รถม้าพาเรากลับสู่ถนนสายหลัก ที่ทอดตรงสู่เมืองเก่าพุกาม ระหว่างทางยังคงผ่านเจดีย์เล็กเจดีย์น้อยอีกมากมาย ซึ่งผมอดไม่ได้ที่จะให้โกเล็งจอดเพื่อแวะชม แม้เจดีย์เหล่านั้นจะปราศจากชื่อก็ตาม

ประตูและกำแพงขนาดใหญ่ของเมืองเก่าพุกามตั้งอยู่เบื้องหน้า ปัจจุบันมีเพียงทิศตะวันออกนี้เท่านั้น ที่ยังคงมีกำแพงเมือง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกั้นล้อมรอบอาณาจักรพุกาม อดีตราชธานีของพระเจ้าอโนรธามหาราช กษัตริย์ที่ชาวพม่าภาคภูมิใจ ด้วยทรงสามารถรวบรวมชนชาติดั้งเดิมบนแผ่นดินพม่า อันประกอบด้วย ม่าน(พม่า) พยู(อาณาจักรศรีเกษตร) มอญ(อาณาจักรสุธรรมวดี) และอาระกัน(อาณาจักรยะไข่) สำเร็จเป็นครั้งแรก อาณาจักรพุกามจึงเป็นอาณาจักรอันเกรียงไกรอาณาจักรแรกของชนชาติพม่า ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับเมืองพระนครของอาณาจักรขอมโบราณ ดินแดนสุวรรณภูมิในยุคนั้น จึงถูกปกครองด้วย 2 อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ คืออาณาจักรขอมทางทิศตะวันออก และอาณาจักรพุกามทางทิศตะวันตก

รถม้าพาเราผ่านประตูธาราบา (Tharaba) สองข้างประตู เป็นซุ้มของรูปปั้นนัต หรือ ภูตผีที่ชาวพม่านับถือและเป็นที่พึ่งทางจิตใจก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงบนดินแดนแห่งนี้ นัต 2 ตน ที่ซุ้มประตูธาราบาเป็นนัตสองพี่น้อง นามว่า มีงมหาคีรีนัต มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าของนัตทั้ง 36 ตน ที่ชาวพม่านับถือ แต่เมื่อพระเจ้าอโนรธาก่อตั้งอาณาจักรพุกามขึ้น และรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากมอญ พระองค์และกษัตริย์องค์ต่อๆมาก็ให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาจนฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวพม่า แต่ชาวพม่าก็ไม่ได้เลิกการนับถือนัต เพราะสถานะของนัตได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ความเชื่อและศรัทธาจึงยังคงอยู่เหนือเหตุผล และยังคงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้กับจิตใจมนุษย์จากอดีต จวบจนปัจจุบัน

หลังจากที่ผ่านประตูธาราบา สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาเราคือ ภาพเหล่าเจดีย์และวิหารขนาดใหญ่ ที่มีอย่างหนาแน่นภายในเขตเมืองเก่าพุกาม โกเล็งพาเราไปยังเจดีย์วิหารที่สูงที่สุดในพุกาม นามว่า ตะบินยูพยา (Thatbyinyu Phaya) โดยคำว่าตะบินยู เป็นสำเนียงพม่า ซึ่งเทียบกับสำเนียงไทยแล้ว จะหมายถึง สัพพัญญู ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ โดยเป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า

ตะบินยูพยาสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอลองซีตู (Alaungsithu) กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พุกาม ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในสมัยของพระองค์จึงถือเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งตะบินยูพยานี้เป็นตัวแทนที่เด่นชัดในความเสื่อมใสของพระองค์ โดยมีพระราชประสงค์สร้างตะบินยูให้สูงกว่าทุกๆศาสนสถาน ในอาณาจักรพุกาม ทำให้เจดีย์วิหารแห่งนี้ มีความสูงถึง 66 เมตร ซึ่งภายในแบ่งเป็นชั้นต่างๆถึง 5 ชั้น


เพราะเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุด ทำให้ตะบินยูเคยเป็นจุดชมวิวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ด้วยเหตุผลเดียวกับติโลมินโล บันไดทางขึ้นภายในตะบินยูจึงถูกปิดตาย ในวันนี้เราจึงได้แต่แหงนคอตั้งบ่ามองยอดเจดีย์ ที่ครั้งหนึ่งผู้มาเยือนสามารถขึ้นไปยืนอยู่บนนั้นได้ แต่ก็ไม่ต้องกลัวนะ ว่ามาชมตะบินยูแล้วจะไม่มีอะไรให้ทำ เพราะที่นี่มีเด็กๆมากทีเดียว ซึ่งเด็กแต่ละคนต่างฝึกปรือฝีมือและฝีปากในการตื้อขายของที่ระลึก จนผมต้องยอมแพ้ ซื้อโปสการ์ดรูปเหล่าเจดีย์ กลับมาร่อนส่งให้เพื่อนในเมืองไทยอีกร่วม 20 ใบ


จากตะบินยูพยา เรามายืนอยู่เบื้องหน้าชเวกูจี (Shwegugyi) ซึ่งรูปแบบการสร้างนั้นใกล้เคียงกัน เพราะสร้างโดยพระเจ้าอลองซีตูเหมือนกัน แต่ชเวกูจีนั้นมีขนาดที่เล็กและเตี้ยกว่า ซึ่งชเวกูจีนี้เป็นเจดีย์เพียงแห่งเดียวในเขตเมืองเก่าพุกาม ที่ยังคงอนุญาตให้เดินไปตามช่องบันไดที่มิดๆ เพื่อชมทิวทัศน์ของทะเลเจดีย์ ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของเมืองเก่าพุกาม จึงสามารถมองเห็นเหล่าเจดีย์ภายในเมืองเก่าพุกามได้ทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็น มหาบุดี ตะบินยูพยา กอดอพลิน รวมถึง พิพิธภัณฑ์พุกาม และพระราชวังพุกามที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งนอกจากทะเลเจดีย์แล้ว ยังสามารถมองเห็นแม่น้ำอิรวดี ที่ไหลผ่านเมืองพุกามในทิศตะวันตก


แม้ว่าชเวกูจีจะเป็นจุดชมทะเลเจดีย์ที่งดงาม หากแต่ในอดีต สถานที่แห่งนี้คือที่สิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองซีตู โดยถูกพระเจ้านรสุ พระราชโอรสจับพระองค์ที่อยู่ในวัยชรามาขังในชเวกูจี และปลงพระชนม์ และนั้นคือจุดเริ่มต้น แห่งความเสื่อมที่ค่อยๆคืบคลานมาสู่อาณาจักรพุกาม ที่เคยเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองซีตู พระเจ้านรสุ (Narathu) ก็ขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พุกาม โดยมีพระราชประสงค์สร้าง ธัมมะยังจี (Dhammayangyi) เพื่อไถ่บาป ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการสร้างให้ใหญ่กว่าทุกเจดีย์ในอาณาจักรพุกาม แต่เพราะราชบัลลังก์นั้นได้มาด้วยการปลงพระชนม์พระบิดา ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระองค์จึงหาได้ยากนัก ธัมมะยังจี จึงเป็นเจดีย์เดียวในอาณาจักรพุกาม ที่ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นการสร้างโดยการเกณฑ์แรงงานจากประชาชน ต่างจากเจดีย์อื่น ที่เกิดจากแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ และไม่รู้ว่าเป็นเพราะตั้งอย่างโดดเดียว โดยอยู่ห่างจากกลุ่มเจดีย์ในเมืองเก่าพุกามในระยะทางค่อนข้างไกล หรือเป็นเพราะโกเล็ง ซึ่งเป็นชาวพุกามแต่กำเนิด ถูกปลูกฝังจากตำราเรียนให้รู้ถึงความโหดร้ายของกษัตริย์พระองค์นี้ จึงทำให้ไม่ยอมพาเราไปธัมมะยังจี โดยบอกให้ชมเจดีย์ดังกล่าวจากจุดชมวิวของชเวกูจีเท่านั้น เราจึงได้เห็นธัมมะยังจีในระยะไกล ที่มองเผินๆเหมือนเนินเขาลูกย่อมๆ

เวรกรรมนั้นมีจริง เพราะพระเจ้านรสุครองราชย์ได้เพียง 3 ปี ก็ถูกลอบปลงพระชนม์เฉกเช่นเดียวกับที่ทรงทำไว้ต่อพระราชบิดา โดยถูกชาวสิงหลจากเกาะลังกาลอบปลงพระชนม์ เพื่อแก้แค้นให้ลูกสาวซึ่งเป็นนางสนม ที่ถูกรับสั่งให้สังหารทิ้ง เพราะปรนนิบัติไม่ถูกพระทัย

กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้านรปติซีตู (Narapatisithu) ได้สร้าง กอดอพลิน (Gaw Daw Palin) เพื่อ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนฟัน หรือ พระทันตธาตุ โดยรูปแบบการสร้างนั้น ไม่ต่างจากตะบินยูพยา โดยมีความสูงน้อยกว่าเพียง 6 เมตร เท่านั้น ในวันที่เราไปเยือน ยอดเจดีย์ที่สูงเสียดฟ้าอยู่ระหว่างการติดทอง เพื่อให้งามอร่ามเหมือนเช่นเจดีย์อีกหลายองค์ในอาณาจักรพุกาม ที่ต่างแข่งกันเปล่งสีทอง จนยากที่จะบอกได้ว่า เจดีย์องค์ไหนสวยกว่ากัน


แล้วเราก็รู้สึกว่ากำลังเดินทางจากพุกามสู่อินเดีย เมื่อโกเล็งพาเรามายังมหาบุดี (Mahabodhi) ที่สร้างโดยพระเจ้านาตองมยา (Nadaung Myar) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์พุกาม ซึ่งสร้างเลียนแบบมาจากพุทธคยา ในอินเดีย

มหาบุดีที่ปรากฏต่อสายตาในขณะนี้สร้างขึ้นใหม่ หลังจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2518 แต่ก็สร้างตามแบบดั้งเดิม ทำให้เราได้สัมผัสความงดงามและละเอียดไปด้วยลวดลายที่ปรากฏบนเจดีย์ อีกทั้งรอบฐานเจดีย์ยังมากมายไปด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆถึง 465 องค์ และแม้มหาบุดีจะเป็นเจดีย์ที่สร้างเลียนแบบพุทธคยา แต่การสร้างเลียนแบบนี้ก็แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างดินแดนผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา กับดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญงอกงาม

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.03 น.