แม้โบกอร์จะอยู่ในเขต จ.ชวาตะวันตก แต่กลับไม่มีรถไฟจากบันดุงที่เป็นเมืองหลวงของจังหวัด ผมจึงจำเป็นต้องนั่งรถไฟไปลงที่จาการ์ต้า แล้วนั่งรถไฟท้องถิ่นย้อนกลับมาที่โบกอร์ เพื่อเที่ยวชมสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่แห่งชวาตะวันตกตามที่ตั้งใจไว้


ในยามที่สายหมอกยังลอยอ้อยอิ่ง ผมสะพายเป้เดินออกจากที่พักตั้งแต่ตี 5 เพื่อจับรถไฟเที่ยวแรกจากบันดุงไปจาการ์ต้า หลับๆตื่นๆแค่ 3 ชั่วโมงก็ถึงจาการ์ต้าแล้ว

หลังจากรถไฟจอดเทียบชานชลาที่สถานีแกมบิร (Gambir) ซึ่งเป็นสถานีที่ตั้งในตำแหน่งจุดศูนย์กลางเมือง ผมก็ตรงดิ่งเข้าไปซื้อตั๋วรถไฟท้องถิ่นเพื่อไปยังเมืองโบกอร์ (Bogor) โดยเลือกซื้อตั๋วแบบชั้นธรรมดา ที่จ่ายค่าโดยสารเพียง 2,000 รูเปียห์


ทันทีที่ขบวนรถไฟเทียบชานชลา ผมเป็นหนึ่งในผู้คนที่เบียดเสียดขึ้นไปบนรถไฟ ทีแรกก็งงๆว่าทำไมต้องเบียดกันขนาดนั้น เพราะที่นั่งแสนจะว่าง แต่สักพักผมก็งงหนักกว่าเก่า เพราะเริ่มสังเกตว่า ทำไมตู้โดยสารที่ผมนั่งมีแต่สุภาพสตรี แต่ก่อนที่ผมจะงงไปมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่ก็เดินมาสะกิด พร้อมบอกว่า “นี่มันตู้โดยสารเฉพาะสุภาพสตรีนะพ่อคุณ”

ผมระหกระเหินหาที่นั่งในตู้โดยสารถัดไป จนพบความจริงว่ารถไฟอินโดนีเซียแบบชั้นธรรมดานี้แน่นตั้งแต่สถานีต้นทาง และเมื่อรถไฟเคลื่อนตัวจอดรับผู้โดยสารในสถานีต่อๆไป จำนวนผู้โดยสารก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ที่นั่งจะถูกออกแบบมาให้เป็นแบบหันหลังชนผนังยาวไปตามขบวนรถไฟ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่าง แต่ก็ดูจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสาร อีกทั้งยังมีเหล่าพ่อค้านำสินค้าขึ้นมาขาย ทั้งเสื้อผ้า ผัก ผลไม้ รองเท้า ไม้ตียุง เครื่องคิดเลข เข็ม ด้าย และอีกสารพัด จนเหมือนย้ายตลาดขึ้นมาบนรถไฟ อยากได้อะไร ก็สามารถซื้อหากันได้ที่นี่



เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงเศษ รถไฟชะลอเพื่อเข้าเทียบชานชลาที่สถานีปลายทางเมืองโบกอร์ เมืองนี้มีชื่อเล่นว่า โกตา ฮูจัน (Kota Hujan) หรือเมืองแห่งสายฝน เพราะแม้เมืองอื่นในเกาะชวาจะเข้าสู่ฤดูแล้ง แต่ที่โบกอร์ สายฝนก็สามารถเทกระหน่ำลงมาได้ตลอดทั้งปี แต่โชคดีที่วันนี้ท้องฟ้าช่างเป็นใจ ผมจึงได้เที่ยวโบกอร์วันฟ้าใสได้อย่างชิวๆ


หลังจากผ่านความพลุกพล่านของผู้คนภายในสถานีรถไฟ ก็มาพบความพลุกพล่านของผู้คนภายในตลาดที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสถานี สินค้าที่ขายเป็นปริมาณมากเห็นจะเป็นเหล่าผลไม้ แม้จะมีหน้าตาไม่ต่างจากผลไม้ไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลไม้ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆบรรจุในถุงนั้น ไม่ได้มีแค่อย่างเดียวเหมือนอย่างรถเข็นผลไม้ในเมืองไทย แต่เป็นผลไม้ผสมที่มีทั้ง สับปะรด มันแกว มะละกอ ฝรั่ง รวมถึงแตงกวา สับเป็นชิ้นเล็กๆผสมรวมกันอยู่ในนั้น ผมว่าเข้าท่าดีนะ เพราะซื้อแค่ถุงเดียวก็ได้วิตามินอันหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีผลไม้ยำ ที่น้ำยำนั้นมีสีส้มจี๊ด จนแค่เห็นก็รู้สึกเข็ดฟัน


จุดหมายในการมาเมืองโบกอร์ คือสวนเกบุนรายา (Kebun Raya) สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ยักษ์ที่ตั้งอยู่กลางเมือง เพราะมีขนาดใหญ่ยักษ์นี่เองทำให้ผมต้องเดินๆๆ แล้วก็เดินๆไปตามรั้วของสวนที่ทอดยาวตั้งแต่สี่แยกใจกลางเมือง ไปจนถึงอีกสี่แยก เพื่อหาประตูทางเข้า จนรู้สึกว่าการเที่ยวโบกอร์ของผมจะไม่ชิวๆแบบที่คิดเสียแล้ว



แค่เพียงแรกเห็นก็ต้องยอมรับเลยว่าสวนเกบุนรายานี้ยิ่งใหญ่และแสนร่มรื่น เพราะแม้ภายนอกจะเป็นเขตเมืองที่มากไปด้วยรถรา แต่เมื่อย่างเท้าเข้ามาในสวนกลับให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในผืนป่าที่มากไปด้วยไม้ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านและผลิใบระบายสีเขียวสดแผ่ปกคลุมแผ่นฟ้า


เพราะประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ทำให้ผืนป่าเป็นแบบร้อนชื้น ซึ่งป่าประเภทนี้มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สวนเกบุนรายา สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของอินโดนีเซียรวบรวมพันธุ์ไม้ไว้มากถึง 15,000 สายพันธุ์ บนพื้นที่อันแสนกว้างใหญ่ถึง 544 ไร่ การมาเดินชมสวนที่นี่ที่เดียว จึงอาจทำให้รู้จักพันธุ์ไม้ของประเทศอินโดนีเซียได้ทั้งประเทศ



จากสวนป่า ผมเดินทะลุออกมาสู่สวนหย่อม ที่แสงแดดสาดส่องให้บรรยากาศดูโล่งโปร่ง นอกจากบึงบัวขนาดใหญ่ที่ดอกบัวกำลังผลิบานแล้ว ข้างๆกันนั้นยังมีประติมากรรมรูปแปลกๆให้ตีความ แต่ผมนั่งตีความได้ไม่นานก็เผลอหลับไป จนมารู้สึกตัวอีกทีเมื่อได้ยินเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กน้อยนับสิบคนที่โรงเรียนพามาทัศนะศึกษากำลังจับมือล้อมวงกันเพื่อวัดเส้นรอบวงของไม้ใหญ่ ดูจากจำนวนเด็กกับความยาวของเส้นรอบวงแล้ว น่าจะสูสีกัน



แต่หากพูดถึงความอวบใหญ่ของต้นไม้ที่สวนแห่งนี้ ต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับต้นไม้ยักษ์นามว่า Ceiba ซึ่งยืนต้นสูงใหญ่ริมลำน้ำชิลิวุง (Ciliwung) นอกจากความสูงใหญ่แล้ว เจ้า Ceiba ยังแผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่นเป็นบริเวณกว้าง ชวนให้นั่งเล่นอยู่ใต้เงาไม้เป็นยิ่งนัก เพราะหากขืนเดินชมพันธุ์ไม้ต่อ มีหวังผมได้หลงรักต้นไม้ไปมากกว่านี้จนต้องสมัครเป็นคนสวนที่นี่แน่



ในเวลานี้หน่อยกับแต๋วคงเดินทางกลับถึงเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนผมยังคงใช้ชีวิตเริงร่ากับการเดินทางบนเกาะชวาต่อไป คิดๆไปแล้วชีวิตของผมก็คงไม่ต่างจากเข็มของนาฬิกา ที่ไม่ยอมหยุดเดินจนกว่าลานจะหมด


แต่ในเวลานี้ผมของดึงเม็ดมะยมของนาฬิกาชีวิตขึ้นสักครั้ง เพื่อหยุดการเดินทางของเข็มนาฬิกาชีวิตลงชั่วคราว พร้อมปล่อยอารมณ์ ความคิดและลมหายใจ ให้ไหลไปอย่างช้าๆอย่างสายน้ำที่ลัดเลาะไปตามความเขียวชอุ่มของแมกไม้


กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.29 น.