เวลาที่ผ่านไปแค่ชั่วโมงเศษส่งผลให้ตลาดที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนเปลี่ยนเป็นตลาดที่ใกล้วาย หากแต่ฝั่งตรงข้ามกลับเริ่มมากไปด้วยผู้คน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวัดซาเรน อากุง (Puri Saren Agung) ซึ่งครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอุบุด ก่อนที่จะตกอยู่ใต้อาณานิคมของชาวดัตช์เหมือนเช่นอาณาจักรต่างๆภายในเกาะ

ลึกเข้าไปในซุ้มประตูอิฐที่สร้างอย่างใหญ่โตจึงมากไปด้วยพลับพลาและเหล่ารูปปั้นเทพเจ้า ทำให้ที่นี่ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดแสดงนาฏกรรมบารอง ศิลปะอันเรื่องชื่อของชาวบาหลี ซึ่งเปิดแสดงทุกวันในเวลาค่ำ

พูดถึงศิลปะแล้ว ไม่ใช่เฉพาะการแสดงนาฏกรรมบารอง แต่ที่อุบุดนี้เต็มไปด้วยงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพวาด ในเวลานี้ผมจึงทำตัวเป็นนักเสพงานศิลป์ด้วยการเดินเข้า - ออกเพื่อดื่มด่ำงานศิลปะของภาพวาดในแกเลอรีหลายแห่ง ซึ่งภาพส่วนใหญ่ล้วนสะท้อนภูมิทัศน์และศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของบาหลี

เฉกเช่นเดียวกับภาพความงามที่สะท้อนบนบึงน้ำกว้างของวัดสาระวาตี (Pura Sarawati) ซึ่งหากไม่ติดเงื่อนไขของเวลาที่นัดหมายไว้กับสองสาว ผมอยากปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับการนั่งชมความงามของวัดและเหล่าดอกบัวที่ชูช่อบนผิวน้ำใสให้นานกว่านี้

ผมกลับมาพบหน่อยกับแต๋วที่โฮมสเตย์ เป้ของเราถูกยกขึ้นบ่าอีกครั้ง พร้อมด้วยการเดินทางของเราสองสามคนที่กำลังเริ่มขึ้นเพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะชวา

จากอุบุดเรานั่งรถกลับไปยังเดนปาซาร์เพื่อต่อรถประจำทางสู่ท่าเรือกิลิมานุค (Gilimanuk) ระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตร กับสภาพการจราจรที่แสนติดขัด แถมด้วยบรรยากาศอันร้อนอบอ้าว ทำให้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์นัก แต่ก็ยังดีที่เส้นทางที่ลัดเลาะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ พาให้เราได้สัมผัสผืนป่าที่เขียวชอุ่ม นาขั้นบันได และท้องทะเลอันกว้างใหญ่ จึงพอช่วยบรรเทาความรู้สึกให้ทุเลาลง

เรือเฟอร์รี่ลำโตกำลังเคลื่อนตัวออกจากเกาะบาหลี สู่แผ่นดินแห่งเกาะชวาที่อยู่ไม่ไกลนัก เวลาที่เข็มนาฬิกาหมุนวนแค่ 2 วันเศษ กับสถานที่และวิถีชีวิตที่โคจรมาให้สัมผัส อาจไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมดในความเป็นตัวตนที่แท้จริงของบาหลี แต่อย่างน้อยผมก็ได้รับรู้ว่าธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และแรงศรัทธาในศาสนาของชาวบาหลีนั้นงดงามเพียงใด ซึ่งนั่นเป็นแรงเสริมให้เกาะบาหลี เกาะเล็กๆที่เป็นเพียงหนึ่งในหมื่นแปดพันเกาะของประเทศอินโดนีเซีย ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศที่คนทั่วโลกอยากเดินทางมาสัมผัส

ในวันนี้จังหวะชีวิตของเกาะบาหลีจึงกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จังหวะชีวิตของคนท้องถิ่นกลับดำเนินไปอย่างแช่มช้า ตราบเท่าที่ยังคงมีกระทงบรรจุดอกไม้งามใบน้อยวางอยู่ที่หน้าบ้าน ในทุกเช้าที่แสงแดดของวันใหม่ได้สาดส่อง ...

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15.39 น.

ความคิดเห็น