เหมือนภูเขาขนาดยักษ์สีดำทะมึนตั้งวางอยู่เบื้องหน้า แต่เมื่อสายตาได้เข้าไปสัมผัสอย่างชิดใกล้ เหล่าพระพุทธรูปและเจดีย์นับร้อยๆองค์จึงเริ่มปรากฏให้เห็น

พระพุทธรูปจำนวนมากนี้เองที่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บุโรพุทโธ (Borobudur) ปรากฏแก่สายตาของชาวโลกอีกครั้ง หลังจากที่กษัตริย์และประชาชนชาวชวาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ในเวลาใกล้เคียงกับภูเขาไฟเมราปี (Grand Merapi) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ จนเถ้าถ่านปกคลุมบุโรพุทโธ นำมาซึ่งการถูกปล่อยให้รกร้าง

จนเวลาล่วงมาถึงราวปีพ.ศ.2300 เจ้าเมืองยอกยากาตาร์ทรงทราบว่า ชาวบ้านบริเวณนี้ได้พบพระพุทธรูปจำนวนมาก หากแต่ในเวลานั้นบุโรพุทโธก็ยังคงถูกเก็บซ้อนอยู่ใต้เถ้าถ่านของกาลเวลา จวบจนเซอร์โทมาส สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ นายทหารชาวอังกฤษได้ทราบเรื่องในปีพ.ศ.2357 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประเทศอินโดนีเซียได้ตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษจึงมีคำสั่งให้ขุดค้น ล่วงมาจนถึงสมัยที่การปกครองเปลี่ยนมือมาเป็นชาวดัตช์ โบราณสถานแห่งนี้จึงได้รับการบูรณะจากเหล่านักโบราณคดี จนความยิ่งใหญ่กลับมาปรากฏให้เห็นเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา

การที่ตำแหน่งที่ตั้งของบุโรพุทโธอยู่บนที่ราบหุบเขาที่มากไปด้วยสายน้ำหลากสาย จึงเป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์หลายคน สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งในอดีตที่ผ่านพ้น ปริมาณน้ำจากสายน้ำแต่ละสายได้ไหลเอ่อล้นที่ราบแห่งนี้ จนเกิดเป็นทะเลสาบ หากเป็นเช่นนั้นจริง บุโรพุทโธจึงเปรียบดังเขาพระสุเมรุ ที่ถูกโอบล้อมด้วยมหานทีสีทันดร ห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยการหมุนวนของกิเลสตัณหา ซึ่งมนุษย์ผู้แสวงหาการหลุดพ้นต้องว่ายข้ามผ่าน เพื่อไปยังปลายทางแห่งนิพพานอันแสนไกล

บุโรพุทโธนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าวิษณุ กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ เมื่อประมาณปีพ.ศ.1321 และถูกสร้างต่อมาอีกหลายรัชกาลจนแล้วเสร็จ โดยโครงสร้างนั้นเกิดจากการสลักภูเขาทั้งลูกให้ลึกเข้าไปเป็นระเบียงรายรอบทั้งหมด 9 ชั้น บุโรพุทโธจึงมีความยิ่งใหญ่อย่างที่ปรากฏให้เห็น

มิใช่มีแค่เพียงความยิ่งใหญ่ หากแต่บุโรพุทโธ ยังงดงามไปด้วยภาพแกะสลักที่รายล้อมฐานชั้นต่างๆ จนทำให้ผมตกอยู่ในมนต์สะกดเดินชมภาพแกะสลักนับพันภาพเหล่านั้นเป็นเวลานานนับชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นภาพที่สะท้อนถึงบาปบุญในกฎแห่งกรรม พุทธประวัติ ทั้งภาพปฐมเทศนา ตลอดจนภาพจากชาดกต่างๆ รวมถึงภาพแสดงวิถีชีวิตของชาวชวายุคประวัติศาสตร์ที่ยังคงคมชัดแม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าพันปี เหมือนประหนึ่งเรื่องราววิถีชีวิตแห่งอดีตที่ปรากฏให้เห็นเพิ่งถูกแกะสลักเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เหล่าภาพแกะสลักที่ได้เห็นนี้ชวนให้ผมนึกไปถึงเหล่าภาพแกะสลักที่นครวัดและเหล่าปราสาทขอมโบราณ ซึ่งไม่ใช่เพียงภาพแกะสลักเท่านั้น หากแต่รวมถึงรูปแบบการสร้างที่สูงใหญ่ดังเขาพระสุเมรุนี้ เป็นต้นแบบการสร้างปราสาทขอมที่อยู่ไกลออกไปอีกฝั่งทะเล

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรขอมโบราณนั้นเคยพำนักอยู่กับพระเจ้าวิษณุที่ชวา จึงได้มีโอกาสเห็นการก่อสร้างบุโรพุทโธ ซึ่งสิ่งที่เห็นนี้นำมาสู่การสร้างปราสาทบากอง ในดินแดนขอม และเป็นต้นแบบที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงใช้สร้างนครวัด จนกลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในเวลาต่อมา

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 08.59 น.

ความคิดเห็น