
ท่ามกลางความร้อนแรงของแสงแดด และฝูงวัวที่ออกหากิน เราเดินไปตามทางเกวียนที่สองข้างทางเป็นแปลงปลูกผักของชาวบ้าน บนเส้นทางเกวียนนั้นปรากฏทางแยกอยู่เบื้องหน้าให้เราต้องตัดสินใจอยู่หลายครั้ง นอกจากการใช้สัญชาตญาณในการเลือกเดินทางที่กว้างกว่าแล้ว มีหลายครั้งที่เราต้องเดินออกนอกเส้นทาง เพื่อไปถามทางชาวบ้าน ซึ่งแม้จะรู้สึกเสียเวลา และเพิ่มความเมื่อยล้าให้กับสองขา แต่นั่นก็ดีกว่าการเดินหลงทาง และยังทำให้เราได้สัมผัสความงามของดอกเบญจมาศ และดอกไม้หลากพันธุ์ที่ต่างเบ่งบานเต็มแปลงปลูก ซึ่งนั่นเป็นความงามเล็กๆที่ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าจากเส้นทาง


แล้วกำแพงเมืองโบราณที่ทอดยาวเหยียดก็ปรากฏแก่สายตา ไม่ใช่เพียงการได้เห็นกำแพงเมืองโบราณ แต่หากเป็นสัญญาณว่าในเวลานี้สองขาของเราได้พาเรามาถึงยังตำแหน่งใต้สุดของเมืองศรีเกษตรแล้ว และอีกไม่ไกลเราจะได้ชมโบราณสถานกลุ่มใหญ่ที่สุดของอาณาจักร


เราเดินผ่านประตูราฮันทา (Rahanta) 1 ใน 12 ประตูเมืองโบราณที่ยังคงอยู่ ใกล้ๆกับประตูราฮันทา เป็นที่ตั้งของเจดีย์ราฮันทา โดยชื่อภาษาอังกฤษใช้คำว่า Rahanta Cave Pagoda เนื่องจากลักษณะคล้ายถ้ำ โดยสามารถเดินเข้าไปภายในได้ ในอดีตเคยมีพระพุทธรูป 8 องค์ประดิษฐานอยู่ในนั้น แม้เจดีย์ราฮันทา จะดูไม่ยิ่งใหญ่และไม่สวยเอาเสียเลย แต่เจดีย์ลักษณะนี้กลับเป็นรากสร้างในการสร้างเหล่าเจดีย์ในยุคต่อมาของอาณาจักรพุกาม


ยอดของบาวบาวจี สถูปโบราณอันสูงใหญ่ปรากฏให้เห็นแต่ไกล แม้เวลาที่ผ่านไปจะเหมือนทำให้เราเข้าใกล้บาวบาวจีมากขึ้น แต่ทางเกวียนนั้นไม่ได้ตัดตรง โดยอ้อมไปไกลเกินกว่าที่คิดไว้ ยิ่งระยะทางไกลมากขึ้น เหงื่อของแท่งก็เริ่มออกมากขึ้น จนทำให้เสื้อเปียกไปทั้งตัว

แม้รู้ว่าเพื่อนเหนื่อย แต่ในเมื่อจุดหมายยังอยู่อีกไกล สิ่งที่ทำได้คือการหยุดรอเพื่อเดินไปพร้อมกัน ซึ่งในเวลานี้บนเส้นทางเกวียนไม่ได้มีแค่เราสองคน แต่ยังมีสองหนุ่มน้อยเจ้าถิ่นปั่นจักรยานตามเรามา สองหนุ่มนี้ดูจะสนใจคนแปลกหน้าแปลกถิ่นเช่นเรา อีกทั้งยังตื่นเต้นกับการดูภาพตัวเอง ผ่านจอแอลซีดีของกล้องดิจิตอล เพราะยังคงเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวพม่า ในขณะที่สิ่งนี้ช่างเป็นสิ่งที่แสนธรรมดาๆในเมืองไทย แต่ในทางกลับกัน แรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่เป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของชาวพม่า กลับกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนต่างแดนเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ ซึ่งหนึ่งในคนต่างแดนเหล่านั้น มีเรารวมอยู่ในนั้นด้วย


ในที่สุด เมื่อเวลาแห่งการก้าวเดินผ่านไป 1 ชั่วโมง สถูปทรงกระบอกยอดแหลมขนาดใหญ่ ที่สูงถึง 45 เมตร ก็ตั้งตะหง่านอยู่เบื้องหน้าเรา นี่คือ บาวบาวจี (Baw Baw Gyi) รางวัลที่ยิ่งใหญ่ ที่แลกมาด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

แท่งเลือกที่จะยืนมองรางวัลชิ้นนี้จากระยะไกล แล้วเดินไปนั่งพักเหนื่อยในศาลา ที่มีชาวพม่าหลายคนกำลังตั้งวงกินข้าวกันอย่างน่าอิจฉา แต่ผมไม่ได้อิจฉาที่พวกเขากำลังกินข้าวเที่ยง ในขณะที่ท้องผมกำลังร้อง แต่เป็นเพราะข้างๆศาลานั้นมีรถกระบะจอดอยู่ พวกเขาจึงไม่ได้เดินตากแดดเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเหมือนเรา ซึ่งถ้าผมรู้ว่าระยะทางจากพิพิธภัณฑ์ถึงบาวบาวจีไกลขนาดนี้ ผมคงเลือกที่จะนั่งเกวียนตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

ระเบียงซึ่งซ้อนกันถึง 5 ชั้นที่วนรอบสถูปบาวบาวจี ชักชวนให้ผมปีนขึ้นไปเพื่อสัมผัสสถูปที่ผ่านกาลเวลามากว่าพันปีแห่งนี้ แน่นอนว่าสถูปแห่งนี้เป็น 1 ใน 9 สถูปที่สร้างโดยพระเจ้าบัตตาบอง และแม้ว่าระเบียงชั้นที่ 5 จะสูงแค่เพียง 1 ใน 5 ของความสูงสถูป แต่นั่นก็สูงพอที่จะมองเห็น สถูปเบยเบย (Bei Bei) ที่อยู่ห่างออกไป แม้สายตาจะมองเห็น แต่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่ใกล้หมดลงทุกที สถูปเบยเบยจึงอยู่ไกลเกินกว่าสองขาที่เมื่อยล้าจะเดินไปถึง ผมจึงทำได้แค่เพียงถอดใจจากสถูปและเจดีย์อีกหลายแห่งที่ยังคงยืนหยัดท้าแสงแดด สายลมและกาลเวลา ภายในพื้นที่อาณาจักรโบราณนามว่าศรีเกษตร


ในเวลานี้ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่า บุเรงนองจะเผาเมืองแปรจนวอดวาย เหมือนเนื้อเพลงผู้ชนะสิบทิศที่คนไทยแต่งไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่ผมรับรู้ในวันนี้ คือการคงอยู่ของเหล่าโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินพม่า นามว่าอาณาจักรศรีเกษตร ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้เองคือรากฐานของศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ของแผ่นดินพม่าในยุคต่อมา
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.32 น.