หลังจากตอนที่แล้ว หนูเล็กพาไปสร้างความทรงจำกับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกันมาบ้างแล้ว
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของพวกเราที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้ว ก่อนมาก็คิดอยู่ว่าเรามีเวลากับที่นี่น้อยวันเหลือเกินเมื่อคิดถึงสถานที่สำคัญๆ ที่เราอยากไปเยือน และเมื่อได้มาถึงที่นี่จริงๆ ก็ยิ่งรู้สึกเช่นนั้น หนูเล็กรู้สึกว่าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมืองหลวงเก่าของรัสเซียแห่งนี้มีเสน่ห์แอบซ่อนอยู่ในความขึงขัง จริงจัง เวลาเพียงหนึ่งวันที่เหลือ ไม่ว่าจะตัดสินใจไปเยือนที่แห่งใด ก็คงทำให้เราต้องเกิดความรู้สึกแบบรักพี่เสียดายน้องทั้งนั้น แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อเวลาของเรามีเหลือเพียงเท่านี้ ก็ต้องยอมรับ แผนเราคิดกันวันต่อวัน ดังนั้น เลยไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้าอะไรทั้งนั้น เกรงว่าถ้าจองแล้วไม่ได้ไปจะเสียเปล่า
เช้าวันนี้สถานที่ที่เราตัดสินใจเลือกไปเยือนคือ Catherine Palace ตามที่เมื่อวานพี่ใหญ่กับหนูเล็กได้ซ้อมนั่งรถไฟใต้ดินไปลงสถานี Moskovskaya เพื่อดูสถานที่จริงก่อนที่จะพาพวกเราไปกันในวันนี้เมื่อไปถึงก็โผล่ขึ้นไปยังลานกว้างที่เรยกว่า จัตุรัสมอสโคว์ (Moskovskaya Ploshad) ซึ่งท่าน Vladimir Lenin ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่
จากนั้นก็เดินไปที่ถนนด้านหลัง บริเวณหน้าตึก House of Soviets ค่ะ จะมีรถตู้จอดอยู่ แค่เราเดินเงอะๆ งะๆ ไป ก็จะมีคนขับรถมาถามเราว่าไป Catherine Palace ไหม แต่เขาไม่ได้ถามเป็นภาษาอังกฤษหรอกค่ะ เขาจะถามเป็นภาษารัสเซียที่ว่า Tsarskoye Selo (Царское Село) หรือจะสังเกตที่หน้ารถก็ได้ค่ะ เขาจะมีกระดาษเขียนติดไว้ที่หน้ารถ ค่ารถคนละ 40 RUB ใช้เวลาเดินทางราว 30 นาที
ผ่านอนุสาวรีย์อะไรสักอย่าง
สำหรับชื่อเมืองซาร์สโกเย เซโล (Tsarskoye Selo) หมายถึงหมู่บ้านของพระเจ้าซาร์ (Tsar's Village) ที่นี่เป็นที่ตั้งของพระราชวัง 2 แห่งคือ พระราชวังแคทเธอรีนและพระราชวังอเล็กซานเดอร์ (Alexander Palace) สำหรับพระราชวังอเล็กซานเดอร์นั้นเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ภายหลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1917 ช่วงแรกพระองค์และสมาชิกราชวงศ์ถูกกักบริเวณอยู่ภายในพระราชวังอเล็กซานเดอร์ ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปที่ Yekaterinburg และถูกปลงพระชนม์ในเช้าวันที่ 17 กรกฎาคม ในปีต่อมา
พระราชวังแคทเธอรีนและพระราชวังอเล็กซานเดอร์ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนทั่วไปในปี ค.ศ. 1918 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1937 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองจาก Tsarskoye Selo เป็นPushkin เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีการเสียชีวิตของ Alexander Pushkin ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซียและเคยเรียนหนังสือที่เมืองนี้ ปัจจุบันพระราชวังอเล็กซานเดอร์ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพราะอยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม
เมื่อไปถึงก็ต้องไปซื้อตั๋วกันก่อน แต่ตั๋วที่ซื้อที่ทางเข้าด้านหน้าคือตั๋วเข้า Catherine Park ค่ะ นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสวนก่อนราคา 150 RUB หากจะชมพระราชวังฤดูร้อน ก็ต้องเข้าไปซื้อตั๋วที่ด้านในอีกทีค่ะ ซึ่งสวนนั้นจะเปิดก่อนสามารถเข้าไปเดินชมรอเวลาได้เลย ส่วนพระราชวังจะเริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 12.00 น. ดังนั้น ต้องรอเวลา แต่อยากจะบอกว่า ในฤดูท่องเที่ยวแบบนี้ เมื่อเราไปถึงมีนักท่องเที่ยวมาต่อแถวกันยาวเหยียดแล้วแม้ว่าอีกเกือบ 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงเวลาเปิดให้เข้าชม พวกเราเห็นก็รู้ชะตากรรมของเช้าวันนี้แล้วว่า เราคงต้องต่อแถวไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงเป็นแน่แท้ ดังนั้น ไปเดินชมสวนให้ใจเย็นๆ กันสักชั่วโมงเดี๋ยวค่อยมาเริ่มต่อแถวก็แล้วกัน
แผนผังของสวนอันกว้างใหญ๋
Catherine Park เป็นสวนสวยที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 107 เฮคเตอร์ ภายในสวนแบ่งออกเป็นสวนแบบเก่าและสวนแบบอังกฤษ ซึ่งถูกคั่นกลางด้วยบ่อน้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีพาวิลเลี่ยนที่สวยงามและมีความสำคัญทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์มากมาย หากจะเดินให้ทั่วทั้งสวนต้องใช้เวลาเป็นวันแน่นอนค่ะ อาณาบริเวณขนาดนี้
Cameron Gallery
พวกเราเดินกันไม่ไกลมากนัก วนๆ อยู่แถว Cameron Gallery ซึ่งตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระนางแคทเธอรีนได้สั่งให้สถาปนิกคนโปรด Charles Cameron สร้างขึ้น โดยเน้นให้เห็นวิวตัวสวนและบ่อน้ำมุมที่สวยงามที่สุด ทางเดินด้านบนนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ที่พระนางใช้เดินเล่นชมสวนหรือถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญากับคนใกล้ชิด
Cameron Gallery
คาดว่าเราต้องใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมงๆ ในการต่อแถว ดังนั้น ไปเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าแล้วพวกเราก็ขอไปมีประสบการณ์ต่อแถวยาวๆ เพื่อรอเข้าชมพระราชวังฤดูร้อนแห่งนี้กับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ กันบ้าง เท่าที่สังเกตการณ์พบว่า มีการแซงคิวเป็นระยะๆ จากชนชาติใดบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะบางคนก็ทำตีเนียนๆ มาถามนู่นๆ นี่ๆ แล้วก็ยืนคุยต่อไปเลย บางคนเห็นยืนอยู่หน้าพวกเราอยู่ดีๆ อีกสักพัก เห็นอยู่ไกลจากเราไปโขจนเกือบจะอยู่ต้นๆ แถวแล้ว แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องเอาเลยค่ะ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเขาแซงตรงอื่นไม่ใช่ตรงที่พวกเรายืน อยากให้เจ้าหน้าที่ไปดูงานที่อื่นที่เขาจัดการดีๆ เสียจริงๆ เลย
ที่เห็นคนเยอะๆ นั่นแถวที่รอเข้าชมค่ะ
แถวเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้าเพราะเจ้าหน้าที่จะเปิดให้เข้าเป็นรอบๆ เนื่องจากผู้เข้าชมค่อนข้างมาก และทยอยมาเติมจนท้ายแถวยาวตลอด การยืนนานนั้นไม่ได้หนักหนานัก แต่แดดที่ร้อนต่างหากที่ทำให้การยืนนานๆ นั้นดูจะเป็นอุปสรรค เบ็ดเสร็จกว่าที่เราจะถึงเส้นชัยใช้เวลาไปราวสองชั่วโมงเศษ ใครมาฤดูท่องเที่ยวแบบเราต้องทำใจค่ะ หรือไม่เช่นนั้นก็วางแผนให้เป๊ะๆ แล้วก็จองตั๋วออนไลน์มา ซึ่งหากจองตั๋วออนไลน์มา เขาจะให้เข้าประตูอีกทางหนึ่งค่ะ
โปรดสังเกตแถวที่รอคอย เรายังต้องคอยกันอีกนานเลย
เมื่อมองจากจุดที่เรากำลังจะได้เข้าไปด้านใน ยังรออีกมากมาย
เมื่อเข้าไปด้านในก็ต้องไปซื้อตั๋ว ไปฝากเสื้อกันหนาวและกระเป๋าสัมภาระใหญ่ๆ ที่ Cloakroom ทางปีกซ้าย ซึ่งทางด้านนี้จะมีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มให้หาอะไรรับประทานรองท้องด้วย หรือจะเข้าห้องน้ำก็จัดการให้เรียบร้อยได้เลยค่ะ
ขอรองท้องด้วยอาหารว่างกันก่อนค่ะ
บริเวณ Cloakroom
จากนั้นก็เดินไปทางปีกขวาก่อนจะเข้าชมสามารถไปเช่า Audio Guide ได้ และต้องสวมถุงคลุมรองเท้าที่เขาจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่พื้นที่ด้านใน สำหรับกระเป๋าสะพายของผู้หญิงและกล้องถ่ายรูปสามารถนำติดตัวไปได้ค่ะ
ถุงคลุมรองเท้า ทุกคนต้องหยิบสวมใส่ก่อนเข้าชม
ส่วนแรกที่เราจะได้พบก็คือ โถงบันไดของพระราชวัง เพียงก้าวแรกก็จะทำให้เราตะลึงพรึงเพริศค่ะ แต่เนื่องจากผู้คนหนาแน่นมาก ทั้งนักท่องเที่ยวที่มากันเอง ทั้งทัวร์จีนที่ดูเหมือนจะมีเยอะมาก หลายกลุ่ม ทำให้การชมค่อนข้างเป็นไปอย่างวุ่นวาย ต้องมีการสลับให้กลุ่มนั้นไปห้องนี้ก่อน พอกลุ่มนี้เสร็จก็ค่อยย้ายกลับมาชมอะไรทำนองนี้
Catherine Palace (Екатерининский дворец) หรือพระราชวังแคทเธอรีน ซึ่งตั้งอยู่ที่ Tsarskoye Selo นี้ อยู่จากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปทางทิศใต้ราว 25 กิโลเมตร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1717 ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชเพื่อเป็นที่ประทับช่วงฤดูร้อนของพระมเหสีองค์ที่สอง ซึ่งต่อมาก็คือพระนางแคทเธอรีนที่ 1 (คนละพระองค์กับพระนางแคทเธอรีนที่ 2 หรือพระนางแคทเธอรีนมหาราช) เดิมนั้นพระราชวังแคทเธอรีนเป็นเพียงอาคาร 2 ชั้นที่เรียบง่าย จนกระทั่งพระนางเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชและพระนางแคทเธอรีนที่ 1 มีรับสั่งให้ขยายพระราชวังให้กว้างขวางมากขึ้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1752 พระนางเอลิซาเบธทรงเห็นว่าพระราชวังแคทเธอรีนดูล้าสมัยและไม่สะดวกสบาย จึงมีรับสั่งให้สถาปนิกชาวอิตาลี Bartoloeo Francesco Rastrelli ทำลายโครงสร้างเดิมของพระราชวังและแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมแบบโรโคโค (Rococo) อาคารพระราชวังหลังใหม่ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 4 ปี แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1756 ภายหลังรัชสมัยของพระนางเอลิซาเบธมีการตกแต่งพระราชวังใหม่อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 และพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพระราชวังแคทเธอรีนถูกกองทัพนาซีเยอรมนีทำลายเสียหายเกือบทั้งหมด การบูรณะและฟื้นฟูพระราชวังเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากห้องโถงเราถูกต้อนให้ไปชมห้องโถงใหญ่ (Great Hall) กันก่อน ห้องนี้ ใช้สำหรับการต้อนรับอย่างเป็นทางการ และการเฉลิมฉลองต่างๆ ในอดีตห้องนี้จะอาศัยแสงจากธรรมชาติในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนทั้งห้องจะเปล่งประกายสีทองสว่างไสวด้วยแสงเทียนจำนวนกว่า 696 เล่ม ยิ่งเมื่อมีกระจกสะท้อนไปมายิ่งทำให้ห้องทั้งห้องสว่างไสว เมื่อหลุดเข้ามาในห้องนี้ยอมรับเลยค่ะว่าแม้จะเคยชมพระราชวังของยุโรปมาหลายแห่งก็ยังอดตื่นตาตื่นใจไปกับทองอร่ามแทบทุกอณูของห้องไม่ได้เลย อลังการงานสร้างจริงๆ
มีเรื่องเล่าว่าพระนางอลิซาเบธนั้นเป็นคนฟุ่มเฟือยเธอใช้เงินไปกับการตกแต่งพระราชวังนี้มากมาย อีกทั้งยังชอบการเป็นผู้นำแฟชั่น เธอห้ามไม่ให้ใครทำผมทรงเดียวกับเธอเพื่อจะได้โดดเด่นแต่เพียงผู้เดียวในงานเลี้ยงและงานเต้นรำที่จัดขึ้น เสื้อผ้าก็จะไม่ใส่ชุดซ้ำกันเลย หลังจากที่เสียชีวิตพบว่ามีเสื้อผ้ากว่าหนึ่งหมื่นห้าพันชุด
หลังจากห้องโถงใหญ่ เราก็ได้เดินต่อไปชมห้องถัดๆ ไปอีกจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละห้องก็จะประดับตกแต่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้งาน ไม่สามารถบอกได้ว่าห้องใดสวยกว่า เพราะแต่ละห้องก็มีความวิจิตรบรรจงต่างๆ กันไป
มีผลงานจิตรกรรมของศิลปินในช่วงศตวรรษที่ 17-18 สร้างความงดงามโดดเด่นให้กับแต่ละห้องต่างกันไป แทบทุกห้องมีเตาผิงที่เป็นกระเบื้องลายครามแบบจีนซึ่งฮิตมากในยุโรปในสมัยนั้น
แต่อาจเป็นเพราะหนูเล็กชมวังของยุโรปแบบนี้มาหลายแห่ง เลยไม่ตื่นเต้นหรือตื่นตาตื่นใจมากมายเหมือนเมื่อครั้งได้เข้าชมวังของยุโรปแห่งแรกๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องปกติของผู้ปกครองที่จะต้องแสดงออกซึ่งอำนาจ บารมี และความมั่งคั่งร่ำรวยผ่านทางสถาปัตยกรรม ทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้ประดามีเป็นธรรมดา
สำหรับห้องที่เป็นไฮไลท์ของพระราชวังแคทเธอรีนคือ ห้องอำพัน (Amber Room) ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปด้านในได้ เดิมนั้นห้องอำพันถูกสร้างขึ้นที่พระราชวังชาล็อตเทนเบิร์ก (Charlottenburg Palace) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าฟรีดริชที่ 1 แห่งปรัสเซียเมื่อราวปี ค.ศ. 1701สร้างขึ้นตามบัญชาของกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮล์ม ที่ 1 โดยเป็นผลงานการออกแบบและตกแต่งของประติมากรชาวเยอรมัน Andreas Schlüter และช่างอำพันชาวเดนมาร์ค Gottfried Wolfram และได้ถวายให้แก่ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย ในปี ค.ศ.1716 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพที่สำคัญที่ทางโซเวียตร่วมต่อต้านการรุกรานของสวีเดน ห้องนี้ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ตั้งแต่ผนังถึงเพดานทำด้วยอำพันทั้งหมดค่ะ ตกแต่งด้วยทองคำเปลวและกระจกอย่างวิจิตรงดงาม จนได้รับสมญาว่าเป็น สิ่งมหัศจรรย์ที่ 8 ของโลกด้วย
ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก ห้องอำพันนี้ได้ถูกกองทัพนาซีเยอรมันรื้อถอนได้ภายในเวลาแค่ 36 ชั่วโมงเท่านั้นแม้จะพยายามเอาวอลเปเปอร์ปิดทับไว้ไม่ให้หาเจอ ในปี ค.ศ. 1979 รัฐบาลสหภาพโซเวียตตัดสินใจสร้างห้องอำพันขึ้นใหม่ที่พระราชวังแคทเธอรีน โดยอาศัยภาพถ่ายขาวดำของห้องอำพันเดิมเป็นต้นแบบ การก่อสร้างครั้งนี้ใช้ระยะเวลานานถึง 24 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียและชาวเยอรมันกว่า 40 คน ความล่าช้าอย่างหนึ่งของการก่อสร้างเกิดจากการขาดแคลนช่างอำพันที่มีฝีมือ สำหรับเงินทุนในการก่อสร้างได้รับการสนับสนุนจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีจำนวนกว่า 3.5 ล้านดอลลาร์ ห้องอำพันได้ถูกส่งมอบให้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ของเยอรมนี เนื่องในโอกาสครบรอบ 300 ปีเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 2003 ห้องอำพันจึงได้กลับมางดงามพร้อมอวดชาวโลกอีกครั้ง จัดได้ว่าเป็นห้องที่มีความสวยงามมากที่สุดใน Catherine Palace
หลังจากเดินชมจนครบทุกห้อง อิ่มเอมในความงดงามคุ้มค่ากับการได้มาเยือนแล้ว พวกเราก็กลับออกมาข้างนอกพร้อมกับความหิวโหยเพราะเลยเวลาอาหารกลางวันมามากโขแล้ว
หากจองตั๋วออนไลน์มาจะเข้าจากทางด้านนี้ค่ะ
แถวคอยรอเข้าชมเริ่มสั้นลงบ้างแล้ว เราเริ่มออกเดินทางกลับโดยเดินย้อนออกไปที่ถนนเพื่อหารถตู้กลับ คงจริงอย่างที่เขาพูดๆ กันว่า รีวิวส่วนใหญ่มักบอกแต่วิธีมา แต่วิธีกลับบอกกันไว้คร่าวๆ เพราะถนนเส้นนี้เป็นทางวันเวย์ทำให้ไม่แน่ใจว่าเวลาจะเดินทางกลับจะต้องขึ้นรถตรงไหน พวกเราเดินไปจนเกือบสุดรั้วของ Catherine Park คือไปจนถึงอาคารที่เป็น Hermitage Kitchen และอีกนัยหนึ่งเป็นทางเข้าสู่ Catherine Park ได้ ใกล้ๆ นั้นจะมีป้ายรถเมล์ค่ะ สามารถไปคอยรถเมล์บริเวณนั้นนั่งกลับเข้าเมืองได้เลย ถ้าไม่แน่ใจตะโกนถามคนขับเลยค่ะว่าไป MeTpo (Metro) หรือเปล่า ถ้าไปได้ก็ขึ้นได้เลยค่ะ
มีสัตว์ต่างๆ บริเวณสวนให้ได้เห็นกัน
The Hermitage Kitchen สามารถเข้าทางนี้สู่สวนได้เช่นกัน
รถคันที่เรากระโดดขึ้นมาแน่นได้ใจเลย สมาชิกของเราบางคนต้องยืนมาจนถึงปลายทางคือ จัตุรัสมอสโคว์ (Moskovskaya Ploshad) กันเลยทีเดียว เมื่อมาถึงเราแวะที่สวนสาธารณะใกล้ๆ จัตุรัสนี้รับประทานเสบียงที่เตรียมกันมาเพราะหิวโซกันมาเลย หลังจากอิ่มหมีพีมันมีเรี่ยวมีแรงกันแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาเดินไปเที่ยวโบสถ์สีหวานๆ ที่เขาแนะนำกันแล้วค่ะ โบสถ์สีหวานคาวาอี้ที่ว่า ไปไม่ยากค่ะ เดินขนานไปตามถนนด้านหลัง House of Soviets ไปเรื่อยๆ ถ้ากลัวหลงก็เปิด GPS ช่วยนำไปได้ค่ะ
ทางเดินด้านหลัง House of Soviets สู่ Chesme Church
สวนดอกไม้สวยๆ ด้านหน้า Chesme Church
สักพักก็จะพบกับ Chesme Church (Чесменская церковь) โบสถ์เล็กๆ กลางลานกว้าง หากมองไกลๆ อดคิดไม่ได้ว่าเหมือนกูลิโกะป๊อกกี้เลยจริงๆ เป็นโบสถ์ออร์โธดอกซ์เล็กๆ ที่สร้างขึ้นโดยสถาปนิกชาวรัสเซีย Yury Felten เมื่อปี ค.ศ.1780 ตามพระประสงค์ของพระนางแคทเธอรีนมหาราชจักรพรรดินีของรัสเซีย
สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การมีชัยชนะเหนือกองทัพเติร์กที่อ่าว Chesme ในทะเลอีเจียนระหว่างสงครามรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.1770 ส่วนด้านหลังของโบสถ์เป็นสุสานของผู้ปกป้องเมืองเลนินกราดในตอนที่ถูกเยอรมันปิดล้อมอยู่ 3 ปีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในอดีตที่ตรงนี้เคยเป็นสุสานของทหารผ่านศึกมาก่อน ด้วยความที่เป็นโบสถ์เล็กๆ ค่ะ ด้านในก็จะแคบๆ หน่อย มีมุมให้เก็บภาพได้ไม่กี่มุม ส่วนใหญ่เขาจะมาสวดมนต์กันดังนั้นจึงเงียบมาก หนูเล็กเดินชมเพียงสักครู่เดียวก็ออกมาค่ะ
จากที่นี่เราออกเดินทางกลับสู่ถนน Nevsky Prospekt กันอีกครั้ง ไหนๆ วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะใช้เวลากับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ขอไปนั่งเรือชมความงามรอบๆ สถานที่สำคัญๆ เก็บเกี่ยวบรรยากาศที่น่าประทับใจกันดีกว่า
เราเลือกไปลงเรือกันที่ท่าเรือริมคลอง Griboyedov (кана́л Грибое́дова) ใกล้ๆ กับร้าน Café Singer สนนราคาคนละ 800 RUB เขาบอกว่า ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อลงมาที่ท่าเรือก็ไปชำระเงินก่อนเลยค่ะ จากนั้นก็หาที่นั่งที่พอใจ เขาจะมีผ้าห่มวางไว้บริการด้วยเพราะนั่งเรือโต้ลมไปรับรองมีหนาวแน่นอน ดังนั้น อย่าลืมที่จะหยิบมาไว้คนละผืนค่ะ กฏกติกาการนั่งเรือมีแค่ว่าห้ามยืนโดยเด็ดขาดเพราะเรือจะลอดผ่านสะพานต่างๆ เป็นระยะๆ ถ้ามัวแต่ลุกขึ้นยืนถ่ายรูป อาจเกิดอันตรายได้ แต่ที่ไม่ดีอย่างหนึ่งก็คือเทปที่บรรยายในเรือเป็นภาษารัสเซียค่ะ ทำให้เราฟังไม่รู้เรื่องตลอดการเดินทาง ได้แต่นั่งชมวิวทิวทัศน์กันไปเอง
เมื่อเรือออกเดินทางจะพาเราผ่านโบสถ์แห่งหยดเลือด ได้เห็นโบสถ์แห่งนี้แบบใกล้ชิดในอีกมุมหนึ่งก่อนการอำลา
แล้วก็ลอดสะพาน ลัดเลาะเพื่อออกสู่แม่น้ำเนวา (Neva River) ชมความงามของอาคารเก่าๆ ที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ทางด้านขวา
และผ่านวิวคุ้นตาอย่าง Peter and Paul Fortress ที่เรามาเยี่ยมเยือนแล้วเมื่อวานนี้
จากนั้นลอดผ่านสะพาน Trinity แล้วก็ค่อยๆ วกกลับมาทางคลอง Fontanka พาลัดเลาะชมบ้านเมือง
ตึกเก่าๆ สะพานสิงโต สะพานม้า และกลับมายังจุดที่เราขึ้นเรือในอีก 1 ชั่วโมงถัดมาโดยประมาณ บรรยากาศการล่องเรือโดยรวมถือว่าดีค่ะ ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ กำลังสบายเลย แดดไม่ร้อนแรงเกินไป แต่ราคาอาจแพงกว่ากลางวันหน่อย สามารถชมวิวและถ่ายรูปไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องเดินเองให้เมื่อยขา
เขาว่ากันว่า การมาล่องเรือชมบ้านเรือน อาคารเก่าๆ แบบนี้จะคล้ายๆ กับที่เวนิส ดังนั้น ที่นี่จึงได้รับการขนานนามว่า Venice of the North แม้บรรยากาศอาจจะไม่โรแมนติกเท่า แต่ก็ให้ความรู้สึกดีไม่แพ้กันค่ะ บอกเลย
หลังจากล่องเรือเสร็จพวกเราก็ต้องเดินทางกลับที่พักกันเสียที ต้องไปเก็บข้าวของเตรียมรอท่าสำหรับการเดินทางสู่กรุงมอสโคว์ในวันพรุ่งนี้
แม้จะอยากใช้เวลากับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต่อมากเพียงใดก็ไม่อาจทำได้ เพราะเราตั้งใจที่จะมาเที่ยว หากว่าต้องไปชมสถานที่สำคัญๆ สถานที่น่าสนใจที่เหลือแบบรีบๆ นั่นก็คงเป็นไปเพราะเราอยากไปเช็คอินว่าเราได้มาถึง นั่นคงไม่ใช่พวกเรา
หลังจากมาใช้เวลากับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพียงไม่กี่วันพี่ใหญ่กับหนูเล็กก็ตกลงกันแล้วว่า หากมีโอกาสที่นี่คงต้องต้อนรับการกลับมาเยือนของเราอีกเป็นแน่ ครั้งนี้คงไม่ใช้ครั้งแรกและครั้งเดียวอย่างแน่นอน
อย่าลืม..ติดตามการเดินทางของพวกเรากันต่อค่ะ
อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือจะแวะไปทักทายกับพี่ใหญ่และหนูเล็กก็ได้ค่ะ ที่ https://www.facebook.com/TravelWithPiyaiAndNoolek/
Piyai&Noolek
วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.52 น.