคล้ายรวงผึ้ง สำหรับสาเหตุที่มีหน้าต่างมากขนาดนี้เพื่อให้เหล่านางในได้ใช้ช่องหน้าต่างนี้ในการมองดูโลกภายนอก ซึ่งน่าจะช่วยให้จิตใจพวกนางเบิกบานขึ้นจากการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเวียงวังที่แม้จะสบายกาย แต่กลับไม่สบายใจที่ต้องถูกจำกัดอาณาบริเวณ

แม้จะดูเหมือนเป็นแค่กำแพงสูง แต่ฮาวา มาฮาลก็ถูกสร้างให้มีชั้นต่างๆถึง 5 ชั้น ชั้นล่างมีชื่อว่า Sharad Mandir ชั้นนี้มีลานกว้าง จึงใช้เป็นที่เลี้ยงฉลองของมหาราชาในฤดูใบไม้ร่วง ถัดขึ้นไปที่ชั้น 2 มีชื่อว่า Ratan Mandir ชั้นนี้เป็นชั้นที่งดงามที่สุด เพราะเหล่าหน้าต่างนั้นประดับด้วยกระจกหลากสี ยามแสงแดดสาดส่องจึงสะท้อนเงาระยิบระยับ

ด้วยความอยากรู้ว่าภาพเมืองไจปู้ร์ที่มองผ่านกระจกของเหล่านางในจะเป็นเช่นไร ผมจึงตรงเข้าไปมองเมืองไจปู้ร์จากช่องหน้าต่างบ้าง จึงพบว่าภาพเมืองไจปู้ร์จริงๆกับภาพที่เหล่านางในได้เห็นนั้นมีความเหมือนกันตรงที่ ภาพทั้งสองนั้นเต็มไปด้วยสีสัน หากแต่ภาพที่มองจากฮาวา มาฮาลนั้นเป็นภาพที่ถูกแต้มสีจากเหล่ากระจก ต่างจากภาพจริงที่เต็มไปด้วยสีสันจากชีวิตจริงๆของผู้คน

ผมสลัดตาจากสีสันที่แต่งแต้มสู่ชั้นที่ 3 นามว่า Vichitra Mandir ชั้นนี้ถือเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสถานที่ที่มหาราชาใช้ทำพิธีสักการะพระกฤษณะ และชั้นนี้เป็นชั้นสุดท้ายที่มีหลังคาคลุม เพราะถัดขึ้นไปที่ชั้น Prakash Mandir ระเบียงทั้ง 2 ฟากนั้นถูกเปิดโล่ง จนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองไจปู้ร์ได้สุดสายตา

แล้วผมก็เดินขึ้นมาถึงชั้นที่ 5 คือชั้น Hawa Mandir ซึ่งเป็นเหมือนดาดฟ้าของพระราชวัง ณ ตำแหน่งที่เปิดโล่งเช่นนี้สายลมจึงโชยพัดมาให้ร่างกายได้สัมผัสตลอดเวลา อันเป็นที่มาของชื่อพระราชวังแห่งสายลม

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.06 น.

ความคิดเห็น