ฉือชี่โข่ว เรื่องราวจากรอยเท้าบนอิฐเก่า
ตัวเมืองฉงชิ่งในปัจจุบันนี้เป็นเขตเมืองใหม่ แต่หากต้องการสัมผัสความเป็นเมืองเก่าก็ทำได้ไม่ยาก เพราะห่างออกไปไม่ไกลเป็นเมืองโบราณนามว่าฉือชี่ โข่ว (Ciqikou) เราจึงเลือกที่จะไปยังที่แห่งนั้น พร้อมกับการแบกเป้ใบเก่งเพื่อย้ายที่หลับที่นอนไปยังยูธโฮสเทลอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในย่านดังกล่าว เพื่อให้เราได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งอดีตได้อย่างเต็มที่
รถโดยสารประจำทางจอดส่งเราที่หน้าประตูเมืองฉือชี่ โข่ว ในขณะที่สายฝนโปรยปรายลงมาอีกครั้ง จนดูเหมือนเป็นสิ่งปิดกั้นให้ผู้คนเลือกที่จะอยู่แต่ในบ้าน แต่ลึกเข้าไปในประตูเมืองกลับปรากฏภาพอันพลุกพล่านของเหล่านักท่องเที่ยวที่ไม่ใส่ใจกับสายฝน โดยกางร่มเดินช็อปปิ้งกันอย่างสนุกสนาน จนทำให้เราอยากเดินเลือกชิมเลือกซื้อสารพันสินค้าที่วางขายอย่างดารดาษ แต่ก็ต้องตัดใจเพื่อไปยังยูธโฮสเทล ที่พักราคาประหยัดที่แสนเป็นมิตรกับชาวแบกเป้เช่นพวกเราเป็นอันดับแรก
ยูธโฮสเทลแห่งนี้ตั้งอยู่ในสุดของถนนที่พาดตรงจากประตูเมือง โดยอยู่เกือบประชิดติดริมแม่น้ำเจียหลิง (Jialing) แม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสายนี้เองที่นำพาความเจริญมาสู่ฉือชี่ โข่วนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
หลังจากเอาเป้เก็บในห้องพักเป็นที่เรียบร้อย เราก็ไม่รอช้าที่จะก้าวออกไปท่องเมืองโบราณฉือชี่ โข่วในเวลาที่สายฝนโบกมือลาจากแผ่นฟ้า
สองข้างทางของถนนคนเดินที่ทอดยาวเต็มไปด้วยร้านค้าที่ขายสารพัดสินค้า หากขาช็อปชาวไทยมาเดินเป็นต้องกระเป๋าเบาได้อย่างไม่รู้ตัว เพราะมีทั้งงานหัตถกรรม ของฝากของที่ระลึกที่สะท้อนความเป็นจีนจนจาระไนไม่หมด แต่ร้านที่ดึงดูดใจพวกเราที่สุดในเวลาที่ท้องร้องเช่นนี้คงหนีไม่พ้นร้านอาหาร
เดินสำรวจดูแล้วร้านอาหารส่วนใหญ่ล้วนขายอาหารประเภทเดียวกัน คือ หั่วกัว หรือหม้อไฟที่มีรสชาติเผ็ดร้อน เมนูยอดฮิตของชาวฉงชิ่ง รวมถึงมณฑลเสฉวนที่อยู่ติดกัน ซึ่งนิยมกินอาหารรสจัดมากกว่าชาวจีนที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก ในหม้อไฟจะใส่ทั้งเครื่องเทศ พริกและน้ำพริกเผาจนสีจัดจาน ทำให้รสชาตินั้นเผ็ดร้อนมากจนถึงมากที่สุด แต่หากใครไม่แน่ใจในความสามารถทานเผ็ดของตัวเองก็สามารถสั่งแบบหม้อเดียวแต่แบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งเผ็ด อีกด้านเป็นน้ำซุปธรรมดาไว้ดับเผ็ดก็ได้
เราเดินดูโต๊ะนั้นที โต๊ะโน้นที ว่าพวกชาวจีนสั่งอะไรกินกันบ้าง แต่สุดท้ายไม่รู้จะสั่งอย่างไงจึงใช้วิธีเดิมคือการจิ้มบนรูปภาพ แต่ครั้งนี้ดีหน่อยที่เราพกหนังสือหัดพูดภาษาจีนมาด้วย เราจึงได้เมนูเป็นไก่หม้อไฟ โดยไม่ต้องใช้วิธีทำท่าตีปีกเหมือนทริปก่อนๆ แต่เจ้ากรรม หนังสือไม่เขียนให้ละเอียดว่าหากต้องการเฉพาะเนื้อไก่ต้องพูดว่าอย่างไร เราจึงได้แต่เครื่องในไก่มาเต็มหม้อ!
แม้ไม่ชอบเครื่องในไก่เท่าไรนัก แต่เพราะรสชาติสุดแซ่บ เราจึงกินไปปาดเหงื่อไปจนเกือบหมดหม้อ แต่ยังครับ กระบวนการกินยังไม่สิ้นสุด เสร็จจากอาหารจานหลัก เราก็เริ่มเดินหาของกินเล่นกันต่อ โดยของกินเล่นประเภทของคาวที่มีขายกันมากเห็นจะไม่พ้น บรรดากุ้ง ปู ปลาตัวน้อยที่ถูกนำมาทอดกรอบ แต่สำหรับของหวานที่มีขายมากจนเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่มีหน้าตาและรสชาติไม่ต่างจากขนมเกลียวบ้านเรา โดยบางร้านขายดีจนมีลูกค้าต่อคิวซื้อยาวเป็นงูเลื้อย เราจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหางงู
เมืองโบราณฉือชี่ โข่วไม่ได้มีเฉพาะร้านขายของกิน หรือบ้านเก่าๆที่แปรสภาพเป็นร้านขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว แต่อิฐปูถนนเก่าๆที่เราย่ำผ่านนั้นพร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผู้มาเยือนฟัง เมืองโบราณแห่งนี้เดิมมีชื่อว่าไบยาฉาง (Baiyachang) สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ในราวปีพ.ศ.1503 เริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องลายครามในสมัยราชวงศ์หมิงและต่อเนื่องถึงราชวงศ์ชิง ทำให้เมืองนี้มีชื่อว่า ฉือชี่ โขว่ แปลว่าหมู่บ้านเครื่องลายคราม โดยมีการขุดพบเตาเผาโบราณมากกว่า 20 เตา สำหรับบ้านที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดคือบ้านตระกูลซ่ง (Zhong) ครอบครัวคหบดีเก่าแก่ โดยเป็นอาคารอายุร่วมร้อยปี สร้างเชื่อมต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ยิ่งใหญ่อลังการ
อิฐเก่าๆพาเราเดินผ่านประตูเมือง สู่ถนนสายกว้างที่ทอดตัวโค้งขึ้นไปด้านบน เราเดินไปตามถนนสายนี้โดยมีเป้าหมายที่จะชมเมืองโบราณในมุมสูงที่มีแม่น้ำเจียหลิงไหลผ่าน ริมถนนในตำแหน่งหัวโค้งมีสวนสาธารณะขนาดย่อมให้ชาวเมืองได้ออกกายบริหาร สายลมเย็นที่โชยพัดพร้อมกับทิวทัศน์เมืองโบราณที่มีแม่น้ำเจียหลิงไหลผ่านอย่างเอื้อยๆ คือความสุขง่ายๆที่สองขาพาเรามาถึง เรายืนมองภาพที่สวยงามนั้นอยู่นานพอควร จนผมเอ่ยปากชวนเพื่อนๆว่า เราใช้สองขานี้พาตัวเองไปยังหมู่วิหารและเจดีย์ของวัดที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขาใจกลางตัวเมืองกันเถอะ
ณ ตำแหน่งบนเนินเขาหลังย่านการค้า คือที่ตั้งของวัดเก่านามว่า วัดเบ้าหลุ่น (Baolun) การเข้าชมวัดแห่งนี้ต้องจ่ายเงินเพื่อบำรุงวัดคนละ 5 หยวน หลังจากจ่ายเงิน เราก็ได้ธูปดอกใหญ่คนละ 3 ดอก เพื่อนำไปไหว้พระพุทธรูปด้านบน
ขั้นบันไดหินนำพาเราขึ้นสู่วิหาร ภายในมีพระประธานกับพระโพธิสัตว์กวนอิมให้นมัสการ ณ จุดนี้สามารถมองเห็นตัวเมืองฉือชี่ โข่วได้พอสมควร แต่ยังไม่สามารถเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ ผมจึงยอมจ่ายเงินอีก 5 หยวนเพื่อขึ้นไปบนเจดีย์สูง 7 ชั้น ข้างบนนี้เห็นเมืองเก่าฉือชี่ โข่วแบบ 360 องศาได้อย่างเต็มตา บ้านแต่ละหลังที่หลังคาต่างปูด้วยกระเบื้องแบบโบราณนั้นกระจุกตัวแน่นอยู่ริมแม่น้ำเจียหลิง ในขณะที่ถัดออกไปไม่ไกล บรรดาตึกสูงของเมืองใหม่ฉงชิ่งต่างผุดตัวรับความเจริญในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของจีนฝั่งตะวันตก ที่ทุกนาทีถูกขับเคลื่อนด้วยแรงเร่งของเม็ดเงิน แต่ ณ มุมหนึ่งริมลำธารสายเล็กๆ ที่ไม่ไกลจากจุดนี้นัก ที่แห่งนั้นมีความสงบงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนซ่อนตัวอยู่
หลังลงจากเจดีย์ เพื่อนๆเลือกเดินกลับไปยังย่านการค้า ในขณะที่ผมเลือกก้าวเดินไปอย่างช้าๆบนทางสายเล็กๆที่ลัดเลาะไปตามบ้านเรือนเก่าๆสู่สถานที่ที่ผมเห็นจากด้านบน ที่แห่งนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่เหมือนย่านการค้าที่เพิ่งจากมา มีแค่เพียงชาวสวนที่แบกกระบุงบรรจุผักสดๆเดินผ่าน สะพานหินที่ทอดข้ามลำธารที่สายน้ำใสกำลังไหลอย่างเอื้อยๆลงสู่แม่น้ำเจียหลิง นำพาผมไปสัมผัสบรรยากาศชนบทที่แสนสงบงาม จากความหลงระเริงกับบรรดาของกินและสินค้าที่วางขายบนถนนคนเดินที่จากมา ในเวลานี้ผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ระหว่างเมืองเก่าที่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสินค้าและผู้คน กับเมืองที่ยังคงไว้ในสิ่งเดิมๆที่เป็นอยู่ โดยปราศจากสีสันปรุงแต่งแห่งมายาที่สร้างไว้เพื่อล่อตาล่อใจนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพร้อมเม็ดเงิน และจากไปอย่างคนแปลกหน้า เมืองใดจะนำพาความสุขใจได้มากกว่ากัน
อิฐปูถนนเก่าๆไม่ต่างจากเส้นทางเดินของชีวิต ที่ไม่ได้แค่พาเราไปยังสถานที่ที่เต็มไปด้วยสีสัน หากยังนำไปสู่ความสงบเย็น เพียงแค่เราเลือกที่จะก้าวเดินไปในทางใด ...
ข้อมูลการเดินทาง
เมืองโบราณฉือชี่ โข่วอยู่ห่างจากตัวเมืองฉงชิ่ง 14 กิโลเมตร จากตัวเมืองฉงชิ่งใช้บริการรถเมล์สาย 202, 220, 237, 467, 503, 808 และ 843
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 14.46 น.