Day 3
เสียงนาฬิกาปลุกในยามพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เราเตรียมตัวเต็มที่ที่จะออกไปตั้งกล้องเพื่อถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าผ่านสายหมอก เปิดประตูออกจากห้องพักรวมใน Hostel เสียงดังซ่า....เหมือนมีเม็ดน้ำมากมายกระทบหลังคา และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจริงๆ ฝนตกครับ ไม่ธรรมดาด้วยตกหนักมาก เอิ่ม...ตกขนาดนี้งั้นก็ไปนอนต่อเหอะ
เราตื่นอีกทีช่วง 8 โมงเช้า เดินลงมายืนคุยกับพี่เจ้าของ เค้าแนะนำให้ลองออกไปเดินดูตลาดเช้า จะได้เห็นอะไรดีๆอีกเยอะ ใช่ครับ มีอะไรดีๆอีกเยอะมาก บรรยากาศของช่วงเช้าที่นี้นั้นมันน่ารักอบอุ่นจริงๆนะ บรรยากาศใสๆกับอากาศสดชื่นหลังฝนตกในช่วงเช้า เราเดินถ่ายรูป Street Art ไปพร้อมกับ วิถีชีวิตของคนที่นี้ แล้วมีความสุขจริง
มามีสาระกันนิดนึง ป้ายทะเบียนรถที่เดียวที่ไม
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา ประกาศ ณ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2468 โดย มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
เราเดินจนเราไปจบที่ร้านติ่มซำ ข้างๆทางที่เป็นร้านอยู่บนฟุตบาทเลย เพราะด้วยที่ว่าเห็นคนในพื้นที่นั้นกินกันอยู่ และวิวถือว่าดีนะครับ เพราะอยู่ข้างๆกับหอนาฬิกากันเลยครับ
กลับมาที่สาระกันอีกหน่อย
เพื่อนๆทราบไหมว่าตู้ไปรษณีย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตู้นี้ ตั้งอยู่ บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง สร้างขึ้นเมืองปี พ.ศ. 2467 ตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเส้นวงรอบขอบตู้ประมาณ 140 เซนติเมตร ความสูงที่ 290 เซ็นติเมตร โดยตู้ไปรษณ๊ย์ตู้นี้นั้นไม่ใช่เพียงแค่รับส่งจดหมายเพียงเท่านั้น สังเกตุรู้กลมๆเล็กๆด้านบนนะครับ นี้คือรู้ที่เจาะไว้สำหรับบรรจุลำโพงเพื่อเป็นหอกระจายข่าวสารอีกด้วย สำหรับตู้นี้นั้นยังใช้ส่งไปรษณย์ได้เช่นเดิมครับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่างเขียนโปสการ์ด ส่งถึงตัวเองอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างอีกตู้นึงที่สูงถึง 9 เมตร บริเวณศาลาประชาคม ถนนสุขยางค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะถ่ายรูปกันอีกด้วยนะ
หลังจากกินเสร็จเราก็เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ ออกนอกเมือง จุดหมายที่แรกของเรานั้นตั้งใจจะไปอุโมงปิยะมิตร โดยระยะทางที่ไปก็ไกลพอสมควรประมาณ 20 กว่ากิโล เราออกไปตามทางไปเรื่อยๆ จนถึงป้ายบ้านปิยะมิตร 1
หลังจากผ่านมาซักพักเราเจอที่ชมวิวแรกเป็น ศาลาชมวิวสไตล์จีนๆ เลยจอดเพื่อถ่ายรูปที่นี้ก่อน ที่นี้วิวสวยครับ
แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกแย่มากๆคือ ขยะ ขยะจากนักท่องเที่ยวมากมาย ทิ้งเกลื่อนเต็มศาลาไปหมดทั้งๆที่มีถังขยะและติดป้ายให้ช่วยกันรักษาความสะอาดอยู่แล้วด้วย เห็นแล้วก็เหนื่อยใจ (มันมีแบบนี้อีกหลายจุดครับ ยิ่งใกล้สถานที่ท่องเที่ยวมันเยอะเป็นพิเศษ)
เราขี่มอเตอร์ไซค์ต่อไปอีกไม่นานก็ถึงอุโมงปิยะมิตร ช่วงที่ไปนักท่องเที่ยวก็สลับสับเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆเป็นระยะ ส่วนมากเป็นคน จีนมาเล ที่มากันเป็นหมู่คณะใหญ่ เรายืนรอให้เค้าเข้าไปซักพักใหญ่ค่อยเดินไปซื้อตั๋ว ราคาตั๋วไม่แพง 40 บาทเท่านั้น
ตั้งแต่เดินเข้าไปสิ่งแรกที่รู้สึกคือป่าที่นี้อุดมสมบูรณ์มาก ท่ามกลางอากาศที่ร้อนมากในช่วงเกือบเที่ยง เดินผ่านทางเดินที่นี้ บอกได้แค่ว่าเย็นสบาย
สำหรับสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจเราอย่างแรก เห็ดหลินจือไม้ ขนาดใหญ่มาก อยู่บนต้นไม่สูงซัก 3-4 เมตร ขนาดของมันน่าจะราวๆเกือบ 2 ไม้บรรทัดได้ เพราะต้นไม้ที่เราถ่ายรูปนั้นก็ใหญ่พอสมควร ส่วนตลอดทางนั้นมีสิ่งที่ให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นระยะ
จนถึงปากทางเข้าถ้ำ ก็เจอกับทัวร์ขนาดใหญ่นั่งฟังบรรยายกันอยู่
เราเลยเดินหลบไปที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตรก่อน ซึ่งในนี้นั้นรวบรวมประวัติของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายา ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1927 เรื่อยมา จนถึง 1987 ประวัติได้เขียนไว้ให้เราศึกษาหาความรู้ที่ค่อนข้างดี อาจจะไม่ละเอียดมากแต่ถือว่ามีประโยชน์มากๆสำหรับคนที่ชอบประวัติศาสตร์ (ในที่นี้ขอไม่เล่าเยอะละกันนะครับ) โดยช่วงแรกนั้น เป็น 1 พรรค 1 กองกำลัง แต่มีช่วง 1974 ที่เกิดเหตุการณ์อุดมการไม่ตรงกันเลยแตกออกเป็น 3 พรรค 3 กองกำลัง โดยหมู่บ้านปิยะมิตรทั้ง 5 หมู่บ้านนี้เป็น คอมมิวนิสต์มลายา สาขา 2 ผู้นำคือ จาง จง หมิง โดยบรรลุการเจรจากับรัฐบาลไทยในปี 1987 ครับ
ส่วนประวัติอื่นๆมันมีเยอะมาก สำหรับคนที่สนใจอยากทราบส่ง Inbox มาคุยกันได้ครับ เราจะเล่าให้ฟังเท่าที่เราเล่าได้ ( เพราะบ้างอย่างประวัติศาสตรืถูกจารึกไว้ไม่หมด )
และก็ได้เวลาที่เราจะเดินเข้าอุโมงค์อย่างสงบ ฮาๆ ก่อนเข้าอุโมงได้มีน้องที่เป็นลูกหลานที่นี้ได้เข้ามาแนะนำพื้นที่กับเราก่อนจะให้เดินเข้าชมตามลำพัง
เราเดินเข้าไปซักพัก ตกใจเลยชายสูงอายุในชุดทหารคอมมิวนิสต์เดินตามหลังมาเงียบๆ 555 คุณลุงที่เราอยากคุยด้วยนั้นเอง คุณลุงชื่อ ซาย เจิ้น หมิง (ไม่แน่ใจว่าถูกไหม) เข้ามาเล่าประวัติให้เราอย่างเป็นกันเองแถมอยู่กับเราเป็นชั่วโมงเพื่ออธิบายหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์มลายาและอุโมงอันนี้
สิ่งนึงที่น่าทึ่งคือ อุโมงค์นี้ขุดใช้เวลาเพียง 3 เดือน ด้วยกำลังคนเพียง 50 คน ขุดกันวันละ 12 ชั่วโมงถือว่าเร็วมาก โดยอุโมงค์นี้นั้นมีทั้งที่นั่งพักนอนพักห้องทำงานครบครัน มีทางออก 9 ทาง แต่เปิดให้เดินชมได้เพียง 6 ทางออก อีก 3 ทางออกดินได้ถล่มไปก่อนหน้าจะบูรณะ
นอกจากภายในอุโมงค์แล้ว คุณลุงยังพาไปดูห้องเรียนและเรือนหอในป่าอีกด้วย ใช่ครับเรือนหอ คุณลุงบอก 1 ปีจะใช่ซักครั้ง หลังจากนั้นเราก็ลาคุณลุงแล้วเดินต่อไปยังต้นไม้ใหญ่ประจำอุโมงปิยะมิตรแห่งนี้
เดินต่อมาซักพักใหญ่ เราก็เจอกับ ต้นไม้พันปี หรือ ต้นไทรยักที่อยู่ประจำที่นี้ ใครๆมาที่นี้ก็ต้องถ่ายรูปกันทั้งนั้น เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบบ่ายโมงเราถึงได้ออกจากตรงอุโมงปิยะมิตร เพื่อขับต่อไปตามเส้นทางกันต่อ
ขับต่อไปประมาณ 7 กิโล บนทางโค้งขึ้นลงเขาสุดมัน เราก็เจอกับทางเข้าสวนหมื่นบุปผาซึ่งที่นี้นั้น เป็นในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่นี้ดอกไม้สวยงามมากครับจัดสวนเป็นสัดส่วน และยังมีที่พักให้บริการอยู่ภายในนี้ด้วยครับ สำหรับสถานที่นี้มีค่าเข้าชม 40 บาท ซึ่งเราอยู่ได้ซักพักเดียวก็ต้องขอตัว เนื่องจากไม่ตรงกับความชอบของเราซักเท่าไหรนัก เลยขอตัวขี่มอเตอร์ไซค์ต่อไปที่อื่นต่อ
ระหว่างทางกลับเข้าตัวเมืองเบตงทางผ่านของเราได้เจอกับ บ่อน้ำพุร้อนเบตง ที่นี้เป็นส่วนของสวนสาธารณะครับ สามารถเข้าใช้ได้ฟรี ที่บ่อน้ำร้อนนี้ถือว่าสะอาดดี พร้อมด้วยพญานาค คู่อยู่ขนาบข้างบ่อแช่เท้าและสรามารถลงไปอาบได้ เดิมเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นบ่อน้ำร้อนที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุมากมายมีอาณาบริเวณประมาณ ๓ ไร่ ซึ่งเชื่อว่าน้ำแร่ในน้ำพุร้อนสามารถรักษาโรคภัยได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่เรามาถึงที่นี้ตอนบ่ายๆ อากาศร้อนคงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ที่จะเติมความร้อนเข้าไปอีก เลยได้แค่ลองเอาเท้าจุ่มน้ำแล้วออกไปเดินทางต่อ
เราขี่มอเตอร์ไซค์กลับเข้าถึงตัวเมืองเบตงก็ปาไปบ่าย 2 กว่า แล้ว หลายๆร้านที่ขายช่วงเช้าก็ปิดเกือบหมดส่วนช่วงเย็นก็ยังไม่ตั้ง เราขี่มอเตอร์ไซค์วนไปวนมาหลายรอบ ไปเจอร้านข้าวที่กำลังจะปิด เราเดินเข้าไปขอพี่เค้าเลยได้กินข้าวเที่ยงกันไม่งั้นคงต้องรอถึงเย็นแน่ พอกินเสร็จพี่เค้าเอา มะม่วงหาวมะนาวโห่ มาชวนเรานั่งกินด้วยแถมนั่งพูดคุยกับเราอย่างน่ารักเป็นกันเอง ^^ หลังจากนั้นก็ได้เวลาขี่มอเตอร์ไซค์ยาวๆครั้งนี้ออกไปด้านทิศตะวันออกของเบตง เพื่อจะไปจุดหมายที่เราตั้งใจมากที่สุดสำหรับการมาครั้งนี้คือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา10
การจะไปถึง หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา10 นั้นเราต้องขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปกว่า 30 กิโล ออกนอกเมืองผ่านป่าเขามากมาย ทางโค้งลัดเลาะผ่านภูเขาและหมู่บ้าน สำหรับคนที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์น่าจะสนุกครับ เพราะถนนโล่ง โค้งเทไปมาให้เราขับมันมาก เราขี่ไปใช้เวลานานพอสบควรจนไปถึงหมู่บ้าน เข้าไปถึงพยายามเดินหาเจ้าหน้าที่ของหมู่บ้านเพื่อพาเข้าชม ปรากฏว่า... วันนี้ที่เราไปมีงานเลี้ยงวันเกิดคนสำคัญในหมู่บ้าน เราเองก็พยายามขอให้เค้าพาเข้าไปหน่อย แต่ก็ไม่สำเร็จเลยได้เพียงแค่คอตก ขี่มอเตอร์ไซค์ กลับด้วยความผิดหวัง
ไหนๆไม่ได้เข้าก็ขอเล่าซะหน่อยละกัน หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา10 นี้ก็เป็นหมู่บ้านของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาเก่าเช่นกันครับ หลังจากเกิดการแตกออกเป็น 3 พรรค 3กองกำลัง ที่นี้ก็ถือเป็นอีกที่นึงที่สำคัญสำหรับคนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ครับ ที่นี้นั้นยุติการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มสุดท้ายใน 3 กองกำลัง คือในปี 1989 ครับถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกองโจรที่กินระยะเวลานานถึง 41 ปีด้วยกัน และเข้าสู่สันติสำหรับในพื้นที่นี้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่หลายๆคนไปยังที่นี้กันคือ ต้นไม้ยักษ์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ที่หลายๆคนต้องเข้าไปชมและถ่ายรูปกัน ต้นสมพง ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจมากมาย แต่เสียดายที่อดครับ แต่ก็ยังรู้สึกดีตอนกลับออกมากับรอยยิ้มที่น่ารักของคนที่นี้ ถือว่าไม่เป็นไรที่เราไม่ได้ชม อย่างน้อยเราก็ได้ความอบอุ่นกลับมา
ระหว่ากลับมามีเวลาเหลือก็เลยได้แวะเข้าไปถ่ายรูปวัดพุทธาธิวาส วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตงมีบรรยากาศร่มรื่นทัศนียภาพงดงามประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสง่า อาทิ พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรม ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์สวยงามมากครับ
ด้านในรอบองค์พระประธาน มีภาพวาดจิตกรรมให้เราได้เดินชมไปรอบๆอีกด้วย
เดินชมวัดจนรอบก็ตกเย็น เลยไปดูอีกสถานที่ต่อไปครับ
เป็นสนามกีฬาหนึ่งเดียวที่สร้างกลางหุบเขา สำหรับสนามกีฬากลางหุบเขา เป็นสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนยอดเขาสวนสาธารณะ ซึ่งได้เลียนแบบสนามเมอร์ดิกาของกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงเย็นที่นี้เป็นที่ๆชาวเมืองเบตงมารวมกันเยอะทีเดียวครับ ทั้งมาออกกำลังกาย มาเดินเล่น มานั่งเล่นชมสวน อีกทั้งจุดนี้ยังเชื่อมต่อกับหลายๆจุด
ทั้ง สวนสุดสยาม ที่มีประติมากรรมสวยๆและให้ความรู้มากมาย
เดินต่อมาอีกนิดจะเจอกับ พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง ที่นี้เราสามารถเห็นเมืองเบตงได้ทั้งเมืองครับ เราจะได้เห็นชีวิตความเรียบง่ายของที่นี้ได้ชัดเจน
หลังจากลงมาก็เป็นช่วงคำแล้วเราเองได้เพื่อนใหม่ที่ Hostel มากมายที่เข้าพักวันนี้ นั่งคุยกันจนดึก รวมทั้งได้รู้จักเพื่อนใหม่ชาวมาเลเซียที่เข้ามาพักในห้องเดียวกับเรา นี้แหละคือเสน่ห์ของการพัก Hostel
สำหรับวันนี้เราจบด้วยข้อคิดดีๆจาก คุณป้าที่เป็นอดีตทหารกองกำลังของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาละกันครับ
“ช่วงนั้นชีวิตมันก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ช่วยไม่รักกัน แล้วมันจะอยู่กันยังไง อดก็ต้องอดด้วยกันให้ผ่านมันไปให้ได้ เดี๋ยวเราก็สบาย”
โลกใบนี้ยังมีอีกหลายอย่างให้ได้เรียนรู้....
รออะไร What are you waiting for
https://www.facebook.com/WAYwaitingfor/
JupiterEyesBlog
วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 18.51 น.