เมื่อวันแม่ที่ผ่านมา 12สิงหาคม2559 ผมมีโอกาสได้ไปเห็นความงดงามเล็กๆ ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

วันแม่ปีนี้เป็นวันหยุดยาว คนอาข่าบ้านห้วยโป่งจะกลับมาเยี่ยมบ้าน ร่วมงานประเพณีโล้ชิงช้า วัฒนธรรมท้องถิ่นที่จัดขึ้นทุกปี

วันที่12 ชาวบ้านจะทำชิงช้าและชิงช้าสวรรค์ หรือเรียกว่า หล่าเฌอหรือกาลาหล่าเฌอ นะครับ

ส่วนวันที่13 จะมีงานแสดงโล้ชิงช้าที่ลานวัฒนธรรมหมู่บ้านหรือเรียกว่า แดข่อง

นอกจากนี้ยังได้เดินเที่ยวบ้านภูมิปัญญา เช่น บ้านคนทรงหรือเรียกว่าญี่ผ่า บ้านจักสาน ทอผ้า ปั่นด้าย ตีมีด ปักผ้า ทำหมวกและเดินเลือกซื้อหาสินค้าของฝากที่ระลึกกันได้ ณ. ร้านค้าชุมชน

              บ้านห้วยโป่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ชาวบ้านจะคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

                        เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่จะได้ขับรถขึ้นมาชมหมู่บ้าน

พอจะคิดถึงสภาพทั่วไปของหมู่บ้านออกนะครับ ทางขึ้นหมู่บ้านนี่ แบ่บ ชันเป็นที่ถูกใจคนรักถนนวิบาก (HA)

เอาละสิครับ มาถึงตอนที่ลำบากสุดๆ เมื่อเห็นหนุ่มๆ เขาทำชิงช้ากัน เวลาเตรียมนี่ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน นะครับ

หนุ่มใหญ่วัย 50 อัพ จะมองหาต้นไม้เหมาะเจาะ เขาว่า ต้องยาวอย่างน้อย 10 เมตร

ช่วงลงมือจะเป็นหน้าที่หนุ่มน้อย ขุด ตัด แบกมาวางในหลุมลึกที่เตรียมเอาไว้ แบกกันเป็น 10 คน เชียวนะครับ

ระหว่างนั้นบรรดาเด็กๆ จะเตรียมรับนักท่องเที่ยวขาลุยอย่างเราครับ

ภาพทำเสากาลาหล่าเฌอ ตามด้านล่างนี่เลย



        การนำเสายาว 12-13เมตร ลงหลุมโดยใช้แรงคนกับเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ตามอย่างในภาพนี้ครับ

แล้วหนุ่มๆ ก็มาลองโล้ชิงช้าเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแข็งแรงใช้การได้ดี ผมอดถามไม่ได้ว่า เชือกเคยขาดไหม เขาว่า เคย (โห) ปลิวลงดงกล้วยด้านหน้านี่แหละพี่แต่ไม่เป็นไร

คนหนุ่มที่แข็งแรงและโล้เชียวชาญ เขาจะห้อยขาและแกว่งตัวโล้ให้ชิงช้าขึ้นได้สูงตามอย่างในภาพนี้แหละครับ ผมลองแล้ว แกว่งไม่ได้ครึ่ง ทั้งเหนื่อย ทั้งเมื่อย (อ่อนแอจริงเชียว 55) โล้เก่งๆ นี่ สามารถเอาเท้าแตะปลายเสาได้เลยนะพี่ น้องๆ เขาว่า

จ้ะ พี่ขอไปฝึกอีกสัก 10 ปี คิคิ

คนเก่งๆ นี่เขาโหนกันสูงขนาดนี้นะครับ

อีกแบบสำหรับคนที่อยากจะนั่งโล้ เขาจะสอดไม้เอาไว้ การเหลาไม้นั่งนี่ก็มีเทคนิคนะครับ ต้องให้ได้กึ่งกลางผ่านการคำนวณมาอย่างดี โล้แล้วไม่แกว่ง ไม่เอียง ส่วนภาคพื้นดินจะมีคนคอยมาดึงเชือก ยิ่งดึงแรงก็ยิ่งสูง คนโล้ก็มีส่วนช่วยนะจะต้องแกว่งเท้าช่วยคนดึง ไม่งั้นคนแกว่งหมดแรงหน้ามืดเอาดื้อๆ

ปีนี้พิเศษ เขาทำชิงช้าไว้ 2 อัน สำหรับเด็กๆ ด้วยครับ (ตามภาพน่ารักๆ ด้านล่าง)

                   นั่งมองเด็กๆ โล้ แล้วอดหัวเราะไม่ได้ เห็นแล้วมีความสุขครับ


กลับลงมาภาคพื้นดินอีกครั้ง แต่ละครัวเขาจะตำข้าวปุกสำหรับงานนี้กันนะครับ วิธีการ คือ นำข้าวเหนียวนึ่งสุกตำจนกลายเป็นแป้งแล้วยกลงใส่ใบตองสด โรยงา ปั้นเป็นก้อน จะนำไปทอดหรือหรือกินสดก็ได้



          เครื่องแต่งกายชาวอาข่าแบบเต็มๆ ถามผู้รู้ เขาบอกว่า ชาวอาข่ามีสายตระกูลจากทิเบต

ภาพมุมสูง วิวหมู่บ้านที่มองเห็นเสาชิงช้าหรือกาลาหล่าเฌอ นะครับ อันที่จริงมีเรื่องอยากโม้มากกว่านี้ อย่างเรื่องประตูผีความเชื่อของคนอาข่านี่ก็น่าสนใจ การปั่นด้ายเอย การตีมีดเอยล้วนแต่มีเรื่องเล่า ไว้รีวิวเป็นการเฉพาะดีกว่าแค่ยืนมองเขาโล้ชิงช้ากัน ผมยังอดทึ่งไม่หาย มีโอกาสจะลงรายละเอียดนะครับ


นอกจากจะโล้ชิงช้า นักท่องเที่ยวจะเดินไปตามจุดท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน

ห้วยโป่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศนะครับ เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอำเภอแม่แตงที่เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นมา(ภาพบน)บางส่วนมาจากรีสอร์ทหรือบริษัทที่รับจัดทัวร์นำนักท่องเที่ยวมาชมหมู่บ้านและหาซื้อของที่ระลึก เป็นต้น


ภาพล่างนี่เป็นหน้าพิพิทธภัณฑ์ท้องถิ่น นี่คือ ตุ๊กตาไม้หรือเรียกว่า ประตูผี ตามความเชื่อของชาวอาข่าครับ


         ไม้แกะสลักหุ่นชายและหญิง จุดประตูผี ภายในพิพิทธภัณฑ์ประจำหมู่บ้านอาข่าห้วยโป่ง

    สาธิตการปั่นด้าย ปั้นฝ้ายจากก้อนกลมจนเป็นเส้นด้ายด้วยไม้ท่อนกลมที่คล้ายกับลูกข่าง ก่อนจะนำมาทอผ้า

                                 บ้านนี้เย็บกระโปรงครับ

 เด็กๆ เที่ยวได้ เฒ่าชราก็เที่ยวดีครับ ในภาพเป็นภาพหมู่ของทริปส์ท่องเที่ยวหมู่บ้านคนอาข่าห้วยโป่งในวันแม่นี้ เอย

วิธีการเดินทางมาท่องเที่ยว

- ออกจากเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางเชียงใหม่-แม่ริม

- มุ่งหน้าอำเภอแม่แตง ถนนจะเลียบแม่น้ำแม่แตงไปเรื่อยๆ นะครับ

- ตามถนน107 หมุดหมายอยู่ตรงตลาดแม่มาลัย

- มองหาเส้นทางไปแก่งกึ๊ด สังเกตุป้าย ชุมชนอาข่าบ้านห้วยโป่ง เข้าไปเลยครับ

ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับพิธีโล้ชิงช้า นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางมาเที่ยวได้นะครับ

คนอาข่าห้วยโป่ง เขายิ้มละไม

the end 230859

ความคิดเห็น