ผมเดินจ้ำอ้าวจนกลายเป็นวิ่งสู่สถานีขนส่ง เพราะเป็นเวลาที่รถไปอักรากำลังจะออก หากพลาดเที่ยวนี้ต้องรออีกชั่วโมงกว่าจึงจะมีรถเที่ยวถัดไป

วิ่งไปลุ้นไปว่าจะทันรถไหม โชคดีเป็นของผมเพราะรถกำลังจะออกพอดี คนขับบอกว่าใช้เวลาเดินทางจากไจปู้ร์สู่อักราแค่ 4 ชั่วโมง ดูจากเวลาในขณะนี้ก็น่าจะถึงไม่เกิน 1 ทุ่ม แต่เอาเข้าจริงๆ กว่าจะถึงอักรา (Agra) เวลาก็ล่วงเลยจนเกือบ 3 ทุ่ม

เป็นอีกครั้งที่ผมถูกส่งให้ลงที่ไหนสักแห่งของเมืองอันเป็นจุดหมาย ยิ่งดึก ยิ่งมืด ยิ่งจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าตอนนี้ผมยืนอยู่ ณ ตำแหน่งไหนในแผนที่ ความเด๋อๆด๋าๆอย่างคนต่างถิ่น ทำให้ผมกลายเป็นเป้าหมายของเหล่าออโต้ริกซอว์ ที่พร้อมใจกันบอกราคาสูงถึง 200 รูปีในการพาผมไปส่งยังที่พักที่ใกล้กับทัชมาฮาล แต่ราคาสูงขนาดนี้ ไม่มีทางหรอกที่ผมจะยอมควักเงินจ่ายง่ายๆ ว่าแล้วผมก็เดินเข้าไปร้านขายยาที่อยู่ใกล้ๆ ไม่ใช่เพื่อซื้อยาแก้ปวดหัวสำหรับการต่อรองราคาออโต้ริกซอว์ แต่เพื่อสอบถามระยะทางจากที่นี่สู่ทัชมาฮาล

ทันทีที่เจ้าของร้านขายยาได้ยินผมบอกว่าออโต้ริกซอว์เรียกค่าโดยสารถึง 200 รูปี เขาก็รีบบอกว่าแพงเกินเหตุ อย่าไปหลงนั่งเชียว เพราะจากบริเวณนี้ไปย่านทัช กันจ์ (Taj Ganj) ซึ่งป็นแหล่งที่พักราคาประหยัดใกล้ทัชมาฮาลนั้นแค่ 4 -5 กม.เท่านั้น

ได้ยินเช่นนั้นสมองผมก็คำนวณราคาค่าโดยสารเสร็จสรรพ ว่าผมไม่ควรจ่ายเกิน 50 รูปี เมื่อรู้แล้วว่าออโต้ริกซอว์กลุ่มนี้คิดไม่ซื่อกับเงินในกระเป๋า ผมจึงเดินให้ห่างออกไป แล้วจัดการโบกออโต้ริกซอว์ที่วิ่งผ่าน โดยราคาที่คนขับบอกตรงกับที่ผมคิดไว้พอดี

ก่อนจะไปหาที่พัก คนขับออโต้ริกซอว์แนะนำให้ผมไปจองตั๋วรถไฟสำหรับวันพรุ่งนี้เพื่อไปนิวเดลีก่อน เนื่องจากตั๋วมักจะเต็มก่อนวันเดินทางเสมอ แต่แทนที่เขาจะพาผมไปจองตั๋วที่สถานีรถไฟ เขากลับพาไปจองที่ร้านเอเจนซี่ทัวร์

การมาถึงในเวลาดึกเช่นนี้ ทำให้ร้านเอเจนซี่ปิดให้บริการทุกร้าน ผมจึงแทบไม่เหลือความหวังว่าจะสามารถเดินทางไปนิวเดลีได้ทางรถไฟ ซึ่งใช้เวลาเร็วกว่าการเดินทางด้วยรถประจำทาง แต่เอาเข้าจริงๆ ในวันพรุ่งนี้ผมก็ได้นั่งรถไฟไปนิวเดลีตามที่ต้องการ แต่เรื่องราวการเดินทางในการไปถึงนั้นรันทดกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ

แม้อักราจะเป็นเมืองอันเป็นที่ตั้งของทัชมาฮาล สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเดินทางมาเพื่อชื่นชมความสวยงามและยิ่งใหญ่ จนรายได้หลักของเมืองมาจากธุรกิจการท่องเที่ยว แต่สภาพแวดล้อมของบ้านเรือนที่รายรอบทัชมาฮาลแบบประชิดติดขอบกำแพงนั้นมีสภาพไม่ต่างจากเมืองทั่วไปในอินเดีย นั่นคือ บ้านเรือนและผู้คนอยู่กันอย่างแออัด บนท้องถนนมากไปด้วยขยะ รวมถึงสารพัดสัตว์ ทั้งสุนัข หมู ไก่ ลิง รวมถึงวัวอันเป็นพาหนะแห่งพระศิวะ ที่ปล่อยมูลเรี่ยราดบนถนน แม้สิ่งเหล่านี้จะขัดหูขัดตานักท่องเที่ยว แต่หากลองเปิดใจ จะพบว่านี่แหละคือวิถีชีวิตของชาวเมืองจริงๆ ที่ไม่ได้เสกสรรปั้นแต่งเพื่อรับเม็ดเงินจากธุรกิจการท่องเที่ยว

ปัจจุบันอักรามีฐานะเป็นเพียงเมืองๆหนึ่งของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ที่มีเมือง Lucknow เป็นเมืองหลวง หากแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เมืองแห่งนี้เคยเป็นเมืองสำคัญของกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุล เคียงคู่กับเมืองหลวงเดลี โดยมีความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านศิลปะ และวิทยาการ จนก่อให้เกิดสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และงดงามหลายแห่ง ทั้งป้อมอักรา และสุสานรักบันลือโลก นามว่า ทัชมาฮาล (ติดตามต่อตอนต่อไป)

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.55 น.

ความคิดเห็น