พี่หน้าเข้มที่เสนอรถเช่าในราคาวันละ 5 แสนรูเปียห์กับเราเมื่อคืนยังไม่ตื่นมาทำงาน เช้านี้เราจึงต้องแบกเป้เดินหารถเช่า แม้จะมีหลายเจ้าให้เลือก แต่ราคานั้นสุดโหดพอกัน คือวันละ 9 แสนรูเปียห์ แค่ได้ยินราคาก็แทบจะเผ่นไม่ทัน

เรากลับมาตั้งหลักใหม่ แทนที่จะเข้าไปถามร้านรถเช่าที่มีป้ายตั้งหราอยู่หน้าร้าน สัญชาตญาณของแบ็คแพ็คเกอร์ก็ส่งสัญญาณให้เราเข้าไปสอบถามรถเก๋งคันใหม่เอี่ยมที่จอดอยู่ริมถนน แล้วรถที่เราหมายตาก็เป็นรถเช่าจริงๆ เราจึงได้รถเช่าในราคาวันละ 4 แสนรูเปียห์ ถูกกว่าที่พี่หน้าเข้มเสนอเสียอีก

แค่ 2 วัดที่ไปเยือนเมื่อวานก็สร้างความประทับใจให้กับเรา แต่วัดทามาน อยุน กับ วัดทานาห์ ล็อท จะกลายเป็นวัดเด็กๆไปเลยเมื่อเทียบกับวัดเบซากิห์ (Pura Besakih) ที่เราจะไปเยือนในเช้าวันนี้ เพราะเบซากิห์นั้นเป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเกาะบาหลี ฉะนั้นหากมีเวลาน้อย แต่อยากสัมผัสวัดฮินดู ศิลปะบาหลีขนานแท้ มาเยือนแค่เบซากิห์แห่งเดียวก็คุ้มแล้ว

พูดถึงศาสนาฮินดูในเกาะบาหลี มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประชากรบนเกาะบาหลีกว่า 93 % นับถือศาสนาฮินดู แต่เมื่อเทียบกับประชากรในประเทศอินโดนีเซียทั้งประเทศพบว่า ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก โดย 86% ของประชากรหรือกว่าสองร้อยล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี ในขณะที่มีประชากรที่นับถือศาสนาฮินดูเพียงแค่ 1 % จึงเป็นเหตุให้ชาวฮินดูจากเกาะต่างๆในประเทศพากันย้ายถิ่นฐานมายังเกาะบาหลี ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของแผ่นดินฮินดู ท่ามกลางเกาะอีกร่วมหนึ่งหมื่นแปดพันเกาะที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

การย้ายถิ่นฐานของชาวฮินดูมายังเกาะบาหลีไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นครั้งใหญ่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นับตั้งแต่อาณาจักรมัชปาหิตบนเกาะชวาซึ่งกษัตริย์นับถือศาสนาฮินดูถึงกาลล่มสลาย จากการลุกไล่ของชาวมุสลิมจากเกาะสุมาตรา ชาวฮินดูจึงอพยพลี้ภัยจากเกาะชวามาสู่เกาะบาหลี ซึ่งนั่นคือบันทึกประวัติศาสตร์หน้าแรกของการหยั่งรากลึกของศาสนาฮินดูบนเกาะแห่งนี้

เบซากิห์ตั้งอยู่ในเขตการังกาเสม (Karangasem) ทางฟากตะวันออกของเกาะ แม้ระยะทางจะไม่ไกล แต่เพราะถนนที่แสนแคบ อีกทั้งสายฝนที่เทกระหน่ำ เราจึงใช้เวลาฝ่าสายฝนและการจราจรที่ติดขัดนานกว่า 2 ชั่วโมง จึงพ้นเขตเมืองเข้าสู่เส้นทางไต่เขาอันมีภูเขาไฟอากุง (Gunung Agung) ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะบาหลี ด้วยความสูง 3,142 เมตร ตั้งขวางอยู่เบื้องหน้า

ฟ้าสร่างฝนในเวลาที่เรามาถึง แต่ยังครับ เรายังไม่สามารถเดินตรงเข้าสู่วัดได้ เพราะผมยังแต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่ใช่ใส่เสื้อกล้ามหรือกางเกงขาสั้น แต่เป็นเพราะทุกคนที่จะเข้าไปยังวัดฮินดู โดยเฉพาะเบซากิห์ซึ่งถือว่าเป็นวัดแม่ที่มีความสำคัญที่สุดในบาหลี ผู้ชายจะต้องนุ่งโสร่งเหมือนเช่นชายชาวบาหลี ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบเช่ากับซื้อ แต่เมื่อดูราคาที่แสนถูกเมื่อเทียบกับลวดลายที่ประณีตแล้ว ผมจึงไม่ลังเลใจเลยที่จะซื้อไว้ใช้งาน 1 ผืน แต่สำหรับสองสาว งานนี้ไม่ต้องควักเงินสักรูเปีย เพราะเธอทั้งสองลงทุนหอบหิ้วกระโปรงลายหวานมาจากเมืองไทย ในเวลานี้สองสาวจึงเปลี่ยนบุคลิกจากแบ็คแพ็คเกอร์ขาโจ๋ เป็นสาวหวานซ่อนเปรี้ยวในบัดดล

ได้ยินกิตติศัพท์ในแง่ลบของเบซากิห์มาช้านาน ว่าค่าเข้านั้นแสนถูก แต่ค่าคุ้มครองของมาเฟียในคราบไกด์ท้องถิ่นของที่นี่แสนแพง อีกทั้งราคายังขึ้นลงตามหน้าตาของนักท่องเที่ยว เช่น หน้าแบบตะวันตก ค่าคุ้มครองจะสูง หน้าแบบเอเชียค่าคุ้มครองก็ถูกหน่อย แต่หากเป็นเอเชียโซนญี่ปุ่น หรือ เกาหลี อันนี้แพงสุด แล้วชายไทยหน้าตี๋อย่างผม ที่ออกท่องโลกคราใดมักถูกทักว่าเป็นคนญี่ปุ่นบ้าง คนเกาหลีบ้างจะถูกเรียกเก็บค่าคุ้มครองในอัตราเท่าไหร่หนอ งานนี้จึงเตรียมตัว เตรียมใจว่าอย่าสนใจเหล่าชายหนุ่มพวกนั้น และทำตัวให้เซอร์ๆแบบชาวอินโดเข้าไว้ แต่การนุ่งโสร่งที่หลุดแล้วหลุดอีกของผมนี่สิ บ่งบอกความเป็นคนต่างถิ่นได้ชัดกว่าใบหน้าเสียอีก แต่โชคดีที่วันนี้บาหลีเค้าพัฒนาแล้ว เรื่องมาเฟียคุมวัดนั้น วันนี้ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป มีแต่เจ้าหน้าที่ที่ถามคำถามเพราะๆว่า คุณต้องการไกด์ท้องถิ่นไหม ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ

เส้นทางทอดยาวไปตามความชันของเนินเขา ตลอดทางนั้นเรียงรายไปด้วยร้านค้าแบบบ้านๆ นอกจากงานฝีมือพวกผ้าบาติกแล้ว ยังมีหุ่นชักและเหล่าหน้ากากไม้ที่หน้าตาสุดแสนน่ากลัว แต่ที่น่าซื้อมากที่สุดกลับเป็นเหล่าผลไม้สดๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอมหวีโตๆ หรือสละที่สองสาวซื้อมาชิมแล้วถึงกับยกนิ้วว่าหวานกรอบ อร่อยยิ่งนัก

เพราะเหตุที่เบซากิห์ประกอบด้วยวัดเล็กวัดน้อยถึง 23 วัด ชาวพุทธที่ไม่ค่อยได้สัมผัสวัดฮินดูอย่างผม จึงหลงใหลได้ปลื้มกับวัดเล็กวัดน้อยที่เรียงรายไปตามทางเดิน กว่าจะมารู้ตัวอีกทีภาพของเปนาทารัน อากุง (Pura Penataran Agung) วัดใหญ่ที่สุด ที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของเบซากิห์ก็ปรากฏชัดอยู่เบื้องหน้า

ซุ้มประตูศิลปะบาหลีเปิดกว้างให้เห็นขั้นบันไดที่ทอดยาวไปตามความสูงชันของเนินเขา สู่วัดเปนาทารัน อากุงที่อยู่เบื้องบน สองข้างทางเรียงรายไปด้วยรูปปั้นของเหล่าเทพเจ้า ซึ่งนักท่องโลกที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูสามารถเที่ยวชมได้แค่บันไดขั้นสูงสุดเท่านั้น แต่ในเวลานี้เหมือนมีมนต์สะกดให้ผมเดินตามชาวบาหลีที่เทินของอยู่บนศีรษะเพื่อเข้าไปในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา โดยไม่ได้เหลียวมองเลยว่า ผมกลายเป็นคนต่างศาสนาเพียงคนเดียวในสถานที่แห่งนี้

หญิงชาวบาหลีตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยชรานำเรื่องสักการะที่เทินไว้บนศีรษะลง เพื่อตั้งจิตบูชาเทพเจ้าแห่งภูเขา ความน่ากลัวของใบหน้าเหล่าปูนปั้น ประกอบกับพิธีกรรมอันแปลกตา ช่วยเสริมส่งบรรยากาศภายในวัดให้อบอวนไปด้วยมนต์สะกดมากยิ่งขึ้น

แต่ก่อนที่ผมจะต้องมนต์สะกดไปมากกว่านี้ ผมก็ถูกเชิญให้ออกไปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ไปยังตำแหน่งที่คนต่างศาสนาควรจะอยู่ โดยมีระยะห่าง ที่กั้นกลางระหว่างความต่างของศาสนาที่นับถือทอดขวางไว้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 11.58 น.

ความคิดเห็น