ซันดา แปลว่า พระจันทร์ และเป็นชื่อม้าที่กำลังควบพาเราออกนอกเมืองยองอู โกเล็งบอกเราว่าในเมืองพุกามมีรถม้าประมาณ 250 คันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมพุกามอาณาจักรโบราณอันยิ่งใหญ่ของชนชาติพม่า โดยซันดานี้เป็นม้าที่ครอบครัวเขาเลี้ยงไว้ตั้งแต่มันยังตัวเล็กๆ

โกเล็งควบซันดาผ่านเหล่าเจดีย์และวิหารที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่บริเวณทางเข้าเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon) ดูเหมือนในวันนี้เราจะเป็นนักท่องเที่ยวชุดแรกที่มานมัสการ เราจึงได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษจากเหล่าแม่ค้า ที่วางมือจากการจัดร้านมาต้อนรับเราด้วยการเอานกฮูกไม้ตัวเล็กๆมาผูกไว้ที่ข้อมือของเรา พร้อมนำรองเท้าที่เราถอดไว้ไปเก็บไว้ในร้านของเธอ โดยบอกเราว่าหลังจากนมัสการชเวสิกองเสร็จแล้วอย่าลืมแวะมาอุดหนุนสินค้าของพวกเธอ ซึ่งเราคงต้องมาแน่ๆ ก็เล่นยึดรองเท้าของเราไว้เป็นตัวประกันขนาดนี้

ก่อนเข้าไปนมัสการชเวสิกอง แท่งจัดการเปลี่ยนองค์ทรงเครื่อง ด้วยการเอาโสร่ง หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า ลงจี มาสวมทับกางเกงขาสั้นที่นุ่งมา เพราะวัดในพม่า นอกจากไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าเข้าแล้ว ยังไม่อนุญาตให้นุ่งกางเกงขาสั้นด้วย ทำให้เพื่อนผมในเวลานี้ กลายเป็นหม่องแท่ง ดูกลมกลืนกับคนพม่าเป็นยิ่งนัก


เราเดินไปตามระเบียงสู่เจดีย์ชเวสิกอง ที่หุ้มทองจนเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ โดยสร้างเป็นทรงระฆังคว่ำ สูง 53 เมตร ยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนฟัน สำหรับภายนอกมีพระพุทธรูปศิลปะพุกามที่งดงามประดิษฐานตามทิศต่างๆรอบองค์เจดีย์

สำหรับทิศตะวันออกมีอีก 2 สิ่งที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ สิงห์ไถ่บาป ซึ่งตามวัดในประเทศพม่านิยมสร้างสิงห์ไถ่บาปขนาดใหญ่ ตามตำนาน สีหพาหุ ไว้ที่ประตูทางเข้า แต่สำหรับชเวสิกองนี้มีสิงห์ไถ่บาป สีทองขนาดเล็กที่มุมเจดีย์ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก แต่กล่าวกันว่า สิงห์ตัวนี้เป็นสิงห์ที่สร้างได้สง่างามมากที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งคือ หลุมมองดูเงาองค์เจดีย์ โดยขณะนี้มีชาวพม่า 2-3 คนกำลังก้มดูเงาขององค์เจดีย์ที่สะท้อนบนผิวน้ำที่อยู่ภายในหลุมแห่งนี้ กล่าวกันว่าหลุมแห่งนี้มีตั้งแต่เริ่ม เพื่อให้ช่างใช้ดูความสมดุลขององค์เจดีย์ แต่ในวันนี้น้ำที่ขังอยู่ในหลุมได้สะท้อนเงาเจดีย์ที่ปลายยอดพุ่งสู่ท้องฟ้าเบื้องบน และกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่ชาวพม่าใช้ในการนั่งสวดมนต์ นับลูกประคำ หรือนั่งสมาธิ ในยามที่มานมัสการชเวสิกอง ซึ่งจัดเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานที่ชาวพม่าต้องหาโอกาสมานมัสการสักครั้งในชีวิต

นอกจากเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานแล้ว เจดีย์แห่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์ต้นราชวงศ์พุกาม มีเหนืออาณาจักรสุธรรมวดีของชนชาติมอญ พระองค์จึงสร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นและตั้งชื่ออันมีความหมายว่า เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ แต่การก่อสร้างไม่เสร็จในสมัยพระองค์ โดยแล้วเสร็จในสมัยพระเจ้าจันสิตตา (Kyan Sittha) รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์พุกาม ในปีพ.ศ.1630 ซึ่งแม้ชเวสิกองจะเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่พม่ามีเหนือมอญ หากแต่รูปแบบในการสร้างนั้น กลับเต็มไปด้วยศิลปะมอญ และเนื่องจากมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ นามว่าชเวสิกองนี้เป็นต้นแบบของการสร้างเจดีย์พม่าในยุคต่อๆมา การเป็นผู้แพ้ในศึกสงครามของชนชาติมอญ จึงกลายเป็นผู้ชนะในศิลปะที่ชนชาติพม่ารับสืบมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากชื่นชมความงามของเจดีย์ชเวสิกองเสร็จ เราจากลาองค์เจดีย์โดยเดินผ่านสิงห์ไถ่บาป เพื่อออกมาไถ่ตัวประกันของเราคืน แม่ค้าที่ยึดรองเท้าเราเป็นตัวประกัน พอเห็นเราก็รีบเดินมาหา ผมกับแท่งถูกยึดรองเท้าจากแม่ค้าคนละคน ฉะนั้นเราสองคนจึงถูกแม่ค้าประกบแบบตัวต่อตัว ทำให้ผมไม่มีโอกาสสังเกตว่าแท่งถูกเสนอสินค้าใดบ้าง แต่สำหรับผมแล้วถูกเสนอสินค้าหลากหลาย ทั้งพระที่ทำจากไม้แกะสลัก แจกันไม้ ตุ๊กตาไม้พม่า แต่ที่เห็นมีมากที่สุดคือเหล่าเครื่องเขิน ซึ่งชาวพม่ารับวัฒนธรรมการผลิตมาจากชาวไทเขิน แห่งเชียงตุง แต่ในปัจจุบันเครื่องเขินได้กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของพุกาม จนมีโรงงานผลิตเครื่องเขินหลายแห่ง เมื่อมีเครื่องเขินที่งดงามและราคาถูกมากขนาดนี้ผมจึงเลือกซื้อเครื่องเขิน แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นการไถ่รองเท้าที่ถูกยึดไว้ แต่เป็นการซื้อด้วยความเต็มใจ เพราะจำนวนเงินที่ผมจ่ายไป แม้จะมีมูลค่าไม่มาก แต่มีค่าต่อการดำรงชีวิตของชาวพม่า และคุ้มค่ากับงานฝีมือที่ได้รับ

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.58 น.

ความคิดเห็น