เดินซึมซับอดีตอันหอมหวานกันต่อ เหล่าอาคารสถานที่หลายแห่งในอินทรามูโรสยังคงถูกอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเมื่อครั้งอยู่ใต้การปกครองของสเปน หลายแห่งถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต แต่ขาดซึ่งชีวิตจิตใจของคนปัจจุบัน ในขณะนี้อีกหลายแห่งยังคงสภาพเดิมๆแม้จะดูโทรมไปนิด แต่ก็ยังมีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น

เราเดินมาจนถึงโบสถ์มะนิลา (Manila Cathedral) อีกหนึ่งโบสถ์ขนาดใหญ่ในอินทรามูโรส ไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันดีหรืออย่างไร ภายในโบสถ์หลังนี้จึงถูกใช้จัดงานแต่งงานเช่นกัน ด้วยความเกรงใจเราจึงเลือกที่จะยืนชมความงามและยิ่งใหญ่อยู่ภายนอกอีกเช่นเคย

โบสถ์มะนิลามีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์แซนอากุสตินอย่างเห็นได้ชัด สมกับที่ใช้คำว่า Cathedral ที่แปลว่าโบสถ์ขนาดใหญ่ แต่สำหรับความเก่าแก่นั้นถือว่าเก่าแก่เท่ากันเพราะสร้างในปีค.ศ.1571 เหมือนกัน และมีการบูรณะอีกหลายครั้งเพราะเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน โดยหอระฆังข้างโบสถ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เพราะแต่เดิมหอระฆังนี้สร้างเป็นฐานทรงหกเหลี่ยมซ้อนขึ้นไป 4 ชั้น ในปีค.ศ.1880 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนทำให้หอระฆังได้พังทลายลงมา โบสถ์แห่งนี้จึงกลายเป็นโบสถ์ที่ปราศจากหอระฆังอยู่ระยะหนึ่ง

จวบจนปีค.ศ.1958 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ หอระฆังจึงถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยรูปทรงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ด้านบนสร้างเป็นโดมพร้อมประดับนาฬิกาเรือนโต อาคารตัวโบสถ์ยังคงบูรณะตามสถาปัตยกรรมเดิม ด้านหน้าสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมฐานกว้าง ประกอบด้วยซุ้มประตูขนาดใหญ่ 3 บาน ส่วนบนทำป็นรูปครึ่งวงกลมซ้อนลึกเข้าไปหลายชั้นอย่างมีมิติ ด้านข้างเป็นรูปปั้นนักบุญ 6 คน ด้านบนอาคารมีไม้กางเขนขนาดใหญ่ ลึกเข้าไปด้านหลังเป็นอาคารรูปโดม หลังคาสีฟ้าที่งดงาม

นอกจากความยิ่งใหญ่ของตัวโบสถ์แล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของโบสถ์ยังอยู่หน้า Plaza de Roma จัตุรัสกลางเมืองอินทรามูโรส หากจะเปรียบแล้ว โบสถ์มะนิลาก็คงไม่ต่างจากวัดพระแก้ว ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าท้องสนามหลวง จุดศูนย์กลางของผู้คนในเกาะรัตนโกสินทร์ของบ้านเรา นอกจากนี้บริเวณ Plaza de Roma ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้าฟิลิปที่ 2 กษัตริย์ของสเปน ซึ่งชื่อประเทศฟิลิปปินส์ก็มาจากพระนามของพระองค์นั่นเอง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.43 น.

ความคิดเห็น