คีรีหินปูน เพดานเปิดโล่ง ผนังเป็นโพรง โถงพักผ่อนค้างคาวป่า เขาทะลุกาลเวลา อันซีนนิวซีรีส์ ททท.
แม้ใครมีเวลาว่างแค่วันเดียว ก็สามารถปีนป่ายเดินขึ้นเขาได้ ถึงมันจะไม่สูงตระหง่านจนคอตั้งบ่า แต่ก็ต้องออกแรงฟันฝ่าพอให้เหงื่อออกเหงื่อยซึม ด้วยเนินเขาลูกนี้อยู่ไม่ไกลตัวเมืองราชบุรี การเดินทางจากเมืองหลวงบางกอกจึงใช้เวลาไม่นานนัก สายท่องเที่ยวคงรู้จักที่แห่งนี้กันดี แต่อีกหลายคนก็ยังคงไม่เคยไป.....ถ้ำทะลุ เขาทะลุ เขาทะลุมิติ ตามแต่จะเรียกขานกัน
ตั้งพิกัดเดินทางไปที่อำเภอจอมบึง บึ่งมอเตอร์ไซด์หรือขับรถไปก็สะดวก โพรงถ้ำที่เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่าเกิดเพราะธรรมชาติสร้างสรรค์หรือเกิดจากแรงสั่นสะเทือนในการระเบิดหิน ความสูงให้เดินขึ้นแค่ไม่กี่ร้อยเมตร แต่ทางเดินค่อนข้างลื่นเพราะหินคลุกที่โรยไว้ แรกเริ่มเดินสะดวก ผ่านดงไผ่เริ่มต้องออกแรง มีราวเชือกให้จับประคอง เขาลูกนี้แค่ "เดินป่าย" ไม่ถึงขั้น "ปีนป่าย" เพราะต้องเดินไปจับเชือกไต่ระดับไปเรื่อยๆ เดินก้าวต่อก้าวให้ระวังเพราะหินที่โรยไว้ทำให้ย่างก้าวไม่มั่งคง มาหน้าฝนจะได้วิวเขียวสด มาหน้าแล้งได้ใบไผ่สีทองอร่าม

ทางเดินช่วงแรกเดินง่ายไม่ชันไม่ลื่น

ทางจะเริ่มชันขึ้นเล็กน้อย พื้นเริ่มเป็นหินคลุกพร้อมลื่นไถล ให้เดินด้วยความระมัดระวัง

ผ่านดงไผ่สีทองก็มองเห็นโพรงผนังถ้ำ จุดหมายอยู่ตรงหน้าแต่ก็ต้องก้าวขาอย่างมีสติ
ระยะทางประมาณคร่าวๆ 200 เมตรบวกลบนิดหน่อย โพรงถ้ำมีพื้นที่ไม่กว้างนัก เป็นที่พำนักอาศัยของค้างคาวและผึ้งป่า ถ้าโดนผึ้งเกาะอย่าปัดถ้าไม่อยากเจ็บปวดของเหล็กไนจากสัญชาติญาณการป้องกันตัว เค้าแค่ต้องการเกลือแร่จากเหงื่อเรา ถ้ำมีสองโพรง โพรงเพดานให้แสงสว่างกับโพรงผนังที่ทะลุเป็นทางเข้าที่เราไต่ขึ้นมา นั่งพักกายาให้หายล้า ชื่นชมผืนไร่กับสันเขาแห่งจอมบึงที่ปัจจุบันมีบึงเหลือไม่มากนัก

โพรงเพดาน และ โพรงผนังทางเข้า

โพรงผนังทางเข้ากับวิวฉากหลังแดดบ่ายกับแปลงเกษตรเบื้องล่าง
อันชื่อที่ว่า ทะลุมิติ คิดว่าคงได้มาจากการมองผ่านกลับไปเหมือนเป็นฉากแสงข้ามกาลเวลาของหนัง Sci-fi ฮอลลีวูดที่จะนำพาเราไปยังอีกมิตินึง ช่างเป็นจินตนาการที่เหมาะยิ่งกับแสงที่ลอดผ่านซุ้มโพรงหินเข้ามายังตัวถ้ำของผู้ค้นพบที่แห่งนี้ซะเหลือเกิน

แสงแห่งมิติเวลาตามจินตนาการโลกมายาฮอลลีวูด
นักท่องเที่ยวสลับหมุนเวียนกันขึ้นลง บ้างแค่ต้องการมาแวะชม บ้างแค่ต้องการมาเพื่อพิชิต บ้างก็ต้องการเก็บภาพสวยๆ ต่างกันไปตามจุดประสงค์ของแต่ละคน แต่เกือบทุกคนที่ขึ้นมาถึงโถงถ้ำแห่งนี้จะอุทานกันว่า "ขึ้นมายังเดินลื่นขนาดนี้ แล้วลงไปจะลงยังไง" คนที่ไม่ค่อยหรือไม่เคยเดินป่าปีนดอยอาจต้องใช้สัญชาติญาณ แต่คนที่เดินป่าบ่อยๆ ก็คงได้อาศัยประสบการณ์ในการเดินลง
ยามอาทิตย์เริ่มจะอัสดง แสงทองสาดส่องกระทบผืนกรวดหินดินทรายช่างงามงด ดวงสุริยาลดคล้อยลงต่ำ ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ช่องซุ้มประตูหินปูนตามกิจวัตรประจำวันของกาลเวลา

ซุ้มหินผากับแสงสุริยาสีทอง
หินผาเริ่มเป็นสีทอง ความร้อนแรงของแสงดวงตะวันเริ่มลดอุณหภูมิลงเพื่อย่างก้าวสู่ราตรีกาลให้ผืนปฐพีได้พักผ่อน ผู้เฝ้ารอจึงได้รับรางวัลความอดทนด้วยแสงสวยนุ่มละมุนบันทึกลงเป็นภาพจำทั้งในเมมโมรีของร่างกายและแผ่นการ์ดของกล้องถ่ายรูป

แสงทองทะลุมิติแห่งเวลาเข้ามายังคูหาถ้ำทะลุ

เก็บภาพบันทึกความทรงจำ

อาทิตย์ดวงเดียวกัน ต่างสถานที่ ก็ต่างมุมมอง
ตะวันเลื่อน...ต่ำลง
แสงทองส่อง...ทั่วพื้น
อัสดง...ลาลับ
ตะวันหลับ...ราตรีตื่น
เป็นนิจแห่งห้วง...เวลา
...สิบสอง กุมภา สองห้า หกหก...
#สะพายกล้องท่องโลกกว้าง
สะพายกล้องท่องโลกกว้าง
วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 16.56 น.