รถ Jogja ยังคงเป็นพาหนะในการเดินทางที่แสนสะดวก เช้านี้ผมนั่งสาย 1A ต่อเดียวเพื่อไปยังกลุ่มเทวสถานพรัมบานัน (Prambanan) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีปลายทาง

หลังจากนั่งจิบกาแฟที่จัดไว้เป็นพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ต้องเสียค่าผ่านประตูสูงกว่าชาวอินโดเกือบ 10 เท่า ผมก็แทบจะแหงนคอตั้งบ่าเพื่อทอดสายตามองไปยังยอดของจันทิศิวะ พระปรางค์ที่มีความสูงถึง 47 เมตรในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของกลุ่มเทวสถานพรัมบานัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่สวยที่สุดในโลก

ดูเหมือนชมพูทวีปในยุคพุทธกาลจะถูกถ่ายทอดมายังเกาะชวาจนแทบจะถอดพิมพ์ออกมา เพราะก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาพร้อมกับพ่อค้าชาวอาหรับ จนกลายเป็นศาสนาที่ชาวอินโดนีเซียยุคปัจจุบันนับถือมากที่สุด เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้เป็นเหมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูจากชมพูทวีปได้หว่านเมล็ดพันธุ์จนเจริญงอกงาม และเกิดการแข่งขันกันเฉกเช่นดินแดนผู้ให้กำเนิด 2 ราชวงศ์ใหญ่แห่งเกาะชวาจึงเทแรงศรัทธาให้กับศาสนาที่ต่างกัน

หากชาวพุทธแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์กล่าวด้วยความภูมิใจว่า บุโรพุทโธ คือ พุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชาวฮินดูแห่งราชวงศ์มะตะรัมผู้สร้างดินแดนแห่งเทพเจ้าเดียงพลาโทก็คงตอบอย่างไม่เกรงใจว่า ฉันก็จะสร้างเทวสถานแห่งศาสนาฮินดูที่ยิ่งใหญ่และสวยที่สุดในโลกเช่นกัน

คนแรกที่กล่าวประโยคนี้เห็นจะเป็นเจ้าชายราไค พิกาตัน (Rakai Pikatan) ซึ่งเกณฑ์ไพร่พลมาก่อสร้างเทวสถานพรัมบานัน ภายหลังที่บุโรพุทโธถูกสร้างขึ้นเพียง 50 ปี

แต่แล้วสองศาสนสถานของสองศาสนาที่ครองความยิ่งใหญ่บนเกาะชวาเมื่อพันปีที่ผ่านมา ก็พบกับชะตากรรมเช่นเดียวกัน เพราะหลังจากสร้างเสร็จแค่เพียง 2 ศตวรรษ พรัมบานันก็ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟเมราปีเช่นเดียวกับบุโรพุทโธ จนเป็นเหตุให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน พรัมบานันจึงถูกทอดทิ้งไว้ท่ามกลางเถ้าถ่าน และฝุ่นผงของกาลเวลาที่ก่อตัวหนาขึ้นทุกที และแม้พรัมบานันจะถูกบูรณะให้ปรากฏโฉมแก่สายตาชาวโลกอีกครั้ง แต่ภัยธรรมชาติก็ไม่เคยปราณีต่อเทวสถานแห่งนี้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.24 น.

ความคิดเห็น