ผมกลับมาย่านทัช กันจ์อีกครั้ง เพื่อจองตั๋วรถไฟไปนิวเดลี เป็นตามที่คาดไว้ คือตั๋วรถไฟเที่ยวบ่ายวันนี้เต็ม คนขายจึงเสนอให้ผมใช้บริการรถบัส แม้รู้อยู่เต็มอกว่าช้ากว่ารถไฟมาก แต่หากผมคิดจะกลับไปตั้งหลักที่นิวเดลีเสียตั้งแต่ค่ำนี้ เพื่อเดินทางกลับเมืองไทยในรุ่งขึ้น การใช้บริการรถบัสจึงเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่
อยู่อินเดียมาหลายวัน แต่ยังไม่เคยลองนั่งริกซอว์ หรือสามล้อถีบแบบดั้งเดิมของอินเดียสักที ผมจึงคิดที่จะลองนั่งสักครั้ง ในการเดินทางไปเที่ยวชมป้อมอักรา กับ เบบี้ทัช ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทัชมาฮาลมากนัก ผมเลือกใช้บริการของคุณลุงคนหนึ่ง แม้จะแต่งตัวสุดโทรม แต่ก็ดูใจดี โดยริกซอว์ของอินเดียนั้นมีลักษณะเดียวกับสามล้อถีบเมืองไทยหยั่งกับฝาแฝดคลานตามกันมา แต่ต่างกันตรงที่ ในอินเดียเรายังพบเห็นสามล้อถีบได้ทั่วไป ในขณะที่เมืองไทยนั้นใกล้สูญพันธุ์
การนั่งริกซอว์ของผมดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ใช้บริการออโต้ริกซอว์มิใช่น้อย เพราะพวกเขาต่างแซงหน้าผมไปด้วยความเร็ว ในขณะที่คุณลุงปั่นริกซอว์ไปอย่างเชื่องช้า แต่นั่นก็ทำให้สายตาผมได้ชมวิถีชีวิตของชาวเมืองอักราได้มากกว่าการนั่งออโต้ริกซอว์ที่มาเร็วไปเร็ว
คุณลุงจอดส่งผมที่ทางเข้าป้อมอักรา โดยก่อนที่ผมจะลงจากริกซอว์ คุณลุงย้ำแล้วย้ำอีก ด้วยภาษาอังกฤษปนภาษาอินเดียและภาษามือ แต่สามารถเข้าใจได้ว่า อย่าไปใส่ใจกับพวกขายของที่ระลึก เพราะของเหล่านั้นขายแพงกว่าราคาจริงๆ แต่จริงๆคุณลุงไม่ต้องย้ำก็ได้ เพราะคนที่ไม่ชอบช็อปปิ้ง แถมไม่อยากเพิ่มความหนักให้กับสัมภาระเช่นผม คงไม่คิดจะซื้อของที่ระลึกแบบเรื่อยเปื่อย โดยหลังจากที่ผมกลับจากการเที่ยวชมป้อมอักราแบบมือเปล่า ก็ทำให้คุณลุงถึงกับยกนิ้วให้ผมหลายครั้ง
ได้เวลาที่พาสปอร์ตไทยจะแผลงฤทธิ์อีกครั้ง โดยทันทีที่ผมแสดงพาสปอร์ตไทย แทนที่ผมต้องไปต่อแถวซื้อตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ต้องเสียค่าเข้าสูงถึง 300 รูปี ผมก็ได้สิทธิ์ให้ไปต่อแถวเดียวกับชาวอินเดีย ที่เสียค่าเข้าเพียง 10 รูปี ต่างกันเห็นๆถึง 30 เท่าเช่นนี้ผมจึงภูมิใจในพาสปอร์ตไทยยิ่งนัก
หลังจากเดินยืดอกท่ามกลางความอิจฉาของพวกฝรั่งผมทองที่ต้องจ่ายค่าเข้าในราคาที่แพงกว่า ผมก็พาตัวเองไปยืนแหงนคอมองความใหญ่โตของป้อมอักรา (Agra Fort) ที่สร้างด้วยหินทรายสีแดง ดูไปดูมาจึงรู้สึกว่ารูปแบบการสร้างนั้นแทบไม่ต่างจากป้อมแดงในเดลีสักเท่าไหร่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะป้อมอักราแห่งนี้เป็นต้นแบบในการสร้างป้อมแดงในเวลาต่อมานั่นเอง
หลังจากผ่านความแข็งแกร่งและใหญ่โตของแนวกำแพงสีแดงสูง 70 ฟุต ผมก็เข้าสู่เขตพระราชวังที่ซ่อนตัวอยู่ภายใน เขตพระราชวังนี้ประกอบไปด้วยพระตำหนักหลายหลัง อีกทั้งยังมีท้องพระโรงสำหรับว่าราชการ และมัสยิด ว่ากันว่าหากมีโอกาสเดินนับเหล่าอาคารน้อยใหญ่ภายในป้อมอักรา คุณอาจตะลึงกับตัวเลขที่นับได้ เพราะภายในป้อมแห่งนี้มีอาคารมากถึง 500 หลัง แต่โอกาสนั้นคงไม่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของป้อมถูกใช้เป็นพื้นที่ของกองทัพอินเดีย ที่ไม่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม แต่ถึงอย่างไร แค่พื้นที่ส่วนน้อยที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ก็มากมายไปด้วยเหล่าอาคารที่สร้างด้วยศิลปะเฉพาะของราชวงศ์โมกุลที่บรรจงสลักอย่างอ่อนช้อย อยู่เคียงคู่กับป้อมปราการอันแข็งแกร่ง
แม้จะมีมวลหมู่อาคารมากมายเพียงใด แต่คงไม่มีอาคารใดจะมีความสำคัญมากไปกว่า Musamman Burj ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา เพราะตำแหน่งอันเป็นที่ตั้งนี้เป็นจุดที่ดีที่สุดในการมองความยิ่งใหญ่และงดงามของทัชมาฮาล ซึ่งตั้งอยู่อีกมุมหนึ่งของโค้งน้ำได้อย่างชัดเจน ณ ตำแหน่งนี้กษัตริย์ชาห์ จาฮัน ผู้สร้างทัชมาฮาลจึงเฝ้ามองผลงานที่ตนสร้าง แต่การมองทัชมาฮาลของพระองค์ต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไปตรงที่ นักท่องเที่ยวทั่วไปมองทัชมาฮาลด้วยความชื่นชมทั้งในความงดงามและความยิ่งใหญ่ ในขณะที่พระองค์มองด้วยความเศร้า เพราะนอกจากการสูญเสียพระมเหสีอันเป็นที่รักแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ยังถูกออรังเซบ (Aurangzeb) พระโอรสของพระองค์เองกักขัง เพื่อยึดอำนาจ นอกจากเป็นตัวแทนแห่งความรักแล้ว ในช่วงเวลานั้นทัชมาฮาลยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเพียงสิ่งเดียวที่พระองค์มี ก่อนที่จะสวรรคตในอีก 8 ปีถัดมา
นั่นคือเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันระหว่างทัชมาฮาลกับป้อมอักรา ระหว่างการจากลากับความรักที่ยังคงอยู่ เรื่องราวของสิ่งที่มองไม่เห็น หากแต่รู้สึกได้นี้ มีพลังมหาศาลที่เสริมส่งความงามของทัชมาฮาลให้สูงค่ามากขึ้นกว่าความงามที่สายตาได้สัมผัส
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.43 น.