กว่า 10 ชั่วโมงในค่ำคืนที่ยาวนาน บนถนนเพชรเกษมที่ทอดยาวลงภาคใต้ของประเทศไทย
สู่แสงแดดยามเช้าที่ตกกระทบบนถนนเส้นสุราษ-นครศรีฯ คือสัญญาณอันดีที่บ่งชี้ว่า
พวกเราเข้าใกล้หมุดหมายหลักของการเดินทางในครั้งนี้แล้ว

“ภูเพลา” หรือ “เขาเพลา” ตามชื่อเรียกติดปากของชาวบ้าน
ตั้งอยู่ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อยสำหรับเหล่าคนกรุง
ที่ดูจะคุ้นเคยกับการขับรถไล่ตามหมุดสีแดงบนหน้าจอโทรศัพท์
มากกว่าการได้เดินทางตามคำบอกเล่าจากคนในพื้นที่


จุดนัดหมายแรกคือบ้านของ “พี่กุ๊ก” มิตรสหายผู้เอ่ยปากชักชวน
เป็นคำเชิญชวนที่พาพวกเราเดินทางมาไกลกว่า 700 กิโลเมตร
หลังจากขนถ่ายสัมภาระและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นรถกระบะเเล้ว
พวกเราก็เดินทางต่อไปยังบริเวณตีนเขา แวะร้านมินิมาร์ทและอาหารตามสั่ง
เพื่อจัดแจงเสบียงและเติมที่ว่างในท้องให้เต็มอีกครั้งก่อนขึ้นภู


เพียงแค่ 15 นาทีแรกของเส้นทาง ก็ทำให้เราได้รู้ว่า
การเดินทางขึ้นไปยังจุดตั้งเเค้มป์บนภูเพลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
กระบะทั้ง 3 คัน ค่อยๆ ไต่ผ่านเนินสูงชันไปอย่างเนิบช้า
เป็นความช้าที่เหล่าพลขับทุกคนนั้นคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี
เพราะแทบจะทุกจุดบนเส้นทางสายนี้
สองเท้าของพวกเขานั้นเคยก้าวผ่านมันมาหมดแล้ว

“เมื่อก่อนจะขึ้นไปนี่ ต้องเดินเท้ากันอย่างเดียว ไม่มีหรอกถนนแบบนี้”
น้ำเสียงเจือสำเนียงปักษ์ใต้ของ “พี่หนุ่ม” ชายอารมณ์ดีวัยกลางคน
เรื่องราวมากมายสื่อสารออกมาผ่านทางแววตา
คำพูดที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองใดๆ จากหัวใจของคนที่เลือกเส้นทางเดินชีวิตให้กับตัวเอง
จาก “ลูกทะเล” มาสู่ “คนภูเขา”

พื้นที่ข้างบนนี้คือเกษตรชุมชนแบบผสมผสาน มีทั้ง มะพร้าว ทุเรียน ปาล์ม สวนยาง
เป็นเวลามากกว่า 50 ปีเเล้วที่พื้นที่ทำกินบริเวณนี้ ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
ไม่เพียงแค่ความรู้เชิงเกษตรกรรมที่ถ่ายทอดต่อกันมา
หนทางที่มนุษย์เรานั้นจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไรให้กลมกลืนที่สุด
วิถีทางที่พึงกระทำเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย

เมื่อเข้าใกล้จุดตั้งเเค้มป์ พี่กุ๊กที่ขับนำเป็นคันแรกก็จอดรถ
และเดินลงมาบอกไลน์ที่จะข้ามลำธารให้กับอีก 2 คันหลัง
ตรงจุดจอดนี้เอง คือที่ตั้งของ “น้ำตกผาเมือง”
ที่เวลานี้น้ำยังมีค่อนข้างน้อย ถ้าปริมาณน้ำมีมากกว่านี้
เมื่อรวมเข้ากับทิวทัศน์ที่มีเอกลักษณ์ จะทำให้น้ำตกแห่งนี้
สวยงามไม่เป็นรองน้ำตกอื่นๆ ในภาคใต้เลยทีเดียว


จากจุดชมวิวน้ำตกผาเมือง ขับขึ้นไปอีกราว 500 เมตร ก็จะถึงลานสำหรับตั้งเเค้มป์
ข้างบนนี้ เราสามารถชมทิวทัศน์ได้กว้างไกลแบบ 180 องศา
ด้านซ้ายและขวามียอดเขาสูงขนาบข้าง เสมือนกำแพงธรรมชาติคอยเป็นกำบังลมให้อย่างดี
ตรงกลางคือช่องเขาที่เราสามารถมองผ่านออกไปได้ไกลถึงตัวเกาะสมุยในวันที่อากาศสดใส


พวกเราตั้งแค้มป์กันเสร็จในช่วงค่ำ แล้วจึงมานั่งล้อมวงกินมื้อเย็นด้วยกัน
อาหารพื้นบ้านถูกลำเลียงมาพร้อมกับมิตรภาพสดใหม่
ที่เหล่าคนแปลกหน้าต่างก็หยิบยื่นให้กันโดยปราศจากความเก้อเขิน
บทสนทนาในวงนั้น ออกรสออกชาติได้จัดจ้าน
ไม่น้อยไปกว่าสำรับอาหารปักษ์ใต้ที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ
สำเนียงติดทองแดงที่เหล่าคนกรุงพยายามเลียนแบบให้ใกล้เคียงที่สุด
แปรเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะร่า หลายครั้งที่ผู้พูดนำเอาคำศัพท์ของภาคอื่น
เข้ามาปะปนในประโยคจนฟังดูประหลาดและน่าขันในเวลาเดียวกัน


หัวข้อสนทนาส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องการเดินป่า ตั้งเเค้มป์ การพิชิตยอดเขาต่างๆ
เป็นเรื่องราวที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างต่อเนื่องและลื่นไหล
สิ่งเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในวงสนทนาของกลุ่มคนที่พูดจาภาษาเดียวกัน
ในที่นี้... มิได้หมายถึงภาษาที่ออกสำเนียงแตกต่างกันไปตามถิ่นอาศัย
แต่หมายถึงภาษาของคนที่มีหัวใจรักการรอนแรมเช่นเดียวกัน
ไม่เพียงเเค่สถานที่ๆ ดึงดูดคนทั้ง 2 กลุ่มให้มานั่งล้อมวงอยู่ด้วยกัน ณ เวลานี้
“มิตรภาพ” และ “ภาษาของคนเดินทาง” ต่างหากคือสิ่งสำคัญ
ที่นำพาให้พวกเราได้มาพบพานและรู้จักกัน

แวะเวียนมาพูดคุยกับเจ้าบ้านใจดีได้ที่
ภูเพลาเเค้มป์ปิ้ง (ไร่พ่อเฒ่า)
พี่กุ๊ก
082-068-2235
คุณเอก 087-466-7887

ขอบคุณพี่กุ๊ก พี่หนุ่ม และคุณเอก
สำหรับการต้อนรับที่แสนอบอุ่น

ขอบคุณที่อ่านและติดตามมาจนถึงตรงนี้ครับ

https://www.facebook.com/blue.eyes.photo.graphic


Blue.Eyes.Photo

 วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 22.25 น.

ความคิดเห็น