สวัสดีค่า



Tamkarnwela ฉบับนี้จะพาทุกคนย้อนไปในกาลเวลา ที่ Praya Palazzo(โรงแรมพระยา พาลาซโซ ) กันค่ะ



Praya Palazzo(โรงแรมพระยา พาลาซโซ )เป็นหนึ่งในโรงแรมที่เข้ารอบโครงการประกวดสุดยอดโรงแรมบูติคไทยขนาดกลางและขนาดเล็ก ในชื่อ"Thailand Boutique Awards Season3 (2014-2015)" (TBA ) โครงการนี้มีบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นแม่งาน ซึ่งในโครงการนี้ Tamkarnwela ได้รับเกียรติเชิญให้ร่วมเป็น1 ของนักรีวิวในโครงการนี้ด้วยค่ะ



Praya Palazzo เป็นโรงแรมบูติคขนาดเล็กๆที่เราได้ยินชื่อมาระยะหนึ่งแล้วด้วยรูปถ่ายที่เคยได้ดูผ่านตาจากรีวิวรายการโทรทัศน์ และนิตยสารต่างๆรวมทั้งเคยเห็นผ่านตาเวลานั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเราจะเห็นตึกโบราณเก่าๆสวยๆ มีเค้าของความงามในอดีตมานานแล้วเราเลยคิดเอาไว้ว่าซักวันคงมีโอกาสได้ไปเยือนซักครั้งแล้วโอกาสก็มาถึงในวันนี้... Tamkarnwela ได้รับมอบหมายจากโครงการ TBA ให้มาทำรีวิวที่ Praya Palazzo



“สยามสายน้ำและความรัก “ เป็นคำนิยามที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานที่แห่งนี้ค่ะลองอ่านเรื่องราวของที่นี่ แล้วทุกท่านจะทราบว่าที่แห่งนี้ที่เริ่มสร้างในแผ่นดินสยาม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยความรักที่สวยงามมากขนาดไหน



ถ้าทุกท่านพร้อมที่จะร่วมเดินทางผ่านกาลเวลากลับไปสู่อดีตร่วมกันแล้วเชิญเลยนะคะ



Praya Palazzo พระยาพาลาซโซโรมแมนติคตั้งแต่วิธีการเดินทาง ที่นี่เดินทางมาได้ทางเรือเท่านั้นค่ะ แต่ก็ไม่ได้ยากลำบากอะไรนะคะสำหรับท่านที่มีรถ เพียงนำรถไปจอดที่ 'วัดราชาธิราช' ซอยสามเสน 9 แล้วโทรศัพท์เรียกให้เรือของโรงแรมมารับ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ของไทยมาเรื่อยๆ ลมเย็นๆ



หรืออีกจุดหนึ่งที่สามารถให้เรือมารับได้คือท่าเรือพระอาทิตย์ ค่ะ ตรงข้ามโรงแรมเลยค่ะ



ลมเย็นๆนั่งเพลินๆ ซัก 15 นาทีผ่านไปเราก็มองเห็นท่าน้ำ และตึกสีเหลืองที่สวยงามอยู่ตรงหน้า



ฝั่งตรงข้ามที่มองเห็นฝั่งโน้นคือท่าพระอาทิตย์ค่ะ



“พระยา พาลาซโซ" หรือ “คฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช"ชื่อ เดิมคือ “บ้านบางยี่ขัน ““บ้านบางยี่ขัน “เป็นบ้านตามแบบสถาปัตยกรรมพาลาดิโอ (Palladio) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของการค้าและการติดต่อกับชาวตะวันตกในรัชสมัยของรัชกาลที่ห้า



'พระยาชลภูมิพานิช' ขุนนางเชื้อสายจีน รับราชการในกรมท่าซ้าย กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดเก็บรายได้จากเรือสินค้าที่เดินเรือผ่านทะเลอ่าวไทยเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เช่น จีน จาม (กัมพูชา) และญวน (เวียดนาม) ในขณะที่กรมท่าขวาติดต่อกับเรือที่มาจากฝั่งอันดามัน เช่น อาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และบรรดาชาติตะวันตก แต่การค้าสมัยก่อน ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นการค้ากับซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะกับประเทศจีน ทำให้ขุนนางเชื้อสายจีนในสมัยนั้นมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย และมีบทบาทสำคัญทั้งทางการค้า และการเมืองการปกครองของประเทศ



บ้านบางยี่ขันหลังนี้ เป็นเรือนหอของ พระยาชลภูมิพานิช เมื่อท่านสมรสกับ คุณหญิงส่วน (สกุลเดิมอุทกภาชน์) ข้าหลวงใกล้ชิดยุคลบาทในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5พระยาชลภูมิพานิชหลงรักคุณหญิงส่วนในทันทีที่แรกเห็นจึงให้ผู้ใหญ่ไปทูลขอจากสมเด็จพระศรี ฯ ในตอนแรกคุณหญิงส่วนก็ยังไม่อยากออกเรือนแต่ขัดผู้ใหญ่ไม่ได้จึงต้องออกเรือนแบบคลุมถุงชนท่านทั้งสองได้ครองรักกันในบ้านหลังนี้สืบมามีบุตร-ธิดารวม 10 คนและตลอดอายุขัยคุณหญิงส่วนเป็นภรรยาเพียงผู้เดียวของท่านพระยาทั้งๆที่ในสมัยนั้นนิยมมีภรรยากันมากกว่า 1 คน แต่ไม่ใช่สำหรับบ้านบางยี่ขันหลังนี้จึงเป็นความรักในยุคแรกที่กำเนิดในบ้านหลังนี้



บ้านบางยี่ขันอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตามวิถีคนไทยในอดีตที่นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ มีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ทั้งการอุปโภค บริโภค และการสัญจรเดินทางทางเรือ ทำให้ทั้งสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตจึงเต็มไปด้วยชุมชน บ้านเรือน วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญต่างๆ มากมายรวมทั้งบ้านบางยี่ขันแห่งนี้



พระยาชลภูมิพานิชถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2481 และต่อมาบ้านหลังนี้สืบทอดมายังนาย ปานจิตต์ อเนกวณิช บุตรชายคนที่ 7 ของท่าน ครอบครัวของพระยาชลภูมิพานิชยังคงอาศัยในบ้านบางยี่ขันสืบมา จนสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยและการหันไปใช้รถยนต์แทนเรือมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง



ครอบครัวอเนกวนิชจึงย้ายไปอยู่แถวย่านสุขุมวิทบ้านหลังนี้จึงทิ้งร้าง


ในปี พ.ศ.2489 นายปานจิตต์จึงโอนกรรมสิทธิ์บ้านบางยี่ขันให้ กลุ่มมุสลิมบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือมูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทาน) เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของ โรงเรียนราชการุญ แทนอาคารเดิมย่าน 'บางกอกน้อย' ที่ถูกระเบิดทำลายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2



จากการเป็นบ้านพักอาศัยอบอุ่นด้วยความรักของคนในครอบครัวบ้านบางยี่ขันแห่งนี้กลายมาเป็นโรงเรียนราชการุญที่อบอวลไปด้วยความรักความเมตตาระหว่างครูกับศิษย์



ผู้ก่อตั้งโรงเรียนราชการุญมีจุดประสงค์ให้การศึกษาเด็กผู้ด้อยโอกาสโดยไม่แบ่งศาสนา โดยเก็บค่าเล่าเรียนในราคาถูก แต่โรงเรียนราชการุญอยู่ได้เพียง 22 ปี และประสบปัญหาด้านเงินทุนและปิดตัวลงในปี พ.ศ.2521 หลังจากนั้นอีก 5 ปี โรงเรียนนี้ก็ถูกปล่อยให้เช่าเปิดเป็น โรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา แต่ก็ต้องปิดตัวลงอีกในปี พ.ศ.2539



นับตั้งแต่ปี2539 เป็นต้นมา บ้านบางยี่ขันถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่วันนั้นใครนั่งเรือผ่านไปมาก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมบ้านสวยๆถึงถูกปล่อยทิ้งแบบนี้รวมทั้ง 'ผศ.วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ ' สถาปนิกผู้ที่มองบ้านหลังนี้จากสวนสันติชัยไชยปราการฝั่งบางลำพูด้านตรงข้าม แล้วเกิดความเสียดายความงดงามอันเก่าแก่ของอาคารแห่งนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการฟื้นชีวิตบ้านบางยี่ขัน แม้จะรู้ว่าไม่ใช่งานง่ายและต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลรื้อแล้วสร้างใหม่น่าจะถูกกว่าค่ะ



บ้านบางยี่ขันในวันที่เริ่มเข้าไปปรับปรุง หลังจากถูกปล่อยร้างไว้ร่วม 20 ปีคือหลังคายุบลงมาบางส่วน พื้นพัง มีน้ำท่วมขัง และปัญหาความชื้น เพราะอาคารแห่งนี้อยู่ติดแม่น้ำ เชื้อราที่เกิดจากความชื้นจึงเป็นปัญหาที่แก้ยาก



จุดประสงค์ของการบูรณะครั้งนี้ คือการรักษาของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด ทางเจ้าของค่อยๆ รื้อของเก่าออก แล้วขัดเกลาเพื่อเก็บไว้ใช้ที่เดิม โดยเฉพาะของเก่าที่ทำโดยฝีมือช่างโบราณ สันนิษฐานว่าแม้สถาปัตยกรรมนี้จะเป็นของฝรั่ง แต่น่าจะเป็นฝีมือช่างจีน โดยเฉพาะบรรดาช่องลมฉลุลายโปร่งของประตูและหน้าต่าง กระจกสี บานเฟี้ยมไม้สักฉลุโบราณขนาด 8 เมตร ประตูและหน้าต่างไม้ กรอบไม้ต่างๆ ที่เป็นของเก่าเจ้าของได้เลาะออกมาซ่อมใช้ใหม่หมด และถ้าส่วนใดสูญสภาพไปจนไม่ครบ ก็ให้ช่างทำเลียนแบบของเก่าจนกลมกลืน

และด้วยโครงสร้างโบราณ กำแพงไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากนัก จึงต้องมีการเสริมโครงใหม่ไปพยุงผนังเดิม เพื่อให้สามารถตกแต่งภายในได้และมีการเสริมความแข็งแรงของ แพซุงโบราณใต้ดิน ด้วยระบบคอนกรีตและระบบกันน้ำ เพื่อให้ตึกแข็งแรง และมีการป้องกันความชื้นโดยระบบระบายน้ำใต้ดิน อีกด้วย

บ้านหลังนี้ถูกออกแบบมาให้สมกับการอยู่ริมน้ำ น้ำสามารถซึมเข้ามาใต้รากฐานของบ้านได้ เพราะน้ำมีขึ้นมีลง แต่น้ำก็เป็นสาเหตุของความชื้น จึงมีการติด 'ปั๊มน้ำ' เพื่อระบายน้ำออกเมื่อน้ำเข้ามาในพื้นที่ใต้อาคารมากเกินไป



อ่านทั้งหมดนี้รู้เลยว่านอกจากต้องใช้เงินมหาศาลและยังต้องใช้ใจและความรักอย่างมหาศาลด้วยค่ะที่จะทำการบูรณะบ้านบางยี่ขันแห่งนี้ได้สำเร็จและนี่ก็คือความรักในช่วงต่อมา

แต่การบูรณะฟื้นฟูที่นี่ต้องขนวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างทั้งหมดรวมทั้งต้นไม้ในการจัดสวนมาด้วยทางเรือเท่านั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ



การบูรณะนี้ใช้เวลาถึง 20 เดือนเต็ม ผลที่ได้คือความภูมิใจและความรักล้วนๆ ของอาจารย์วิชัย และคุณปรียาธร พิทักษ์วรรัตน์ และทีมงานทุกคนที่ร่วมมือกันนำคฤหาสน์หลังงามที่อวลไปด้วยความรักหลังนี้ กลับมาให้ทุกคนสามารถเข้าไปชื่นชมได้อีกครั้ง



และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผศ.วิชัยได้เสียยชีวิตลงก่อนที่พระยาพาลาซโซจะเปิดให้บริการที่นี่จึงน่าจะเป็นที่รวมของความรักของเจ้าของไว้อีกชั้นหนึ่งด้วยค่ะพระยาพาลาซโซ ( Praya Palazzo ) เป็นโรงแรมบูติคขนาด 17 ห้อง ที่ตกแต่งแบบไทย จีน ฝรั่ง ที่เจ้าของพยายามถ่ายทอดชีวิตของคนไทยโบราณในช่วง 100 กว่าปีก่อนมาเล่าไว้ในที่แห่งนี้



การต้อนรับทันทีที่มาถึง



พระยาพาลาซโซในวันนี้



วันที่อดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง



โรงแรมพระยาพาลาซโซ่ประกอบด้วยตึกสองชั้น มีปีกสองด้านที่แบ่งเป็นห้องพักทั้งชั้นบนและชั้นล่าง



โถงด้านบนคือห้องรับรองโบราณที่บูรณะให้เหมือนเดิม สะท้อนชีวิตของขุนนางโบราณที่มักต้องต้อนรับแขกเหรื่อในห้องโถง



นิยมมีผู้มาจัดงานหมั้นและงานแต่งงานที่นี่ เพื่อย้อนไปถึงความสวยงามในอดีตค่ะ



เฟอร์นิเจอร์ทุกสิ่งคุมคอนเซปได้ดีมากค่ะ


โถงทางเดินไปห้องพักแต่ละห้องค่ะ



ที่ห้อง Suite



Welcome Fruit จากตู้เย็นค่า



พื้นที่ห้องนี้ ประมาณ 35 ตารางเมตรค่ะ



ทุกสิ่งกลมกลืนกันหมด



ใส่ใจกันในทุกๆรายละเอียดนะคะ



ที่จับประตู



ที่จับหน้าต่าง



หัวก๊อก


มีทั้งร้อนและเย็นค่ะ



ห้อง suite มีอ่างอาบน้ำให้ลงแช่ด้วยค่ะ



ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำใช้ของ HARNN ค่ะ



ครบถ้วนสมบูรณ์ค่ะ



ตามช่องหน้าต่างระหว่างทางเดิน



หน้าประตูห้องของแต่ละห้องจะมีรูปชาวต่างชาติผู้ที่เข้ามาสร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเราในสมัยก่อน



ชอบกลอนหน้าต่างแบบนี้จังค่ะ



ห้องที่เราพักคือห้อง Chao Phraya Suiteค่ะเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ พื้นที่ใช้สอย 45 ตารางเมตร



แบ่งเป็นห้องนอนกับห้องนั่งเล่น



การตกแต่งอบอุ่น ดูหรูหรา


กระจกยังเป็นกระจกโบราณเลยค่ะ



โทรศัพท์นี่ก็ยังใช้ได้จริงๆนะคะ



ห้องนี้แช่น้ำชมวิวเจ้าพระยากันเลยค่ะ



ทุกอย่างล้วนผ่านการกลั่นกรอง



สวิตช์ไฟยังกลมกลืน



หน้าต่างบานกระทุ้ง



คืนนี้นอนหลับฝันดีแน่ๆค่ะ



และห้องนี้เป็น River view ด้วยนะคะ



แต่ยังนอนไม่ได้ค่ะ ไปทานอาหารเย็นกันก่อนค่า



โถงชั้นล่างจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนส่วนแรกเป็น ห้องอาหารพระยาไดน์นิ่ง เสิร์ฟอาหารไทยโบราณและฝรั่งเศส ทั้งมื้อกลางวันและเย็น



ตกแต่งได้เรียบร้อยหรูหรา



ท่านที่ไม่ได้มาพักที่นี่สามารถนั่งเรือข้ามมาทานข้าวอย่างเดียวได้เลยค่ะ



ส่วนที่ 2เป็นห้องสมุดเล็กๆ มีหนังสือที่น่าสนใจทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์และปัจจุบันให้อ่านค่ะ



และส่วนที่ 3 แสดงแกลอรี่ภาพถ่ายความเป็นมาของอาคารนี้ ตามที่เราได้เล่าไว้ในตอนแรกแล้วค่ะ



วันนี้เราจะทานข้าวกันที่พระยาไดน์นิ่งนี่แหละค่ะ



ที่นี่เสิร์ฟทั้งอาหารไทยโบราณและอาหารฝรั่ง ซึ่งอาหารไทยโบราณของที่นี่มีที่มา โดยไปถามไถ่และสืบค้นมาจากหลักฐานเก่าๆ เพื่อให้ได้ใกล้เคียงของโบราณมากที่สุดเราเลือกที่จะทานอาหารไทยค่ะเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ



เริ่มจากแกงรัญจวนเราได้ยินชื่อแกงนี้ครั้งแรกจากสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ค่ะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ชิม

แกงรัญจวนนี้มาจากสมัยก่อนเจ้านายพระองค์ต่างๆมักจะเสวยอาหารอย่างละนิดละหน่อยเท่านั้นทำให้กับข้าวหลงเหลืออยู่เยอะ ฝ่ายห้องครัวจึงนำน้ำพริกะปิส่วนที่เหลือจากสำรับเสวยมาปรุงรสเป็นแกงจนมีกลิ่นหอมรัญจวนคละคลุ้งไปทั่ว จึงตั้งชื่อแกงนี้ว่า แกงรัญจวน



ยำผิวส้มซ่าปลากรอบสูตรมาจากตำรับสายเยาวภา ยำผิวส้มซ่ากับปลากรอบ สูตรหม่อมหลวงแส สนิทวงศ์ โดยใช้ผิวส้มซ่าคลุกเคล้าเข้ากับ เนื้อปลากรอบทอด หนังหมูและมันหมูต้ม ปรุงรสด้วยน้ำส้มซ่าหวานอมเปรี้ยวและเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เติมรสชาติให้เข้มข้นจากน้ำกระเทียมดอง โรยหน้าด้วยหอมและกระเทียมเจียวครบรสค่ะ



แสร้งว่ากุ้งปลาดุกฟู..“ไตปลาเสแสร้งว่า ดุจวาจากระบิดกระบวน" หนึ่งในเมนูกาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน เมนูเครื่องจิ้มโบราณนี้ มีการปรุงน้ำยำที่มีเอกลักษณ์ตรงกลิ่นหอมนำจากน้ำส้มซ่า ตะไคร้ซอย ผสมกับสมุนไพรไทยหลายชนิดจนรสกลมกล่อม แต่แฝงไว้ซึ่งความร้อนแรงแบบยำไทย โดยใช้กุ้งแม่น้ำเผาแล้วยีฟูนำลงไปคลุกเคล้ากับเครื่องยำ ทานพร้อมเครื่องแนมอย่างปลาดุกฟู รวมทั้งผักสดหลากชนิด



จานนี้คุ้นลิ้นมากที่สุดค่ะ



หมูผัดส้มเสี้ยวอีกหนึ่งเมนูโบราณที่เมื่อก่อนใช้เนื้อสันคอหมูนุ่มผัดกับใบเสี้ยว ที่มีรสเปรี้ยวจนได้หมูผัดพริกแกงมีน้ำคลุกคลิก ออกรสชาติเปรี้ยว แต่เคี้ยวสักพักจะมีรสหวาน เหมาะแก่การทานกับข้าวสวยร้อนๆค่า



ขนมหวานค่า..... บัวลอยลูกตาล


เนื้อตาลยีผสมกับแป้งข้าวเหนียวจนเป็นบัวลอยลูกตาลที่เคยทานที่นี่ที่แรกค่ะ



อินทนิลมะพร้าวอ่อน..แป้งสาคูนวดกับน้ำใบเตยหอม รับประทานกับน้ำกะทิและมะพร้าวอ่อนเราว่าเหมือนขนมหยกมณีมากๆค่ะ



อิ่มอร่อยค่ะ



นั่งเรือไปเดินเล่นฝั่งโน้นกันได้นะคะ เรือบริการตลอดเวลาค่า



เราข้ามไปกันมาแป๊ปเดียวกลับมาซึมซับบรรยากาศที่นี่ดีกว่าค่ะ



บรรยากาศกลางคืนสวยไปอีกแบบนะคะ



รู้สึกชอบป้ายอันนี้จังค่ะเข้าบรรยากาศมากๆ



ในอดีตที่นี่คงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายนะคะ



ที่นี่ตอนน้ำท่วมครั้งที่แล้วก็เสียหายไปเยอะค่ะต้องบูรณะกันมากมาย



แอบดูห้องพักคืนนี้ของเราค่ะ



ตื่นเช้ามาด้วยบรรยากาศที่สดชื่นต้นไม้ใบหญ้าที่นี่ล้วนเป็นต้นไม้ที่อยู่ในบ้านไทยโบราณมีพืชผักสวนครัวที่สามารถไปนำมาปรุงอาหารได้



สมัยก่อนอาจเก็บดอกไม้หอมๆมาทำน้ำอบน้ำปรุง



สดชื่นๆ



ที่นี่อยู่แล้วเหมือนอยู่บ้านค่ะ



เก้าอี้แบบนี้ที่บ้านก็เคยมีด้วยค่า



หิวข้าวเช้ากันรึยังคะเราจะทานข้าวแถวๆนี้แหละนะคะ



Breakfast by the River



เมนูอาหารเช้า สั่งได้ทุกรายการในเมนูค่ะ



ข้าวต้มกุ้ง



ออมเลทไส้กรอก เบค่อนมันฝรั่ง มะเขือเทศย่างเลือกทุกสิ่งที่ชอบเลยค่า



จิบชา



ทานอาหารเช้ากับวิวแบบนี้ทุกวันคงจะดีค่ะ



ร่มรื่นมากๆ



เดี๋ยวกลับไปที่ห้องพักผ่อนก่อนค่ะ



ก่อนกลับบ้านทานอาหารเที่ยงกันอีกซักมื้อค่ะยังอินคอนเสปอาหารไทยอยู่นะคะทานกันเบาๆค่ะ



ข้าวตังหน้าตั้ง ของว่างที่ชอบชิมค่ะ



ยังคงทานเล่นกันอยู่ค่ะ



โรตีแกงเขียวหวานไก่อร่อยดีค่ะโรตีน้อยไปนิดนึงค่า



ปุนิ่มทอดกับน้ำจิ้มซีฟู้ดค่ะ



เป็นการปิดทริป Praya Palazzo อย่างสมบูรณ์ค่ะ



Praya Palazzo เหมาะสมแล้วที่ได้รางวัลติดต่อกันมาทั้ง 2 ครั้งของโครงการ Thailand Boutique Awards เราได้เห็นถึงความตั้งใจที่จะรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจและแรงงบประมาณเป็นอย่างมากค่ะ



ที่นี่สำหรับเรามีข้อบกพร่องอย่างเดียวที่พบคือพื้นไม้บนห้องเวลาเดินมีเสียงดัง อาจจะรบกวนห้องข้างล่างได้ค่ะแต่บ้านโบราณแบบนี้อาจแก้ไขลำบากทางโรงแรมก็ได้แก้ไขโดยการที่พยายามที่จะไม่ให้แขกอยู่ห้องตรงกันค่ะ..ซึ่งก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีค่ะ



ขอบคุณโครงการ Thailand Boutique Awards Season3 (2014-2015)ที่เลือก Tamkarnwela ให้เป็น 1 ใน Blogger ที่มาร่วมทำรีวิวของโครงการค่ะ



ขอบคุณ Praya Palazzo โรงแรมบูติคที่เข้ารอบในโครงการ Thailand Boutique Awards Season3 (2014-2015) ที่ให้การต้อนรับ Tamkarnwela เป็นอย่างดีประทับใจค่ะ



ขอบคุณตามกาลเวลาที่ไปมาด้วยกันทุกที่



ขอบคุณ Pantip.com ที่มีพื้นที่ดีดีแบบนี้ให้แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ



และสุดท้าย



ขอบคุณทุกท่านที่คลิ้กเข้ามาอ่านรีวิวนี้ค่ะทุกคอมเมนท์ กิ๊ฟโหวตล้วนเป็นกำลังใจแก่ผู้รีวิวทั้งสิ้น



และในโครงการนี้ Tamkarnwela รับผิดชอบรีวิวทั้งหมด 5 โรงแรมค่ะถ้าไม่รบกวนจนเกินไปรบกวนให้กำลังใจในรีวิวต่อๆไปด้วยค่ะติดตามนะคะว่าจะมีโรงแรมอะไรที่เข้ารอบบ้าง



รักคนอ่านรีวิวค่ะ



Tamkarnwela



Tamkarnwela

 วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 23.45 น.

ความคิดเห็น