บ่ายวันนี้เราเลือกที่จะไปเยือนย่านมากาติ (Makati) โดยใช้บริการรถไฟฟ้า ในกรุงมะนิลามีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ 3 สาย ประกอบด้วย LRT1 สายสีเหลือง วิ่งจากเหนือลงใต้ ผ่านเขตเมืองเก่าและเฉียดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเกือบทุกแห่งในมะนิลา ใช้คำว่า เฉียด นะครับ เพราะแต่ละสถานีห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวเป็นกิโล โดยเชื่อมต่อเป็นวงกลมรอบกรุงมะนิลากับ MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งวิ่งเชื่อมกับ LRT1 ทางทิศเหนือ แล้ววนไปทางตะวันออก ผ่านเขตเมืองใหม่อย่างเกซอนซิตี้ จากนั้นจึงวิ่งมาบรรจบกับ LRT1 อีกครั้งทางทิศใต้ ส่วนสายสุดท้ายคือ LRT2 สีม่วง วิ่งเชื่อมตอนกลางระหว่างสองสายแรก

รถยนต์ในประเทศฟิลิปินส์วิ่งเลนขวา รถไฟฟ้าก็เช่นกัน ที่ต้องบอกเช่นนี้เพราะสถานีรถไฟฟ้าของกรุงมะนิลานั้นมีแค่ชั้นเดียว ไม่ได้มี 2 – 3 ชั้นเหมือนในบ้านเรา ที่จะขึ้นจากฝั่งไหนของถนนก็ได้ แล้วไปเจอกันข้างบนซึ่งเป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว จากนั้นจึงค่อยเลือกว่าจะไปเส้นทางไหน ฉะนั้นการขึ้นสถานีรถไฟฟ้าในกรุงมะนิลาไม่ว่าจะเป็น MRT หรือ LRT เราต้องมีสติอยู่กับตัวเสมอว่าปลายทางที่เราจะไปนั้นอยู่ทางทิศไหน แล้วเลือกขึ้นให้ถูกฝั่งของถนน เพราะหากขึ้นผิดฝั่งก็ต้องเดินกลับลงมาแล้วข้ามถนนไปอีกฝั่งเพื่อขึ้นไปยังชานชลาที่ถูกต้อง แม้จะมีความยุ่งยากในการเลือกขึ้นฝั่งที่ถูกต้องสักนิด และต้องซื้อตั๋วเป็นครั้งๆเมื่อเปลี่ยนเส้นทาง แต่ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในกรุงมะนิลานั้นแสนถูกวิ่งไปไกลสุดก็แค่ราว 28 เปโซ หรือประมาณ 20 บาทเท่านั้น

LRT1 พาเราเหินฟ้าผ่านตัวเมืองทางทิศใต้สู่สถานี EDSA ซึ่งมีทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า MRT จุดเชื่อมต่อนี้เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม จุ๋ยไม่สนใจของที่ขายเท่าไหร่นัก แต่กลับสนใจ Sisig หรือ หัวหมูย่าง 1 ในอาหารประจำชาติของชาวฟิลิปิโน แต่ด้วยเหตุที่ท้องยังอิ่ม และเป็นช่วงการเดินทางเราจึงเลื่อนการลิ้มลองออกไปก่อน แต่จนแล้วจนรอดตลอด 9 วันในฟิลิปปินส์เราก็ไม่มีโอกาสลิ้มลอง Sisig นี้สักที

เราเดินบนทางเชื่อมต่อไปยังสถานี Pasay ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของ MRT โดยเรามีปลายทางที่สถานี Ayala Center ซึ่งเป็นสถานีที่ใกล้กับย่านมากาติที่สุด ขบวน MRT ที่เราใช้บริการนี้มีสภาพค่อนข้างเก่า นั่นคงเป็นเพราะประเทศฟิลิปปินส์มีระบบรถไฟฟ้ามาก่อนประเทศไทยนานหลายปี แต่เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก โครงสร้างพื้นฐานต่างๆจึงหยุดการพัฒนาไปด้วย

รถไฟฟ้า MRT วิ่งบนดิน ไม่ได้ลอยฟ้าหรือมุดลงดิน อีกทั้งแต่ละสถานีก็อยู่ห่างไกลกันมาก แม้ Ayala Center จะอยู่ห่างออกไปแค่ 2 สถานีเท่านั้น แต่ระยะทางที่วิ่งทำให้เรารู้สึกประหนึ่งนั่งรถไฟท้องถิ่นไปคนละอำเภอ

อาจจะเกิดความสงสัยว่าย่านชื่อว่า Makati แต่ทำไมสถานีรถไฟฟ้าจึงชื่อว่า Ayala Center นั้นเป็นเพราะอยาลานี้เป็นชื่อของตระกูลที่พัฒนาย่านมากาตินี้ให้เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของกรุงมะนิลา ตั้งแต่ปีค.ศ.1950 ซึ่งไม่ใช่แค่กรุงมะนิลา แต่เมืองใหญ่ๆอย่างซีบู ก็มีย่าน Ayala Center เช่นกัน ตระกูลนี้จึงเป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในฟิลิปปินส์

ทันทีที่เราเดินออกมาจากสถานี Ayala Center เราก็เหมือนออกมาสู่โลกอีกใบที่เต็มไปด้วยอาคารสูงที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมทันสมัย ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร คอนโดมิเนียม และโรงแรมระดับ Hi En ที่สำคัญมีโรงแรมในเครือดุสิตธานี ของไทยตั้งอยู่ด้วย หากมากับทัวร์หรือถูกปิดตาแล้วจับมาปล่อยไว้ที่ย่านนี้ ผมอาจหลงคิดไปว่า กรุงมะนิลามีแต่ความหรูหรา แต่จากการเดินทางที่ผ่านมา จึงได้รับรู้ว่ากรุงมะนิลาก็ไม่ต่างจากเมืองใหญ่บนโลกใบนี้ ที่หลากหลายไปด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

หากจะเปรียบกรุงมะนิลากับกรุงเทพ ย่านมากาตินี่คงประมาณย่านสยาม ราชประสงค์ หรือสีลม ที่มีห้างสรรพสินค้าสร้างกันแบบกระจุกตัวในลักษณะ Complex แต่ละห้างมีทางเชื่อมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น The Link, SM Mall, Greenbelt Mall ที่ล้วนมีขนาดใหญ่โตกันทั้งนั้น โดยห้างหรูและใหญ่สุดในย่านนี้ เห็นจะเป็น Glorietta Mall ซึ่งมีถึง 5 อาคาร

เรายังไม่เลือกที่จะเข้าไปตากแอร์ในห้างไหน แต่เลือกที่จะนั่งรับลมเย็นๆกันในสวนสาธารณะขนาดหย่อมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของถนนและบรรดาอาคารต่างๆของ Glorietta Mall นั่งไปนั่งมา มองดูนั่นมองดูนี่ จึงเริ่มสังเกตเห็นว่าบนถนนในย่านมากาตินี้ไม่มีรถจี๊ปนี่ย์วิ่งเข้ามาเลยสักคัน มีแต่รถเก๋งหรูๆของผู้มีอันจะกิน มากาติจึงเป็นเหมือนไข่แดงกลางกรุงมะนิลา ที่มีความแตกต่างจากย่านอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด

ตากลมเสร็จ ก็เข้าไปเดินตากแอร์ในห้างต่อ เราเดินเข้าห้างนั้น ออกห้างนี้อย่างตัวปลิว เพราะไม่คิดจะซื้อสินค้าใดๆ ในเมื่อบรรดาสินค้าที่ขายไม่ว่าจะแบนด์เนม หรือโนเนมก็ไม่เห็นจะต่างจากที่มีขายในบ้านเรา แต่การเข้าห้างนั้น ออกห้างนี้ในฟิลิปปินส์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าสนุก เพราะจะต้องโดนตรวจกระเป๋าทุกครั้งที่เข้าห้าง โดยเจ้าหน้าที่จะมีอาวุธในการตรวจค้นกระเป๋าเป็นไม้ท่อนเรียว เห็นเจ้าหน้าที่ปุ๊บ มีอันต้องเปิดกระเป๋าให้เขาเอาไม้นี้เข้าไปเขี่ยค้นข้างในทุกที

สุดเขตย่านมากาติ เป็นที่ตั้งของ Ayala Museum พิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะ จริงๆแล้วที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งเดียวในย่านนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขของเวลา ประกอบกับความไม่ยากเข้าของเพื่อนร่วมทางที่ให้เหตุผลว่าสมรรถนะของตาเข้าไม่ถึงงานศิลปะ เราจึงไม่ได้เข้าไปชมภายใน ทั้งๆที่ประตูทางเข้าก็ตั้งอยู่ตรงหน้า จึงจำใจหันหลังกลับเพื่อมุ่งตรงไปยังร้านอาหารแทน

แม้ร้านอาหารประเภท Chain Restaurant ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลกมีให้เลือกอยู่มากมายหลายร้าน แต่ละร้านดูน่ากินทั้งนั้น โดยจุ๋ยพยายามชักชวนให้เข้าไปกินร้านนั้น ร้านนี้อยู่หลายร้าน แต่เผอิญในช่วงที่เราเดินผ่านเป็นเวลาที่ท้องผมยังไม่เรียกร้อง จึงปฏิเสธไปเสียทุกร้าน โดยบอกว่าไว้ขากลับค่อยแวะมากิน เมื่อเดินกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นว่าเราเลือกที่จะเดินเข้าไปในห้าง Glorietta Mall ด้วยความใหญ่ของห้างเราจึงเดินโซซัดโซเซไปยังศูนย์อาหาร ซึ่งเป็นเวลาที่ท้องเรียกร้องพอดี เย็นนี้เราจึงตกลงปลงใจกับร้านอาหารจีนที่อาหารทำไว้แล้วให้เลือกสั่ง ในราคาชุดละ 159 เปโซ โดยเลือกกับได้ 2 อย่าง ดูจากปริมาณที่คนขายตักแล้วช่างน่ากลัวว่าจะทานไม่หมดเหลือเกิน เพราะตักจนแทบจะล้นจาน จนอยากจะขอสั่งสักครึ่งจานเสียจริงๆ ดูๆไปแล้วตลอด 9 วันที่เราอยู่ในฟิลิปปินส์ รู้สึกว่าชาวฟิลิปปินส์ท่าจะชอบกินไก่มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดไหนๆ มื้อนี้ผมจึงได้ทั้งไก่ผัดซอสมะนาว และไก่ผัดเปรี้ยวหวาน มากินกับข้าวผัดและข้าวเกรียบ กินแรกๆก็รู้สึกอร่อยดี แต่กว่าจะกินหมดจานต้องใช้ความพยายามมากพอดู ส่วนคุณชายจุ๋ยได้แต่บ่นว่ามีร้านอาหารหรูตั้งหลายร้านกลับอดกิน ต้องมากินในศูนย์อาหาร เฮ่อ...

เราโดยสาร MRT กลับสู่ที่พัก ในเวลาที่ผู้โดยสารมากจนล้นชานชลา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดการเข้าสู่ชานชลาเป็นช่วงๆ เพื่อระบายให้ผู้โดยสารที่รออยู่ในชานชลาได้ขึ้นขบวนรถไฟฟ้าไปเสียก่อน จึงจะปล่อยให้ผู้โดยสารชุดใหม่ได้เข้าไป มิเช่นนั้นอาจมีการเป็นลมหรือเบียดกันจนตกชานชลาเป็นแน่

หลังจากขึ้นไปยืนแออัดใน MRT เมื่อเดินทางสู่สถานีปลายทางที่ Pasay เพื่อไปเปลี่ยนเส้นทางเป็น LRT1 เราก็ได้พบกับกองทัพของผู้โดยสารที่มีมากกว่าเวลาเร่งด่วนของกรุงเทพราว 3 เท่า ซึ่งเวลานี้เป็นเวลาเลิกงาน จึงค่อนข้างแปลกใจว่าผู้โดยสารเกือบทั้งหมดที่เราเห็นนั้นแทบไม่มีใครสวมเสื้อเชิ๊ต กางเกงสแลต หรือชุดสำนักงานเลย แต่ละคนใส่เสื้อยืด หรือชุดอยู่กับบ้าน และเดินลากแตะกันทั้งนั้น

บนทางเท้าจากสถานี Pedro Gil ไปจนถึงห้างโรบินสันส์ ที่ต้องปิดจมูกไม่ให้ดมกลิ่นฉี่เป็นช่วงๆ เมื่อยามบ่ายเรียงรายไปด้วยร้านแบกะดินเช่นไร ในเวลาค่ำมืดเช่นนี้ร้านเหล่านั้นยังอยู่เช่นเดิม ในเวลานี้จึงนึกขอบใจร้านเหล่านั้น เพราะบนเส้นทางที่ไม่มีไฟแสงสว่างสักดวง กลับพอมีแสงสลัวจากหลอดไฟของบรรดาร้านแบกะดินเหล่านั้น ที่ช่วยทำให้ทางเท้านี้ไม่มืดมิด จนอาจเดินสะดุดตกท่อ ดูแล้วย่านนี้ช่างแตกต่างจากย่านมากาติยิ่งนัก ก็อย่างที่บอกว่ากรุงมะนิลาก็ไม่ต่างจากเมืองใหญ่บนโลกใบนี้ ที่หลากหลายไปด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แล้วคนที่รูปแบบชีวิตแตกต่างกันเช่นผมกับคุณชายจุ๋ย เราจะเดินทางด้วยกันในฟิลิปปินส์ได้ตลอดรอดฝั่งไหม คงต้องตามกันดูต่อไป

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 17.07 น.

ความคิดเห็น