ว่ากันว่านอกจากการแสวงหาอำนาจและแรงศรัทธาทางศาสนาแล้ว พลังแห่งความรักนี่แหละที่เป็นตัวผลักดันให้มนุษย์สร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความยิ่งใหญ่ หากกำแพงเมืองจีน คือตัวแทนของการแสวงหาอำนาจ นครวัดคือผลจากแรงศรัทธาทางศาสนาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกันในทวีปเอเชีย ก็คือ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) สุสานริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ที่เกิดจากพลังแห่งความรักของกษัตริย์ชาห์ จาฮัน (Shah Jahan) ที่สร้างสุสานแห่งนี้ เพื่ออุทิศแด่พระนางมุมตัส มาฮาล พระมเหสีอันเป็นที่รัก เมื่อปีพ.ศ.2175 โดยใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 22 ปีจึงแล้วเสร็จ
หลังจากที่พาสปอร์ตถูกเก็บเงียบโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการลดค่าผ่านประตูใดๆได้เลยในรัฐราชสถาน วันนี้พาสปอร์ตไทยก็กลับมาฉายแสงแห่งอำนาจในการลดค่าผ่านประตูได้อีกหน โดยสามารถลดค่าผ่านประตูเข้าทัชมาฮาลสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 750 รูปี เหลือ 510 รูปี แถมบัตรผ่านประตูนี้ยังสามารถใช้เป็นส่วนลดในการเข้าชมป้อมอักราและเบบี้ทัชได้อีก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ภายในวันเดียวกัน
เพียงแค่ซุ้มประตูทางเข้า ผมก็ตะลึงกับความใหญ่โต พร้อมกับใจที่เต้นรัวมากขึ้นเมื่อสองเท้าพาผมไปสัมผัสสิ่งที่ชาวโลกยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกยุคปัจจุบัน
ทันทีที่ก้าวผ่านซุ้มประตูขนาดยักษ์ สุสานหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ก็เผยรัศมีความงามให้เห็นแต่ไกล เส้นทางที่ทอดตรงของสระน้ำที่ขนาบไปด้วยแนวต้นไม้และทางเดินนั้นเป็นเหมือนเส้นนำทางให้ผู้คนเดินไปสัมผัสความงดงามอย่างชิดใกล้ นอกจากความยิ่งใหญ่เกินกว่าสุสานอันเกิดจากความรักใดๆในโลกแล้ว ทัชมาฮาลยังมีความงดงามด้วยลวดลายอันวิจิตรของการสลักหิน และการนำหินสีขนาดเล็กที่งดงามราวอัญมณีมาฝังลงบนเนื้อหินอ่อนที่นำมาจากรัฐราชสถาน ซึ่งลือเรื่องว่าเป็นหินอ่อนที่เนื้อหินสวยที่สุดในโลก จนเกิดเป็นลวดลายเถาดอกไม้อันอ่อนช้อย ที่มีไม่มากเกินไปจนทำให้ลายตา หากแต่พอดีอย่างลงตัวที่จะเสริมส่งความงามให้กับสุสานหินอ่อนแห่งนี้
นอกจากอิสมาอิล ข่าน สถาปนิกจากกรุงคอนสแตนติโนเบิล (ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างโดยรวมแล้ว กษัตริย์ชาห์ จาฮันยังระดมสถาปนิกฝีมือดีมาจากทั่วทุกสารทิศในอินเดียมาช่วยกันออกแบบทัชมาฮาล อีกทั้งยังใช้คนงานก่อสร้างมากถึง 2 หมื่นคน สำหรับวัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะนอกจากนำมาจากทั่วสารทิศในอินเดียแล้ว บางส่วนยังถูกส่งมาจากต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นจากแบกแดด รัสเซีย อียิปต์ และทิเบต
ด้วยเหตุที่ศาสนาอิสลามคือศาสนาที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลนับถือ รูปแบบการสร้างทัชมาฮาลจึงมีแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบมัสยิด โดยตรงกลางสร้างเป็นโดมขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า โอเนียนโดม ด้วยความสูงถึง 60 เมตร ล้อมรอบด้วยโดมขนาดเล็กทั้ง 4 มุม ตามรูปแบบเบญจรัตนะอันเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และที่มุมทั้ง 4 สร้างเป็นหอคอยสูงลักษณะเดียวกับ Minaret ที่ใช้ในการแจ้งเวลาทำนมาซ ในศาสนาอิสลาม โดยปัจจุบันทั้งสองฝั่งของทัชมาฮาลยังคงมีมัสยิดขนาดใหญ่ ที่ใช้เป็นที่ทำนมาซของชาวมุสลิม
จากการชมความงามเพียงภายนอก ในเวลานี้ผมมายืนอยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของทัชมาฮาล ซึ่งอยู่ใต้ยอดโดมขนาดใหญ่ อันเป็นที่ตั้งหีบพระศพของพระนางมุมตัส ไม่ว่าใครที่เข้ามายืน ณ ที่แห่งนี้น่าจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ผมรู้สึกในขณะนี้ คือเหมือนถูกมนต์สะกดให้หยุดนิ่งและจมอยู่ในห้วงแห่งภวังค์จากบรรยากาศของแสงสลัวๆ และเสียงก้องกังวานอันเกิดจากโครงสร้างรูปโดม แต่ความรู้สึกนี้คงเทียบไม่ได้กับความรู้สึกของกษัตริย์ชาห์ จาฮัน ที่มานั่งตรอมพระทัยจากความรักที่ลาจากไปพร้อมพระมเหสีอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันหวนกลับ
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.31 น.