หากพูดถึง “เชียงคำ” แล้ว คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นหูกับชื่อเมืองนี้สักเท่าไหร่ แถมยังสงสัยว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศไทย ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยความที่อยากรู้ว่าเมืองนี้อยู่ในจังหวัดไหนและมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ประกอบกับพ่อแม่ชวนให้ไปเป็นเพื่อนเพื่อทำธุระที่นั่นด้วย เราเลยเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเชียงคำแบบคร่าว ๆ ถึงได้รู้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ในจังหวัดพะเยาที่มีทั้งความเก่าแก่และเสน่ห์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เราจึงตัดสินใจตามไปด้วย ถือว่าไปเที่ยวพักผ่อนช่วงปีใหม่ย้อนหลังไปในตัว เอาล่ะ...เกริ่นมาซะนาน ตามเรามาดีกว่าว่า...ทริปนี้เราไปเที่ยว ไปกิน และพักที่ไหนกันบ้างค่ะ ^^

เราเดินทางด้วยรถบัส บขส. ของสมบัติทัวร์ที่ท่ารถวิภาวดีในค่ำวันพฤหัส และเดินทางมาถึงท่ารถเชียงคำในเช้าวันศุกร์ พอมาถึงเชียงคำแล้วก็แวะมากินอาหารเช้าในตลาดเพื่อเพิ่มพลังกันก่อน ซึ่งตลาดยามเช้าของที่นี่ถือว่าค่อนข้างคึกคักทีเดียว ส่วนอาหารเช้าที่เรากินนั้นก็คือ “ข้าวต้มปลา” รสชาติพอใช้ได้ มีหมูสับให้ด้วย ไม่แน่ใจว่าเราสั่งหรือทางร้านใส่มาให้เอง แต่เสียดายตรงที่ไม่มีพริกน้ำปลาให้เติมค่ะ (เติมเฉพาะพริก) 5555

จากนั้นก็เดินไปนั่งดื่มกาแฟกับโอเลี้ยงแก้ง่วงในร้านกาแฟค่ะ

หลังจากแวะตลาดเพื่อกินอาหารเช้าและดื่มกาแฟ/โอเลี้ยงแก้ง่วงแล้ว เราก็นั่งรถสองแถว (รับจ้างแบบเหมา 2-3 วัน) ไปเที่ยวชม“วัดนันตาราม” ที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดเทศบาลเชียงคำ ซึ่งวัดนันตารามเป็นวัดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของอำเภอเชียงคำ ถือเป็นสถานที่เที่ยวหรือจุดเช็กอินหลักที่ห้ามพลาดชมเลยทีเดียว เนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นวัดไทใหญ่ที่สร้างตามแบบศิลปะพม่าและมีอายุเก่าแก่มานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด เดิมทีเป็นวัดร้างเรียกว่า “วัดจองคา” เพราะมุงด้วยหญ้าคา โดยคำว่า “จอง” หรือ “จ้อง” เป็นภาษาเหนือ แปลว่า “ร่มเงา” ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า “วัดจองเหนือ” เนื่องจากตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำนั่นเอง หรือบางทีก็เรียกว่า “วัดจองม่าน” ต่อมาพ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) หรือ “พ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์” ที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาได้จ้างนายช่างชาวพม่ามาออกแบบและก่อสร้างวิหารขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดนันตาราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์และรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านค่ะ

วัดนันตารามมีจุดเด่นอยู่ตรงที่วิหารสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ คล้ายกับศิลปะแบบพม่า ซึ่งตัววิหารนั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ตกแต่งลวดลายฉลุไม้ตามส่วนประกอบต่าง ๆ ของวิหารอย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง, หน้าบัน และระเบียง เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีที่ลวดลายวิจิตรสวยงามไม่ซ้ำกัน เสาลงรักปิดทองมีทั้งหมด 68 ต้น ส่วนหลังคามุงด้วยแป้นเกร็ดหรือกระเบื้องไม้ มีลักษณะเป็นหลังคาหน้าจั่วที่ยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันอย่างลงตัวสวยงามค่ะ

เมื่อเดินเข้ามาภายในวิหาร เราก็กราบไหว้พระประธานที่ประดิษฐานอย่างโดดเด่นเป็นสง่า เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งพระประธานนี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ โดยองค์พระประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี ส่วนด้านหลังพระประธานแกะสลักไม้ฉลุศิลปะพม่าเป็นลวดลายพรรณพฤกษาสวยงาม และมีลายหลุยส์และกามเทพตัวน้อย (คิวปิด) เทพแห่งความรัก 8 องค์ล้อมรอบค่ะ

จากนั้นเราเดินไปชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ทางด้านหลังขององค์พระประธาน ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้เป็นสถานที่เก็บของเก่าหรือสิ่งของหายากต่าง ๆ จัดแสดงไว้อย่างมากมาย เช่น เหรียญและธนบัตรเก่า, พระเครื่อง, สิ่งของเครื่องใช้โบราณ, ตำราโบราณภาษาพม่า, เครื่องดนตรีโบราณ, เขาสัตว์, ผ้าลายโบราณ และภาพวาดเก่าแก่เกี่ยวกับการเทศน์มหาชาติ เป็นต้น

พอชมพิพิธภัณฑ์ภายในวิหารเสร็จแล้ว เราก็ออกมาเดินเล่นและถ่ายรูปบรรยากาศรอบ ๆ วัด ซึ่งบริเวณด้านข้างวิหารมีเจดีย์ยี่สิบห้าศตวรรษ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2500 มีลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมที่ก่ออิฐถือปูน สร้างตามแบบไทใหญ่ประดิษฐานไว้ด้วยค่ะ

เที่ยวชม “วัดนันตาราม” แล้วก็ใกล้ถึงมื้อเที่ยงพอดี เราก็นั่งรถไปกินอาหารกลางวันที่ “ร้านส้มตำเต็มที่” ซึ่งอาหารที่สั่งไปก็มีตำแคบหมู, ส้มตำไทยปูม้า, ไก่ย่าง และลาบหมู รสชาติโดยรวมอร่อยดีค่ะ

กินมื้อเที่ยงจนอิ่มแล้วก็นั่งรถไปยัง “วัดพระนั่งดิน” ตั้งอยู่บ้านพระนั่งดิน ตำบลเวียงกันต่อ ซึ่งวัดพระนั่งดินเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวเชียงคำและพื้นที่ใกล้เคียงเคารพศรัทธามาอย่างช้านาน หากใครมาเที่ยวเชียงคำห้ามพลาดเที่ยวชมเด็ดขาดเลยนะคะ เนื่องจากความโดดเด่นของวัดแห่งนี้คือ “พระนั่งดิน” ที่เป็นพระประธานของวัดตั้งประดิษฐานบนพื้นดินภายในพระอุโบสถโดยไม่มีฐานชุกชี (แท่น) รองรับเช่นเดียวกับพระประธานของวัดแห่งอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เองทำให้กลายเป็นหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น “อันซีนไทยแลนด์” แห่งที่ 2 ของจังหวัดพะเยารองจาก “พระเจ้าตนหลวง” ของวัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองค่ะ

เหตุที่ต้องประดิษฐาน “พระนั่งดิน” พระประธานบนพื้นดินนั้น ตามตำนานจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานกันต่อ ๆ มาว่าเคยมีชาวบ้านพากันสร้างฐานชุกชีหรือแท่นรองรับเพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้น แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ประหลาดที่น่าอัศจรรย์ขึ้นคือฟ้าผ่าลงมากลางพระอุโบสถถึง 3 ครั้ง ชาวบ้านจึงอาราธนาพระนั่งดินลงมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมจนถึงทุกวันนี้ (บ้างก็ว่าพยายามยกพระนั่งดินหลายครั้งก็ยกไม่ขึ้น) ปัจจุบันพระนั่งดินยังคงประดิษฐานบนพื้นพระอุโบสถโดยสร้างมีการกระจกใสครอบไว้ค่ะ

หลังจากเข้าไปชมและกราบไหว้พระนั่งดินแล้ว เราจึงเดินออกมานอกพระอุโบสถและสังเกตว่าด้านข้างมีเจดีย์สีทองตกแต่งแบบล้านนาอย่างโดดเด่นสวยงาม ส่วนบริเวณรอบ ๆ วัดมีมุมถ่ายรูปให้ได้ถ่ายรูปกันค่ะ

เที่ยวชมวัดพระนั่งดินแล้วก็นั่งรถต่อไปยัง “วนอุทยานน้ำตกน้ำมิน” ที่ตั้งอยู่ในตำบลแม่ลาว ซึ่งวนอุทยานน้ำตกน้ำมินเป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็กสูง 15 เมตรที่สวยงาม รายล้อมด้วยต้นไม้สีเขียวร่มรื่นตามธรรมชาติ แต่เสียดายช่วงที่เราไปไม่ได้เข้าไปชมน้ำตก เพราะต้องรีบเดินทางต่อไปยังภูลังกาให้ถึงที่พักก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ไม่อย่างนั้นจะเดินทางลำบาก ประกอบกับช่วงนั้นไม่ค่อยมีน้ำไหลสักเท่าไหร่ เราเลยได้แต่ถ่ายรูปบริเวณด้านนอกเท่านั้นค่ะ

จากนั้นก็นั่งรถไปยัง Ozone โฮมสเตย์” บนภูลังกา เพื่อเช็กอินเข้าที่พัก ซึ่ง Ozone โฮมสเตย์ เป็นที่พักที่มีทั้งแบบกางเต็นท์, แบบห้องไม้ไผ่ และแบบห้องพักสไตล์ Loft (ทั้งห้องพัดลมและห้องแอร์) โดยเราพักในห้องพักสไตล์ Loft แบบพัดลม พอเดินไปชมวิวริมระเบียงห้องพัก บอกเลยว่าวิวสวยมาก เห็นผาช้างน้อยชัดเจนสุด ๆ ด้วยความที่เราชมวิวจนเพลินเลยลืมถ่ายรูปห้องพักมาฝากกัน สำหรับใครที่วางแผนจะไปเที่ยวภูลังกาและมองหาที่พักอยู่ เราขอแนะนำ “Ozone โฮมสเตย์” ค่ะ

เก็บกระเป๋าและพักเหนื่อยจากการเดินทางแล้ว เราก็สั่งหมูย่างเกาหลีเป็นอาหารเย็นมากินในห้องพักริมระเบียง ซึ่งหมูย่างเกาหลีของที่พักจัดเต็มมาก มีทั้งไส้กรอก, เบคอน, สันคอหมู, หมูสามชั้น, กุ้ง, ปลาหมึก และผักต่าง ๆ ที่สำคัญน้ำจิ้มอร่อยมาก แถมมีหม้อน้ำซุปสำหรับซดให้คล่องคออีกด้วย กินไป ชมวิวไปเพลิน ๆ ทั้งอิ่ม ทั้งฟินเลยค่ะ 5555

วันรุ่งขึ้นเราตื่นแต่เช้าและเดินไปนั่งกินอาหารเช้าที่ร้าน “ภูลังกา เลอ บาโคนี่” ซึ่งเราสั่งอาหารเช้ามา 2 ชุดด้วยกัน แต่ต่างกันที่เครื่องดื่มเป็นน้ำส้มกับโอวัลตินร้อน ส่วนซาลาเปาเป็นของแถม เรานั่งกินไปชมวิวยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นไปอย่างชิลล์ ๆ สำหรับใครที่ชอบนั่งกินอาหารไปพร้อม ๆ กับชมวิวสวย ๆ แนะนำให้มาร้านนี้เช้า ๆ หน่อย บอกเลยว่าวิวสวยมากจริง ยิ่งอากาศเย็น ๆ แบบนี้ฟินสุด ๆ ค่ะ ^^

พอกินอาหารเช้าเสร็จแล้ว เราก็เดินกลับที่พักแล้วนั่งชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่ริมระเบียงห้องพัก ชมวิวไป ถ่ายรูปไป สวยงามตามท้องฟ้ากับสายหมอกจริง ๆ ไม่ว่าจะนั่งมุมไหนก็สวยไปหมด แต่ถ้าหมอกลงมาหนา ๆ ปกคลุมผาช้างน้อย วิวจะสวยกว่านี้อีกค่ะ เสียดายช่วงที่เราไปนั้นหมอกลงบางไปนิด แหะ ๆ 😅😅😅

นั่งพักสักหน่อย เราก็เก็บกระเป๋าและเช็กเอาท์ออกจากที่พักแล้วนั่งรถไปเที่ยวชม “น้ำตกภูซาง” ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูซาง อำเภอภูซาง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 300 เมตร ซึ่งน้ำตกภูซางเป็นน้ำตกกระแสน้ำอุ่นชั้นเดียวที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาดอยผาหม่นไหลลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างสูงประมาณ 25 เมตร และมีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยน้ำตกแห่งนี้พิเศษกว่าน้ำตกแห่งอื่น ๆ ตรงที่น้ำจะอุ่น มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 35-36 องศาเซลเซียส และน้ำใสสะอาด ปราศจากกลิ่นกำมะถัน ส่วนบริเวณใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำใสสีเขียวมรกตให้สามารถลงเล่นน้ำคลายร้อนหรือแช่น้ำได้อย่างฟิน ๆ จุใจ ถือได้ว่าน้ำตกภูซางเป็นน้ำตกกระแสน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเลยล่ะค่ะ

นอกจากที่นี่จะมีน้ำตกภูซางให้เที่ยวชมหรือลงแช่น้ำแล้ว ทางตอนเหนือของน้ำตกยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เดินชมธรรมชาติรอบ ๆ น้ำตกอีกด้วย ซึ่งจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็คือ “บ่อซับน้ำอุ่น” ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของน้ำตกภูซาง โดยมีลักษณะเป็นธารน้ำอุ่นที่ผุดขึ้นจากใต้พื้นดิน ล้อมรอบด้วยป่าพรุน้ำจืดที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้หรือพรรณไม้หายากนานาชนิดให้ได้ศึกษากันค่ะ

หลังจากชมน้ำตกภูซางแล้วก็ใกล้ถึงเวลาอาหารเที่ยงพอดี เราก็นั่งรถไปกินอาหารมื้อเที่ยงที่ร้าน “ลาบโมโยลื้อ” บนถนนสิทธิประชาราษฎร์ 3 พะเยา (บ้านธาตุสบแวน) เข้าซอยมา 100 เมตร ซึ่งร้านนี้อาจหายากและดูลึกลับไปสักนิดหนึ่ง ต้องถามชาวบ้านในพื้นที่ โดยร้านอยู่ใต้ถุนหรือพื้นที่ด้านล่างของบ้านไม้ยกสูง ส่วนอาหารมื้อเที่ยงนั้น เราสั่งแหนมซี่โครงหมูทอด, ทอดรวม, ยำวุ้นเส้น และส้มตำไทย รสชาติโดยรวมถือว่าอร่อยทีเดียว โดยเฉพาะแหนมซี่โครงหมูทอดกับทอดรวมที่เราแนะนำให้สั่งเลยค่ะ 👍👍👍

กินอาหารเที่ยงจนอิ่มแล้ว เราก็ไป “วัดพระธาตุสบแวน” ในตำบลหย่วนกันต่อ ซึ่งวัดพระธาตุสบแวนตั้งอยู่บริเวณที่มีแม่น้ำสองสายคือ “แม่น้ำแวน” กับ “แม่น้ำฮ่อง” มาสบหรือบรรจบกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อวัดนั่นเอง พอมาถึงวัด เราก็เข้าไปกราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถแล้วจึงเดินออกมาข้างนอกเพื่อชมองค์พระธาตุเจดีย์ค่ะ

ทางด้านหลังของพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์เก่าแก่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่า 800 ปี ซึ่งพระธาตุเป็นเจดีย์สีขาวสะอาด ฐานสี่เหลี่ยม ส่วนบนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรสีทอง ตกแต่งด้วยศิลปะล้านนา ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วประดับรูปปั้นสิงห์อยู่ทั้งสี่มุม โดยภายในองค์พระธาตุบรรจุเส้นพระเกศาและกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้าค่ะ

ชมองค์พระธาตุเจดีย์เสร็จก็เข้าไปชมภาพจิตรกรรมใน “หอประวัติไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน” (ศาลาสิบสามห้อง) ซึ่งหอประวัติไทลื้อฯ เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงภาพจิตรกรรมทั้งหมด 13 ภาพที่วาดโดยศิลปินภายในชุมชน โดยภาพเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา, วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากดินแดนสิบสองปันนาหรือตอนใต้ของประเทศจีนในปัจจุบันค่ะ

ภาพที่เห็นด้านบนนี้เป็นตัวอย่างภาพจิตรกรรมในหอประวัติไทลื้อ บ้านธาตุสบแวน ได้แก่ ภาพ “สิบสองปันนา” เป็นภาพการเมืองการปกครองในดินแดนสิบสองปันนา, ภาพ “บ้านธาตุสบแวน” เป็นภาพการขยับขยายบ้านเรือนไปสู่บ้านธาตุสบแวน, ภาพ “งานบุญสลากภัต” เป็นภาพประเพณี “ตานสลาก” หรือการทำบุญให้กับผู้ล่วงลับ และภาพ “ไหว้สาเจ็ดปิง” หรือไหว้ธาตุเพ็งเดือนหกที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานประเพณีการสักการะไหว้พระธาตุสบแวนค่ะ

Credit by: https://www.facebook.com/chiangkhamgrandvilla/

หลังจากเที่ยวชมวัดพระธาตุสบแวนแล้วก็นั่งรถไปเช็กอินที่โรงแรม “เชียงคำ แกรนด์ วิลล่า” ซึ่งเป็นโรงแรมหรูขนาดเล็กที่ออกแบบอาคาร 2 ชั้นแนวยาวและล้อมรอบด้วยทุ่งนาหรือธรรมชาติสีเขียว โดยภายในห้องพื้นที่กว้างขวางพอสมควร สำหรับใครที่มาเที่ยวเชียงคำ แนะนำให้มาพักที่นี่เลย ทั้งสงบ สะอาด และปลอดภัย สามารถจองที่พักได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Chiang Kham Grand Villa เชียงคํา เเกรนด์ วิลล่า” เสียดายภาพโรงแรมที่เราถ่ายรูปมานั้นไม่ชัด เพราะถ่ายในช่วงกลางคืนเลยไม่ได้ลงรูปให้ชมกัน จึงนำรูปของเฟซบุ๊กโรงแรมมาใช้ (ขออนุญาตกับแอดมินแฟนเพจเรียบร้อยแล้ว) พอไปถึงโรงแรม เราเช็กอินเข้าที่พัก เก็บกระเป๋า และพักเหนื่อยสักพักก่อนจะเดินไปกินอาหารเย็นค่ะ

ถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว เราก็เดินไปกินอาหารใกล้กับโรงแรมที่ร้านอาหาร “ร่มไม้แสงจันทร์” ซึ่งร้านร่มไม้แสงจันทร์เป็นบ้านไม้ท่ามกลางบรรยากาศท้องนา ร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่ปกคลุมรายล้อม ถือเป็นร้านอาหารที่มีบรรยากาศดีทีเดียว เหมาะสำหรับมานั่งกินอาหารมื้อเย็นอย่างชิลล์ ๆ อากาศเย็นสบาย ๆ โดยอาหารที่เราสั่งก็มีหมูจิ้มจุ่ม, ผัดกบ, ข้าวผัดทะเล และไก่ทอดมายองเนส ความคิดเห็นส่วนตัวเราว่าเมนู “ไก่ทอดมายองเนส” อร่อยสุด 5555 พอกินอาหารเย็นเสร็จก็เดินกลับที่พักเพื่ออาบน้ำนอนค่ะ

วันรุ่งขึ้นเราตื่นสาย กว่าจะออกจากโรงแรมก็เกือบเที่ยงแล้ว เราก็เดินออกมากินอาหารเที่ยงที่ร้าน “ส้มตำยกครกเชียงคำ” ซึ่งร้านนี้ตั้งอยู่บนถนนใหญ่เยื้อง ๆ กับโรงแรมเชียงคำ แกรนด์ วิลล่า มีทั้งแบบอินดอร์และเอาท์ดอร์ บรรยากาศเป็นร้านอาหารทั่ว ๆ ไป โดยอาหารที่เราสั่งนั้นก็มีทั้งแคปหมู (หมูกระจก)​, ยำวุ้นเส้น, ปีกไก่ทอด, คอหมูย่าง, ส้มตำ และต้มแซ่บ รสชาติอาหารโดยรวมก็อร่อยดีค่ะ 👍👍👍

กินอาหารเที่ยงเสร็จก็เดินทางกลับมาที่พัก เพื่อนอนเล่น ดูยูทูบเรื่อยเปื่อยจนเผลอหลับไป ตื่นมาอีกทีก็ถึงเวลาช่วงเย็นแล้ว เราก็เตรียมตัวอาบน้ำเพื่อไปกินอาหารเย็นที่ร้านร่มไม้แสงจันทร์เช่นเดิม เพราะอยู่ใกล้ที่พักที่สุดแล้ว 5555 ระหว่างเดินไปยังร้านอาหาร เราก็ถ่ายรูปวิวระหว่างทางนิด ๆ หน่อย ๆ ค่ะ

พอไปถึงร้านร่มไม้แสงจันทร์ เราก็สั่งเมนูข้าวผัดปู, ข้าวผัดทะเล, ข้าวกะเพราทะเล, ไก่ทอดมายองเนส และต้มยำกุ้งน้ำใส รสชาติโดยรวมอร่อยดี แต่ติดใจเมนูไก่ทอดมายองเนสสุดแล้ว ติดใจถึงขนาดต้องมากินอีกรอบก่อนกลับกรุงเทพฯ เลยทีเดียว 5555 หลังกินอาหารเย็นเสร็จก็เดินกลับที่พักเพื่อเก็บกระเป๋าและเช็กเอาท์ออกจากโรงแรม (เพิ่มเงินเพื่อขยายเวลาพักประมาณครึ่งวัน) แล้วจึงนั่งรถสองแถวไปยังท่ารถ บขส.สมบัติทัวร์ เพื่อกลับกรุงเทพฯ ระหว่างทางกลับก็แวะเข้าห้องน้ำและซื้อของฝาก จนกระทั่งเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในตอนเช้ามืด และนั่งรถแท็กซี่มาทำงานต่อที่บริษัทค่ะ 😁😁😁

สำหรับใครที่ชื่นชอบการเที่ยวชมเมืองเล็ก ๆ แต่มีเสน่ห์ในจังหวัดพะเยาล่ะก็.. ลองแวะมาเที่ยว “เชียงคำ” กันได้นะคะ เพราะนอกจากจะได้สัมผัสลมหนาวและชื่นชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตอนพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ยังได้ชมวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่หรือผู้คนที่นั่นอีกด้วยค่ะ ^^

ความคิดเห็น