ผมพยายามชะเง้อมองเหล่าโบราณวัตถุผ่านกระจกหน้าต่างจนเป็นที่น่าสงสารของคนขับมอเตอร์ไซค์ยิ่งนัก เขาจึงเดินไปตามเจ้าหน้าที่ให้มาเปิดประตูพิพิธภัณฑ์ แม้อาคารพิพิธภัณฑ์จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็รวบรวมเหล่าโบราณวัตถุที่กระจัดกระจายมาจากเหล่าเทวสถาน โดยรูปปั้นที่มีมากที่สุดคือ พระศิวะ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า เหล่าเทวสถานในเดียงพลาโทนั้นถูกสร้างในลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด

บริเวณพิพิธภัณฑ์ถือเป็นจุดศูนย์กลางของเดียงพลาโท โดยรอบจึงมากไปด้วยเหล่าเทวสถานที่กระจัดกระจายเต็มพื้นที่แห่งขุนเขา แต่เทวสถานที่ได้รับการบูรณะจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นั้นมีเพียงแค่ 8 แห่ง เริ่มจาก จันทิกาโตตกาซะ (Candi Gatotkaca) ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ โดยมีขนาดเล็กมาก ไร้ซึ่งการแกะสลักลวดลายใดๆ

หลังจากดูเทวสถานเล็กๆเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาชมกลุ่มเทวสถานที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในเดียงพลาโท นั่นคือ กลุ่มจันทิอรชุน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบูชาเจ้าชายอรชุน วีรบุรุษของฝ่ายปาณฑพในมหาภารตยุทธ อันประกอบด้วยเทวสถานถึง 5 หลังเรียงต่อกันเป็นแนวเส้นตรง

เริ่มจาก จันทิอรชุน (Candi Arjuna) จันทิเสมาร์ (Candi Semar) จันทิศรีกัณฑิ (Candi Srikandi) จันทิปันตาเทวา (Candi Puntadewa) และจันทิเสมบัทรา (Candi Sembadra) โดยจันทิแต่ละหลังนั้นพอหลงเหลือภาพสลักนูนต่ำให้เห็นบ้าง

แต่ภาพสลักที่ดูโดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นภาพสลักหน้ากาล (Kala) ผู้กลืนกินกาลเวลา โดยหน้ากาลของเดียงพลาโทนั้นดูอวบอิ่มกว่าหน้ากาลทั่วไปที่เคยเห็น ไม่รู้เป็นเพราะความตั้งใจของนายช่างหรือเปล่า ที่จงใจสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของเดียงพลาโทออกมาให้ได้เห็นจากงานแกะสลัก หรือบางทีอาจเป็นเพราะหน้ากาลที่นี่ได้กลืนกินเวลามากว่าพันปีจึงได้อวบอิ่มได้ขนาดนี้

ผมเดินชมเหล่าจันทิที่ตั้งโดดเด่นท่ามกลางขุนเขาที่สายหมอกคลี่ตัวห่มคลุมอย่างช้าๆ ในใจก็อดคิดไม่ได้ว่า คำว่า “จันทิ” ที่นำหน้าเหล่าเทวสถานนั้น น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า “เจดีย์” ที่คนไทยคุ้นเคย เพราะไม่ว่า จันทิอันเป็นเทวสถานในศาสนฮินดูที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือ เจดีย์ของศาสนาพุทธในประเทศไทย ก็ล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ ดินแดนชมพูทวีป

แม้ว่ากลุ่มจันทิอรชุนจะเป็นกลุ่มเทวสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่สำหรับเทวสถานที่ตั้งอยู่โดดๆที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดคือ จันทิภีมะ (Candi Bima) ซึ่งส่วนยอดที่มากไปด้วยพระพักตร์ของเทพเจ้านั้นมีลักษณะเป็นพระปรางค์ ดูคล้ายกับปราสาทขอมยิ่งนัก ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นการลงหลักปักฐานของศาสนาฮินดูครั้งแรกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะแผ่ขยายไปยังดินแดนขอม จนเป็นรากฐานในการก่อเกิดโบราณสถานในอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่ในยุคต่อมา

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 15.38 น.

ความคิดเห็น