เราควรจะไปเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) เหมือนเช่นนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ตั้งใจไปยลบุโรพุทโธ แต่เป็นเพราะคนอินโดแท้ๆอย่างอีเมลดาแนะนำว่า เราควรไปที่เมืองมาเกลัง (Magelang) เพราะบุโรพุทโธอยู่ในเมืองนี้ หาใช่อยู่ในยอกยาการ์ตาเหมือนอย่างที่นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าใจ เราจึงเบนเข็มไปเมืองมาเกลังตามคำแนะนำของเจ้าถิ่น
เพียงไม่ถึง 10 นาทีหลังจากขึ้นรถ หน้าตักของเราก็เต็มไปด้วยสารพัดสิ่งของ ทั้งสมุดระบายสี ไฟฉาย สติกเกอร์การ์ตูน ที่นวดหลัง และลูกบิด ซึ่งเป็นวิธีการเสนอขายสินค้าแบบฉบับอินโด ที่เหล่าพ่อค้าต่างเอาสินค้ามาวางไว้ที่หน้าตักของผู้โดยสารแล้วเดินจากไป เพื่อให้ผู้โดยสารได้ลองใช้ ซึ่งหากชอบใจก็สามารถซื้อได้ทันที แต่หากไม่อยากซื้อก็วางไว้เฉยๆ สักพักเหล่าพ่อค้าก็จะมาเดินมาเก็บเอง
เวลาแห่งการเดินทางเคลื่อนตัวผ่านไปจนถึงเวลาตี 2 รถโดยสารจึงจอดส่งเราที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งก่อนที่จะเลี้ยวเข้าไปในสถานีขนส่งเมืองมากาลัง แต่ด้วยราคาค่าห้องในระดับโรงแรมที่ไม่ค่อยกินเส้นกับเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์เท่าไรนัก เราจึงขอไปตายเอาดาบหน้าด้วยการเหมารถสองแถวให้ไปส่งที่ Ponduk Tingal ที่พักสุดฮิตของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ทุนน้อยที่อยู่ใกล้บุโรพุทโธเพียงแค่ 500 เมตร
หลังจากปลุกเจ้าหน้าที่ที่กำลังหลับใหลให้ตื่นมาทำเรื่องเช็คอิน สองสาวก็เลือกที่จะพักห้องสแตนดาร์ดในราคา 100,000 รูเปียห์ เพราะหารสองแล้วจ่ายแค่คนละ 50,000 รูเปียร์ หรือประมาณ 160 บาทเท่านั้น แต่ชายหนุ่มหนึ่งเดียวที่ไม่มีเพื่อนมาร่วมหารค่าห้องเช่นผม จึงจำใจเลือกห้องพักแบบ Dormitory หรือห้องนอนรวม ที่อยู่รวมกับเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์กระเป๋าแห้งด้วยกัน ในราคาแสนถูกเพียงคืนละ 20,000 รูเปียห์
ทีแรกคิดว่าคืนนี้คงได้เพื่อนใหม่ จนต้องฟุตฟิตฟอไฟกันให้วุ่น แต่ห้องนอนรวมที่มีเตียงมากกว่า 10 เตียงกลับมีผมเพียงคนเดียว คืนนี้ผมจึงกลายเป็นเจ้าของห้องที่แสนกว้างใหญ่
และนั้นเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เราสามคนได้เดินทางร่วมกัน ก่อนที่วันพรุ่งนี้ สองสาวจะไปชมบุโรพุทโธแต่เช้าแล้วตีรถย้อนกลับไปบาหลี เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย ในขณะที่การเดินทางของผมยังทอดยาวจนสุดชวาตะวันตก
เสียงละหมาดดังมาจากชุมชนรอบข้าง ปลุกให้ผมตื่นจากการหลับใหล หลังจากหัวเพิ่งถึงหมอนได้แค่ 2 ชั่วโมงเศษเท่านั้น
แสงแดดอ่อนๆเรืองรองจากขอบฟ้า แม้บุโรพุทโธจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ผมกลับพาตัวเองออกก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ห่างจากบุโรพุทโธมากขึ้น เพื่อเริ่มต้นการเดินทางบนเส้นทางแสวงบุญโบราณที่ทอดยาวกว่า 2 กิโลเมตร จากเจดีย์เมินดุต ผ่านเจดีย์ปาวอน จนสุดปลายเส้นทางที่บุโรพุทโธ เฉกเช่นนักแสวงบุญชาวชวาในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองด้วยแรงศรัทธาจนถึงขีดสุด ก่อนที่แรงศรัทธานั้นจะถึงกาลเสื่อมถอยจนดินแดนแห่งนี้กลายเป็นแผ่นดินที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก
ผมพาสองเท้าก้าวข้ามแม่น้ำเอโล (Kali Elo) ที่ไหลเป็นระลอกยามกระทบก้อนหินน้อยใหญ่ ในขณะที่วิถีชีวิตยามเช้าของชาวชวายังคงสงบนิ่ง ริมแม่น้ำสายนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์เมินดุต (Mendut) โบราณสถานอายุกว่าพันปีที่ซ่อนตัวอยู่หลังม่านไทรย้อย
แม้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อสองเท้าก้าวผ่านขั้นบันไดหินเพื่อเข้าไปภายในเจดีย์ สองสายตาก็ได้สัมผัสพระพุทธรูป ที่ซ่อนเร้นความงดงามผ่านกาลเวลามานับพันปี จนทำให้จิตใจผมแทบจะหยุดนิ่งในห้วงเวลาแรกที่ได้เห็น เพราะแม้จะสลักจากหินที่แข็งแกร่ง แต่อิริยาบถของพระพุทธรูปที่ประทับบนบัลลังก์นั้นช่างอ่อนช้อยยิ่งนัก
พระพุทธรูปหินองค์กลางคือ พระไวโรจนะพุทธะ (Buddha Vairocana) ส่วนพระพุทธรูปหินที่ขนาบสองข้างนั้นคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva Avalokitesvara) กับ พระโพธิสัตว์วัชรปาณี (Bodhisattva Vajrapani) ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พุทธสถานแห่งนี้เป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งศรัทธากับศาสนาฮินดูที่มากไปด้วยเหล่าเทพเจ้า แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองศาสนากลับพ่ายแพ้ต่อศาสนาที่เดินทางมาพร้อมกับเรือพาณิชย์จากอาหรับ ในวันที่ศรัทธาของผู้คนเปลี่ยนแปลง
จากแม่น้ำเอโลผมเดินมาสู่แม่น้ำโปรโก (Kali Progo) สายน้ำอีกสายที่ไหลชิดใกล้บุโรพุทโธ ไม่ไกลจากสายน้ำนักเจดีย์ปาวอน (Pawon) แอบซ่อนตัวอยู่ภายในหมู่บ้านที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากบริเวณนี้ถูกปกคลุมด้วยผืนป่ามานานนับร้อยๆปี เมื่อราชวงศ์ไศเลนทร์ถึงกาลล่มสลาย หลังจากบุโรพุทโธถูกสร้างเสร็จเพียงไม่นาน
เจดีย์ปาวอนมีสถูปเล็กๆสร้างไว้อยู่เบื้องบน ดูแล้วมีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยาใน จ.สุราษฎร์ธานีอยู่มิใช่น้อย ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในจิกซอร์สำคัญของประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของศิลปะในคาบสมุทรมาลายู จากอาณาจักรไชยา ศรีวิชัย ชวา จนยาวไกลไปถึงมหาปราสาทของอาณาจักรขอมโบราณ
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15.05 น.