อู่หลง อลังการสะพานหินธรรมชาติ

เพราะภาพอันตระการตาของเก๋งจีนที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวฉงชิ่งเป็นเหตุ ทำให้จู่ๆเราก็เปลี่ยนแผนการเดินทางอย่างกระทัน จากการเดินทางไปฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เพื่อตั้งหลักไปจางเจียเจี้ย เป็นการไปเยือนอุทยานแห่งชาติในเมืองอู่หลง โดยเป็นเมืองเล็กๆตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของฉงชิ่งแทน เพราะต่างเห็นดีเห็นงามที่จะไปชมของจริงว่าจะงดงามและตระการตาเหมือนอย่างในภาพที่ปรากฏในหนังสือหรือไม่

เราแบกเป้ไปตามอิฐเก่าๆบนถนนคนเดินของเมืองฉือชี่ โข่ว ในเวลาเช้าที่ร้านรวงส่วนใหญ่ยังไม่เปิดรับแสงตะวัน ความเงียบสงบที่ปราศจากนักท่องเที่ยวสร้างความแตกต่างกับบรรยากาศเมื่อวานที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน จนเหมือนเป็นคนละเมือง

รถเมล์สาย 202 ที่ผ่านหน้าเมืองฉือชี่โข่วพาเราไปยังสถานีรถไฟฉงชิ่งเบย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสายเหนือ เราเดินฝ่าผู้คนจำนวนมากที่เดินขวักไขว่อยู่บนลานกว้างหน้าสถานีรถไฟเพื่อไปซื้อตั๋วโดยสารไปอู่หลง (Wulong) เวลาขณะนี้เพิ่ง 9 โมงเศษ แต่เราได้ตั๋วเที่ยวบ่ายโมง แถมยังเหลือเฉพาะตั๋วยืนเท่านั้น! หลังจากฆ่าเวลาด้วยการเดินชมร้านรวงบริเวณสถานีรถไฟ เราก็ขึ้นไปยืนห้อยโหนอยู่ในขบวนรถไฟเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง จึงถึงสถานีรถไฟเมืองอู่หลง

บรรยากาศหน้าสถานีรถไฟมีผู้คนบางตา เพื่อความไม่ประมาทในการเดินทางต่อในคืนวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีจุดหมายที่จะไปยังเมืองเฟิ่งหวง ในมณฑลหูหนาน เราจึงเข้าไปสอบถามตั๋วรถไฟกับเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว โชคดีที่มีคนต่อคิวรอซื้อไม่มากนัก ไม่เช่นนั้นเราคงรู้สึกผิดต่อผู้โดยสารรายอื่น เพราะเราใช้เวลาในการสอบถามตั๋วรถไฟนานมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฟังและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ในขณะที่เราก็ฟังและพูดภาษาจีนไม่ได้เช่นกัน ทำให้คนที่ต่อคิวจากเรา เปลี่ยนจากการรอซื้อตั๋วมาเป็นยืนห้อมล้อม เพื่อเป็นกองเชียร์ในการซื้อตั๋วของเรา ดูแล้วคึกคักแต่ก็ผสมไปด้วยความกดดัน จนสุดท้ายอาเจ้คนหนึ่งซึ่งโดยสารรถไฟขบวนเดียวกับเราก็เข้ามาช่วยเป็นล่ามให้ โชคดีมากที่อาเจ้พูดภาษาอังกฤษได้ จึงได้ความว่า รถไฟไปเมืองเฟิ่งหวง (Fenghuang) นั้นไม่มี ต้องไปลงที่เมืองท่งเหริน (Tongren) แทน ซึ่งอยู่ห่างจากเพิ่งหวงทางรถยนต์เพียงแค่ 1 ชั่วโมง เราจึงวานให้อาเจ้ช่วยซื้อตั๋วไปท่งเหรินสำหรับวันพรุ่งนี้ให้ ได้รถไฟเที่ยว 4 ทุ่ม ถึงท่งเหรินราวตี 3 ซึ่งในเวลานั้นเราไม่รู้เลยว่า ช่วงเวลาหลังจากนั้นคือความทรมานที่สุดของการเดินทางครั้งนี้

อย่างไงเสียคืนพรุ่งนี้ก็ต้องมาขึ้นรถไฟที่นี่อยู่แล้ว เพื่อความสะดวกในการรอขึ้นรถไฟเราจึงเลือกที่จะพักบริเวณหน้าสถานีรถไฟแทนที่จะไปหาที่พักในตัวเมือง ซึ่งไม่ต้องเดินเลือกให้เสียเวลา เพราะหน้าสถานีรถไฟมีโรงแรมเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้น

ยังพอมีเวลาเหลืออีกราว 2 - 3 ชั่วโมงก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน ไหนๆวันนี้ก็ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวที่ไหนได้ เราจึงเลือกที่จะไปเดินเล่นในตัวเมือง เจ้าของโรงแรมบอกว่าสามารถเดินถึงเพราะห่างจากสถานีรถไฟเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ดูจากสภาพโดยรอบแล้ว เรามองไม่เห็นตัวเมืองเลยว่าตั้งอยู่ตรงไหน เพราะมีแต่แนวเขาที่ห้อมล้อม จึงเลือกโดยสารรถเมล์ที่จอดรอผู้โดยสารอยู่หน้าสถานีรถไฟ แต่แค่เพียงรถเมล์เลี้ยวขวาออกสู่ถนนใหญ่เท่านั้น ความเป็นเมืองก็เริ่มปรากฏให้เห็น

รถเคลื่อนตัวได้ไม่กี่นาที คนขับก็บอกด้วยภาษามือว่า ตัวเมืองอู่หลงที่พวกเราอยากจะมานั้นอยู่บริเวณนี้ หากอยากจะลงก็ลงที่สี่แยกนี้ได้เลย จากสภาพบ้านเรือนที่เห็น อู่หลงเมืองที่นักท่องโลกทั่วไปไม่ค่อยรู้จักนั้น กำลังได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่มากไปด้วยตึกสูงของบรรดาที่พักอาศัย เหมือนเช่นเมืองใหม่อื่นๆที่กำลังเติบโตอยู่ทั่วไปในประเทศจีน

ในระหว่างการเดินเล่นชมเมือง เราได้เห็นว่าคนที่นี่นิยมแบกกระบุงสานไว้บนหลัง ไม่ใช่เฉพาะแม่บ้านที่แบกกระบุงเพื่อบรรจุผักผลไม้เพื่อซื้อกลับบ้านเท่านั้น แต่บรรดาหนุ่มสาววัยทำงานแทนนี้จะแบกเป้หรือสะพายกระเป๋าก็นิยมแบกกระบุงสานด้วยเช่นกัน และที่เห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้คือบรรดาอากงอาม่าก็ต่างแบกกระบุงสานโดยมีหลานตัวน้อยแก้มแดงอยู่ในนั้น

เราเดินข้ามสะพานที่ทอดตัวอยู่เหนือแม่น้ำสีเขียวครามสู่ฟากตรงข้าม จึงได้เห็นว่าเมืองอู่หลงนั้นมีที่ราบเพียงแค่สองฟากฝั่งของแม่น้ำสายนี้ เพราะเลยออกไปไม่ไกลก็มีภูเขาสูงใหญ่โอบล้อม แม้ฟากตรงข้ามดูจะเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนเดินขวักไขว่มากกว่า แต่ปริมาณผู้คนที่เห็นนั้นก็ช่างน้อยนิดหากเทียบกับบรรดาอพาร์ตเมนท์สูงนับสิบๆแห่งที่กำลังผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด จนชักสงสัยว่า เป็นเพราะผู้คนเมืองนี้มีปริมาณมากจริงๆ หรือทางการจีนเร่งสร้างเหล่าอพาร์ตเมนต์เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของเมืองนี้

เดินไปได้ไม่เท่าไหร่ สตอเบอร์รี่ลูกโตๆก็ดึงดูดให้ผมเข้าไปสอบถามราคาจากแม่ค้า เมื่อทราบราคาก็ทำให้ผมถึงอึ้งกับสิ่งที่ได้ยิน เพราะสตอเบอร์รี่ถุงใหญ่ซึ่งมีร่วม 50 ลูกนี่ราคาเพียงแค่ 5 หยวน หรือแค่ 25 บาทเท่านั้น ถูกจนเหมือนได้ฟรี ไม่รอล้างน้ำให้สะอาด เราสี่คนก็จัดการสตอเบอร์รี่หวานฉ่ำเสียจนเกือบหมดถุง นอกจากนี้ยังมีสารพัดผลไม้และผัดสดๆที่หน้าตาเหมือนในเมืองไทย แต่อวบอิ่มกว่า วางแบบกะดินขายตลอดทางเท้า ดูๆไปแล้วเมืองในหุบเขาแห่งนี้ช่างอุดมสมบูรณ์และน่าอยู่มิใช่น้อย

เนื่องจากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติต่างๆที่อยู่นอกเมืองอู่หลง ยังไม่มีรถสาธารณะวิ่งให้บริการ เช้าวันรุ่งขึ้นเราจึงเหมารถเก๋ง 1 คันเพื่อพาเราไปเที่ยวยังสถานที่เหล่านั้น แต่อู่หลงนั้นอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หากไปเที่ยวทุกแห่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เราจึงเลือกไปเท่าที่เวลาจะอำนวย คือ อุทยานเทียนหนี่ซัน กับอุทยานหลงสุยเซีย อันเป็นที่ตั้งของเก๋งจีนท่ามกลางหุบเขาที่รูปถ่ายปรากฏในหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว จนโน้มน้าวใจให้เราเดินทางมาที่นี่โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

คนขับรถพาเรามาที่อุทยานเทียนหนี่ซัน (Tian Ni San : ชื่อภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fairy Mountain) ฟังชื่อแล้วงงๆว่ามันคืออะไร เพราะหากแปลตามชื่อภาษาจีนจะแปลว่าขุนเขาแห่งนางฟ้า แต่ไม่รู้ว่าจะมีเหล่านางฟ้ามาโปรยบินให้ได้เห็นหรือเปล่า หากอยากรู้ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินไปคนละ 60 หยวน แต่นี่แค่ค่าเข้า ยังไม่รวมค่ารถลากที่สร้างให้หน้าตาเหมือนรถไฟขบวนน้อยที่จะพาเราไต่ความชันไปสัมผัสขุนเขาแห่งนางฟ้าอีกคนละ 25 หยวน ทันทีที่รถเคลื่อนตัว เราก็ได้พบกับคนรู้จัก นั่นคืออาเจ้ ที่เป็นล่ามให้เราเมื่อวานที่สถานีรถไฟ โดยอาเจ้ไม่เลือกที่จะนั่งรถลากเหมือนอย่างเรา แต่เลือกที่จะเดินขึ้นเขาพร้อมเพื่อนชาวจีนอีกหลายคน

รถลากคันน้อยค่อยๆไต่ความสูงขึ้นไปทีละนิดๆ จนในที่สุดก็จอดส่งเรา ณ ตำแหน่งที่มองเห็นทิวทัศน์ได้เกือบ 360 องศา เราเดินไปตามทางเดินไปที่ปูไว้อย่างดี สิ่งที่สองสายตาเห็นในตอนนี้ ไม่มีเหล่านางฟ้ามาโบยบิน มีเพียงแต่ความกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของทุ่งหญ้าเขียวขจี และความหนาวเย็นที่พัดมากับสายลม จนผมต้องเอามือกอดตัวเองไว้แน่น

ในเวลานั้นมีคำถามผุดขึ้นในใจ ว่าเหล่านักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากนี้เขามาดูอะไรกัน เพราะสิ่งที่สายตาได้สัมผัสนั้นมีแค่เพียงทุ่งหญ้าสีเขียว ไม่เห็นมีความอัศจรรย์ของธรรมชาติใดๆที่ปรากฏ แต่เมื่อสองเท้าก้าวไปสัมผัสความนุ่มละมุนของทุ่งหญ้าที่คลี่ตัวเหมือนพรมผืนใหญ่ห่มคลุมทิวเขา ความคิดก็ค่อยๆเคลื่อนตัวช้าลง ตามจังหวะของการก้าวเดินที่เนิบช้ามากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงได้พบคำตอบว่า บางทีความว่างเปล่าและเงียบสงบนี่เอง คือความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ส่งพลังให้กับผู้มาเยือน เพียงแค่ปล่อยสมองให้ว่าง และสูดลมหายใจให้ลึก...แค่นั้น

รถลากคันน้อยพาเรากลับมาสู่โลกแห่งความจริง ความน่ารักและความโหดร้ายเป็นของคู่กันเสมอ เพราะมนุษย์คือหนึ่งในสัตว์โลกที่ต้องดำรงชีวิต บนเส้นทางออกจากอุทยานเราพบกับร่างที่ปราศจากชีวิตจำนวนนับสิบนับร้อยของเหล่าสัตว์ป่าสี่ขาที่ถูกแขวนทั้งตัวให้ชาวจีนเลือกซื้อกลับไปทำเป็นอาหาร แม้ภาพที่เห็นจะสร้างความหดหู่ใจ จนแทบจะลบความสวยงามของภาพธรรมชาติที่ได้สัมผัส แต่นั่นก็คือวิถีการดำเนินชีวิตจริงๆของมนุษย์ตามพื้นฐานวัฒนธรรมและการเป็นอยู่ที่ต่างกันไป

เราเดินทางต่อสู่อุทยานหลงสุยเซีย (Longshuixia Canyon) อันเป็นที่ตั้งของ Tiansheng Three Bridge หรือสามสะพานหินธรรมชาติเทียนเสิน อันเลื่องชื่อของอู่หลง เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศจีนแล้ว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะเป็นกลุ่มสะพานหินธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ว้าว...นี่แค่ได้ยินยังรู้สึกตื่นเต้นขนาดนี้ หากได้เห็นของจริงจะตระการตาขนาดไหน

จากประสบการณ์ที่ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติในประเทศจีนหลายต่อหลายแห่ง ทำให้สังเกตว่า หลายอุทยานแห่งชาติในประเทศจีนมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ จะไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขับเข้าไปยังสถานที่ต่างๆในอุทยานฯ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่สามารถขับรถส่วนตัวไปจอดได้ถึงตีนน้ำตก หรือจุดชมวิว แต่ที่นี่ต้องขึ้นรถที่ทางอุทยานฯจัดไว้ให้เท่านั้น อย่างที่นี่ก็เป็นรถบัสที่พาเราไปส่งยังจุดเริ่มต้นในการเดินลงสู่หุบเขา แม้ต้องต่อคิวนานสักนิด ลดความสะดวกลงสักหน่อย แต่ก็มีข้อดีคือลดการใช้พลังงาน เป็นการลดมลภาวะที่ถูกปลดปล่อยในผืนป่าอันบริสุทธิ์

เราเดินลงไปตามขั้นบันไดที่ทอดยาว ลดเลี้ยวลงสู่หุบเขา ระหว่างทางได้สัมผัสมุมมองสวยๆและเสียวๆไปตลอดทาง ก่อนที่จะเสียวและหอบไปมากกว่านี้ ลิฟท์แก้วขนาดยักษ์ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า เพราะหลังจากจุดนี้ หมดสิทธิ์ที่จะใช้สองขาเดินลัดเลาะลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง เนื่องจากเป็นหน้าผาที่ทิ้งดิ่งร่วมร้อยเมตร!

ลิฟท์แก้วขนาดยักษ์พาเราลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง ออกจากลิฟท์ปุ๊บ แหงนคอมองด้านบนที่ลงมาแล้วรู้สึกเสียวสันหลังวาบ เพราะทั้งสูงและชัน แต่เมื่อมองกลับลงไปยังหุบเบื้องล่างที่ยังทอดตัวลงไปอย่างไม่สิ้นสุด กลับรู้สึกเสียวมากกว่า เพราะ ณ จุดนี้ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของหุบเขา หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องเดินลัดเลาะไปตามบันไดปูนที่ทอดตัวลดเลี้ยวลงไปในหุบที่ลึกลงไปโดยแทบมองไม่เห็นปลายทาง

สำหรับคนที่หัวใจเข้มแข็ง แต่ขาแข้งไม่เป็นใจ ก็มีเกี้ยวสองแรงคนหาบไว้ให้บริการ แต่เราเลือกที่จะก้าวเดินไปตามบันไดอย่างช้าๆ ก้าวซ้ายที ก้าวขวาทีเช่นนี้นับร้อยนับพันครั้ง จนเริ่มรู้สึกว่า นี่เราไม่ใช่แค่กำลังเดินลงสู่หุบเขา แต่กำลังเดินรอดสะพานหินธรรมชาติขนาดยักษ์นามว่าเทียนหลง (Tianlong) อันหมายถึงมังกรฟ้าที่ทอดตัวสูงทะมึนร่วม 300 เมตรอยู่เหนือศีรษะ เมื่อแหงนคอขึ้นไปมอง ภาพที่ปรากฏจึงไม่ต่างกับมังกรหินขนาดยักษ์ ทอดตัวข้ามแผ่นฟ้าที่อยู่แสนไกล

ความแข็งแกร่งของหินผาที่อาบไว้ด้วยสีเทาทะมึน เริ่มปรากฏความเขียวขจีของเรือนยอดไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่นอยู่เบื้องล่าง แล้วสิ่งที่ธรรมชาติเสกสรรกับสิ่งที่มนุษย์สรรสร้างก็ถูกผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัว เมื่อลึกลงไปในหุบเขาปรากฏเก๋งจีนขนาดใหญ่ ที่ในยามนี้ความรู้สึกกับความสมบูรณ์ของผืนป่าได้นำพาจินตนาการให้เคลิ้มฝัน เสมือนหนึ่งทิพย์วิมานในสรวงสวรรค์ที่มนุษย์เดินดินมิอาจจะไปถึง แต่ภาพแห่งจินตนาการนั้นก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้าแล้วในเวลานี้ และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อจังหวะการก้าวเดินเริ่มเคลื่อนตัวไปอย่างเนิบช้าบนทางเดินที่คดเคี้ยวอยู่ในหุบเขา ท่ามกลางความเขียวชอุ่มของเรือนยอดไม้ที่คลี่ตัวเสมือนพรมผืนใหญ่โอบขนานไปตลอดทาง

แม้จะเป็นทางราบ แต่พวกเรากลับเดินช้า ... ช้าลงกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้คงไม่มีเหตุผลใดจะเด่นชัดเท่าการที่หัวใจอยากสัมผัสและซึมซับความสมบูรณ์บริสุทธิ์ของผืนป่าไว้ให้มากที่สุด ทางเดินยังคงยาวไกล ความสูงทะมึนของแผ่นผายังคงเป็นเพื่อนร่วมทาง เพราะไม่เพียงแค่เทียนหลง หากแต่เบื้องหน้าเรายังมีอีก 2 สะพานหิน นามว่า ชิงหลง (Qinglong) กับ เฮหลง (Heilong) ทอดตัวเชื่อมผาหินอยู่เบื้องหน้า ความยิ่งใหญ่และอัศจรรย์ของสามสะพานหินนี่เองคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อุทยานหลงสุยเซียได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ความยิ่งใหญ่ของเหล่าสะพานหินอาจสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น แต่สำหรับผมแล้วความบริสุทธิ์ของผืนป่าตลอดเส้นทางเดินในเวลานี้ต่างหากที่เติมเต็มความสุขใจ โดยเฉพาะธารน้ำใสสีมรกตที่ไหลอ้อยอิ่งไปตลอดทางเดินอันเป็นที่มาของชื่ออุทยาน นามว่า “หลงสุยเซีย” อันหมายถึง สายน้ำแห่งมังกรที่ไหลไปในหุบเขา นั้นเต็มไปด้วยความชุ่มชื่น ที่พร้อมมอบความชุ่มใจให้กับผู้ที่เปิดใจมาสัมผัส ยิ่งสองเท้าก้าวเดินอย่างเนิบช้ามากเพียงใด หัวใจก็ยิ่งซึมซับความสุขมากขึ้นเพียงนั้น

ข้อมูลการเดินทางและเข้าชม

จากสถานีรถไฟฉงชิ่งเบย มีรถไฟวิ่งสู่เมืองอู่หลง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.5 ชั่วโมง

การไปอุทยานเทียนหนี่ซัน และอุทยานหลงสุยเซีย ไม่มีรถสาธารณะให้บริการ ต้องเหมารถจากตัวเมืองอู่หลง

วันเวลาเปิดให้เข้าชม 8.00 – 17.00 น.

ค่าเข้าชมอุทยานเทียนหนี่ซัน เดือนมีนาคม – ตุลาคม 60 หยวน, เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ 40 หยวน

ค่าเข้าชมอุทยานหลงสุยเซีย เดือนมีนาคม – ตุลาคม 135 หยวน, เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ 95 หยวน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 14.54 น.

ความคิดเห็น