จากที่เห็นบนความสูง 105 เมตร ในเวลานี้ผมยืนอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(Museum Pusat) หรือที่ชาวอินโดเรียกกันเล่นๆว่าเกดุง กาจาห์ (Gedung Gajah)หรือแปลเป็นไทยแบบตรงๆ คือ ตึกช้าง เพราะมีรูปปั้นช้างสัมฤทธิ์ ตั้งโดดเด่นเป็นอนุสาวรีย์อยู่หน้าตึก

รูปปั้นช้างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย ทรงมอบให้เป็นที่ระลึกคราวเสด็จเยือนบาตาเวียเมื่อปีค.ศ.1871 โดยที่ฐานมีคำจารึกทั้งภาษาอินโดนีเซีย และภาษาไทยว่า “ของสิ่งซึ่งสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระราชทานให้แก่เมืองบาตาเวียเป็นที่ระลึก ถึงครั้งเมื่อคราวเสด็จมาเมืองนี้ ณ เมื่อวันเดือนมารช กฤศต สักราช ๑๘๗๑” นอกจากสัญลักษณ์อันแสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองประเทศแล้ว คนไทยอย่างเราจึงควรแก่การภูมิใจ ที่แม้ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีโบราณวัตถุที่มีความเก่าแก่มากมาย แต่เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียนั้นเลือกเอาของขวัญจากสยามประเทศชิ้นนี้ตั้งโดดเด่นอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จนกลายเป็นชื่อตึกช้างที่ชาวอินโดนีเซียเรียกกันจนติดปาก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปีค.ศ.1868 ก่อนที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเยือน 3 ปี ซึ่งผมบอกได้คำเดียวว่าค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ 10,000 รูเปียห์หรือประมาณ 1 ดอลล่าร์สหรัฐนี้สุดคุ้ม เพราะภายในนั้นมากไปด้วยเหล่าโบราณวัตถุ ทั้งพระพุทธรูปหินสลักในปางต่างๆของพระพุทธศาสนา และเหล่าเทวรูปของศาสนาฮินดูที่มีมากมายจนล้นออกมาจัดแสดงบนพื้นที่นอกอาคาร

แต่สำหรับรูปหินสลักชิ้นสำคัญที่มีความสูงถึง 4 เมตรนั้นจัดแสดงอยู่ที่กลางอาคาร โดยเป็นรูปหินสลักของพระเจ้าอาทิตยวรมัน (Adityavarman) กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรสุมาตราตะวันตกในช่วงปีค.ศ.1347 – 1375 ซึ่งนอกจากความสูงใหญ่แล้ว รูปหินสลักนี้ยังแฝงไปด้วยความน่ากลัว โดยเท้าของพระเจ้าอาทิตยวรมันนั้นเหยียบลงบนร่างของเด็กทารกที่วางอยู่บนฐานที่รายล้อมไปด้วยหัวกะโหลก ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อในยุคสมัยนั้น

ด้วยเหตุที่ประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่บนมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นเส้นทางการค้าทางเรือระหว่างสองมหาอำนาจทางศิลปวัฒนธรรมแห่งเอเชีย นั่นคือจีนกับอินเดีย บรรดาเกาะสำคัญๆไม่ว่าจะเป็น เกาะบาหลี เกาะชวา เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว จึงล้วนมีส่วนสำคัญในการก่อเกิดวัฒนธรรมของภูมิภาคแห่งคาบสมุทร

นอกจากโบราณวัตถุทางศาสนาแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์จึงมากไปด้วยโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากไม้ เครื่องดนตรี หุ่นกระบอก กริช โดยแยกตามภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป

อีกทั้งยังมากไปด้วยเครื่องเซรามิกจากประเทศต่างๆที่อยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ไทย แต่ที่มีมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นประเทศจีน ที่สามารถไล่วิวัฒนาการของเหล่าเซรามิกได้ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น จนถึงราชวงศ์ชิง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.05 น.

ความคิดเห็น