ผมเดินผ่านซากปรักหักพังที่เหลือเพียงกองหินวางซ้อนกันเป็นบริเวณกว้าง ในใจได้แต่นึกเสียดายว่าหากผมมาเยือนเร็วกว่านี้สัก 5 – 6 ปีก็คงจะดี เพราะสิ่งที่ผมเห็นในเวลานี้คงจะเปลี่ยนจากกองซากปรักหักพังเป็นเหล่าปรางค์องค์น้อยที่มีมากถึง 224 องค์ที่เรียงรายโดยรอบพระปรางค์ขนาดใหญ่ทั้ง 6 ซึ่งนั่นเป็นเพราะแรงจากแผ่นดินไหวในปีพ.ศ.2549 ทำให้เหล่าปรางค์ที่มีอายุกว่าพันปีได้พังทลายลงมาจนแทบไม่เหลือเค้ารอยแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีต

ช่างหลายคนกำลังช่วยกันบูรณะจันทิศิวะ อันเป็นปรางค์ประธานที่สูงใหญ่ที่สุดของพรัมบานัน แม้การบูรณะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ในวันนี้เค้าโครงแห่งความยิ่งใหญ่ของปรางค์ทั้ง 6 ก็ได้หวนกลับมา โดยประกอบด้วย จันทิวิษณุ (Candi Vishnu) จันทิศิวะ (Candi Shiva) และ จันทิพรหม (Candi Brahma) 3 ปรางค์ขนาดยักษ์ที่ตั้งเรียงกันเป็นแถว

พร้อมกับอีก 3 ปรางค์ขนาดย่อมที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า อันเป็นปรางค์ที่สร้างขึ้นถวายแด่สัตว์พาหนะของเทพอันสูงสุดแห่งศาสนาฮินดูทั้ง 3 ประกอบด้วย จันทิครุฑ (Candi Garuda) พาหนะของพระวิษณุ จันทิโคนนทิ (Candi Nandi) พาหนะของพระศิวะ และจันทิหงส์ (Candi Angsa) พาหนะของพระพรหม ซึ่งแต่ละปรางค์นั้นจะมีปรางค์กลีบมะเฟืององค์เล็กๆนับร้อยๆองค์ ประดับเรียงรายโดยรอบ

ด้วยเหตุที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์มะตะรัมนับถือศาสนาฮินดูไศวะนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด อีกทั้งยังอ้างว่ากษัตริย์ทุกพระองค์คืออวตารของพระศิวะ จันทิศิวะจึงถูกสร้างในตำแหน่งศูนย์กลาง ด้วยความสูงถึง 47 เมตร ในขณะที่จันทิวิษณุ กับ จันทิพรหมมีความสูงลดหลั่นลงมาที่ 37 เมตร

ภายในจันทิศิวะมีห้องถึง 5 ห้อง ประกอบด้วยห้องกลาง ที่รายรอบด้วยห้องอีก 4 ห้องตามทิศทั้ง 4 โดยห้องทิศตะวันออกซึ่งอยู่ด้านหน้า เป็นที่ประดิษฐานรูปสลักของพระศิวะ (Shiva) ส่วนห้องที่เหลืออีก 3 ห้อง ประดิษฐานเทพเจ้าที่เกี่ยวเนื่องกับพระศิวะ เริ่มจากทิศเหนือประดิษฐานรูปสลักของพระมเหสี คือ เจ้าแม่ทุรคา (Durga) ที่ดุร้าย ทิศตะวันตกประดิษฐานรูปสลักพระพิฆคเณศร์ (Ganesha) ผู้เป็นบุตร และทิศใต้ประดิษฐานรูปสลักฤๅษีอกาศตยา (Rishi Agastya) ผู้เป็นอาจารย์

สำหรับจันทิวิษณุกับจันทิพรหมนั้นมีลักษณะคล้ายกัน จะต่างกันก็ตรงรูปสลักที่อยู่ภายใน แน่นอนว่าภายในจันทิวิษณุย่อมเป็นรูปสลักพระวิษณุ 4 กร แต่ละกรถืออาวุธที่แตกต่างกันไป ในขณะที่จันทิพรหม เป็นที่ประดิษฐานพระพรหม 4 หน้า

แม้โดยรวมพรัมบานันจะไม่ใหญ่โตเท่ากับบุโรพุทโธ แต่สำหรับงานศิลปะของภาพแกะสลักแล้ว ผมว่าพรัมบานันยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าใคร เพราะแม้ผมจะไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู แต่ยิ่งเดินชมภาพแกะสลักนับร้อยนับพันภาพของเหล่าเทพเจ้า ใจผมก็เหมือนดำดิ่งลงสู่กระแสแห่งศรัทธา อันเป็นแรงเคลื่อนอันทรงพลังที่ก่อให้เกิดกลุ่มเทวสถานในศาสนาฮินดู จนทำให้ชาวอินโดยุคปัจจุบันซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม กล้าพูดอย่างเต็มปากว่า พรัมบาบันของฉันนี่แหละ คือเทวสถานในศาสนาฮินดูที่สวยงามที่สุดในโลก

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 19.50 น.

ความคิดเห็น