บนถนนรายา อุบุด (JL. Raya Ubud) อันเป็นถนนเส้นกลางของอุบุด (Ubud) ขบวนแห่ศาลเทพเจ้ากำลังเคลื่อนตัวมา เราจึงตัดสินใจให้คนขับจอดส่งเราที่นี่ เพื่อชมขบวนแห่ ซึ่งถือเป็นโชคดีที่มาถึงอุบุดปุ๊บ ก็ได้ชมขบวนแห่ที่หาชมได้ยากทันที

เราเริ่มหาที่พักในถนนศรี เวดารี (JL. Sri Wedari) ซึ่งที่พักแต่ละแห่งล้วนสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น เพราะอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของสวนสวย เราเข้าไปคุยกับป้าชาวตะวันตกคนหนึ่งที่กำลังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้านพัก เธอบอกว่าพักอยู่ที่นี่นานร่วมเดือนแล้ว เพราะติดใจในความร่มรื่น และจะพักแบบ long stay เช่นนี้ต่ออีกหลายวัน โดยยังไม่มีกำหนดกลับ

ได้ยินเช่นนั้นเราก็ได้แต่อิจฉา เพราะเรามีเวลาพักที่นี่เพียงแค่คืนเดียวเท่านั้น ไว้ให้แก่กว่านี้จะกลับมาในฐานะแบ็คแพ็คเกอร์กระเป๋าหนัก พักนานๆหลายๆวันบ้าง

แม้ที่พักในอุบุดจะมีค่อนข้างมาก แต่กว่าที่เราจะได้ที่พักเวลาก็เคลื่อนตัวผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง เรียกว่าทำลายสถิติที่ทำไว้เมื่อวานอย่างยับเยิน เพราะสาเหตุเรื่องเดิม คือเรามากัน 3 คน จึงมีปัญหาเรื่องห้องพักที่ส่วนใหญ่เป็นห้องแบบ 2 เตียง และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซั่น ที่พักส่วนใหญ่จึงเต็ม เราจึงต้องเดินย้ำต๊อกไปหาที่พักจนเกือบสุดถนนมังกี้ ฟอเรสต์ แถมด้วยการที่ผมถูกนายหน้าชักชวนให้นั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปดูที่พักสุดแสนเปลี่ยว จนน่าเป็นห่วงตัวเองว่าหากไม่พักจะถูกนายหน้าฆ่าหมกป่าไหม

การที่เดินเข้า เดินออกโฮมสเตย์นับสิบแห่งทำให้ผมสังเกตว่านอกจากความเหมือนกันของสถานที่พักที่อิงแอบแนบชิดธรรมชาติแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เหล่าโฮมสเตย์มีเหมือนกัน นั่นคือจะมีมราจัน (Mrajan) ที่แต่ละบ้านสร้างขึ้นเพื่อใช้บูชาวัดที่ตนนับถือ โดยจำลองตั้งไว้ภายในอาณาบริเวณบ้าน เรียกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือพักอยู่ที่บ้าน ชาวบาหลีก็ไม่เคยห่างจากศาสนาฮินดูที่พวกเขานับถือ

ในที่สุดเราก็ต้องยอมรับว่าคงหาห้องพักแบบ 3 เตียงไม่ได้ สุดท้ายจึงเดินคอตกกลับมาตายรังที่โฮมสเตย์ EGA ซึ่งเป็นโฮมสเตย์แรกๆที่เราเข้าไปดู ในถนนศรี เวดารี โดยคืนนี้สองสาวทำตัวเป็นแม่พระด้วยการยอมเสียสละนอนเบียดบนเตียงเดียวกัน ให้ชายหนุ่มได้นอนสบายคนเดียวบนเตียงที่เหลือ

แม้ตาจะเริ่มหรี่จากความง่วงนอน แต่สำหรับอุบุดแล้ว ค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล เราจึงชักชวนกันไปถนนมังกี้ ฟอเรสต์ (JL. Monkey Forest) อีกครั้งเพื่อชมงานศิลปหัตถกรรมที่มีมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ผ้าทอ ผ้าบาติก โมบาย หน้ากากไม้ ตุ๊กตาไม้ ที่รูปร่างสูงชะลูดเหมือนชนเผ่าในอัฟริกา แต่ที่ถูกใจผมมากที่สุดเห็นจะเป็น ว่าวรูปนก รูปผีเสื้อ ที่สีสดได้ใจเหลือเกิน คืนนี้เราจึงได้เสพงานศิลป์แบบบาหลีจนเต็มอิ่ม

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.04 น.

ความคิดเห็น